เฟอร์มิออน
เฟอร์มิออน ในฟิสิกส์อนุภาคหมายถึงอนุภาคประเภทหนึ่งที่เป็นไปตามการกระจายตัวแบบแฟร์มี-ดิแรก เฟอร์มิออนจะมีเลขสปินเป็นจำนวนครึ่งเท่า และเฟอร์มิออนสองตัวจะมีสถานะเชิงควอนตัมเดียวกันไม่ได้ตามกฎการกีดกันของเพาลี

เฟอร์มิออนมีความหมายตรงข้ามกับโบซอน โบซอนจะมีเลขสปินเป็นจำนวนเต็มเท่า และโบซอนมากกว่าสองตัวสามารถมีสถานะเชิงควอนตัมเดียวกันได้ เฟอร์มิออนสามารถเป็นได้ทั้งอนุภาคมูลฐาน เช่นอิเล็กตรอน หรือเป็นอนุภาคประกอบ เช่นโปรตอน เฟอร์มิออนที่เป็นอนุภาคมูลฐานในแบบจำลองมาตรฐาน มีทั้งหมด 24 ตัวแบ่งเป็น ควาร์ก 6 ตัวและเลปตอน 6 ตัว รวมกับปฏิยานุภาคของมันเป็น 24 ตัว เฟอร์มิออนประกอบเช่น โปรตอน นิวตรอน เป็นองค์ประกอบสำคัญในอะตอมของสสาร ต่างจากโบซอนที่มักเป็นพาหะของแรง แต่เฟอร์มิออนอันตรกิริยาแบบอ่อน (Weakly interacting fermion) สามารถมีพฤติกรรมแบบโบซอนภายใต้เงื่อนไขพิเศษ เช่นการสร้างตัวนำยิ่งยวด
คำว่า เฟอร์มิออน มาจากชื่อนักฟิสิกส์อนุภาค เอนรีโก แฟร์มี
คุณสมบัติ แก้ไข
นิยามของเฟอร์มิออนที่แท้จริงคืออนุภาคที่กระจายตัวแบบแฟร์มี-ดิแรก แต่เฟอร์มิออนที่รู้จักในปัจจุบันจะมีเลขสปินเป็นจำนวนครึ่งเท่า กล่าวคือเมื่อสลับสปินของเฟอร์มิออน ฟังก์ชันคลื่นของเฟอร์มิออนจะกลับเครื่องหมายด้วย[1] พฤติกรรมฟังก์ชันคลื่นแบบปฏิสมมาตรนี้ทำให้เฟอร์มิออนเป็นไปตามกฎการกีดกันของเพาลี กล่าวคือ เฟอร์มิออนสองตัวจะมีสถานะเชิงควอนตัมเดียวกันในเวลาเดียวกันไม่ได้ ทำให้เฟอร์มิออนมีลักษณะแข็งเกร็ง และคงทน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เฟอร์มิออนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสสาร เพราะทำให้อะตอมอยู่ตัวและมีความแตกต่างจากอะตอมอื่น และกฎการกีดกันของเพาลีก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดค่ามอดูลัสของยังซึ่งแสดงความยืดหยุ่นของสสารนั้นๆ
เฟอร์มิออนมูลฐาน แก้ไข
อนุภาคมูลฐานทั้งหมดที่สังเกตได้ในปัจจุบันมีอยู่สองประเภทเท่านั้นคือเฟอร์มิออนและโบซอน โดยเฟอร์มิออนมูลฐานแบ่งเป็นสองประเภทคือควาร์กและเลปตอน
- ควาร์กซึ่งสร้าง โปรตอน นิวตรอน และแบริออนอื่นๆ
- เลปตอนประกอบไปด้วยอิเล็กตรอน และอนุภาคที่มีลักษณะเหมือนกันแต่มวลมากกว่าอย่าง มิวออน ทาว และ นิวตริโน ชนิดต่างๆ
ในเฟอร์มิออนที่รู้จักในปัจจุบัน เฉพาะเฟอร์มิออนที่ถนัดซ้ายเท่านั้นที่จะมีอันตรกิริยาแบบอ่อน กล่าวอีกนัยหนึ่งเฉพาะเฟอร์มิออนถนัดซ้ายและแอนติเฟอร์มิออนถนัดขวาเท่านั้นที่จะมีอันตรกิริยาต่อW โบซอน
ดูเพิ่ม แก้ไข
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ Srednicki (2007) , pages 28-29
แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข
- Sakurai, J.J. (1994). Modern Quantum Mechanics (Revised Edition), pp 361-363. Addison-Wesley Publishing Company, ISBN 0-201-53929-2.
- Srednicki, Mark (2007). Quantum Field Theory เก็บถาวร 2011-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Cambridge University Press, ISBN 978-0521864497.