เนสกาแฟ
เนสกาแฟ (ฝรั่งเศส: Nescafé) เป็นตราสินค้ากาแฟที่ผลิตโดยเนสท์เล่ มาในหลายรูปแบบ ชื่อตราสินค้ามาจากคำว่า "เนสท์เล่" ควบกับคำว่า "กาแฟ" เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1938[3]
![]() | |
ชนิดสินค้า | กาแฟ |
---|---|
เจ้าของปัจจุบัน | เนสท์เล่ |
ประเทศ | สวิตเซอร์แลนด์ |
เริ่มจำหน่าย | 1 เมษายน 1938 |
ตลาด | ทั่วโลก |
ในปี ค.ศ. 1929 หลุยส์ ดัปล์ ประธานบริษัทเนสท์เล่ในขณะนั้น ได้รับการขอร้องจากธนาคารฝรั่งเศสและอิตาลีสำหรับอเมริกาใต้ที่เขาเคยทำงานว่า ธนาคารมีเมล็ดกาแฟที่ไม่สามารถจำหน่ายได้เหลืออยู่เป็นจำนวนมากภายในโกดังที่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทตก ค.ศ. 1929 ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกตกต่ำลง ธนาคารจึงสอบถามมายังเนสท์เล่ว่ามีวิธีการแปลงสต็อกเมล็ดกาแฟทั้งหมดดังกล่าวเป็นก้อนกาแฟที่ชงได้เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคหรือไม่ หลุยส์จึงติดต่อมัคส์ มอร์เกินทาเลอร์ นักเคมี ให้เข้ามาวิจัยวิธีการข้างต้น สามปีถัดมามอร์เกินทาเลอร์และทีมนักวิจัยค้นพบว่ากาเฟโอแล (café au lait) ซึ่งเป็นกาแฟผสมกับนมและน้ำตาล แล้วทำให้กลายเป็นผงนั้นช่วยเก็บรสชาติของกาแฟได้นานขึ้น แต่ผงกาแฟดังกล่าวยังละลายได้ยาก ส่วนนมและน้ำตาลก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ในการผลิต
กำเนิดเนสกาแฟ
แก้อย่างไรก็ตาม มอร์เกินทาเลอร์พบว่ารสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟจะคงอยู่ในกาแฟที่ผสมนมข้นหวานได้ดีกว่ากาแฟที่ผสมนมธรรมดา และยังพบอีกว่ากาแฟจะเก็บได้นานขึ้นในอุณหภูมิและแรงดันที่สูง เขาจึงสรุปว่าความลับในการเก็บรักษากลิ่นหอมของกาแฟเอาไว้ คือ การผลิตกาแฟที่สามารถละลายได้โดยที่ยังคงสภาพของคาร์โบไฮเดรตได้มากพอ การค้นพบนี้เป็นสิ่งใหม่และสวนทางกับความเชื่อทางวิชาการในขณะนั้้น ปีต่อมาเขาใช้เทคนิคเฉพาะในการผลิตผงกาแฟดังกล่าว และเสนอต่อกรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของเนสท์เล่เพื่อผลิตตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปที่สามารถละลายได้ ในที่สุดเนสท์เล่จึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในชื่อ เนสกาแฟ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1938 ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และจัดตั้งสายการผลิตขนาดใหญ่สำหรับสกัดและอบแห้งเมล็ดกาแฟ เพื่อผลิตเนสกาแฟขึ้นที่โรงงานในเมืองออร์บ หลังจากนั้น เนสกาแฟ จึงเปิดตัวในสหราชอาณาจักรในอีกสองเดือนถัดมา และในสหรัฐอเมริกาในปีถัดมา จนกระทั่งในสิ้นปี ค.ศ. 1940 เนสกาแฟมีวางจำหน่ายใน 30 ประเทศทั่วโลก
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
แก้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีสัดส่วนผู้บริโภคเนสกาแฟเฉพาะในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริการวมกันมากกว่า 3 ใน 4 ของการบริโภคเนสกาแฟทั่วโลก แนะเนื่องจากการเก็บรักษาที่สามารถทำได้ยาวนานกว่ากาแฟสด ทำให้เนสกาแฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยอดขายก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ ยังมีการผลิตเนสกาแฟเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเสบียงให้กับทหารสหรัฐอเมริกาในระหว่างการสู้รบ เนสท์เล่จึงก่อตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟสองแห่งขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1943 เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
เหตุการณ์สำคัญ
แก้ในปี ค.ศ. 1952 โรงงานผลิตเนสกาแฟในแซ็ง-เมเนต์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้น โดยผลิตกาแฟที่ไม่ต้องเติมคาร์โบไฮเดรตเพิ่ม จากนั้นในยุค 60 มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในทวีปยุโรปและประเทศญี่ปุ่น โดยใช้แก้วเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยรักษาความสดใหม่ของกาแฟ ต่อมาในปี ค.ศ. 1965 ได้มีการเปิดตัวกาแฟสำเร็จรูปแบบใหม่ในชื่อ เนสกาแฟ โกลด์ เบลนด์ (Nescafé Gold Blend) กาแฟสำเร็จรูปแบบใหม่ซึ่งใช้กระบวนการผลิตรูปแบบ การแช่แห้ง (Freeze Dried) หลังจากนั้นเนสกาแฟยังสร้างสรรค์กาแฟสำเร็จรูปที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เนสกาแฟ ดีแคฟฟินเนต (Nescafé Decaffeinated), เนสกาแฟ โกลด์ เอสเปรสโซ (Nescafé Gold Espresso), เนสกาแฟ แฟรบเป (Nescafé Frappé), เนสกาแฟ คาปูชิโน (Nescafé Cappuccino) และ เนสกาแฟพร้อมดื่ม (Nescafé Ready-to-Drink) นอกจากนี้ในยุค 90 นักวิจัยของเนสท์เล่ยังพัฒนาระบบทำฟองในตัวเพื่อให้คุณภาพของฟองนมดีขึ้น และใช้ระบบนี้ในการผลิตเนสกาแฟ คาปูชิโน ในปัจจุบัน
เครื่องชงกาแฟ
แก้ต่อมาเนสกาแฟได้เปิดตัวเครื่องชงกาแฟ เนสกาแฟ ดอลเช กุสโต (Nescafé Dolce Gusto) ขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเยอรมนี และสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 2006 และประเทศสเปนในปีถัดมา โดยเครื่องนี้สามารถชงได้ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ประกอบด้วยแคปซูล เนสกาแฟ, เนสที และ เนสควิก มีทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่ เมโลดี, เซอร์โคโล, พิคโคโล, ฟอนทานา และ ครีเอทีวา สองปีถัดมามีการพัฒนา เนสกาแฟ บาริสตา (Nescafé Barista) ขึ้นเพื่อวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นเครื่องชงกาแฟผงที่ใช้ภายในครัวเรือนครั้งละถ้วย
ประเทศไทย
แก้เนสกาแฟนำเข้ามาในประเทศไทยจากการที่ ประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจชาวไทย ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการของบริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ที่มีความสนใจธุรกิจด้านกาแฟ ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (อังกฤษ: Quality Coffee Products Co., Ltd.; QCP) ขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยมีตระกูลมหากิจศิริและกลุ่มเนสท์เล่แบ่งกันถือหุ้นฝ่ายละ 50% และดำเนินการผลิตเนสกาแฟให้เนสท์เล่นำไปวางจำหน่ายต่อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยเนสกาแฟได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ในเวลาต่อมาประยุทธได้รับฉายาว่า "เจ้าพ่อเนสกาแฟ" ต่อมาประยุทธได้มอบหมายให้เฉลิมชัย มหากิจศิริ เข้าไปบริหาร QCP แทน[5]
กรณีพิพาท
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (เมษายน 2025) |
อ้างอิง
แก้- ↑ "Nescafe logo and symbol, meaning, history, PNG". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 November 2020.
- ↑ "Nescafe Logo The most famous brands and company logos in the world". 26 November 2020. สืบค้นเมื่อ 10 December 2020.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Coffee History (Nescafé History section)". Nescafé. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2011. สืบค้นเมื่อ 31 July 2011.
- ↑ "ฉลองครบรอบ 75 ปี เนสกาแฟแบรนด์กาแฟสำเร็จรูปของเนสท์เล่" (Press release). เนสท์เล่. 28 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2025.
- ↑ "รู้จักผู้ผลิต Nescafe 34 ปี ธุรกิจร่วมทุน 'เนสท์เล่-มหากิจศิริ'". ประชาชาติธุรกิจ. 10 เมษายน 2025. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2025.