เจ้าเกา (จีน: 趙高; พินอิน: Zhào Gāo; เวด-ไจลส์: Chao Kao , อสัญกรรม 207 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นขุนนางจีน เป็นขุนนางของราชวงศ์ฉินของจีน เป็นขันที ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยใกล้ชิดของจักรพรรดิทั้งสามแห่งราชวงศ์ฉิน - จิ๋นซีฮ่องเต้ ฉินเอ้อร์ชื่อ และ จื่ออิง และถือว่ามีบทบาทสำคัญในการล่มสลายของราชวงศ์

เจ้า เกา เริ่มต้นรับราชการภายใต้ จิ๋นซีฮ่องเต้ ในตำแหน่ง จงเช่อฟูหลิง (中車府令) หรือ ขุนนางผู้รับผิดชอบจัดการรถม้าในวัง ในช่วงเวลานี้ เขายังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเจ้าชาย หูไห่ โอรสองค์สุดท้องของ จิ๋นซีฮ่องเต้ และเป็นพระอาจารย์สอนพระองค์ในเรื่องกฎหมายของจักรวรรดิฉิน ใน 210 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้เสด็จสวรรคตที่ ชาชิว (沙丘) เจ้าเกาและ หลี่ซือ ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีได้แอบเปลี่ยนพระราชโองการครั้งสุดท้าย ของจริงให้เจ้าชาย ฝูซู รัชทายาทเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ในพระราชโองการปลอมมีพระบัญชาให้เจ้าชายฝูซูปลงพระชนมชีพขณะที่เจ้าชายหูไห่ได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ หลังจากนั้นเจ้าชายหูไห่ก็ขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นฉินเอ้อร์ชื่อ เขาได้เลื่อนเป็น หลางจงหลิง (郎中令) ตำแหน่งอย่างเป็นทางการซึ่งมีหน้าที่อาทิการจัดการกิจกรรมประจำวันในพระราชวังหลวง เจ้า เกา ที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากฉินเอ้อร์ชื่อ ได้ยุยงให้จักรพรรดิทำลายล้างพระเชษฐาและพระราชอนุชาของพระองค์เพื่อทำให้พระราชอำนาจมั่นคงขึ้น และใช้โอกาสนี้ขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเช่น เมิ่งเถียน และ เมิ่งอี้ นอกจากนี้เขายังใส่ร้าย หลี่ ซือ ว่าเป็นกบฏและให้ หลี่ ซือ และครอบครัวทั้งหมดของเขาถูกประหารชีวิต หลังจากนั้นเขาก็เข้ามาแทนที่ หลี่ ซือ เป็นอัครมหาเสนาบดีและผูกขาดอำนาจรัฐ ใน 207 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อเกิดการจลาจลในดินแดนทางตะวันออกของ ด่านหานกู เจ้า เกา กลายเป็นกังวลว่าฉินเอ้อร์ชื่อ จะโทษเขา เขาจึงทำการรัฐประหารในพระราชวังหวังอี้ (望夷宮) และลอบสังหารจักรพรรดิ หลังการสวรรคตของฉินเอ้อร์ชื่อ เจ้า เกา แต่งตั้ง จื่ออิง โอรสของเจ้าชายฝูซูขึ้นสู่ราชบัลลังก์

อ้างอิง

แก้