เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พ.ศ. 2533

อุบัติเหตุในประเทศไทย

เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พ.ศ. 2533 เป็นอุบัติเหตุแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในคืนวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2533 มีผู้เสียชีวิต 88 คน และบาดเจ็บอีก 36 คน[1] แต่บันทึกโบแดงกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 91 ศพ[2] ส่วนจตุพล ชมภูนิช นักแสดง วิทยากรและนักพูด กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตร่วม 100 ศพ[3] นับเป็นข่าวอุบัติเหตุที่ครึกโครมที่สุดในสมัยนั้น

เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พ.ศ. 2533
แผนที่
จุดเกิดเหตุ
วันที่24 กันยายน พ.ศ. 2533; 34 ปีก่อน (2533-09-24)
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พิกัด13°44′59″N 100°32′56″E / 13.7497°N 100.5490°E / 13.7497; 100.5490
ประเภทระเบิด
เสียชีวิต88
บาดเจ็บไม่ถึงตาย36

เหตุการณ์โศกนาฎกรรม

แก้

เหตุเกิดเวลาประมาณ 22.00 น. นายสุทัศน์ ฝักแคเล็ก ลูกจ้างบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน)) ขับรถบรรทุกแก๊สของบริษัทลงทางด่วนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วยความเร็วเพื่อให้พ้นไฟแดง แต่รถพลิกคว่ำ ตัวรถไถไปกับพื้น ถังบรรจุแก๊สรูปแคปซูล 2 ถัง ถังละ 3,770 ลิตร[1] หลุดออกจากตัวรถ แก๊สรั่วพวยพุ่งออกมา เกิดเป็นประกายไฟและระเบิดเสียงดังหลายครั้ง ทำให้บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่และละแวกใกล้เคียงกลายเป็นทะเลเพลิงในไม่กี่วินาที เพลิงลุกลามรวดเร็ว คลอกผู้คนในรถยนต์ซึ่งติดไฟแดงอยู่จนเสียชีวิตทันทีหลายราย บางรายเสียชีวิตเพราะสำลักควัน บางคนที่หนีออกมาได้ก็บาดเจ็บสาหัส เนื้อตัวเป็นแผลพุผองจากเปลวเพลิง ขณะเดียวกัน ถังแก๊สอีกถังที่ยังติดอยู่กับตัวรถไม่อาจทนทานความร้อนได้ ก็ระเบิดอีกครั้ง ตึกแถวสองฟากถนนเกิดเพลิงลุกท่วม และลามไปติดแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เกิดเป็นลูกเพลิงสูงท่วมตึกสามชั้น หม้อแปลงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ข้างถนนเกิดช็อต กระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด ทำให้ไฟดับ และเกิดเป็นลูกเพลิงพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสีแดงฉาน ผู้อาศัยในบริเวณนั้นและละแวกใกล้เคียง รวมทั้งชุมนุมแออัดนับ 100 หลังคาเรือน พากันหลบหนีเอาชีวิตรอด เพลิงยังคงไหม้ต่อเนื่องนานนับชั่วโมง เจ้าหน้าที่จากหน่วยกู้ชีพและตำรวจดับเพลิงพยายามฉีดน้ำสกัดกั้น แต่แก๊สฟุ้งกระจายในอากาศ ทำให้ระงับเพลิงได้ยาก ต้องใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมงจึงควบคุมเพลิงให้สงบลงได้ราว 22.00 น.ของวันถัดมา[4]

การพิพากษาคดี

แก้

ศาลฎีกาบรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ในคำพิพากษาที่ 3446/2537 ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ว่า

"เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายสุทัศน์ ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุลงจากทางด่วนมาที่ถนนเพชรบุรีด้วยความเร็วเพื่อเร่งให้พ้นสัญญาไฟจราจรที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสัญญาไฟแดง นายสุทันเลี้ยวรถไปทางด้านขวามุ่งหน้าจะไปสี่แยกมักกะสัน แต่รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกตะแคงครูดไปกับพื้นถนนจนถึงหน้าอาคารหอพักริมถนนเพชรบุรี ถังบรรจุก๊าซสองถังหลุดออกจากตัวรถ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ที่บรรทุกมารั่วแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้าง แล้วระเบิดเกิดเพลิงลุกไหม้ นายสุทันถึงแก่ความตายในรถ เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือนในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ด้านซ้ายของถนนเพชรบุรีเสียหาย ไหม้ตึกแถวด้านซ้ายและขวาของถนนเพชรบุรีจำนวน 51 ห้อง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ในถนนเพชรบุรีตั้งแต่แยกทางด่วนถึงแยกถนนวิทยุเสียหายประมาณ 67 คัน และจากเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตาย 88 คน ได้รับอันตรายสาหัส 24 คน ได้รับอันตรายแก่กาย 12 คน ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 214,926,282 บาท"[1][5]

รถบรรทุกแก๊สคันนี้ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ไม่มีข้อต่อระหว่างถังแก๊สกับตัวรถ ซึ่งมีประโยชน์ในการยึดวัสดุติดกับตัวรถไม่ให้เคลื่อนหรือหล่นลงมาจนเกิดอันตราย และไม่มีสายรัดถังแก๊สเหมือนกับที่รถบรรทุกแก๊สทั่วไปใช้กัน[4] ในหนังสือ รพี'34 ได้กล่าวถึงอีกสาเหตุหนึ่งของเหตุการณ์โศกนาฎกรรมแก๊สระเบิดว่าเกิดจากผู้ขับรถบรรทุกแก๊สประสาทหลอนจากการเสพยาม้า[6] เหตุการณ์นี้ยังเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง คนเห็นผี ของ ออกไซด์ แปง เมื่อ พ.ศ. 2545[7]

ดูเพิ่ม

แก้

เหตุการณ์อื่นที่คล้ายกัน

แก้

หลังจากเหตุการณ์รถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในปีพ.ศ. 2533 ได้มีการเข้มงวดรถบรรทุกแก๊สมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุกับรถบรรทุกแก๊สอีกหลายครั้ง เช่น

  • วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 รถบรรทุกแก๊ส LPG ชนราวสะพานพลิกคว่ำ บริเวณปากซอยพัฒนาการ 20-22 ส่งผลให้แก๊สรั่วไหลจนเกิดระเบิด และทำให้มีเปลวเพลิงลุกไหม้สูงเท่ากับตึก 4 ชั้น มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย [8]
  • วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 รถบรรทุกแก๊สแอลพีจีพลิกคว่ำบนถนนลำลูกกา ส่งผลให้แก๊สแอลพีจีรั่วไหลพวยพุ่งออกมาจำนวนมาก[9]
  • วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 รถบรรทุกถังแก๊สพลิกคว่ำบริเวณเชิงสะพานพระราม 3 ถนนพระราม 3 ไม่มีผู้บาดเจ็บ[10]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "คดีแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3446/2537)" (PDF). ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรม. 1994-08-15. pp. 9–10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-12. สืบค้นเมื่อ 2012-03-26.
  2. บริษัท บี.เอส.โปรโมชั่น จำกัด. โบแดง : บันทึกที่สุดของเมืองไทย เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2534. หน้า 284. ISBN 978-974-857-425-7
  3. จตุพล ชมภูนิช. ก็นี่ละ--ก.ท.ม.. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมนิติ, 2535. 138 หน้า. หน้า 127.
  4. 4.0 4.1 บุนนาค, โรม (2017-09-25), รถบรรทุกแก๊สคว่ำกลางถนนเผารถ ๖๗ คัน บ้าน ๕๑ หลัง คน ๘๘ ศพ! ผู้จัดการบริษัทรับโทษรอลงอาญา ๓ ปี!!, ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 2021-09-25
  5. 5.0 5.1 ศาลฎีกา (2018-10-28). "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๔๖/๒๕๓๗ - วิกิซอร์ซ". th.wikisource.org. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. ฝ่ายวิชาการ คณะกรรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์. รพี'34. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534. 109 หน้า. หน้า 82.
  7. Ancuta, Katarzyna (2016). "That's the Spirit!: Horror Films as an Extension of Thai Supernaturalism". Ghost Movies in Southeast Asia and Beyond: Narratives, Cultural Contexts, Audiences. BRILL. p. 127. ISBN 9789004323643. ...turned to the infamous 1990 LPG tanker explosion on New Petchabure Rd. in Bangkok for inspiration.
  8. "รถบรรทุกแก๊ส LPG คว่ำ ถนนพัฒนาการ จนระเบิดไฟลุกท่วม". www.thairath.co.th. 2012-03-23.
  9. "ระทึก! ปฏิบัติการ 8 ชม.กู้รถแก๊ส LPG คว่ำ ย่านลำลูกกา". mgronline.com. 2012-02-05.
  10. "ระทึก! รถแก๊สพลิกคว่ำกลางถนนพระราม 3 คุมเพลิงได้เจ็บ 2 คน". Thai PBS.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้