เร่ว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Zingiberaceae
สกุล: Amomum
สปีชีส์: A.  villosum
ชื่อทวินาม
Amomum villosum
Wall.

เร่วเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ในดิน จัดเป็นพืชวงศ์เดียวกับ กระวานข่า ขิง

ชื่อวิทยาศาสตร์ :Amomum villosum Wall. วงศ์ : Zingiberaceae ชื่อสามัญ : Bustard cardamom, Tavoy cardamom ชื่ออื่น : หมากแหน่ง (สระบุรี) หมากเนิง (อีสาน) มะอี้ หมากอี้ มะหมากอี้ (เชียงใหม่) หน่อเนง (ชัยภูมิ) แหล่งที่พบ: พบภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม: เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วนซุยในที่ร่มรำไร เกิดตามป่า ทั่วไปไม่มีต้นไม้ปกคลุม

ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์: ต้นฤดูฝน (เดือน พฤษภาคม - มิถุนายน)

ลักษณะ :ใบยาวเรียว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 4-7 ซม. ยาว 12-20 ซม ปลายใบแหลมและห้อยโค้งลงผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ก้านใบเป็นแผ่นมีขนาดสั้น เรียงอัดแน่นคล้ายลำต้นบนดินสีเขียว ออกดอกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกมีสีขาวก้านช่อดอกสั้น เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน แผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นตามขวาง สีน้ำตาลส้ม ผลแห้งแตกได้ รูปทรงกลม มีขนสีแดงปกคลุม เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอม เร่วมีหลายชนิด เช่น เร่วหอม เร่วช้าง เร่วกอ[1][2]


ส่วนที่ใช้ : เมล็ดจากผลที่แก่จัด ราก ต้น ใบ ดอก ผล

สรรพคุณ :

  • เมล็ดจากผลที่แก่จัด
- เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
- แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับน้ำนมหลังจากคลอดบุตร
  • ราก - แก้หืด แก้ไอ แก้ไข้เซื่องซึม
  • ต้น
- แก้คลื่นเหียน อาเจียน
  • ใบ
- ขับลม แก้ปัสสาวะพิการ
  • ดอก
- แก้พิษอันเกิดเป็นเม็ดผื่นคันตามร่างกาย
  • ผล
- รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวด

วิธีและปริมาณที่ใช้ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด โดยนำเมล็ดในของผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ใช้เป็นเครื่องเทศ โดยใช้เมล็ด

เอกลักษณ์ของอาหารเมืองจันท์

แก้

อาหารหลายจานของจันทบุรีใช้เร่วเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งทำให้มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะในน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ที่เป็นอาหารประจำท้องถิ่นของเมืองจันท์ชื่อ ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงนอกจากน้ำก๋วยเตี๋ยวจะต้องมีรสหวานจากเนื้อหมูและกระดูกหมูแล้ว ยังต้องหอมกลิ่นเครื่องเทศ คำว่า “เลียง” หมายถึงอาหารที่นำมาโขลกด้วยครก ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงเป็นการนำสับปะรด หัวไชเท้า และสมุนไพรที่ประกอบด้วยโป๊ยกั๊ก อบเชย ตะไคร้ ข่า ลูกมะกรูด และเร่วหอมโขลกรวมกันมาทำเป็นน้ำซุป การใส่เร่วหอมลงไปช่วยเพิ่มรสหวาน แต่ก็อย่าต้มทิ้งไว้นานเกินไปเพราะจะยิ่งฉุน หลายร้านจึงตักเร่วออกหลังจากเคี่ยวไปแล้ว 4 ชั่วโมง แล้วตักราดลงไปบนเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ลวก

คนจันทบุรียังใส่เร่วหอมลงไปในเครื่องพริกแกงป่า โดยรวมเข้ากับหัวไพล กระวาน และขิงแห้ง ซึ่งเพิ่มเข้าไปจากเครื่องพริกแกงของภาคกลางทำให้มีกลิ่นหอมแตกต่าง และมีสีเขียวเหลือง รสชาติเผ็ดร้อน ผัดกับเนื้อสัตว์แล้วเติมน้ำกลายเป็นแกงป่าที่มีกลิ่นหอมและรสหวานนิดๆ หนึ่งในอาหารท้องถิ่นที่หากินได้เฉพาะที่จันทบุรีเช่นกัน

นอกจากนี้เหง้าอ่อนและแขนงอ่อนของเร่วหอม ใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริกได้[3]

อ้างอิง

แก้
  1. "เร่วหอม".
  2. "เร่วหอม พืชสมุนไพร".
  3. "เร่วหอม เครื่องเทศกลิ่นหอมละมุนในชามก๋วยเตี๋ยวเมืองจันท์".