แอร์เฌแบ็ต บาโตรี

เคาน์เทสส์ แอร์เฌแบ็ต บาโตรี (ฮังการี: Báthory Erzsébet) เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1560 ในเมืองญีร์บาโตร์ (Nyírbátor) ประเทศฮังการี เป็นคนในตระกูลบาโตรีซึ่งมีความเกี่ยวดองกับพระมหากษัตริย์ฮังการีในสมัยนั้น

แอร์เฌแบ็ต บาโตรี
ภาพคัดลอกของแอร์เฌแบ็ต บาโตรี
จากภาพเดิมในปี ค.ศ. 1585 ที่สูญหาย
เกิด7 สิงหาคม พ.ศ. 2103
ราชอาณาจักรฮังการี
เสียชีวิต21 สิงหาคม พ.ศ. 2157
แซย์แต ราชอาณาจักรฮังการี (ปัจจุบันคือชัคติตเซ ประเทศสโลวาเกีย)

เมื่ออายุได้ 10 ปี แอร์เฌแบ็ตถูกหมั้นหมายกับแฟแร็นตส์ นาดาสดี (Ferenc Nádasdy) บุตรชายจากตระกูลชั้นสูงอีกตระกูลในฮังการี[1] จากนั้นเธอกับแฟแร็นตส์แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1575 ต่อมาเมื่อแฟแร็นตส์นำทัพไปทำสงครามกับออตโตมัน แอร์เฌแบ็ตได้ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและหมู่บ้านรอบ ๆ ปราสาทแซย์แตที่เธอพักอยู่[2] หลังแฟแร็นตส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1604 เริ่มมีข่าวลือถึงความโหดร้ายของแอร์เฌแบ็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนจักรพรรดิมัททีอัสรับสั่งให้ขุนนางฮังการีไปสืบหาความจริง มีการสอบพยานกว่า 300 ปากที่ระบุว่าแอร์เฌอแบ็ตล่อลวง ลักพา ทรมานและฆ่าเด็กสาวในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังพบหลักฐานหลายอย่าง เช่น ศพ ชิ้นส่วนมนุษย์ และเด็กสาวที่พบว่าถูกคุมขังขณะแอร์เฌแบ็ตถูกจับ[3]

แอร์เฌแบ็ตถูกจับพร้อมกับผู้สมรู้ร่วมคิดอีก 4 คนข้อหาทรมานและฆาตกรรมเด็กสาวมากกว่าร้อยคนระหว่าง ค.ศ. 1590 ถึง 1610[4] จำนวนเหยื่อที่มีการระบุในการไต่สวนอยู่ที่ 650 ราย แต่จำนวนนี้มาจากการกล่าวอ้างของสาวรับใช้คนหนึ่ง[5] ถึงแม้จะมีหลักฐานเอาผิดแอร์เฌแบ็ต แต่เธอกลับรอดพ้นโทษประหารชีวิต และถูกคุมขังในปราสาทแซย์แตจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1614

แอร์เฌแบ็ตขึ้นชื่อเรื่องการทรมานผู้คน บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ให้การรับรองเธอในฐานะฆาตกรหญิงที่โหดที่สุดจากจำนวนเหยื่อ[6] อย่างไรก็ตาม จำนวนเหยื่อนั้นยังเป็นที่ถกเถียง แอร์เฌแบ็ตมักถูกเล่าขานว่าเธอใช้เลือดเด็กสาวอาบต่างน้ำเพื่อคงความอ่อนเยาว์ แต่เรื่องเล่านี้ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด[7] ความโหดร้ายของเธอมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับวลาดที่ 3 นักเสียบ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นต้นแบบของเคาต์แดรกคูลาในนิยาย แดรกคูลา และถูกนำมาเล่าใหม่ในสื่อหลายรูปแบบ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Craft, Kimberly L. (2009). Infamous Lady: The True Story of Countess Erzsébet Báthory. CreateSpace Independent Publishing Platform. ISBN 9781449513443. สืบค้นเมื่อ 13 June 2014.
  2. Craft, Kimberley L. (2009). Infamous Lady:The True Story of Countess Erzsébet Báthory. CreateSpace Independent Publishing Platform. p. 38.
  3. Farin, Michael (1989). Heroine des Grauens: Wirken und Leben der Elisabeth Báthory: in Briefen, Zeugenaussagen und Phantasiespielen [Heroine of horror: the life and work of Elisabeth Báthory: in letters, testimonies and fantasy games] (ภาษาเยอรมัน). p. 293. OCLC 654683776.
  4. Ramsland, Katherine. "Lady of Blood: Countess Bathory". Crime Library. Turner Entertainment Networks Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2014.
  5. Thorne, Tony (1997). Countess Dracula. London, England: Bloomsbury. p. 53. ISBN 978-1408833650.
  6. "Most prolific female murderer". Guinness World Records. Guinness World Records Limited. สืบค้นเมื่อ 3 May 2018. The most prolific female murderer and the most prolific murderer of the western world, was Elizabeth Bathory, who practised vampirism on girls and young women. Described as the most vicious female serial killer of all time, the facts and fiction on the events that occurred behind the deaths of these young girls are blurred. Throughout the 15th century, she is alleged to have killed more than 600 virgins
  7. Haviland, David (2012). The Not-So-Nude Ride of Lady Godiva: & Other Morsels of Misinformation from the History Books. London, United Kingdom: Penguin Books. ISBN 9781101585627.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้