แคลกะรีทาวเวอร์

 

แคลกะรีทาวเวอร์
Calgary Tower
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะสร้างเสร็จสมบูรณ์
ประเภทหอสังเกตการณ์
ที่อยู่101 9 Avenue SW
แคลกะรี, แอลเบอร์ตา
T2P 1J9
พิกัด51°02′40″N 114°03′49″W / 51.04444°N 114.06361°W / 51.04444; -114.06361
เริ่มสร้าง19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510
แล้วเสร็จพ.ศ. 2511
ค่าก่อสร้างCA$3,500,000 (พ.ศ. 2510)
เจ้าของแอสเปนพรอบเพอร์ตีส์[1]
ความสูง
เสาอากาศ190.8 เมตร (626 ฟุต)[2]
หลังคา171 เมตร (561 ฟุต)
ข้อมูลทางเทคนิค
ลิฟต์2
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกW.G. Milne และ A. Dale และคณะ

แคลกะรีทาวเวอร์ หรือ หอคอยแคลกะรี เป็นหอสังเกตการณ์สูง 190.8 เมตร (626 ฟุต) ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองแคลกะรี ในรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เดิมใช้ชื่อว่า ฮัสกี้ทาวเวอร์ เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ฮัสกี้ทาวเวอร์ถือเป็นหนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดในเมืองแคลกะรี โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Marathon Realty Company Limited และบริษัท Husky Oil เพื่อช่วยฟื้นฟูเมืองและเป็นเกียรติแก่การเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ของแคนาดาในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) หอคอยนี้สร้างด้วยงบประมาณ 3,500,000 ดอลลาร์แคนาดา มีน้ำหนักประมาณ 10,884 ตัน และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นแคลกะรีทาวเวอร์ในปี พ.ศ. 2514

ประวัติ แก้

การวางแผนและการก่อสร้าง แก้

เดิมโครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท Marathon Realty และ Husky Oil โดยมีการเสนอให้สร้างหอคอยเพื่อเฉลิมฉลอง 100 ปีของการจัดตั้งประเทศแคนาดาในปี พ.ศ. 2510 และเพื่อส่งเสริมให้เมืองแคลกะรีพัฒนา[3] โครงสร้างของแคลกะรีทาวเวอร์ได้รับการออกแบบโดยนาย A. Dale และคณะ โดยมีความทนทานต่อแผ่นดินไหวและทนต่อความเร็วลมมากถึง 161 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[4]

โครงการก่อสร้างหอคอยนี้ได้รับการประกาศต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2508[5] สถานที่ก่อสร้างเคยเป็นที่ตั้งของสถานีผู้โดยสารแคลกะรีของบริษัทรถไฟแคนาเดียนแปซิฟิกซึ่งพังเสียหาย หนึ่งปีหลังจากการประกาศเพื่อเปิดทางสำหรับการพัฒนา รัฐบาลจังหวัดได้ทบทวนข้อเสนอหอคอยเพื่อพิจารณาว่าเป็นโครงการรำลึกหนึ่งร้อยปีที่ได้รับทุนสาธารณะ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ Frederick C. Colborne แนะนำให้ต่อต้านการใช้เงินทุนสาธารณะสำหรับโครงการ[6] แนวคิดของหอคอยร้อยปีเดิมถูกเสนอสำหรับเอ็ดมันตัน แต่โครงการนี้ถูกคัดค้านโดยผู้อยู่อาศัยใกล้กับบริเวณที่เลือก[6] Grant MacEwan อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแคลกะรีขอให้รัฐบาลจังหวัดย้ายโครงการไปที่แคลกะรี จนกระทั่ง Marathon และ Husky ตัดสินใจสร้างโครงการโดยไม่ขึ้นกับกองทุนสาธารณะ[6] แผนสำหรับหอคอยยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างและความสูงตามแผนก็เพิ่มขึ้นจาก 550 ฟุต เป็น 600 ฟุต[7]

การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 และใช้เวลา 15 เดือน โดยมีงบประมาณการก่อสร้าง 3.5 ล้านดอลลาร์แคนาดา[8] ตัวหอคอยสร้างขึ้นจากการเทคอนกรีต โดยเริ่มเทเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และเทคอนกรีตแล้วเสร็จ 24 วันต่อมา

เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ฮัสกี้ทาวเวอร์สูง 190.8 เมตร (626 ฟุต) โดยสูงกว่าอาคารที่สูงที่สุดในเมืองถึง 2 เท่า สถาปนิกที่ออกแบบฮัสกี้ทาวเวอร์จงใจปิดบังความสูงของอาคารเอาไว้ เพื่อไม่ให้คู่แข่งสร้างอาคารที่จะมาทำลายสถิติ โดยประกาศความสูงไว้ที่ 187 เมตร (614 ฟุต) เมื่อสถาปนิกที่เมืองแซนแอนโทนีโอสร้างหอคอยที่สูง 190 เมตรขึ้นมาได้ สถาปนิกของฮัสกี้ทาวเวอร์ก็เปิดเผยความสูงจริงของหอคอย (190.8 เมตร) เพื่อไม่ให้เสียสถิติ

ฮัสกี้ทาวเวอร์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28–30 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยมีพิธีเปิดแยกกันทั้งหมด 3 พิธี[8]

 
แคลกะรีทาวเวอร์ในปี พ.ศ. 2521

ฮัสกี้ทาวเวอร์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "แคลกะรีทาวเวอร์" เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เพื่อให้เกียรติแก่ชาวเมืองแคลกะรี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติแคลกะรี ยังคงเรียกหอคอยว่าฮัสกี้ทาวเวอร์ดังเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสื่อสาร

อาคารสูงฝั่งตะวันตกของศูนย์เปโตรแคนาดา (Suncor Energy Centre) ทำลายสถิติหอคอยของแคลกะรีทาวเวอร์ และกลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในแคลกะรีในปี พ.ศ. 2526[9]

แคลกะรีทาวเวอร์ได้รับการบูรณะในช่วงปี พ.ศ. 2530 จนถึงปี พ.ศ. 2533 โดยมีการเปิดร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหาร

ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2530 ได้มีการสร้างคบเพลิงขึ้นที่บริเวณยอดหอคอย เพื่อเฉลิมฉลองโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 ซึ่งเมืองแคลกะรีเป็นเจ้าภาพ [9] คบเพลิงถูกจุดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ในช่วงพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก และในปัจจุบันคบเพลิงนี้ยังคงถูกใช้ในกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เช่น วันชาติแคนาดา[8]

ระบบหลอดไฟ LED ถูกติดตั้งบนแคลกะรีทาวเวอร์ในช่วงปี พ.ศ. 2557 โดยหลอดไฟเหล่านี้สามารถแสดงสีได้มากถึง 16 ล้านสี และถูกทดสอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 หลอดไฟเหล่านี้ก็ถูกใช้เสมอมาจนถึงปัจจุบัน[10]

ระเบียงภาพ แก้

 อ้างอิง แก้

  1. "Calgary Tower". Aspen Properties. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-25. สืบค้นเมื่อ 2015-09-11.
  2. Emporis Buildings. "Calgary Tower". สืบค้นเมื่อ 2008-02-28.
  3. Fisher, Mike (June 27, 1993). "Towering tribute to landmark". Calgary Sun. p. 4.
  4. "Even hurricanes won't hurt Tower". Calgary Herald. June 28, 1968. p. 24. สืบค้นเมื่อ April 30, 2021.
  5. Perry, Fraser (December 11, 1965). "Renewal Plan Spans Tracks". Calgary Herald. p. 1. ProQuest 2253788807.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Provincially-Built Pylon Likely Out". Calgary Herald. December 11, 1965. p. 1. ProQuest 2253788807.
  7. "Tower Start Delayed Year". Calgary Herald. September 15, 1966. p. 1. ProQuest 2253699621.
  8. 8.0 8.1 8.2 "History of the Calgary Tower". Calgary Tower. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 6, 2010. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  9. 9.0 9.1 "Cornerstones: Calgary Tower". Calgary Public Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 3, 2010. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  10. "Video: New, colourful shine put on the Calgary Tower | Metro News". metronews.ca. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 17, 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-11-15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้