เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พ.ศ. 2533
เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พ.ศ. 2533 เป็นอุบัติเหตุแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในคืนวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2533 มีผู้เสียชีวิต 88 คน และบาดเจ็บอีก 36 คน[1] แต่บันทึกโบแดงกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 91 ศพ[2] ส่วนจตุพล ชมภูนิช นักแสดง วิทยากรและนักพูด กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตร่วม 100 ศพ[3] นับเป็นข่าวอุบัติเหตุที่ครึกโครมที่สุดในสมัยนั้น
จุดเกิดเหตุ | |
วันที่ | 24 กันยายน พ.ศ. 2533 |
---|---|
ที่ตั้ง | กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พิกัด | 13°44′59″N 100°32′56″E / 13.7497°N 100.5490°E |
ประเภท | ระเบิด |
เสียชีวิต | 88 |
บาดเจ็บไม่ถึงตาย | 36 |
เหตุการณ์โศกนาฎกรรม
แก้เหตุเกิดเวลาประมาณ 22.00 น. นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน)) ขับรถบรรทุกแก๊สของบริษัทลงทางด่วนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วยความเร็วเพื่อให้พ้นไฟแดง แต่รถพลิกคว่ำ ตัวรถไถไปกับพื้น ถังบรรจุแก๊สรูปแคปซูล 2 ถัง ถังละ 3,770 ลิตร[1] หลุดออกจากตัวรถ แก๊สรั่วพวยพุ่งออกมา เกิดเป็นประกายไฟและระเบิดเสียงดังหลายครั้ง ทำให้บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่และละแวกใกล้เคียงกลายเป็นทะเลเพลิงในไม่กี่วินาที เพลิงลุกลามรวดเร็ว คลอกผู้คนในรถยนต์ซึ่งติดไฟแดงอยู่จนเสียชีวิตทันทีหลายราย บางรายเสียชีวิตเพราะสำลักควัน บางคนที่หนีออกมาได้ก็บาดเจ็บสาหัส เนื้อตัวเป็นแผลพุผองจากเปลวเพลิง ขณะเดียวกัน ถังแก๊สอีกถังที่ยังติดอยู่กับตัวรถไม่อาจทนทานความร้อนได้ ก็ระเบิดอีกครั้ง ตึกแถวสองฟากถนนเกิดเพลิงลุกท่วม และลามไปติดแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เกิดเป็นลูกเพลิงสูงท่วมตึกสามชั้น หม้อแปลงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ข้างถนนเกิดช็อต กระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด ทำให้ไฟดับ และเกิดเป็นลูกเพลิงพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสีแดงฉาน ผู้อาศัยในบริเวณนั้นและละแวกใกล้เคียง รวมทั้งชุมนุมแออัดนับ 100 หลังคาเรือน พากันหลบหนีเอาชีวิตรอด เพลิงยังคงไหม้ต่อเนื่องนานนับชั่วโมง เจ้าหน้าที่จากหน่วยกู้ชีพและตำรวจดับเพลิงพยายามฉีดน้ำสกัดกั้น แต่แก๊สฟุ้งกระจายในอากาศ ทำให้ระงับเพลิงได้ยาก ต้องใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมงจึงควบคุมเพลิงให้สงบลงได้ราว 22.00 น.ของวันถัดมา[4]
การพิพากษาคดี
แก้ศาลฎีกาบรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ในคำพิพากษาที่ 3446/2537 ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ว่า
"เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุลงจากทางด่วนมาที่ถนนเพชรบุรีด้วยความเร็วเพื่อเร่งให้พ้นสัญญาไฟจราจรที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสัญญาไฟแดง นายสุทันเลี้ยวรถไปทางด้านขวามุ่งหน้าจะไปสี่แยกมักกะสัน แต่รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกตะแคงครูดไปกับพื้นถนนจนถึงหน้าอาคารหอพักริมถนนเพชรบุรี ถังบรรจุก๊าซสองถังหลุดออกจากตัวรถ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ที่บรรทุกมารั่วแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้าง แล้วระเบิดเกิดเพลิงลุกไหม้ นายสุทันถึงแก่ความตายในรถ เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือนในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ด้านซ้ายของถนนเพชรบุรีเสียหาย ไหม้ตึกแถวด้านซ้ายและขวาของถนนเพชรบุรีจำนวน 51 ห้อง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ในถนนเพชรบุรีตั้งแต่แยกทางด่วนถึงแยกถนนวิทยุเสียหายประมาณ 67 คัน และจากเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตาย 88 คน ได้รับอันตรายสาหัส 24 คน ได้รับอันตรายแก่กาย 12 คน ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 214,926,282 บาท"[1][5]
รถบรรทุกแก๊สคันนี้ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ไม่มีข้อต่อระหว่างถังแก๊สกับตัวรถ ซึ่งมีประโยชน์ในการยึดวัสดุติดกับตัวรถไม่ให้เคลื่อนหรือหล่นลงมาจนเกิดอันตราย และไม่มีสายรัดถังแก๊สเหมือนกับที่รถบรรทุกแก๊สทั่วไปใช้กัน[4] ในหนังสือ รพี'34 ได้กล่าวถึงอีกสาเหตุหนึ่งของเหตุการณ์โศกนาฎกรรมแก๊สระเบิดว่าเกิดจากผู้ขับรถบรรทุกแก๊สประสาทหลอนจากการเสพยาม้า[6] เหตุการณ์นี้ยังเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง คนเห็นผี ของ ออกไซด์ แปง เมื่อ พ.ศ. 2545[7]
ดูเพิ่ม
แก้- บันทึกเหตุการณ์ (รายละเอียดในรายการนี้ ไม่ตรงกับข้อมูลในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3446/2537[1][5])
เหตุการณ์อื่นที่คล้ายกัน
แก้หลังจากเหตุการณ์รถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในปีพ.ศ. 2533 ได้มีการเข้มงวดรถบรรทุกแก๊สมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุกับรถบรรทุกแก๊สอีกหลายครั้ง เช่น
- วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 รถบรรทุกแก๊ส LPG ชนราวสะพานพลิกคว่ำ บริเวณปากซอยพัฒนาการ 20-22 ส่งผลให้แก๊สรั่วไหลจนเกิดระเบิด และทำให้มีเปลวเพลิงลุกไหม้สูงเท่ากับตึก 4 ชั้น มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย [8]
- วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 รถบรรทุกแก๊สแอลพีจีพลิกคว่ำบนถนนลำลูกกา ส่งผลให้แก๊สแอลพีจีรั่วไหลพวยพุ่งออกมาจำนวนมาก[9]
- วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 รถบรรทุกถังแก๊สพลิกคว่ำบริเวณเชิงสะพานพระราม 3 ถนนพระราม 3 ไม่มีผู้บาดเจ็บ[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "คดีแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3446/2537)" (PDF). ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรม. 1994-08-15. pp. 9–10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-12. สืบค้นเมื่อ 2012-03-26.
- ↑ บริษัท บี.เอส.โปรโมชั่น จำกัด. โบแดง : บันทึกที่สุดของเมืองไทย เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2534. หน้า 284. ISBN 978-974-857-425-7
- ↑ จตุพล ชมภูนิช. ก็นี่ละ--ก.ท.ม.. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมนิติ, 2535. 138 หน้า. หน้า 127.
- ↑ 4.0 4.1 บุนนาค, โรม (2017-09-25), รถบรรทุกแก๊สคว่ำกลางถนนเผารถ ๖๗ คัน บ้าน ๕๑ หลัง คน ๘๘ ศพ! ผู้จัดการบริษัทรับโทษรอลงอาญา ๓ ปี!!, ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 2021-09-25
- ↑ 5.0 5.1 ศาลฎีกา (2018-10-28). "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๔๖/๒๕๓๗ - วิกิซอร์ซ". th.wikisource.org. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์. รพี'34. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534. 109 หน้า. หน้า 82.
- ↑ Ancuta, Katarzyna (2016). "That's the Spirit!: Horror Films as an Extension of Thai Supernaturalism". Ghost Movies in Southeast Asia and Beyond: Narratives, Cultural Contexts, Audiences. BRILL. p. 127. ISBN 9789004323643. ...turned to the infamous 1990 LPG tanker explosion on New Petchabure Rd. in Bangkok for inspiration.
- ↑ "รถบรรทุกแก๊ส LPG คว่ำ ถนนพัฒนาการ จนระเบิดไฟลุกท่วม". www.thairath.co.th. 2012-03-23.
- ↑ "ระทึก! ปฏิบัติการ 8 ชม.กู้รถแก๊ส LPG คว่ำ ย่านลำลูกกา". mgronline.com. 2012-02-05.
- ↑ "ระทึก! รถแก๊สพลิกคว่ำกลางถนนพระราม 3 คุมเพลิงได้เจ็บ 2 คน". Thai PBS.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ภาพเหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ วันพุธที่ 26 กันยายน 2533
- สยามจดหมายเหตุ, 17(27-52), 984. กรุงเทพฯ : สยามบรรณ, 2535.
- "ผู้หญิงวันนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง...วินิตา เลขวณิช", สกุลไทย, 53(2746-2749), 32-59. กรุงเทพฯ : อักษรโสภณ, 2550.
- อาทร จันทวิมล. ประวัติของแผ่นดินไทย. อักษรไทย, 2546. 445 หน้า. หน้า 343. ISBN 978-974-917-970-3