สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ หรือ โจแอนนาที่ 1 (๋Joanna I) โจวานนาที่ 1 แห่งนาโปลี หรือทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม โจฮันนาที่ 1 (Johanna I) (อิตาลี: Giovanna I; ธันวาคม ค.ศ. 1325[1] - 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์ [a] เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ ในช่วงปีค.ศ. 1343 ถึง 1382 พระนางยังทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งอาเชีย (Princess of Achaea) ระหว่างปีค.ศ. 1373 ถึง 1381 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย กับมารีแห่งวาลัวส์ ที่ทรงดำรงพระชนม์จวบจนเจริญพระชันษา พระราชบิดาของพระนางเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ แต่พระราชบิดาของพระนางสิ้นพระชนม์ก่อนหน้าพระอัยกาในปีค.ศ. 1328 สามปีต่อมา กษัตริย์โรแบร์โตทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงโจวันนาเป็นองค์รัชทายาทและทรงมีพระราชบัญชาให้เหล่าขุนนางถวายความจงรักภักดีต่อพระนาง ดังนั้นเพื่อทำให้สถานะของเจ้าหญิงโจวันนาแน่ชัดขึ้น กษัตริย์โรแบร์โตจึงทรงทำข้อตกลงกับพระนัดดาของพระองค์ คือ พระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี เกี่ยวกับการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี พระราชโอรสองค์รองของกษัตริย์ฮังการี กษัตริย์กาโรยที่ 1 มีพระราชประสงค์ที่จะครอบครองมรดกของพระปิตุลาให้ตกเป็นของเจ้าชายอันดราส แต่กษัตริย์โรแบร์โตกลับสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นรัชทายาทแต่เพียงผู้เดียวในวันที่สวรรคต ปีค.ศ. 1343 พระองค์ยังทรงประกาศแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปกครองราชอาณาจักรจนกว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจะมีพระชนมายุครบ 21 พรรษา แต่ในความเป็นจริงแล้วคณะผู้สำเร็จราชการไม่สามารถบริหารราชอาณาจักรได้หลังกษัตริย์สวรรคต
โจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์ เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ | |||||
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 จากภาพศิลปะเฟรสโกโดย นิกโคโล ดี ตอมมาโซ ราวปีค.ศ. 1360 | |||||
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์ เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ | |||||
ครองราชย์ | 20 มกราคม ค.ศ. 1343 - 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1382 (39 ปี 112 วัน) | ||||
พระราชพิธีราชาภิเษก 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1344 (เพียงพระองค์เดียว) 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1352 (ร่วมกับกษัตริย์ลุยจิที่ 1) | |||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าโรแบร์โต | ||||
ถัดไป | พระเจ้าคาร์โลที่ 3 | ||||
ผู้สำเร็จราชการ สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชีย ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต กิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน | |||||
ประสูติ | ธันวาคม ค.ศ. 1325 เนเปิลส์ | ||||
สวรรคต | 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382 ซานเฟเล | (56 ปี)||||
ฝังพระศพ | ซานตาชีอารา, เนเปิลส์ | ||||
คู่อภิเษก | เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี แต่งค.ศ. 1333 - เป็นม่ายค.ศ. 1345 ลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต แต่งค.ศ. 1347 - เป็นม่ายค.ศ. 1362 ไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กา แต่งค.ศ. 1363 - เป็นม่ายค.ศ. 1375 ออตโต ดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน แต่งค.ศ. 1376 - พระนางสวรรคต | ||||
พระราชบุตร | คาร์โล มาร์แตล ดยุกแห่งคาลาเบรีย คาทารินาแห่งตารันโต ฟรานเชสกาแห่งตารันโต | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์กาเปเตียง-อ็องชู | ||||
พระราชบิดา | คาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย | ||||
พระราชมารดา | มารีแห่งวาลัวส์ | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระชนม์ชีพส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเมืองของราชอาณาจักรเนเปิลส์ (การลอบปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส พระสวามีองค์แรกในค.ศ. 1345 การรุกรานของพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี ซึ่งล้างแค้นให้กับการสิ้นพระชนม์ของพระอนุชา และการอภิเษกสมรสอีกสามครั้งต่อมาของพระนาง ได้แก่ ลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต, ไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กา และออตโต ดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน) และได้บ่อนทำลายจุดยืนของพระนางกับสันตะสำนัก นอกจากนี้ในช่วงเหตุการณ์ศาสนเภทตะวันตก พระนางทรงเลือกสนับสนุนอาวีญงปาปาซี ต่อต้านสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ผู้ทรงตอบโต้พระนางกลับ โดยประกาศว่าพระนางเป็นพวกนอกรีตและโค่นพระนางออกจากราชบัลลังก์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1380
ด้วยพระโอรสธิดาของพระนางสิ้นพระชนม์ก่อนหน้าพระนาง รัชทายาทของพระนางจึงเป็นพระขนิษฐาเพียงพระองค์เดียวของพระนางคือ มาเรียแห่งคาลาเบรีย ซึ่งได้เสกสมรสครั้งแรกกับ พระญาติของพระนางโจวันนาเองคือ คาร์โล ดยุคแห่งดูราซโซ โดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระนาง คาร์โลและมาเรียกลายเป็นผู้นำฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา ด้วยทรงพยายามคืนดีกับพวกตระกูลดูราซโซ เพื่อที่จะรักษาราชบัลลังก์ของพระนางไว้ พระนางโจวันนาทรงจัดแจงการเสกสมรสของพระนัดดา คือ มาร์เกอริตาแห่งดูราซโซ กับพระญาติชั้นหนึ่งของมาร์การิตา (และเป็นพระญาติชั้นสองของพระนางโจวันนา) คือ คาร์โลแห่งดูราซโซ ผู้ซึ่งต่อมาจับกุมพระนางโจวันนาได้ในที่สุด และได้สั่งการให้ปลงพระชนม์อดีตพระราชินีนาถโจวันนาในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382[5][6]
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
แก้เจ้าหญิงโจวันนาเป็นพระราชบุตรองค์ที่สองในเจ้าชายคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย (ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่รอดพระชนม์เพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์) กับมารีแห่งวาลัวส์ (พระขนิษฐาในพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส[7] ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดถึงวันที่ประสูติ แต่คาดว่าพระนางอาจประสูติในปี 1326 หรือ 1327[7][8] โดนาโต อัคชิเอียโอลี นักประวัติศาสตร์ยุคเรอแนซ็องส์ อ้างว่า พระนางประสูติในฟลอเรนซ์ แต่ตามข้อคิดเห็นของแนนซี โกลด์สโตน นักวิชาการระบุว่า จริงๆแล้วพระนางอาจประสูติในระหว่างที่พระราชบิดาและพระราชมารดาเสด็จประพาสระหว่างเมืองต่างๆ[7] เจ้าหญิงเอลอยซา หรือ หลุยส์ พระเชษฐภคินีของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1326 และเจ้าชายคาร์โล มาร์แตล พระอนุชาเพียงองค์เดียวของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1327 หลังจากประสูติมาได้เพียง 8 วัน[7]
เจ้าชายคาร์โลแห่งคาลาเบรียสิ้นพระชนม์โดยไม่มีใครคาดคิดในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1328[9] การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้กษัตริย์โรแบร์โตต้องเผชิญกับปัญหาการสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากพระราชบุตรที่ประสูติหลังจากเจ้าชายคาร์โลสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ยังเป็นพระราชธิดา พระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย[7][10] แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลของเนเปิลส์จะไม่ได้ห้ามสตรีครองบัลลังก์ แต่การมีสมเด็จพระราชินีนาถปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ[11] มีการทำข้อตกลงระหว่างสันตะสำนักและกษัตริย์โรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด พระอัยกาของพระนาง ว่า มีการยอมรับเชื้อสายที่เป็นสตรีของพระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์ให้สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะต้องอภิเษกสมรสและอนุญาตให้พระสวามีร่วมปกครองอาณาจักรด้วย[12] นอกเหนือจากนี้ราชวงศ์เนเปิลส์นั้นเป็นราชนิกุลสาขาของราชวงศ์กาแปแห่งฝรั่งเศสและกฎหมายของฝรั่งเศสเองได้ตัดสิทธิครองราชย์ของสตรี เรียกว่า กฎหมายแซลิก[10][13] พระนัดดาของกษัตริย์โรแบร์โตคือ พระเจ้ากาโรลที่ 1 แห่งฮังการี ได้ถูกกษัตริย์โรแบร์โตตัดสิทธิ์จากพระราชมรดกในปี 1296 แต่พระองค์ก็ไม่ได้ละทิ้งสิทธิที่พระองค์มีต่อ "Regno" (หรือ ราชอาณาจักรเนเปิลส์)[14] สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกษัตริย์กาโรยแห่งฮังการีมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ด้วยกษัตริย์โรแบร์โตแห่งเนเปิลส์ทรงสนับสนุนคณะฟรันซิสกัน (ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงมองว่าเป็นพวกนอกรีต) และการที่กษัตริย์เนเปิลส์ทรงละเลยในการจ่ายเงินสนับสนุนประจำปีให้สันตะสำนักก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพระสันตะปาปาและเนเปิลส์[15] พระอนุชาสองพระองค์ของกษัตริย์โรแบร์โต ได้แก่ ฟิลิปโปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโต และเจ้าชายโจวันนี ดยุกแห่งดูราซโซ สามารถที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถได้[13]
กษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะปกป้องสิทธิในบัลลังก์ให้ตกอยู่แก่เชื้อสายของพระองค์ พระองค์จึงสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรียเป็นรัชทายาทของพระองค์ในพระราชพิธีที่ปราสาทนูโอโวในเนเปิลส์ วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1330[16][17] เจ้าชายโจวันนี ดยุกแห่งดูราซโซและอักเนสแห่งเปรีกอร์ พระชายา ทรงยอมรับการตัดสินพระทัยของกษัตริย์โรแบร์โต (ด้วยทรงหวังว่าหนึ่งในพระโอรสทั้งสามจะเสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา) แต่ฟิลิปโปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโตและแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ พระชายา ตัดสินพระทัยที่จะไม่เคารพพระราชโองการ[15] เมื่อเจ้าหญิงโจวันนาทรงได้รับพระราชทานสิทธิในการสืบบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน เจ้าชายโจวันนีและอักเนสทรงอยู่ท่ามกลางเหล่าขุนนางเนเปิลส์ในการถวายความจงรักภักดีต่อรัชทายาทหญิง แต่เจ้าชายฟิลิปโปและแคทเทอรีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมพระราชพิธี[18] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะสามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าชายฟิลิปให้ได้เพียงส่งตัวแทนไปยังเนเปิลส์เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อเจ้าหญิงโจวันนาแทนพระองค์เองในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1331[18]
กษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการีทรงทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเกลี้ยกล่อมกษัตริย์โรแบร์โตให้ฟื้นฟูดินแดนศักดินาทั้งสองแห่งของเจ้าชายชาลส์ มาร์เตล พระราชบิดาของพระองค์ในดินแดน "เร็กโน" (Regno) หรือ ราชรัฐซาแลร์โน และมองเตแห่งซันตันเจโล ให้คืนแก่พระองค์และพระราชโอรส[16] พระองค์ยังทรงผลักดันการเป็นพันธมิตรผ่านการอภิเษกสมรสโดยทรงสู่ขอเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นคู่ครองของหนึ่งในพระราชโอรสของพระองค์[16] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสนับสนุนแผนการนี้และทรงเร่งเร้าให้กษัตริย์โรแบร์โตยอมรับข้อตกลงนี้[18] แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ผู้ซึ่งเป็นม่ายไม่นานทรงทราบแผนการ พระนางจึงรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาต่างมารดาของพระนาง เพื่อให้ทรงเข้าแทรกแซงและขัดขวางแผนการอภิเษกสมรสนี้[18] พระนางทรงเสนอให้พระโอรสของพระนางทั้งสองคือ โรแบร์โต เจ้าชายแห่งตารันโตและเจ้าชายลุยจิ เป็นคู่อภิเษกสมรสของเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรีย[18] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแน่วแน่ในแผนการเดิมโดยมีโองการของพระสันตะปาปาในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1331 มีพระบัญชาให้เจ้าหญิงโจวันนาและพระขนิษฐาต้องอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของกษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการี[19] ในช่วงแรก พระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์กาโรยคือ เจ้าชายลอโยชแห่งฮังการี ทรงได้รับการเลือกให้เป็นพระสวามีในอนาคตของเจ้าหญิงโจวันนา[20] เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี พระอนุชาองค์รองของเจ้าชายลอโยช เป็นเพียงตัวเลือกสำรอง และจะขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งก็ต่อเมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ก่อนกำหนด[20] แต่เมื่อมีการตกลงเจรจากัน กษัตริย์กาโรยทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนให้เจ้าชายอันดราสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนาแทน[20]
หลังจากเจ้าหญิงมารีแห่งวาลัวส์ พระราชชนนีของเจ้าหญิงโจวันนาสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1332 ขณะเสด็จจาริกแสวงบุญที่เมืองบารี[22] พระมเหสีองค์ที่สองในกษัตริย์โรแบร์โต (พระอัยยิกาเลี้ยงของเจ้าหญิงโจวันนา) คือ ซานเชียแห่งมายอร์กา ทรงเข้ามารับผิดชอบต่อการศึกษาของเจ้าหญิงโจวันนาแทน[8] สมเด็จพระราชินีซานเชียทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อคณะฟรันซิสกัน และทรงดำรงพระชนม์ชีพเหมือนแม่ชีคณะกลาริส แต่สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิเสธที่จะให้การเสกสมรสของพระนางกับกษัตริย์โรแบร์โตเป็นโมฆะ[8][18] พยาบาลประจำองค์พระราชินีซานเชีย คือ ฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในการอบรมศึกษาเจ้าหญิงโจวันนา[23] สมเด็จพระราชินีซานเชียและฟิลิปปาเป็นสองสตรีผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักกษัตริย์โรแบร์โต กษัตริย์ไม่ทรงสามารถตัดสินพระทัยได้ถ้าไม่ได้ตรัสถามพระราชินีและพยาบาลของพระนาง ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของโจวันนี บอกกัชโช นักเขียนคนสำคัญของอิตาลีในสมัยนั้น[24]
เจ้าหญิงโจวันนาทรงเจริญพระชันษาในราชสำนักที่มีวัฒนธรรมของพระอัยกา แม้ว่าจะไม่ทรงได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ[8] หรืออาจจะทรงได้รับการศึกษา ซึ่งหลักฐานไม่ได้กล่าวถึงอย่างแม่นยำนัก เนื่องจากเอกสารของอานเจวินไม่ได้ระบุว่าใครคือเป็นผู้อบรมสั่งสอนพระนาง[25] พระนางอาจศึกษาจากหนังสือในหอสมุดหลวง ซึ่งมีงานเขียนของลิวี, เปาโล ดา เปรูเจีย, สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 และมาร์โก โปโล[25] อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเมื่อพระนางทรงเจริญพระชันษา พระนางทรงมีความสามารถด้านภาษาละติน (ในขณะที่ลายพระหัตถ์ที่เหลือของพระนางสามารถพิสูจน์ได้ว่า [b]) ฝรั่งเศส อิตาลีและภาษาถิ่นพรอว็องส์ ดอมินิโก ดา กราวินา นักพงศาวดาร ยืนยันว่าทั้งสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา และเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐา ได้รับ "การเรียนรู้ทางศิลปะและคุณธรรมจรรยาทุกประการจากทั้งฝ่าพระบาทพระเจ้าโรแบร์โตและจากสมเด็จพระราชินีซานเชีย"[28]
กษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการีเสด็จมาเนเปิลส์เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทำการเจรจากับพระปิตุลาของพระองค์ในเรื่องการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายอันดราสในฤดูร้อนปีค.ศ. 1333[29] พระองค์ไม่ทรงใช้พระราชทรัพย์ในการเดินทางเลย เพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของพระองค์[30] กษัตริย์ทั้งสองจึงเข้าเจรจากัน[31] เจ้าชายอันดราสและเจ้าหญิงโจวันนาจะต้องหมั้นกันตามข้อตกลง แต่กษัตริย์โรแบร์โตและกษัตริย์กาโรยที่ 1 ยังทรงกำหนดอีกว่า ถ้าเจ้าชายอันดราสมีพระชนมายุยืนยาวกว่าเจ้าหญิงโจวันนา ก็ให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย ผู้เป็นพระขนิษฐาต่อ และพระโอรสองค์ที่เหลือของกษัตริย์กาโรยที่ 1 คือเจ้าชายลอโยช หรือ อิชต์วาน จะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา เมื่อยามเจ้าชายอันดราสสิ้นพระชนม์ก่อน[31] สัญญาการอภิเษกสมรสได้มีการลงนามอย่างพิธีการในวันที่ 26 กันยายน[32] วันถัดมากษัตริย์โรแบร์โตสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าชายอันดราสให้ครองศักดินาดัชชีคาลาเบรียและราชรัฐซาแลร์โน[33] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงได้รับการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์สำหรับการอภิเษกสมรสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1333[31] แต่การอภิเษกสมรสก็ไม่ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเป็นเวลาหลายปี เนื่องมาจากเจ้าชายอันดราสยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ[34] แต่มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลสาขาของราชวงศ์อ็องชู[35]
เจ้าชายอันดราสเจริญพระชันษาในเนเปิลส์ แต่พระองค์และผู้ติดตามชาวฮังการียังคงถูกมองว่าเป็นพวกต่างชาติ[36] เหล่าญาติวงศ์เนเปิลส์ (โอรสของฟิลิปโปแห่งตารันโต และโจวันนีแห่งดูราซโซ) หรือแม้กระทั่งเจ้าหญิงโจวันนาเองต่างเย้ยหยันเจ้าชายอันดราส[37] ทั้งนักเขียนร่วมสมัยและนักเขียนในยุคหลังมองตรงกันว่า ในช่วงแรกกษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยที่จะให้เจ้าชายอันดราสเป็นรัชทายาท[38] ยกตัวอย่างเช่น ตามงานเขียนของโจวันนี วีลานี ระบุว่า กษัตริย์ "มีพระราชประสงค์ให้พระราชนัดดา ผู้เป็นโอรสกษัตริย์ฮังการีขึ้นสืบราชบัลลังก์หลังจากพระองค์สวรรคต"[31] แต่มีภาพเขียนใน Anjou Bible ได้วาดภาพที่เห็นได้ชัดว่า มีเพียงโจวันนาเท่านั้นที่ได้สวมมงกุฎช่วงปลายทศวรรษ 1330[17][39] เป็นการระบุว่า กษัตริย์อาจจะไม่สนพระทัยในเรื่องสิทธิ์ราชบัลลังก์ของเจ้าชายอันดราส[17][39] ตามพระราชพินัยกรรมของพระองค์ พระองค์ระบุให้ โจวันนาเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียวแห่งเนเปิลส์, พรอว็องซ์, ฟอร์คัลกีแยร์และปีดมอนต์ และรวมถึงสิทธิในราชบัลลังก์เยรูซาเลมให้ตกแก่พระนาง[40] พระองค์ยังระบุให้เจ้าหญิงมาเรียครองบัลลังก์ต่อถ้าหากพระนางโจวันนาสวรรคตโดยไร้ทายาท[40] กษัตริย์โรแบร์โตไม่ทรงมีพระราชบัญชาให้จัดพิธีครองราชย์ให้อันดราส ดังนั้นจึงเป็นการกีดกันพระองค์ออกจากกิจการของเนเปิลส์[40] กษัตริย์ผู้ใกล้สวรรคตยังทรงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ อันประกอบด้วยที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย คือ รองเสนาบดี ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส บิชอปแห่งคาวาอิลลง, ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต ที่ปรึกษาใหญ่แห่งพรอว็องซ์ และนายพลเรือกิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน โดยให้หัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จพระราชินีซานเชีย[41][42] พระองค์กำหนดให้โจวันนาสามารถปกครองได้ด้วยตนเองเมื่อผ่านวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 พรรษา โดยปฏิเสธที่จะใช้กฎตามธรรมเนียมทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะด้วยอายุ 18 ปี[41]
รัชกาล
แก้สืบราชบัลลังก์
แก้กษัตริย์โรแบร์โตสวรรคตในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1343 ขณะทรงมีพระชนมายุ 67 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เนเปิลส์มาเป็นเวลา 34 ปี[40] สองวันต่อมา เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน และพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาก็สำเร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์สุดท้ายของพระมหากษัตริย์ผู้สวรรคต[43] แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จแยกกันไปโบสถ์ เสด็จเยือนต่างสถานที่กัน และพระนางโจวันนาทรงถึงกับห้ามพระราชสวามีเข้าห้องบรรทมโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระนาง[43] เจ้าชายอันดราส พระชนมายุ 15 พรรษา ไม่ทรงมีคลังสมบัติของพระองค์เอง และข้าราชบริพารของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาได้ทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายของเจ้าชาย[43]
เปตราก ได้เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในงานเขียนของเขา Regno บรรยายถึงสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและเจ้าชายอันดราส ว่าเป็น "ลูกแกะสองตัวที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลหมาป่าจำนวนมาก และข้าพเจ้าได้ประสบเห็นถึงราชอาณาจักรที่ไร้พระราชา"[44] ฝักฝ่ายทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่พอใจที่มีการจัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[41] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 และทรงกราบทูลขอให้พระสันตะปาปาพระราชทานพระอิสริยยศกษัตริย์แก่พระราชสวามีของพระนาง อาจเป็นเพราะพระนางทรงต้องการแรงสนับสนุนจากพวกราชวงศ์อ็องชูแห่งฮังการี เพื่อช่วยสนับสนุนแนวทางลดระยะเวลาอายุบรรลุนิติภาวะของพระนาง[41] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงพิจารณาว่าการจัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการแย่งชิงสิทธิอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปา แต่ถึงกระนั้นพระสันตะปาปาก็ทรงต้องการที่จะควบคุมการบริหารกิจการของราชอาณาจักรเนเปิลส์ด้วยพระองค์เอง[41] พระองค์จึงปฏิเสธข้อเสนอของพระนางโจวันนา แต่พระองค์ก็ทรงส่งพระราชสาส์นโดยตรงถึงสภาผู้สำเร็จราชการแบบนานๆ ครั้งแทน[41]
อักเนสแห่งเปรีกอร์ สมเด็จย่าสะใภ้องค์หนึ่งของพระนางโจวันนา ต้องการที่จะให้เจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐาของพระนางโจวันนา เสกสมรสกับโอรสองค์ใหญ่ของพระนาง คือ การ์โลแห่งดูราซโซ[45] สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียและสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสนับสนุนแผนการนี้ แต่ก็ทรงทราบว่า แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน ที่ครองอิสริยยศ จักรพรรดินีละติน และเป็นสมเด็จย่าสะใภ้อีกองค์หนึ่งของพระราชินี จะต้องทรงขัดขวางแผนการสมรสนี้[46] พี่ชายของอักเนสคือ เฮลี เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ เป็นพระคาร์ดินัลผู้ทรงอิทธิพลในสันตะสำนักที่อาวีญง[45] เขาโน้มน้าวให้สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ออกสารตราพระสันตะปาปาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1343 อนุญาตให้การ์โลแห่งดูราซโซสามารถสมรสกับสตรีคนใดก็ได้[45] ด้วยสิทธิขาดจากตราสารพระสันตะปาปา เจ้าหญิงมาเรียจึงได้หมั้นหมายกับการ์โลแห่งดูราซโซในพิธีต่อหน้าพระนางโจวันนา สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียและสมาชิกสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนอื่นๆ ที่คาสเตล นูโอโว วันที่ 26 มีนาคม[47] การหมั้นหมายสร้างความเดือดดาลแก่แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน จักรพรรดินีละติน อย่างมาก พระนางทรงร้องขอไปยังพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสกับสมเด็จพระสันตะปาปา โดยเรียกร้องให้การหมั้นหมายเป็นโมฆะ[47] สองวันหลังจากหมั้นหมาย การ์โลแห่งดูราซโซลักพาตัวเจ้าหญิงมาเรียไปยังปราสาทของเขา ซึ่งนักบวชได้ลอบจัดพิธีเสกสมรสให้ และในไม่ช้าการสมรสก็สำเร็จบริบูรณ์[48]
ลุยจิแห่งตารันโต บุตรชายของแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ยกกองทัพบุกที่ดินศักดินาของการ์โลแห่งดูราซโซ ผู้ลูกพี่ลูกน้อง[48] การ์โลแห่งดูราซโซก็รวบรวมกำลังพลเพื่อปกป้องที่ดินของเขา[48] การเสกสมรสอย่างลับๆ ของเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐา สร้างความเดือดดาลแก่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาอย่างมาก พระนางจึงส่งพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระสันตะปาปากราบทูลขอให้ยกเลิกการเสกสมรส[48] สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ทรงปฏิเสธ และทรงบัญชาให้พระคาร์ดินัลตาแลร็อง-เปรีกอร์ส่งคณะทูตไปยังเนเปิลส์เพื่อไกล่เกลี่ยประนีประนอม[49] คณะทูตพระคาร์ดินัลเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1343[50] โดยการเสกสมรสระหว่างการ์โลแห่งดูราซโซกับเจ้าหญิงมาเรียถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่ยอมรับ แต่แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์และลูกชายของพระนางจะได้รับเงินชดเชยจากคลังของราชวงศ์[51] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อพระขนิษฐาและพระญาติสายดูราซโซ และพระนางทรงริเริ่มส่งเสริมข้าราชบริพารที่ทรงไว้เนื้อเชื่อพระทัยขึ้นแทนพระญาติวงศ์ ซึ่งได้แก่ โรแบร์โต เดอ คาบานนี บุตรชายของฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย และการ์โล อาร์ตุส สมเด็จอาของพระนาง (โอรสนอกสมรสของพระเจ้าโรแบร์โต)[51]
ความขัดแย้ง
แก้ผู้ดูแลชาวฮังการีของเจ้าชายอันดราสได้กราบทูลต่อสมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตแห่งฮังการี พระราชชนนีของเจ้าชาย ในเรื่องสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเจ้าชาย[52] พระนางและพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี พระราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปยังอาวีญง เพื่อเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกอบพิธีราชาภิเษกให้เจ้าชายอันดราส[53] พระนางจึงเสด็จมายัง "เร็กโน" เพื่อเสริมให้สถานะของเจ้าชายอันดราสมั่นคงมากขึ้น[53] ก่อนเสด็จออกจากฮังการี พระนางแอร์เฌแบ็ตทรงรวบรวมทองคำ 21,000 มาร์ก และเงิน 72,000 มาร์กจากคลังของฮังการี เพราะพระนางทรงพร้อมใช้ทรัพย์จำนวนมากเพื่อซื้อแรงสนับสนุนจากทางสันตะสำนักและขุนนางเนเปิลส์ให้สนับสนุนพระราชโอรส[52] พระนางและข้าราชบริพารเสด็จเทียบท่ามันฟรีดอนยาในฤดูร้อน ค.ศ. 1343[52] พระนางทรงพบกับพระราชโอรสที่เบเนเวนโต แต่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จไปพบพระนางแอร์เฌแบ็ตที่เมืองซอมนา เวสุเวียนาในวันถัดมา[52] เมื่อทรงพบกับพระสัสสุ สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสวมมงกุฎเพื่อเน้นย้ำสถานะทางราชวงศ์ของพระนาง[52]
สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตพร้อมคณะเสด็จเข้าเนเปิลส์ในวันที่ 25 กรกฎาคม[51] เมื่อแรกถึงพระนางแอร์เฌแบ็ตเสด็จเข้าพบสมเด็จพระอัยยิกาเลี้ยงของพระนางโจวันนา แต่สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียแห่งมายอร์กาที่กำลังทรงประชวร ไม่ทรงเข้าไปช่วยเหลือเรื่องของเจ้าชายอันดราสมากนัก[43] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาไม่ทรงต่อต้านการราชาภิเษกพระสวามีของพระนางอย่างเปิดเผย แต่ในไม่ช้าพระสัสสุก็ทรงตระหนักว่า พระนางโจวันนาใช้วิธีการถ่วงเวลา[54] สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตเสด็จออกจากเนเปิลส์ไปยังกรุงโรมและส่งทูตไปยังอาวิญง เพื่อเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาแทรกแซงการราชาภิเษกของเจ้าชายอันดราส[55] เปตราก ซึ่งเยือนเนเปิลส์ในเดือนตุลาคมในฐานะคณะทูตของพระคาร์ดินัล โจวันนี โคลอนนา ได้ประสบพบเห็นว่าอาณาจักรได้เคลื่อนไปสู่ภาวะอนาธิปไตยหลังจากการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์โรแบร์โต[56][57] เขาบันทึกว่า กลุ่มชนชั้นขุนนางรังแกข่มเหงไพร่ฟ้าในตอนค่ำ และมีการจัดเกมกลาดิเอเตอร์ขึ้นประจำต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและเจ้าชายอันดราส[56] นอกจากนี้เขายังอ้างว่ามีนักบวชฟรังซิสกัน ผู้หน้าซื่อใจคด อย่างพระโรแบร์โต ที่กุมอำนาจสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการบรรยายว่า เขาเป็น "สัตว์ร้ายสามเท้าที่น่ากลัว เท้าเปล่า หัวโล้น เย่อหยิ่งอหังการเหนือผู้ยากไร้ด้วยความเพลิดเพลินใจ"[58]
เปตรากต้องมามาทำภารกิจให้มีการปล่อยตัวญาติของโคลอนนาที่ถูกคุมขัง คือ พี่น้องปิปินี ซึ่งถูกคุมขังเนื่องจากก่ออาชญากรรมมากมายในค.ศ. 1341[59] ทรัพย์สินของพวกเขาถูกนำมาแจกจ่ายให้กับเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงเนเปิลส์ และเปตรากสามารถเกลี้ยกล่อมให้สภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นิรโทษกรรมแก่พวกเขาได้[60] สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตยังทรงประทับอยู่ในกรุงโรม ตระหนักดีว่าความขัดแย้งระหว่างพระคาร์ดินัลผู้ทรงอิทธิพลกับผู้นำชาวเนเปิลส์ ได้เปิดโอกาสให้พระโอรสของพระนางอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งขึ้น[61] เจ้าชายอันดราสไปเข้าฝ่ายกับพี่น้องปิปินีและสัญญาว่าจะให้พวกเขาได้รับอิสรภาพ[61] รายงานของเปตรากทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเชื่อว่า สภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่สามารถบริหารอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ[57] ด้วยทรงเน้นย้ำว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนายังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลเอเมอรี เดอ ชาลูส เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเข้าทำการฟ้องร้องเรียนรัฐบาล เร็กโน (Regno) ด้วยโองการของพระสันตะปาปาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1343[62][57] คณะทูตของพระนางโจวันนาได้พยายามหลายครั้งที่จะถ่วงเวลาคณะผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่เดินทางมาจากอาวีญง[63]
การเจรจากันระหว่างพระสัสสุของพระนางกับทางสันตะสำนักทำให้สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงตื่นตระหนก และทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระสันตะปาปาฉบับหนึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม ขอให้ทรงหยุดพูดคุยเรื่องของเนเปิลส์กับพวกทูตฮังการี[58] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงปรารภถึงเจ้าชายอันดราสว่าเป็น "พระมหากษัตริย์ผู้รุ่งโรจน์แห่งซิชิลี"และเรียกร้องให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกในลายพระหัตถ์เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1344 แต่ไม่นานพระองค์ก็ทรงเน้นย่ำถึงสิทธิในการปกครองตามสายโลหิตอันชอบธรรมของพระนางโจวันนา[64] ห้าวันถัดมา สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาถอนคณะผู้แทนของพระองค์ออกไป และประทานอนุญาตให้พระนางปกครองเพียงลำพัง[65] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตอบในไม่ช้าโดยประกาศว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจะปกครองราชอาณาจักรแต่เพียงผู้เดียว "ราวกับว่าพระนางเป็นบุรุษ" แม้ว่าพระนางและพระสวามีจะทรงราชบัลลังก์ร่วมกันก็ตาม[66] ในช่วงเวลาเดียวกัน สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตเสด็จกลับเนเปิลส์ และข้าราชบริพารของเจ้าชายอันดราสแจ้งแก้พระนางแอร์เฌแบ็ตว่า พวกเขาล่วงรู้แผนการที่พยายามลอบปลงพระชนม์เจ้าชาย[67] พระนางตัดสินพระทัยพาพระโอรสเสด็จกลับฮังการี แต่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา อักเนสแห่งเปรีกอร์และแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ร่วมกันเกลี้ยกล่อมพระนาง[67] พระนางโจวันนาและเหล่าพระอัยยิกาของพระนาง (ทั้งสองเป็นน้องสะใภ้ของปู่พระนางโจวันนา) มักจะเกรงว่า เจ้าชายอันดราสอาจจะกลับมายังเนเปิลส์พร้อมกองทัพจากฮังการี[67] สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตเสด็จออกจากอิตาลีในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยไม่ให้พระโอรสเสด็จไปด้วย[68] ฝ่ายอ็องเฌอแว็ง ศัตรูทางตอนเหนือของอิตาลีฉวยโอกาสในช่วงที่อ่อนแอของรัฐบาล "เร็กโน"[69] โจวันนีที่ 2 มาร์ควิสแห่งมงแฟราและตระกูลวิสคอนติแห่งมิลานเข้ายึดครองเมืองอเลซซานเดรียและอัสติในแคว้นปีเยมอนเตและดำเนินการทางทหารต่อไปเรื่อยๆ โจมตีเมืองอื่นๆในปีเยมอนเตที่ยังยอมรับในอำนาจการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา[70] พวกเขาบีบบังคับให้เมืองทอร์โทนา บราและอัลบาให้ยอมจำนนในค.ศ. 1344[70]
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเริ่มแจกจ่ายที่ดินขนาดใหญ่ของราชวงศ์แก่ผู้สนับสนุนที่ทรงไว้วางพระทัยที่สุด หนึ่งในนั้นมี โรแบร์โต เด คาบานนี ซึ่งมีเสียงเล่าลือว่าเป็นคู่รักของพระนาง[71] การแจกจ่ายที่ดินของพระนางโจวันนาทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงโกรธเคือง โดยทรงตรัสเป็นนัยว่า พระองค์ทรงพร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทในการบริหารรัฐของเจ้าชายอันดราส[71] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสั่งให้พระคาร์ดินัลเอเมอรี เดอ ชาลูส เดินทางไปยังเนเปิลส์อย่างไม่รอช้า[63] ชาลูสเดินทางถึงเนเปิลส์ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1344[63] พระนางโจวันนามีพระราชประสงค์ที่จะกล่าวสัตย์สาบานจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพียงลำพังอย่างส่วนพระองค์ แต่ผู้แทนพระสันตะปาปากลับไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องของพระนาง[72] พระนางโจวันนาต้องทรงสาบานว่าจะเชื่อฟังพร้อมกับพระราชสวามีในลักษณะพิธีทางการ[72] พระนางโจวันนาทรงพระประชวร และด้วยทรงประชวรทำให้เจ้าชายอันดราสสามารถให้พี่น้องปิปินีได้รับอิสรภาพได้สำเร็จ แต่การกระทำของพระองค์ทำให้ขุนนางเนเปิลส์โกรธเคือง[73] วันที่ 28 สิงหาคม ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาได้รับรองพระนางโจวันนาอย่างเป็นทางการในฐานะรัชทายาทแห่งเนเปิลส์ แต่พระนางต้องยอมรับสิทธิของรัฐพระสันตะปาปาในการบริหารอาณาจักร[74] ชาลูสยุบสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และแต่งตั้งข้าราชการกลุ่มใหม่เพื่อปกครองแว่นแคว้น[74] อย่างไรก็ตาม ข้าราชสำนักของราชวงศ์ได้เพิกเฉยต่อคำสั่งของผู้แทน และสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงปฏิเสธที่จะจ่ายบรรณาการรายปีให้แก่สันตะสำนัก โดยทรงตรัสว่า พระนางทรงถูกลิดรอนสิทธิ์จาก "เร็กโน"[74]
พระคาร์ดินัลตาแลร็อง-เปรีกอร์ และทูตของพระนางโจวันนานำโดย ลุยจิแห่งดูราซโซ เรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ปลดผู้แทนพระองค์สันตะปาปา ซึ่งเขาเต็มใจที่จะสละตำแหน่งด้วยเช่นกัน[75] หลังจากพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงคณะผู้แทนพระสันตะปาปา ทำให้พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ตัดสินพระทัยเรียกตัวเขากลับ โดยประกาศว่าสมเด็จพระราชินีนาถพระชันษา 18 พรรษา บรรลุนิติภาวะภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะผู้แทนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1344[75][76] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1345 พระสันตะปาปาทรงออกตราสารพระสันตะปาปาห้ามไม่ให้ ฟิลิปปาแห่งคาทาเนียกับเครือญาติของนางเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ที่พระนางโจวันนาไว้วางพระทัยที่สุด[77] และพระองค์ทรงเปลี่ยนตัวผู้แทนจากพระคาร์ดินัลชาลูสมาเป็นกีโญม ลามี บิชอปแห่งชาทร์[78] เพื่อทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาหายขุ่นเคืองพระทัย ทำให้พระนางโจวันนาตัดสินพระทัยประนีประนอมกับเจ้าชายอันดราสและคืนความสัมพันธ์ของคู่สมรส[79] ไม่นานนัก พระนางก็ทรงพระครรภ์[79]
ในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสั่งให้รีฟอซ ดากูลต์ ข้าราชการผู้ใหญ่แห่งพรอว็องส์ ยกทัพโจมตีปีเยมอนเต[70] ชาวเมืองชิเอรีและเจียโคโมแห่งซาวอยและอาเคียเข้าร่วมกองทัพของพรอว็องส์[70] พวกเขายึดครองเมืองอัลบาในฤดูใบไม้ผลิ แต่โจวันนีที่ 2 มาร์ควิสแห่งมงแฟราและตระกูลวิสคอนติ รวบรวมกองทัพใกล้เมืองชิเอรีและได้ชัยชนะเหนือกองทัพของดากูลต์ในยุทธการที่กาเมนาริโอในวันที่ 23 เมษายน[70] ดากูลต์ตายในสมรภูมิและเมืองชิเอรียอมจำนนต่อผู้ชนะ[70]
ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนากับสมเด็จพระสันตะปาปาเริ่มตึงเครียด พระนางทรงเริ่มเข้าไปจัดการที่ดินของราชวงศ์และเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสมเด็จพระสันตะปาปา[76] ในวันที่ 10 มิถุนายน สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 เรียกร้องให้พระนางหยุดขัดขวางการประกอบพิธีราชาภิเษกของเจ้าชายอันดราส แต่พระนางทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะกีดกันพระสวามีออกจากการบริหารกิจการของรัฐ[76] ตามบันทึกของเอลิซาเบธ แคสทีน นักประวัติศาสตร์ ระบุว่า พระนางทรงตอบว่าพระนางทรงอยู่ในสถานะที่ดีที่สุดที่จะดูแลผลประโยชน์ให้แก่สวามีของพระนางเอง นั้นหมายความว่า "ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางเพศของชีวิตสมรส" ของพระนางนั้นผิดปกติ[78] ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศว่าพระองค์อาจจะบัพพาชนียกรรมพระนางออกจากศาสนา ถ้ายังคงโอนย้ายยุ่งเกี่ยวกับที่ดินราชวงศ์อยู่[78] สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียสิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 กรกฎาคม[78] ไม่นาน สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงละทิ้งพระสวามีของพระนาง[78] มีข่าวลือว่าเกิดเรื่องอื้อฉาวกันระหว่างพระนางโจวันนากับลุยจิแห่งตารันโต แพร่หลายไปทั่วเนเปิลส์[78] แต่ความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตสมรสของพระนางก็ไม่ได้ถูกพิสูจน์ความจริง[80] สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ตัดสินใจจัดพิธีราชาภิเษกให้เจ้าชายอันดราสและทรงกำชับให้พระคาร์ดินัลชาลูสประกอบพิธี[81]
เมื่อได้ยินการกลับคำพูดของสมเด็จพระสันตะปาปา กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดมีความมุ่งมั่นที่จะขัดขวางพิธีราชาภิเษกของอันดราส ระหว่างเสด็จไปล่าสัตว์ที่อแวร์ซาในค.ศ. 1345 เจ้าชายอันดราสเสด็จออกจากห้องบรรทมในกลางดึกคาบเกี่ยวระหว่างวันที่ 18 และ 19 กันยายน และตามแผนของกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิด คนรับใช้ผู้ทรยศได้ปิดประตูเบื้องหลังเจ้าชายไว้ และทรงอยู่ร่วมกับพระนางโจวันนาให้ห้องบรรทมของพระนางเอง และการต่อสู้ที่น่ากลัวได้เกิดขึ้น เจ้าชายอันดราสทรงปกป้องพระองค์เองอย่างดุเดือดและทรงร้องขอความช่วยเหลือ ในที่สุดเจ้าชายก็หมดกำลัง ทรงถูกรัดพระศอด้วยเชือก และถูกเหวี่ยงลงมาจากหน้าต่างโดยเชือกที่รัดอยู่ที่พระคุยหฐานของพระองค์ อิโซลเดอ ซึ่งเป็นพยาบาลของเจ้าชายอันดราส ได้ยินเสียงร้อง และวิ่งเข้ามาซึ่งเสียงร้องของเธอทำให้ฆาตกรหนีออกไป เธอนำพระศพของเจ้าชายไปที่โบสถ์ และอยู่กับพระศพจนถึงเช้าด้วยความโศกเศร้า เมื่ออัศวินฮังการีมาถึง เธอบอกพวกเขาทุกอย่างเป็นภาษาบ้านเกิด เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ความจริง และในไม่ช้าพวกอัศวินได้ออกจากเนเปิลส์และเดินทางไปกราบทูลกษัตริย์ฮังการีทุกอย่าง ความเห็นต่างๆ ถูกแบ่งออก บ้างก็ว่าพระราชินีนาถมีส่วนร่วมจริงจังในการวางแผนปลงพระชนม์ สำหรับบางคนมองว่า พระนางทรงยุยงให้เกิดการฆาตกรรม สำหรับความเห็นบางคน เช่น เอมิล-กีโญม ลีโอเนิร์ด อธิบายว่า การมีส่วนร่วมของโจวันนาในแผนการยังไม่ถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริง[82]
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงแจ้งต่อสันตะสำนัก รวมถึงหลายๆ รัฐในยุโรปเกี่ยวกับการฆาตกรรม โดยแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์พระนางผ่านจดหมาย แต่ข้าราชบริพารสหายวงในของพระนางถูกมองว่าเป็นผู้ต้องสงสัยมากที่สุด ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1345 พระนางมีประประสูติกาลพระราชโอรส คือ เจ้าชายคาร์โล มาร์แตล เป็นบุตรที่ประสูติหลังมรณกรรมของบิดา ทารกได้รับการประกาศเป็นดยุกแห่งคาลาเบรียและเจ้าชายแห่งซาเลอโน ในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1346 ในฐานะรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เนเปิลส์
การฆาตกรรมและสงคราม
แก้เมื่อพระนางโจวันนาครองราชบัลลังก์ ขุนนางหลายคนทางตอนเหนือของอิตาลีมองว่า เป็นโอกาสเหมาะที่จะขยายอาณาเขตของตนอันเป็นสิ่งที่พระนางต้องชดใช้ ในค.ศ. 1344 โจวันนีที่ 2 มาร์ควิสแห่งมงแฟรานำกองทัพเข้าโจมตีและยึดเมืองของพระนาง ได้แก่ อเลซซานเดรีย อัสติ ทอร์โทนา บราและอัลบา พระนางทรงส่งรีฟอซ ดากูลต์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ไปรับมือกับกองทัพมงแฟรา เขาได้ต่อสู้กับผู้รุกรานในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1345 ในยุทธการที่กาเมนาริโอ แต่เขาพ่ายแพ้และถูกสังหาร[70]
มงแฟราเข้าไปยึดครองเมืองชิเอรี ซึ่งเป็นดินแดนของเจียโคโมแห่งปิเยมอนเต ซึ่งสนับสนุนพระนางโจวันนา เจียโคโมร้องขอความช่วยเหลือจากญาติและขุนนาง คือ อาเมเดโอที่ 6 เคานท์แห่งซาวอย ในค.ศ. 1347 พวกเขาสามารถขับไล่ผู้รุกรานให้ถอยกลับไปได้ในเดือนกรกฎาคม จากนั้นโจวันนีได้เพิ่มกองกำลังพันธมิตรของเขามากขึ้น โดยร่วมมือกับตอมมาโซที่ 2 มาร์ควิสแห่งซาลูซโซและอุมแบร์ที่ 2 แห่งเวียนนัวส์ พวกเขาร่วมกันยึดครองดินแดนของพระนางโจวันนาเกือบทั้งหมดในภูมิภาคนี่[83]
เมื่อพระนางทรงเปิดเผยแผนการอภิเษกสมรสของพระนางต่อสาธารณะ โดยจะอภิเษกกับพระญาติสายตารันโตของพระนาง และไม่อภิเษกกับพระอนุชาของเจ้าชายอันดราส คือ เจ้าชายอิชต์วาน ชาวฮังการีจึงกล่าวหาพระนางในเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม
ลุยจิแห่งตารันโตเป็นแม่ทัพที่โดดเด่น ผู้ซึ่งเข้าใจการเมืองของเนเปิลส์ด้วยประสบการณ์ทั้งพระชนม์ชีพของพระองค์ ลุยจิทรงถูกเลี้ยงดูในราชสำนักของแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน สมเด็จย่าสะใภ้ของพระนางโจวันนา หลังจากพระนางโจวันนาทรงตั้งพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับลุยจิ พระเชษฐาของพระองค์คือ โรแบร์โต เจ้าชายแห่งตารันโตก็รวมกำลังกับการ์โลแห่งดูราซโซ พระญาติ (และเป็นศัตรูคู่แข่งในอดีต) เพื่อต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและพระอนุชาของพระองค์เอง ข้าราชบริพารและคนรับใช้บางคนของพระนางโจวันนาถูกทรมานและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งรวมทั้งฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย พระอภิบาลในพระราชินีนาถและครอบครัวได้ถูกประหาร ลุยจิประสบความสำเร็จในการขับไล่กองทัพของพระเชษฐาให้ถอยทัพกลับไป แต่เมื่อพระองค์ไปถึงเนเปิลส์ ก็ล่วงรู้ว่าพวกฮังการีวางแผนที่จะรุกราน สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรซิซิลีเพื่อป้องกันการรุกรานในเวลาเดียวกัน พระนางอภิเษกสมรสกับลุยจิในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1347 โดยไม่ทรงขอความเห็นชอบจากสมเด็จพระสันตะปาปาเนื่องจากเป็นญาติที่มีสายสัมพันธ์กันใกล้ชิด
การชิงอภิเษกสมรสเสียก่อน ลุยจิทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิทักษ์และผู้ปกป้องราชอาณาจักรร่วม (1 พฤษภาคม ค.ศ. 1347) ร่วมกับการ์โลแห่งดูราซโซ 1 เดือนถัดมา (20 มิถุนายน) ลุยจิได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปมุขนายกแห่งราชอาณาจักร การอภิเษกสมรสครั้งนี้ทำให้พระเกียรติยศและชื่อเสียงของสมเด็จพระราชินีนาถต้องเสื่อมลงไป[84]
พระเจ้าลอโยซมหาราช พระเชษฐาของเจ้าชายอันดราสได้เหตุที่จะเข้ายึดครองราชอาณาจักรเนเปิลส์ พระองค์นำกองทัพแรกยกทัพเข้าเมืองลากวีลา วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1347[85]
ในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1348 กองทัพฮังการีประจำการที่เบเนเวนโต พร้อมที่จะรุกรานอาณาจักรเนเปิลส์[86] เมื่อภัยคุกคามใกล้เข้ามา สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จหนีไปประทัยที่คัาสเตลนูโว และทรงไว้วางพระทับในความภักดีของเมืองมาร์แซย์ ได้เตรียมการเสด็จหนีของพระนาง ต่อการไล่ล่าแก้แค้นโดยพระเจ้าลอโยช พระนางไม่ทรงรอให้พระสวามีกลับมา ทรงรีบเสด็จออกทางเรือในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1348 ด้วยเรือแจวโบราณสองลำ ซึ่งเป็นของชาวเมืองมาร์แซย์ ชื่อ ฌัก เดอ กูร์แบร์ เดินทางไปยังพรอว็องซ์[87] โดยมีเอ็นริโก คารัคซิโอโล ผู้ขงรักภักดีติดตามพระนางไปด้วย ลุยจิแห่งตารันโตเดินทางมาถึงเนเปิลส์ในวันถัดมาและหลบหนีตามไปด้วยเรืออีกลำ[88]
เมื่อกองทัพฮังการีเข้ายึดครองเนเปิลส์ได้อย่างง่ายดาย พระเจ้าลอโยชมหาราชมีพระราชโองการให้ประหารชีวิตการ์โลแห่งดูราซโซ พระญาติของพระนางโจวันนา และเป็นพระเทวันในพระราชินี เขาถูกตัดหัวในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1348 ในสถานที่เดียวกับที่เจ้าชายอันดราส พระอนุชาในกษัตริย์ลอโยชถูกปลงพระชนม์ พระราชโอรสสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ประสูติแต่เจ้าชายอันดราส คือ เจ้าชายการ์โล มาร์แตลโล (ซึ่งได้หมั้นหมายกับบุตรสาวของการ์โลแห่งดูราซโซ) ได้ถูกพระราชชนนีทอดทิ้งไว้ ได้ถูกส่งไปประทับกับกษัตริย์ฮังการี พระปิตุลาที่เมืองวิแชกราด ในราชอาณาจักรฮังการี[89][90][91] ซึ่งเจ้าชายสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1348 ขณะมีพระชนมายุเพียง 2 ชันษา
หลังจากประทับพักที่ป้อมเบรแกนซง สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาก็เสด็จถึงมาร์แซย์ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1348 ซึ่งพระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น[92] พระนางทรงให้สัตย์สาบานว่าจะปฏิบัติตามสิทธิพิเศษของเมืองและทรงได้รับการถวายความจงรักภักดีจากชาวเมือง พระนางได้ลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสิทธิ์ที่รวมเมืองตอนบนและเมืองตอนล่างเข้าด้วยกัน เพื่อให้บริหารเมืองได้ง่ายยิ่งขึ้น จากนั้นพระนางได้เสด็จไปยังแอ็กซ็องพรอว็องส์ ที่ซึ่งพระนางได้รับการต้อนรับที่แตกต่างไปมาก ขุนนางชาวพรอว็องส์แสดงตนเป็นศัตรูกับพระนางอย่างชัดเจน พระนางต้องทรงให้สัตย์สาบานว่าจะไม่ทรงทำอะไรกับพรอว็องซ์และต้องทรงแต่งตั้งเฉพาะคนท้องถิ่นเข้าประจำยศตำแหน่งของท้องถิ่นเท่านั้น[93]
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จถึงอาวีญงในวันที่ 15 มีนาคม โดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นการส่วนพระองค์ ลุยจิแห่งตารันโตเดินทางมาสมทบกับพระนางที่เอกูมอร์ต และทั้งคู่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 การเข้าเฝ้าฯ ของพระนางโจวันนามีวัตถุประสงค์สามประการ ประการแรก ทรงต้องการเงินชดเชยสำหรับการสมรสของพระนางกับลุยจิแห่งตารันโต ประการที่สองทรงต้องการได้รับการอภัยโทษให้พ้นจากบาป หรือการปลดเปลื้องจากข้อกล่าวหาการปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส และประการที่สาม ทรงต้องการทวงคืนราชอาณาจักรของพระนาง สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพระราชทานเงินชดเชยให้แก่ทั้งคู่ และทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาในการปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส และทรงซื้อเมืองอาวีญงในราคา 80,000 ฟลอริน ทำให้มีการบริหารที่แยกออกจากพรอว็องซ์[84][94] ในที่สุดพระนางโจวันนาก็ได้รับการปลดเปลื้องจากข้อกล่าวหาโดบสมเด็จพระสันตะปาปา[84] ระหว่างที่ทรงประทับในอาวีญงจนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน พระนางโจวันนาทรงมีพระประสูติกาลพระบุตรองค์ที่สอง และเป็นองค์แรกที่ประสูติแต่ลุยจิแห่งตารันโต มีพระนามว่า เจ้าหญิงคาทารินา
เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าลอโยซแห่งฮังการีทรงละทิ้งเนเปิลส์หลังจากการละบาดของกาฬมรณะ พระนางโจวันนา พร้อมพระราชสวามีและพระราชธิดา เสด็จออกจากอาวีญงในวันที่ 21 กรกฎาคม และประทับที่มาร์แซย์ในวันที่ 24-28 กรกฎาคม จากนั้นย้ายไปประทับที่ซานารีซูร์แมร์ในวันที่ 30 กรกฎาคม จากนั้นเสด็จไปยังป้อมเบรเกนซงในวันที่ 31 กรกฎาคม และสุดท้ายได้เสด็จถึงเนเปิลส์ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1348[95] หนึ่งเดือนหลังจากมาถึง พระนางก็ทรงผิดสัญญาโดยในวันที่ 20 กันยายน พระนางทรงปลดเรย์มอนด์ ดากูลต์ ออกจากตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่และแต่งตั้งโจวันนี บาร์รีลี ชาวเนเปิลส์ดำรงตำแหน่งแทน กระแสความไม่พอใจของสาธารณชนมีมากขึ้นจนพระนางโจวันนาต้องทรงแต่งตั้งดากูลต์กลับคืนสู่ตำแหน่ง[96]
เมื่อเวลาผ่านไป ชาวฮังการีถูกมองว่าเป็นคนป่าเถื่อนโดยชาวเนเปิลส์ รวมถึงโจวันนี บอกกัชโช (บรรยายถึงพระเจ้าลอโยซมหาราชว่าเป็นพวก "บ้าคลั่ง" หรือ "ชั่วร้ายยิ่งกว่างู")[97] ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถและพระราชสวามีได้รับความนิยมกลับคืนมาได้ เมื่อเสด็จกลับเนเปิลส์
ลุยจิแห่งตารันโต
แก้ตั้งแต่ต้นปีค.ศ. 1349 เป็นต้นมา เอกสารทั้งหมดของราชอาณาจักรได้ออกพระปรมาภิไธยในนามของทั้งพระสวามีและพระมเหสี และลุยจิทรงควบคุมปราการทางทหารทั้งหมดโดยไม่มีใครต้านทานได้[98] เหรียญมีการออกชื่อรัชสมัยร่วมกัน พระนามของลุยจิอยู่นำหน้าพระนามของโจวันนา[99] แม้ว่าลุยจิจะไม่ได้ทรงได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ในฐานะพระมหากษัตริย์และพระประมุขร่วมจนถึงค.ศ. 1352 มีแนวโน้มว่าชาวเนเปิลส์ถือว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ของพวกเขาตั้งแต่เวลาแรกที่พระองค์ได้แสดงตนเป็นประมุข[98]
กษัตริย์ลุยจิทรงฉวยโอกาสในช่วงที่อาณาจักรวุ่นวายจากการถูกกองทัพฮังการีโจมตีในการแย่งชิงอำนาจราชวงศ์มาจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถ[99] พระองค์ทรงกวาดล้างกลุ่มผู้สนับสนุนสมเด็จพระราชินีนาถในราชสำนัก[100] และน่าจะทรงประหารเอนริโก การัคซิโอโล คนโปรดของพระนางโจวันนา ด้วยข้อกล่าวหาว่าผิดประเวณีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1349[98] สองเดือนถัดมา ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1349 เจ้าหญิงคาทารินา พระราชธิดาได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 1 ชันษา
หลังจากเกิดการรุกรานของฮังการีอีกครั้งหนึ่งซึ่งนำไปสู่การสร้างกำแพงเนเปิลส์ในปีค.ศ. 1350 สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ทรงส่งผู้แทนพระองค์คือ เรย์มอนด์ ซาเกต์ บิชอปแห่งแซ็งโอแมร์ พร้อมกองเรือที่บัญชาการทัพโดยอูกส์ เด โบซ์ มายังเนเปิลส์[101] ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ลุยจิทรงสัญญาว่าจะเคารพความเป็นอิสระของพระนางโจวันนา หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าลอโยซมหาราชทรงบาดเจ็บสาหัส ก็เสด็จกลับประเทศของพระองค์เอง
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1351 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาองค์ที่สอง คือ เจ้าหญิงฟรานเชสกา ห้าเดือนหลังจากนั้น วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1352 กษัตริย์ลุยจิทรงได้รับการยอมรับจากสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างเป็นทางการในฐานะเป็นพระประมุขร่วมกับพระมเหสีในทุกอาณาจักรของพระนาง ในวันที่ 27 พฤษภาคม กษัตริย์ลุยจิทรงได้รับการสวมมงกุฎจากอาร์คบิชอปแห่งบรากาที่โฮเตลดิตารันโตในเนเปิลส์[102] ไม่กี่วันหลังจากนั้น วันที่ 2 มิถุนายน เจ้าหญิงฟรานเชสกา พระราชธิดาของทั้งสองพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาได้ 8 เดือน
ในปีค.ศ. 1356 กษัตริย์ลุยจิและสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงริเริ่มพิชิตคืนเกาะซิชิลีอีกครั้ง ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเข้าเมืองเมสซีนาอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1356 หลังจากชัยชนะของนิกโคโล อัคซิโอลี ซึ่งต่อมาเขาถูกสั่งให้ออกไปรบอีกครั้งแต่พ่ายแพ้ทางทะเลอย่างหนักต่อกองทัพกาตาลัน (24 มิถุนายน ค.ศ. 1357) ที่อาชิเรอาเล[103]
ในเวลาเดียวกัน กองทหารรับจ้างของอาร์โนด์ เดอ แซร์โวล (ถูกเรียกว่า "อัครสังฆราช") เคลื่อนทัพข้ามแม่น้ำดูรันซ์ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1357 และเข้าปล้นสะดมพรอว็องซ์[104] ฟิลิปโปแห่งตารันโต พระอนุชาของกษัตริย์ลุยจิ (และเป็นพระสวามีองค์ที่สามของมาเรีย พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถ ตั้งแต่เมษายน ค.ศ. 1355) ถูกส่งไปยังพรอว็องซ์ในฐานะนายพลเพื่อต่อสู้กับกองทัพที่เข้าปล้นสะดมพรอว็องซ์ เขาได้ซื้อการสนับสนุนทางทหารจากเคานท์แห่งอาร์มาญัก ซึ่งทำให้คนในท้องถิ่นหวั่นกลัว ในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 6 ทรงปลดประจำการกองทหารรับจ้างนี้โดยจ่ายเงินให้
กษัตริย์ลุยจิที่ 1 ทรงพระประชวรเป็นหวัดหลังจากสรงน้ำ พระอาการของพระองค์เลวร้ายลงตลอดเวลาหนึ่งเดือนและสิ้นพระชนม์ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1362[105]
การปกครองแต่เพียงผู้เดียว
แก้การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์ลุยจิที่ 1 พระสวามีผู้โหดเหี้ยมและเผด็จการ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาได้โอกาสยึดพระราชอำนาจคืน หลังจากทรงถูกกีดกันมา ในช่วงสามปีถัดมาสมเด็จพระราชินีนาถทรงใช้พระราโชบายหลายอย่างเพื่อให้ได้รับความนิยม ได้แก่ ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่เรย์มงด์ เด โบซ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1363 ทรงปลดโรเจอร์แห่งซานเซเวรีโน และแทนที่ด้วยฟูก ดากูลต์ ในตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่แห่งพรอว็องซ์ และทรงประกาศใช้กฎหมายต่างๆเพื่อป้องกันความไม่สงบภายในประเทศ
ในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1362 พระนางโจวันนาทรงอภิเษกสมรสโดยฉันทะในการสมรสครั้งที่สามของพระนางกับไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กาและเจ้าชายแห่งอาเซีย ซึ่งอ่อนพระชันษากว่าพระนาง 10 ปี พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในอีกห้าเดือนถัดมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1363 ที่คาสเตลนูโว โชคร้ายที่การอภิเษกสมรสครั้งที่สามนี้ก็ตามมาด้วยความวุ่นวายเช่นกัน พระราชสวามีพระองค์ใหม่ของพระนาง ทรงเคยถูกพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอน พระมาตุลา หรือสมเด็จอาฝ่ายพระชนนี จำคุกกักขังเป็นระยะเวลาเกือย 14 ปีในกรงเหล็ก ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์มีจิตฟั่นเฟือน[106] นอกจากสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ของพระองค์แล้ว ยังมีความขัดแย้งของทั้งคู่อีก โดยไชเมที่ 4 แห่งมาจอร์กาทรงต้องการมีส่วนร่วมในคณะรัฐบาล[107] แม้ว่าในสัญญาการสมรสจะระบุว่าพระองค์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐบาลของเนเปิลส์ก็ตาม แม้ว่าคู่สมรสจะมีปัญหากัน แต่ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1365 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงพระครรภ์พระบุตรของกษัตริย์ไชเม แต่โชคร้ายที่ในเดือนมิถุนายน พระราชินีทรงแท้งพระบุตร โดยมีหลักฐานเป็นพระราชสาสน์แสดงความเสียพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1365[108][109] พระนางไม่ทรงตั้งพระครรภ์อีกเลย
ด้วยพลาดหวังที่จะได้เป็นพระมหากษัตริย์เนเปิลส์ ไชเมที่ 4 เสด็จออกจากเนเปิลส์ไปยังสเปนปลายมกราคม ค.ศ. 1366 และพยายามยึดคืนมาจอร์กาแต่ล้มเหลว พระองค์ถูกจับกุมโดยพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยาซึ่งส่งตัวพระองค์ไปให้แก่แบร์ทรองด์ ดู เกส์คลินโดยคุมขังไว้ที่มงเปอลีเย สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงจ่ายค่าไถ่ตัวพระราชสวามีในค.ศ. 1370 และได้ประทับอยู่ร่วมกันเวลาสั้นๆ แต่ก็แยกจากกันอีก ไชเมที่ 4 ล้มเหลวในการยึดแคว้นรูซิยงและเซอร์ดานยาในค.ศ. 1375 และพระองค์หนีไปยังกัสตียา จากนั้นสิ้นพระชนม์ด้วยพระประชวรหรือทรงถูกวางยาพิษที่ซอเรียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1375[110]
เพื่อยืนยันสิทธิ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เหนือราชอาณาจักรอาร์ล จักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งโบฮีเมียเสด็จฯ ข้ามอาวีญงและราชาภิเษกในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1365 เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาร์ลที่โบสถ์แซงต์โทรฟิม แต่รับรองสิทธิ์ของพระนางโจวันนาเหนือพรอว็องซ์[111]
เจ้าชายหลุยส์ที่ 1 ดยุคแห่งอ็องฌูพระราชอนุชาในพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศสและแม่ทัพแห่งล็องก์ด็อก ได้อ้างสิทธิ์ในการถือครองพรอว็องซ์ ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพของแบร์ทรองด์ ดู เกส์คลิน พระองค์จึงเข้าโจมตี เมืองอาวีญงถูกเรียกค่าไถ่ ส่วนเมืองอาร์ลและทาร์อัสคงถูกปิดล้อม แต่แล้วเมืองอาร์ลถูกยึดครอง ส่วนทาร์อัสคงได้รับการช่วยเหลือจากทหารพรอว็องซ์หลังจากถูกปิดล้อมเป็นเวลาสิบเก้าวันและยึดเมืองไม่สำเร็จ[112] กองทัพของเรย์มอนด์ที่ 2 ดากูลต์ ข้าราชการผู้ใหญ่พ่ายแพ้ที่เมืองเซเลสเต[113] การเข้าแทรกแซงของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และพระเจ้าชาร์ลที่ 5 รวมถึงการขับไล่ ดู เกส์คลินออกจากศาสนาในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1368 ทำให้กองทัพของเขาล่าถอย และลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1369 ซึ่งตามมาด้วยการลงนามสงบศึก วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1370
หลังจากช่วงเวลาความไม่สงบนี้ รัชกาลของพระนางโจวันนาค่อนข้างสงบ ซึ่งอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์อันดีของพระนางกับสันตะสำนักภายใต้สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 เอลเซียร์แห่งซาบราน[114]ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปีค.ศ. 1371 บริจิตแห่งสวีเดนเดินทางเยือนเนเปิลส์ในปค.ศ. 1372 ด้วยการไกล่เกลี่ยจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ได้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพครั้งสุดท้ายกับหลุยส์ที่ 1 ดยุคแห่งอ็องฌูในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1371 ซึ่งหลุยส์ทรงสละสิทธิเหนือเมืองทาร์อัสคง[115] นอกจากนี้สมเด็จพระราชินีนาถทรงฟื้นฟูเขตศักดินาของพระองค์ในปีเยมอนเต โดยความสำเร็จของออตโตแห่งเบราน์ชไวค์ ทหารรับจ้างอิตาลี ซึ่งพระนางได้อภิเษกสมรสกับเขาในเวลาต่อมา
ตามสนธิสัญญาวิลเลอนูเวอ (ค.ศ. 1372) สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงยอมรับการสูญเสียอำนาจการครองเกาะซิซิลีอย่างถาวร ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากว่า 90 ปีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ค.ศ. 1282 จากนั้นพระนางโจวันนาทรงมุ่งมั่นในการบริหารราชอาณาจักรของพระนาง และทรงมีความสุขที่ได้ปกครองคณะรัฐบาล แม้ว่าพระนางจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยุติธรรมและรอบคอบแต่ก็ไม่มีการออกกฎหมายหรือตราคำสั่งใดๆ เลยที่จะดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุมัติและประทับตราส่วนพระองค์ รัชกาลของพระนางโจวันนามีความโดดเด่นจากการสนับสนุนและปกป้องธุรกิจท้องถิ่น การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และทรงปฏิเสธที่จะลดค่าสกุลเงิน อาชญากรรมลดลงอย่างมาก และพระนางทรงเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพภายในราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่อย่างกระตือรือร้น
แม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณอย่างลึกซึ้งและเป็นมิตรกับกาเตรีนาแห่งซีเอนากับบริจิตแห่งสวีเดน แต่ราชสำนักของพระนางมีความโดดเด่นเรื่องความโก้หรู ด้วยการสะสมสัตว์หายากของพระนางและคนรับใช้จากหลากหลายเชื้อชาติเช่น ชาวตุรกี ซาราเซนและแอฟริกัน
นักเขียนร่วมสมัยอย่างโจวันนี บอกกัชโช ได้อธิบายถึงสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ในงานเขียนเดอมูลีเอรีบัสคลารีส ว่า "โจวันนา ราชินีแห่งซิซิลีและเยรูซาเลม มีชื่อเสียงมากกว่าสตรีคนอื่นๆ ในยุคสมัยของพระนาง ในเรื่องเชื้อสาย อำนาจและอุปนิสัย" ภาพเขียนของพระนางที่ยังหลงเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่าพระนางมีพระเกศาสีบลอนด์และผิวขาว
ศาสนเภทตะวันตก
แก้ด้วยปราศจากพระราชโอรสพระราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงพยายามหาทางแก้ปัญหาการสืบราชสมบัติ โดยทรงให้มีการเสกสมรสในเดือนมกราคม ค.ศ. 1369 ระหว่างพระนัดดาของพระนางคือ มาร์เกอริตาแห่งดูราซโซ (พระธิดาองค์สุดท้องของเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐาของพระนางโจวันนา ที่ประสูติแต่คาร์โล ดยุคแห่งดูราซโซ สวามีองค์แรก) กับพระญาติชั้นหนึ่งของพระนางคือ คาร์โลแห่งดูราซโซ (โอรสของลุยจิ เคานท์แห่งกราวินา)[116] แม้ว่าพระราชินีจะไม่ทรงเห็นด้วยแต่ก็ด้วยความจำเป็น การเสกสมรสครั้งนี้ถูกต่อต้านโดยอดีตพระเทวัน (น้องเขย) ของพระนาง และเป็นบิดาเลี้ยงในมาร์เกอริตา คือ ฟิลิปป์ที่ 2 เจ้าขายแห่งตารันโต ในระหว่างที่เขาป่วยหนักจนเกือบถึงแก่ชีวิตในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1373 เขาได้ยกมรดกและการอ้างสิทธิ์ให้แก่พี่เขย คือ ฟร็องซัวแห่งบูซ์ ดยุคแห่งอันเดรีย และบุตรชายของเขาคือ ฌัคแห่งบูซ์ ฟร็องซัวอ้างสิทธิ์ของฟิลิปป์ที่ 2 โดยใช้กองกำลัง ซึ่งพระนางโจวันนาสามารถปกป้องบัลลังก์เหมือนเดิมได้ พระนางโจวันนาจึงยึดทรัพย์สินของเขาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1374[117]
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเริ่มบ่อนทำลายสถานะของคารโลแห่งดูราซโซในฐานะองค์รัชทายาทของราชบัลลังก์ โดยพระนางอภิเษกสมรสใหม่เป็นครั้งที่ 4 โดยการลงพระนามสัญญาสมรสวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1375 กับออตโต ดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน ผู้เคยช่วยปกป้องสิทธิ์ของพระนางในปีเยมอนเต โดยได้รับการอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 และมีการจัดพิธีอภิเษกสมรสในอีกสามเดือนถัดมา ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1376 ที่คาสเตลนูโว[116][118] แม้ว่าพระสวามีใหม่ของพระนางจะถูกลดพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายพระราชสวามี แต่คาร์โลแห่งดูราซโซไม่พอใจการอภิเษกสมรสครั้งนี้ของสมเด็จป้าของมาร์เกอริตา ผู้เป็นชายา จึงหันเข้าหาพระเจ้าลอโยซมหาราชแห่งฮังการี ศัตรูของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา
ในช่วงนี้เกิดศาสนเภทตะวันตก หนึ่งในเหตุการณ์ความแตกแยกทางศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปยุคกลาง มีการเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาขึ้นมาสองพระองค์ ได้แก่ บาร์โทโลเมโอ ปริกนาโน อาร์คบิชอปแห่งบารี (เลือกพระนามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6) กับโรแบร์ พระคาร์ดินัลแห่งเจนีวา (เลือกพระนามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7) พระสันตะปาปาองค์แรกประทับในโรม พระสันตะปาปาองค์หลังประทับในอาวีญง หลังจากที่ทรงลังเลอยู่พอสมควร สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงตัดสินพระทัยสนับสนุนคลีเมนต์ที่ 7 และสนับสนุนเงินจำนวน 50,000 ฟลอริน[119] สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ได้สนับสนุนศัตรูของพระนางโจวันนา ได่แก่ กษัตริย์ฮังการี ดยุคแห่งแอนเดรีย และคาร์โลแห่งดูราซโซ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงยื่นอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ซึ่งพระองค์แนะนำให้พระนางหันไปหาหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู ฝรั่งเศสและอาวีญงตั้งมั่นให้เนเปิลส์เป็นเขตหลักในอิตาลี หากจำเป็นต้องแก้ปัญหาศาสนเภทด้วยการใช้กำลัง อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของพระนางโจวันนาที่ทรงสนับสนุนคลีเมนต์ ก็คือทรงต้องการป้องกันความพยายามของเออร์บันที่ 6 ที่จะช่วงชิงบัลลังก์เนเปิลส์ไปจากพระนาง และยกดินแดนของอาณาจักรให้แก่ฟรานเชสโก ปริกนาโน พระนัดดาของสันตะปาปา ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1380 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ได้ประกาศให้พระนางโจวันนาเป็นคนนอกรีต และราชอาณาจักรของพระนางถือเป็นศักดินาของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งจะต้องถูกริบราชบัลลังก์และมอบให้แก่คาร์โลแห่งดูราซโซ[120]
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขอความช่วยเหลือ สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ทรงรับหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌูเป็นรัชทายาทในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1380[121] แทนที่คาร์โลแห่งดูราซโซ ข้อตกลงนี้สะท้อนความทะเยอทะยานของดยุคแห่งอ็องฌูที่เก็บงำมานาน คาร์โลแห่งดูราซโซยกทัพบุกเนเปิลส์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1380 โดยผู้นำกองทัพส่วนใหญ่เป็นชาวฮังการี
หลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู อาจจะไม่ทรงเข้าใจสถานการณ์ที่ร้ายแรงในเนเปิลส์ และพระองค์ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในทันทีเพราะพระองค์ถูกบังคับให้ประทับอยู่ในฝรั่งเศสหลังการเสด็จสวรรคตของพระเชษฐา โดยต้องทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ คือ พระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระราชนัดดา
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงมอบหมายให้ออตโตแห่งเบราน์ชไวค์ เจ้าชายพระราชสวามีควบคุมกองกำลังซึ่งเท่าที่จะรวบรวมได้และมีไม่มาก แต่ออตโตไม่สามารถต้านทานกองทัพของคาร์โลแห่งดูราซโซได้ ซึ่งได้ข้ามพรมแดนเนเปิลส์ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1381 หลังจากกองทัพของออตโตพ่ายแพ้ที่อานาญี คาร์โลได้อ้อมแนวป้องกันที่เมืองอแวร์ซาเข้าสู่กรุงเนเปิลส์วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 19.00 น. และปิดล้อมปราสาทคาสเตลนูโวของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา[122] เมื่อปราศจากความช่วยเหลือ สมเด็จพระราชินีนาถทรงยอมจำนนในวันที่ 25 สิงหาคม และทรงถูกคุมขัง ครั้งแรกคุมขังที่คาสเตลเดลโลโว และหลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมทรงถูกย้ายไปประทับที่คาสเตลเดลพาร์โคในโนเซรา อินเฟรีโอเร [123]
นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนามองว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเป็นผู้ปกครองที่ถูกปีศาจทำให้เข้าใจผิดซึ่งลวงหลอกให้พระนางไปสนับสนุนคลีเมนต์ที่ 7 แทนที่ควรสนับสนุนเออร์บันที่ 6[124] ในจดหมายของเธอที่เขียนถึงพระนางโจวันนา กาเตรีนากราบทูลให้พระนางพิจารณาว่า สถานะทางโลกียวิสัยของพระนางจะไม่ถูกต้องถ้าหากยังทรงสนับสนุนสมเด็จสันตะปาปาจากอาวีญง โดยเขียนจดหมายว่า "และถ้าข้าพเจ้าพิจารณาสถานการณ์ของฝ่าพระบาท ก็เหมือนกับสินค้นทางโลกียวิสัยที่ไม่แน่นอนซึ่งจะผ่านเลยไปเหมือนลมพัดไหว ฝ่าพระบาททรงพรากทำลายสิทธิ์ของพระองค์ออกไปด้วยตัวพระองค์เอง"[125] สิ่งที่นักบุญกาเตรีนาหมายถึงคือสถานะทางนิตินัยของเนเปิลส์ที่เกี่ยวข้องกับสันตะสำนัก แม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทางได้รับการสถาปนาเป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายของเนเปิลส์ แต่พระนางยังทรงอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม ราชบัลลังก์เนเปิลส์อยู่ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมายของสมเด็จพระสันตะปาปา "นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 13 และราชอาณาจักรนี้เป็นแหล่งรายได้ เป็นศักดิ์ศรี เป็นกองกำลังที่ทรงคุณค่าสำหรับศาสนจักร"[126]
ถูกปลงพระชนม์
แก้ในที่สุดหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู ตัดสินพระทัยที่จะดำเนินการและเสด็จไปยังอาวีญงในฐานะผู้บัญชาการกองทัพที่มีอำนาจเต็มในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1382 เพื่อช่วยเหลือพระนางโจวันนา[127] พระองค์ยกทัพผ่านตูรินและมิลาน ในช่วงต้นเดือนกันยายน ขณะที่หลุยส์เสด็จถึงเมืองอามาทริเช ใกล้กรุงโรม แต่ในเวลานั้นสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จสวรรคตแล้ว คาร์โลแห่งดูราซโซคาดการณ์ว่าไม่สามารถต้านทานกองทัพของเจ้าชายหลุยส์ได้ จึงตัดสินใจในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1382[128][129] ให้ย้ายสมเด็จพระราชินีนาถจากคาสเตลเดลพาร์โคมายังปราสาทมูโร ลูคาโนซึ่งพาลาเมเด บอซซูโต เป็นเจ้าของ ที่นี่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ทรงถูกปลงพระชนม์ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382 ขณะมีพระชนมายุ 56 พรรษา[5][6]
ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ คาร์โลอ้างว่าสมเด็จป้าในชายาของเขาสวรรคตด้วยสาเหตุธรรมชาติ อย่างไรก็ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถถูกปลงพระชนม์ เนื่องจากทรงถูกย้ายไปยังที่ห่างไกลและมีการกระทำที่ลึกลับ เรื่องราวการปลงพระชนม์พระนางโจวันนาถูกเล่าอย่างแตกต่างกันไป โดยแหล่งข้อมูลที่ใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุดสองแหล่ง ได้แก่
- โทมัสแห่งเนียม ราชเลขาในสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ทรงถูกรัดพระศอด้วยผ้าไหมขณะที่ทรงประทับนั่งสวดมนต์ในโบสถ์ส่วนพระองค์ที่ปราสาทมูโร โดยผู้ลงมือคือทหารชาวฮังการี
- มารีแห่งบัวส์ พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู บันทึกว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงถูกปลงพระชนม์โดยบุรุษสี่คน ซึ่งน่าจะเป็นชาวฮังการี ทรงถูกมัดพระกรและพระบาท และอุดลมหายใจด้วยเบาะรองที่นอนขนนกสองหลัง
เนื่องจากไม่มีคำให้การจากพยานในชั่วขณะที่พระนางถูกปลงพระชนม์ จึงไม่สามารถสรุปรายงานอย่างแน่ชัดถูกต้องได้ บางแหล่งอ้างว่าพระนางทรงถูกอุดลมหายใจด้วยพระเขนย[130]
พระบรมศพของพระนางถูกนำไปเนเปิลส์และนำไปแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นเวลาหลายวัน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตแล้ว เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ได้บัพพาชนียกรรมพระนางโจวันนา จึงไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์ได้ พระบรมศพจึงถูกโยนลงไปในบ่อน้ำลึกของโบสถ์ซานตาคีอารา ราชอาณาจักรเนเปิลส์ถูกทิ้งให้ประสบกับสงครามสืบราชบัลลังก์ต่อเนื่องหลายทศวรรษ หลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌูสามารถรักษาพรอว็องซ์และฟอร์คัลกีเยร์บนแผ่นดินใหญ่ได้ ฌัคแห่งบูซ์ หลานชายของฟิลิปป์แห่งตารันโตอ้างสิทธิ์ในราชรัฐอาเซียหลังจากพระนางถูกปลงจากราชบัลลังก์ในปีค.ศ. 1381
ในวรรณกรรม
แก้- โจวันนี บอกกัชโช เขียนชีวประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ในชุดชีวประวัติที่มีชื่อว่า "De Mulieribus Claris" (สตรีผู้มีชื่อเสียง) บอกกัซโซทุ่มเทเขียนชีวประวัติในส่วนของพระนางโจวันนา เพื่อต้องการทำลายความคิดที่บอกว่า พระนางโจวันนาไม่ใช่ผู้ปกครองที่ชอบธรรมของเนเปิลส์ ซึ่งบอกกัซโซประกาศว่าพระนางโจวันนาทรงสืบสายเลือดที่สูงส่ง โดยอ้างว่าสายเลือดของพระนางสามารถสืบไปได้ถึง "ดาร์ดานุส ผู้สร้างกรุงทรอย ซึ่งบิดาของเขาคือ เทพจูปิเตอร์" บอกกัซโซได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า พระนางโจวันนาเป็นพระประมุขที่ถูกต้องตามกฎหมายของเนเปิลส์โดยอภิปรายถึงลักษณะการที่พระนางได้ครองบัลลังก์เนเปิลส์ บอกกัซโซยังเปิดเผยความคิดส่วนตัวที่เขาสนับสนุนพระนางโจวันนาในช่วงความวุ่นวายและความขัดแย้งตลอดรัชสมัยของพระนาง ในมุมมองของบอกกัซโซมีคำถามว่าผู้หญิงสามารถครองราชย์ได้หรือจะมีผู้สูงศักดิ์คนอื่นที่เหมาะสมกว่าในการปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตรงประเด็นสำหรับกรณีของโจวันนา บอกกัซโซ ยังได้กล่าวถึงความสามารถของพระนางในรัชสมัยที่ทำให้พระนางกลายเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของเขา เมื่อบอกกัซโซสรุปพื้นที่และแว่นแคว้นทั้งหมดที่พระนางโจวันนาปกครองอยู่ เขาบรรยายถึงเนเปิลส์ว่าเป็นเมืองที่น่าทึ่ง มีทุ่งนาที่อุดมสมบูรณ์ มีขุนนางที่ยิ่งใหญ่ และความมั่งคั่งมากมาย แต่เขายังเน้นย้ำว่า "จิตวิญญาณของพระนางโจวันนา [คือ] การปกครองอย่างเท่าเทียมกัน" นอกจากนี้ บอกกัซโซ อ้างว่าสาเหตุที่เนเปิลส์เป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองนั้นก็เพราะว่าไม่มีพวกราชวงศ์ฮังการีและผู้สนับสนุนฮังการีมาอยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เขาไม่ชอบ บอกกัซโซอ้างว่า พระนางโจวันนา "โจมตีและกวาดล้างกลุ่มคนเหล่านั้นอย่างกล้าหาญ" ซึ่งคนพวกนั้นเข้ามายึดครองเนเปิลส์[131]
- อาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา เขียนนิยายโรแมนติกชื่อ โจนแห่งเนเปิลส์ (Joan of Naples) เป็นบทที่ 8 ของนิยายชุด Celebrated Crimes (ค.ศ.1839-40)[132]
- เรื่องราวชีวิตที่เป็นนิยายของพระนางถูกเขียนในนวนิยายชื่อ Queen of Night โดย อลัน ซาเวจ[133]
- László Passuth wrote a novel Napolyi Johanna (Joanna of Naples, 1968) about her life.[134]
- ลาสโล ปัสซุท เขียนนิยายชื่อ Napolyi Johanna (โจวันนาแห่งเนเปิลส์, ค.ศ. 1968) เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระนาง[135]
- มาร์เซล บริอง เขียนหนังสือ La reine Jeanne ของสมาคมคนรักหนังสือแห่งพรอว็องซ์ ค.ศ. 1936 (หนังสือที่แสดงภาพแกะสลักโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสที่เกิดในฮังการี ลาสโล บาร์ตา), ค.ศ. 1944 (ตีพิมพ์โดย โรแบร์ ลาฟ์ฟงต์)[136]
- เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เฟรเดอริค มิสตัล เขียนบทละครในปีค.ศ. 1890 ชื่อ La Rèino Janoโดยบรรยายเรื่องราวของพระนางบนศักดินาของพระนางที่พรอว็องซ์ระหว่างมาจากเนเปิลส์
พระราชอิสริยยศ
แก้พระนามเต็มของพระนางโจวันนา คือ โจวันนา ด้วยพระคุณของพระเจ้า สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเยรูซาเลมและซิชิลี ดัชเชสแห่งอาปูเลีย เจ้าหญิงแห่งคาปัว และเคานท์เตสแห่งพรอว็องซ์, ฟอลคาลกีเยร์และปีเยมอนเต[137]
อรรถาธิบาย
แก้- ↑ ในความเป็นจริง โจวันนาทรงได้รับการสวมมงกุฎเป็น "สมเด็จพระราชินีนาถแห่งซิชิลี" แม้ว่าผู้สืบบัลลังก์ก่อนหน้าพระนางจะสูญเสียการควบคุมเกาะหลังสงครามพิธีศาสนายามสายัณห์ซิชิลี คำว่า "ราชอาณาจักรเนเปิลส์" ถูกใช้เพื่อให้เข้าใจง่ายตั้งแต่ ค.ศ. 1805 โดยประวัติศาสตร์นิพนธ์เพื่อบ่งชี้ว่า ทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลียังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลอานเจวิน หรือ อ็องชู และขณะนั้นรู้จักในนามว่า ราชอาณาจักรซิชิลี ซิตราฟารุม หรือ อัลดิคัวเดลฟาโร (ฝั่งนี้ของฟาโร) หมายถึง จุดฟาโรซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมสซีนา—.[2][3] อีกส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรที่มีเพียงเกาะซิชิลีนั้น เรียกว่า ราชอาณาจักรซิชิลี อัลตราฟารุม หรือ ดิลาเดลฟาโร (อีกฟากหนึ่งของฟาโร) ที่ถูกปกครองโดยราชวงศ์บาร์เซโลนา [3] รัฐบาลนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์อ็องชู-เนเปิลส์ จนกระทั่งสนธิสัญญาวิลเลอนูเวอซึ่งได้รับการให้สัตยาบันจากสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและพระเจ้าเฟเดริโกที่ 4 แห่งซิชิลี ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1373 ณ เมืองอเวอร์ซา ต่อหน้าผู้แทนองค์พระสันตะปาปา คือ ฌ็อง เดอ รีวิลยง บิชอปแห่งซาร์ลา[4]
- ↑ ตรงกันข้ามกับทฤษฎีของเอมิล กีโยม เลโอนาร์ด พิจารณาว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ เพราะพระนางทรงกล่าวถึงพระนางเองว่าทรงเป็น "สตรีที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาน้อย ดังนั้นจึงทรงถูกหลอกลวงอยู่บ่อยครั้ง" ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ในค.ศ. 1346[26] ตามคำกล่าวของมาริโอ กากลีโอเน มองว่าอาจเป็นการกล่าววลีเชิงโวหารเท่านั้น[25] แนนซี โกลด์สโตนได้โต้แย้งว่า ซานเชียแห่งมายอร์กา พระพันปีหลวง ยังเคยกล่าวถึงพระนางเองในลักษณะเดียวกันและสามารถเขียนหนังสือได้ ดังนั้นเธอจึงเชื่อว่า พระนางโจวันนาอาจจะทำเช่นเดียวกัน[27] ภาษาละตินที่เขียนหวัดๆ ในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเป็นต้วบ่งชี้ว่า พระนางทรงเขียนลายพระหัตถ์ด้วยพระนางเอง[27]
เชิงอรรถอ้างอิง
แก้- ↑ Kiesewetter, Andreas (2001). "GIOVANNA I d'Angiò, regina di Sicilia". Dizionario Biografico degli Italiani - Volume 55 (ภาษาอิตาลี). www.treccani.it. สืบค้นเมื่อ 5 October 2020.
- ↑ "Ministero per i Beni Culturali: Bolla dall'Archivio di Stato di Napoli-Regnum Siciliae citra Pharum." (PDF) (ภาษาอิตาลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-23. สืบค้นเมื่อ 6 February 2022.
- ↑ 3.0 3.1 Grierson & Travaini 1998, p. 255.
- ↑ Grierson & Travaini 1998, p. 270.
- ↑ 5.0 5.1 Léonard 1954, p. 468.
- ↑ 6.0 6.1 Eugène Jarry: La mort de Jeanne II, reine de Jérusalem et de Sicile, en 1382., Bibliothèque de l'école des chartes, 1894, pp. 236-237.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Goldstone 2009, p. 15.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Casteen 2015, p. 3.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 17–18.
- ↑ 10.0 10.1 Casteen 2015, pp. 2–3.
- ↑ Casteen 2015, p. 9.
- ↑ Duran 2010, p. 76.
- ↑ 13.0 13.1 Monter 2012, p. 61.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 38–39.
- ↑ 15.0 15.1 Goldstone 2009, pp. 40–41.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 Lucherini 2013, p. 343.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Casteen 2015, pp. 9–10.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 Goldstone 2009, p. 40.
- ↑ Goldstone 2009, p. 41.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Lucherini 2013, p. 344.
- ↑ Casteen 2015, p. 10.
- ↑ Léonard 1932, p. 142, vol.1.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 31–33.
- ↑ Goldstone 2009, p. 33.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 Gaglione 2009, p. 335.
- ↑ Léonard 1932, p. 172, vol.1.
- ↑ 27.0 27.1 Goldstone 2009, pp. 321–322.
- ↑ da Gravina 1890, p. 7.
- ↑ Lucherini 2013, pp. 347–348.
- ↑ Goldstone 2009, p. 42.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 Lucherini 2013, p. 350.
- ↑ Lucherini 2013, pp. 348–349.
- ↑ Goldstone 2009, p. 45.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 63–64.
- ↑ Abulafia 2000, p. 508.
- ↑ Casteen 2015, pp. 32–33.
- ↑ Casteen 2015, p. 33.
- ↑ Lucherini 2013, pp. 350–351.
- ↑ 39.0 39.1 Duran 2010, p. 79.
- ↑ 40.0 40.1 40.2 40.3 Goldstone 2009, p. 65.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 41.5 Casteen 2015, p. 34.
- ↑ Léonard 1932, p. 335, vol.1.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 43.3 Goldstone 2009, p. 78.
- ↑ Casteen 2015, p. 37.
- ↑ 45.0 45.1 45.2 Goldstone 2009, p. 70.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 71–72.
- ↑ 47.0 47.1 Goldstone 2009, p. 73.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 48.3 Goldstone 2009, p. 74.
- ↑ Goldstone 2009, p. 75.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 75–76.
- ↑ 51.0 51.1 51.2 Goldstone 2009, p. 76.
- ↑ 52.0 52.1 52.2 52.3 52.4 Goldstone 2009, p. 77.
- ↑ 53.0 53.1 Engel 2001, p. 159.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 78–79.
- ↑ Goldstone 2009, p. 79.
- ↑ 56.0 56.1 Casteen 2015, p. 39.
- ↑ 57.0 57.1 57.2 Goldstone 2009, p. 89.
- ↑ 58.0 58.1 Casteen 2015, p. 38.
- ↑ Goldstone 2009, p. 85.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 85–86.
- ↑ 61.0 61.1 Goldstone 2009, p. 88.
- ↑ Casteen 2015, p. 40.
- ↑ 63.0 63.1 63.2 Goldstone 2009, p. 95.
- ↑ Casteen 2015, pp. 39–40.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 90–91.
- ↑ Goldstone 2009, p. 91.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 Goldstone 2009, p. 92.
- ↑ Goldstone 2009, p. 93.
- ↑ Cox 1967, pp. 62–63.
- ↑ 70.0 70.1 70.2 70.3 70.4 70.5 70.6 Cox 1967, p. 63.
- ↑ 71.0 71.1 Casteen 2015, p. 41.
- ↑ 72.0 72.1 Goldstone 2009, p. 96.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 96–97.
- ↑ 74.0 74.1 74.2 Goldstone 2009, p. 97.
- ↑ 75.0 75.1 Goldstone 2009, p. 98.
- ↑ 76.0 76.1 76.2 Casteen 2015, p. 42.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 101–102.
- ↑ 78.0 78.1 78.2 78.3 78.4 78.5 Casteen 2015, p. 43.
- ↑ 79.0 79.1 Goldstone 2009, p. 102.
- ↑ Goldstone 2009, p. 100.
- ↑ Casteen 2015, p. 44.
- ↑ Léonard 1954, p. 347.
- ↑ Cox 1967, p. 63-68.
- ↑ 84.0 84.1 84.2 Casteen 2011, p. 193.
- ↑ Léonard 1932, p. 351, vol.1.
- ↑ Léonard 1932, p. 359, vol.1.
- ↑ Paul Masson (dir.), Raoul Busquet et Victor Louis Bourrilly: Encyclopédie départementale des Bouches-du-Rhône, vol. II: Antiquité et Moyen Âge, Marseille, Archives départementales des Bouches-du-Rhône, 1924, 966 p., chap. XVII (« L'ère des troubles : la reine Jeanne (1343-1382), établissement de la seconde maison d'Anjou : Louis Ier (1382-1384) »), p. 391.
- ↑ Paladilhe 1997, p. 78.
- ↑ Pál Engel: The Realm of St Stephen: A History of Medieval Hungary, 895–1526, I.B. Tauris Publishers, 2001, p. 160.
- ↑ László Solymosi, Adrienne Körmendi: "A középkori magyar állam virágzása és bukása, 1301–1506 [The Heyday and Fall of the Medieval Hungarian State, 1301–1526]" [in:] László Solymosi: Magyarország történeti kronológiája, I: a kezdetektől 1526-ig [Historical Chronology of Hungary, Volume I: From the Beginning to 1526] (in Hungarian). Akadémiai Kiadó, 1981, p. 210.
- ↑ Nancy Goldstone: The Lady Queen: The Notorious Reign of Joanna I, Queen of Naples, Jerusalem, and Sicily. Walker&Company, 2009, p. 151.
- ↑ Léonard 1932, p. 52, vol.2.
- ↑ Thierry Pécout: « Marseille et la reine Jeanne » dans Thierry Pécout (dir.), Martin Aurell, Marc Bouiron, Jean-Paul Boyer, Noël Coulet, Christian Maurel, Florian Mazel et Louis Stouff: Marseille au Moyen Âge, entre Provence et Méditerranée : Les horizons d'une ville portuaire, Méolans-Revel, Désiris, 2009, 927 p., p. 216.
- ↑ Paladilhe 1997, p. 87-89.
- ↑ Léonard 1932, p. 143-144, vol.2.
- ↑ Busquet 1978, p. 128.
- ↑ Casteen 2011, p. 194.
- ↑ 98.0 98.1 98.2 Samantha Kelly: The Cronaca Di Partenope: An Introduction to and Critical Edition of the First Vernacular History of Naples (c. 1350), 2005, p. 14.
- ↑ 99.0 99.1 Philip Grierson, Lucia Travaini: Medieval European Coinage: Volume 14, South Italy, Sicily, Sardinia: With a Catalogue of the Coins in the Fitzwilliam Museum, Cambridge, Volume 14, Part 3. Cambridge University Press, 1998, pp. 230, 511.
- ↑ Michael Jones, Rosamond McKitterick: The New Cambridge Medieval History: Volume 6, C.1300-c.1415. Cambridge University Press, 2000, p. 510.
- ↑ Léonard 1954, p. 362.
- ↑ D'Arcy Boulton, Jonathan Dacre: The Knights of the Crown: The Monarchical Orders of Knighthood in Later Medieval Europe, 1325–1520, Boydell Press, 2000, p. 214.
- ↑ Léonard 1954, p. 380.
- ↑ Busquet 1954, p. 193.
- ↑ Busquet 1954, p. 195.
- ↑ Busquet 1954, p. 196.
- ↑ Paladilhe 1997, p. 135.
- ↑ Casteen 2015, p. 130.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 235–236.
- ↑ Paladilhe 1997, p. 138-139.
- ↑ Busquet 1954, p. 197.
- ↑ Jean-Marie Grandmaison: Tarascon cité du Roi René, Tarascon, 1977, 98 p., p. 5.
- ↑ Busquet 1954, p. 198.
- ↑ เขาเป็นครูและเป็นผู้บังคับบัญชาปราสาทของคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย พระราชบิดาในสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา และเขาได้เป็นเอกอัครราชทูตไปยังราชสำนักของกษัตริย์ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1323 เพื่อสู่ขอมารีแห่งวาลัวส์มาอภิเษกกับคาร์โล
- ↑ Léonard 1954, p. 429.
- ↑ 116.0 116.1 Busquet 1954, p. 199.
- ↑ Léonard 1954, p. 448.
- ↑ Paladilhe 1997, p. 149.
- ↑ Léonard 1954, p. 452.
- ↑ Casteen 2015, p. 203.
- ↑ Busquet 1954, p. 200.
- ↑ Léonard 1954, p. 464.
- ↑ Léonard 1954, p. 465.
- ↑ Benincasa, Catherine. "Letters of Catherine Benincasa". Project Gutenberg. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
- ↑ Benincasa, Catherine. "Letters of Catherine Benincasa". Projectgutenberg.org. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
- ↑ Casteen 2011, p. 187.
- ↑ Paladilhe 1997, p. 168.
- ↑ Chronicon Siculum incerti authoris ab anno m 340 ad annum 1396: in forma diarij ex inedito codice Ottoboniano Vaticano, p. 45
- ↑ ที่นี่โจวันนี บอกกัชโชเข้าใจผิดว่าพระนางโจวันนาสวรรคตDe mulieribus claris, CVI. DE IOHANNA, IERUSALEM ET SYCILIE REGINA.
- ↑ "Joanna". Chestofbooks.com. สืบค้นเมื่อ 31 May 2013.
- ↑ Giovanni Boccaccio (2011). On famous women. แปลโดย Guido A. Guarino (2nd ed.). New York: Italica Press. pp. 248–249. ISBN 978-1-59910-266-5.
- ↑ Dumas, père, Alexandre (2015). Joan of Naples 1343 - 1382 (Celebrated Crimes Series). White Press. ISBN 9781473326637.
- ↑ Savage, Alan (1993). Queen of Night. Time Warner Books UK. ISBN 978-0316903097.
- ↑ Passuth, László (2010). Nápolyi Johanna. Könyvmolyképző Kiadó Kft. ISBN 9789632452777.
- ↑ Passuth, László (2010). Nápolyi Johanna. Könyvmolyképző Kiadó Kft. ISBN 9789632452777.
- ↑ Brion, Marcel (1944). La reine Jeanne. Robert Laffont (réédition numérique FeniXX). ASIN B07MDLBN1P.
- ↑ Pearson's Magazine, Volume 5, Issue 1, Page 25
อ้างอิง
แก้- Abulafia, David (2000). "The Italian south". ใน Jones, Michael (บ.ก.). The New Cambridge Medieval History, Volume 6, c.1300–c.1415. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 488–514. ISBN 978-1-13905574-1.
- Busquet, Raoul (1978). Laffont, Robert (บ.ก.). Histoire de Marseille. Paris.
- Busquet, Raoul (30 November 1954). Histoire de Provence (1997 ed.). Imprimerie nationale de Monaco.
- Casteen, Elizabeth (2015). From She-Wolf to Martyr: The Reign and Disputed Reputation of Johanna I of Naples. Cornell University Press. ISBN 978-0-8014-5386-1.
- Casteen, Elizabeth (3 June 2011). "Sex and Politics in Naples: The Regnant Queenship of Johanna I". Journal of the Historical Society. Malden, MA, USA: Blackwell Publishing. 11 (2): 183–210. doi:10.1111/j.1540-5923.2011.00329.x. ISSN 1529-921X. OCLC 729296907. (ต้องสมัครสมาชิก)
- Cox, Eugene L. (1967). The Green Count of Savoy. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. LCCN 67-11030.
- da Gravina, Domenico (1890). Ludovico Antonio Muratore (บ.ก.). Chronicon de Rebus in Apulia Gestis (AA. 1333-1350) (PDF). Naples: Ernesto Anfossi Editore.
- Duran, Michelle M. (2010). "The Politics of Art: Imaging Sovereignty in the Anjou Bible at Leuven". ใน Watteeuw, Lieve; Van der Stock, Jan (บ.ก.). The Anjou Bible. a Royal Manuscript Revealed: Naples 1340. Peeter. pp. 73–94. ISBN 978-9-0429-2445-1.
- Engel, Pál (2001). The Realm of St Stephen: A History of Medieval Hungary, 895–1526. I.B. Tauris Publishers. ISBN 978-1-86064-061-2.
- Gaglione, Mario (2009). Converà ti que aptengas la flor: profili di sovrani angioini, da Carlo I a Renato (1266-1442) (ภาษาอิตาลี). Milan: Academia.edu.
- Goldstone, Nancy (2009). The Lady Queen: The Notorious Reign of Joanna I, Queen of Naples, Jerusalem, and Sicily. Walker&Company. ISBN 978-0-8027-7770-6.
- Grierson, Philip; Travaini, Lucia (1998). Medieval European Coinage, Volume 14: Italy (III) (South Italy, Sicily, Sardinia). Cambridge: Cambridge University Press.
- Léonard, Émile-G. (1932). "Histoire de Jeanne Ire, reine de Naples, comtesse de Provence (1343-1382) : La jeunesse de la reine Jeanne". ใน Picard, Auguste (บ.ก.). Mémoires et documents historiques. Paris et Monaco.
- Léonard, Émile-G (1954). Les Angevins de Naples. Paris: Presses universitaires de France.
- Lucherini, Vinni (2013). "The Journey of Charles I, King of Hungary, from Visegrád to Naples (1333): Its Political Implications and Artistic Consequences". Hungarian Historical Review. 2 (2): 341–362.
- Monter, William (2012). The Rise of Female Kings in Europe, 1300-1800. Yale University Press. ISBN 978-0-300-17327-7.
- Paladilhe, Dominique (1997). La reine Jeanne : comtesse de Provence. Librairie Académique Perrin. ISBN 978-2-262-00699-0.
อ่านเพิ่มเติม
แก้- Boccaccio, Giovanni (1970). Zaccaria, Vittorio (บ.ก.). De mulieribus claris. I classici Mondadori (ภาษาอิตาลี). Vol. 10 of Tutte le opere di Giovanni Boccaccio (2nd ed.). Milan: Mondadori. Biography # 106. OCLC 797065138.
- Boccaccio, Giovanni (2003). Famous women. Brown, Virginia, trans. Cambridge, MA, USA: Harvard University Press. ISBN 9780674003477. OCLC 606534850 and 45418951.
- Boccaccio, Giovanni (2011). On famous women. Guarino, Guido A., trans. (2nd ed.). New York: Italica Press. ISBN 9781599102658. OCLC 781678421.
- Musto, Ronald G. (2013). Medieval Naples: A Documentary History 400-1400. New York: Italica Press. pp. 234–302. ISBN 9781599102474. OCLC 810773043.
- Rollo-Koster, Joëlle (2015). Avignon and Its Papacy, 1309–1417: Popes, Institutions, and Society. Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-4422-1532-0.
- Wolf, Armin (1993). "Reigning Queens in Medieval Europe: When, Where, and Why". ใน Parsons, John Carmi (บ.ก.). Medieval Queenship. Sutton Publishing. pp. 169–188. ISBN 978-0-7509-1831-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- A. Dumas, Joan of Naples: e-text
- Coat of arms of the House of Anjou-Sicily ที่วิกิพีเดียภาษาฝรั่งเศส
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โรแบร์โต | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์ ร่วมกับ ลุยจิที่ 1 (1352-1362) (ค.ศ. 1343 - ค.ศ. 1382) |
คาร์โลที่ 3 | ||
เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ ร่วมกับ ลุยจิที่ 1 (1352-1362) (ค.ศ. 1343 - ค.ศ. 1382) |
หลุยส์ที่ 2 | |||
ฟิลิปโปที่ 2 | เจ้าหญิงแห่งอาเซีย (ค.ศ. 1373 - ค.ศ. 1381) |
เกียโคโม |