เทราอูรา
เทราอูรา อาจรู้จักในนาม ซูเซิน หรือ ซูซานนาห์ ยัง (ราว ค.ศ. 1775 – กรกฎาคม ค.ศ. 1850) เป็นหญิงชาวตาฮีตีที่อาศัยอยู่บนเกาะพิตแคร์นร่วมกับกลุ่มกบฏบนเรือเบาน์ตี เธอร่วมกับเน็ด ยัง สังหารเตตาฮีตีและชายชาวพอลินีเชียคนอื่น ๆ บนเรือดังกล่าว เธอเป็นช่างทำทาปาที่มีชื่อ ผลงานทาปาของเธอจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช และสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว
เทราอูรา | |
---|---|
ภาพร่างของเทราอูราใน ค.ศ. 1849 วาดโดยเอ็ดเวิร์ด แฟนชอว์ | |
เกิด | ราว ค.ศ. 1775 โมโอเรอา |
เสียชีวิต | กรกฎาคม 1850 เกาะพิตแคร์น | (74–75 ปี)
ชื่ออื่น | ซูเซิน ยัง ซูซานนาห์ ยัง |
คู่รัก |
|
ประวัติ
แก้ชีวิตในวัยเยาว์ของเทราอูราไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทราบแต่เพียงว่าเธอเกิดที่โมโอเรอา เกาะแห่งหนึ่งในเฟรนช์พอลินีเชีย[1] มุขปาฐะของเกาะพิตแคร์นระบุว่าเธอมาจากครอบครัวใหญ่[2] คาดว่าเธอเกิดใน ค.ศ. 1775 เพราะมีหลักฐานว่าขณะเทราอูรามีอายุ 15 ปี เมื่อ ค.ศ. 1789 ในปีนั้นเธอออกจากตาฮีตีเพื่อไปเป็นลูกเรือของเฟลตเชอร์ คริสเตียน[1] ไม่มีหลักฐานบ่งว่าเธอไปเป็นลูกเรือของเขาด้วยความเต็มใจหรือถูกลักพาตัวมา[1] อย่างไรก็ตามพอลีน เรย์โนลด์ นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่าเทราอูราและหญิงพอลินีเชียที่เข้าร่วมเรือ เอ็ชเอ็มเอส เบาน์ตี ดังกล่าว "อาจเป็นหญิงชาวพอลินีเชียที่เดินทางบ่อยที่สุดแห่งยุคสมัยของพวกเขา"[3] การเดินทางดำเนินอยู่นานหลายสัปดาห์จนถึงเกาะทันนา[4] ระหว่างนั้นเทราอูราเป็นคู่นอนของเอ็ดเวิร์ด "เน็ด" ยัง และดำรงความสัมพันธ์ดังกล่าวจนกระทั่งทั้งหมดขึ้นเกาะพิตแคร์นเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1790[1] หลังจากนั้นเทราอูราไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับแมททิว ควินทัล ซึ่งเป็นสมาชิกกบฏอีกคน ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ควินทัล เป็นแมยิสเตร็ดคนแรกของเกาะพิตแคร์น[5]
เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวยุโรปกับชาวพอลินีเชียปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1793 อันนำไปสู่การลอบสังหารผู้คนบนเกาะ ชาวพอลินีเชียสี่คนฆ่าชาวยุโรปผู้ก่อการกบฏ ได้แก่ ไอแซก มาร์ติน และจอห์น มิลส์ ถูกตัดศีรษะ จอห์น วิลเลียม และวิลเลียม บราวน์ ถูกยิงเสียชีวิต ส่วนเฟลตเชอร์ คริสเตียน ได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการสู้รบ เทราอูราปฏิบัติตามคำสั่งเน็ด ยัง อดีตคู่นอนของเธอ ด้วยการฆ่าตัดศีรษะชายเตปาฮีตี ชาวพอลินีเชีย[6] ในบันทึกของเอ็ดเวิร์ด เจนนีส์ แฟนชอว์ ซึ่งเขียนใน ค.ศ. 1849 ระบุว่าเตตาฮีตี ถูกผู้หญิงตาฮีตีคนหนึ่งล่อลวง เพื่อให้เทราอูราลอบสังหาร ขณะเดียวกันเธอยังตะโกนบอกให้เน็ด ยัง สังหารชายชาวพอลินีเชียอีกคนหนึ่งได้สำเร็จ[7]
หลังเน็ด ยัง เสียชีวิตใน ค.ศ. 1800[8] เทราอูราได้สมรสใหม่กับทิวส์เดย์ ออกโทเบอร์ คริสเตียนที่ 1 บุตรชายของเฟลตเชอร์ คริสเตียน ซึ่งเทราอูรามีอายุมากกว่าเจ้าบ่าวราว 15 ปี เมื่อสมรสกัน[1] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหกคน และผู้สืบสันดานของทั้งสองยังคงอาศัยอยู่บนเกาะพิตแคร์นมาจนถึงปัจจุบันนี้ กระทั่ง ค.ศ. 1831 ทิวส์เดย์และเทราอูราย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ตาฮีตี[9] ทว่าทิวส์เดย์และบุตรอีกสามคนเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อบนเกาะนั้น เทราอูราและบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่จึงย้ายกลับมาใช้ชีวิตบนเกาะพิตแคร์นอีกครั้ง[10]
เทราอูราประกอบกิจเป็นช่างทำทาปา หรือผ้าเปลือกไม้แบบท้องถิ่น มีบันทึกว่าเธอได้มอบทาปาแก่กะลาสีคนหนึ่งใน ค.ศ. 1833[3] ผ้าผืนดังกล่าวถูกย้อมด้วยถั่วเทียนให้สีออกน้ำตาลแดง[11] และทาปาฝีมือของเทราอูราบางส่วนถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บริติช และสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว[11]
เอ็ดเวิร์ด แฟนชอว์ ได้เดินทางไปยังเกาะพิตแคร์นเมื่อ ค.ศ. 1849 เขาได้วาดภาพร่างของเทราอูรามีผ้าปิดตาอยู่ข้างหนึ่ง[7] ปัจจุบันภาพดังกล่าวจัดแสดงอยู่พิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ[12] เทราอูราเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1850 ถือเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานเกาะพิตแคร์นดั้งเดิมคนสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่[7][13]
ระเบียงภาพ
แก้-
ภาพเทราอูรา โดยเอ็ดเวิร์ด แฟนชอว์ เมื่อ ค.ศ. 1849
-
ทิวส์เดย์ ออกโทเบอร์ คริสเตียนที่ 1 สามีของเธอ ตายใน ค.ศ. 1831
-
ทิวส์เดย์ ออกโทเบอร์ คริสเตียนที่ 2 บุตรชายของเทราอูรา
-
การขึ้นเกาะพิตแคร์น ช่วง ค.ศ.1842-90
-
เกาะพิตแคร์น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1849
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "Teraura". 2008-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-24. สืบค้นเมื่อ 2021-11-07.
- ↑ Langdon, Robert (2000). "'Dusky Damsels': Pitcairn Island's Neglected Matriarchs of the Bounty Saga". The Journal of Pacific History (ภาษาอังกฤษ). 35 (1): 29–47. doi:10.1080/713682826. ISSN 0022-3344. PMID 18286752. S2CID 38078038.
- ↑ 3.0 3.1 Reynolds, Pauline. "The forgotten women of the Bounty and their material heritage." Māori and Pacific Textile Symposium. 2011.
- ↑ Evangelical Magazine and Missionary Chronicle (ภาษาอังกฤษ). 1841.
- ↑ Nechtman, Tillman W. (2018-09-13). The Pretender of Pitcairn Island: Joshua W. Hill – The Man Who Would Be King Among the Bounty Mutineers (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-108-42468-4.
- ↑ Coenen, Dan T. (1997). "Of Pitcairn 's Island and American Constitutional Theory". William & Mary Law Review. 38 (2). สืบค้นเมื่อ 5 March 2019.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 "'Susan Young, The only surviving Tahitian woman, Pitcairn's [Island], Augt 1849' | Royal Museums Greenwich". 2021-11-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-11-07.
- ↑ Marks, Kathy (2009). Lost Paradise: From Mutiny on the Bounty to a Modern-Day Legacy of Sexual Mayhem, the Dark Secrets of Pitcairn Island Revealed (ภาษาอังกฤษ). Simon and Schuster. p. 16. ISBN 9781416597841. สืบค้นเมื่อ 5 March 2019.
- ↑ MAUDE, H. E. (1959). "TAHITIAN INTERLUDE: The Migration of the Pitcairn Islanders to the Motherland in 1831". The Journal of the Polynesian Society. 68 (2): 115–140. ISSN 0032-4000. JSTOR 20703726.
- ↑ Albert, Donald Patrick (2021). "Teehuteatuaonoa aka 'Jenny', the most traveled woman on the Bounty: Chronicling female agency and island movements with Google Earth". Island Studies Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 16: 190–208. doi:10.24043/isj.153. S2CID 234260181.
- ↑ 11.0 11.1 Reynolds, Pauline (2016-07-02). "Tapa Cloths and Beaters: Tradition, Innovation and the Agency of the Bounty Women in Shaping a New Culture on Pitcairn Island from 1790 to 1850". Textile History. 47 (2): 190–207. doi:10.1080/00404969.2016.1211435. ISSN 0040-4969. S2CID 163849896.
- ↑ McAleer, John; Rigby, Nigel (2017-01-01). Captain Cook and the Pacific: Art, Exploration and Empire (ภาษาอังกฤษ). Yale University Press. ISBN 978-0-300-20724-8.
- ↑ "Pitcairn Islands Study Center". Pacific Union College Library. 2023-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-08-29.