กุซตี กันเจิง ราตู ฮายู (ชวา: ꦓꦸꦱ꧀ꦡꦶꦑꦁꦗꦼꦁꦫꦡꦸꦲꦪꦸ) เป็นที่รู้จักในพระนาม เจ้าหญิงฮายู (ชวา: ꦲꦪꦸ; ประสูติ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2526) เป็นพระธิดาลำดับที่สี่ของศรีสุลต่านฮาเมิงกูบูโวโนที่ 10 และราตูเฮมัซ เจ้าผู้ครองและพระราชินีแห่งยกยาการ์ตา และเป็นพระขนิษฐาของเจ้าหญิงมังกูบูมี รัชทายาทแห่งยกยาการ์ตา เจ้าหญิงฮายูเสกสมรสกับเจ้าชายโนโตเนอโกโร (นามเดิม อังเงอร์ ปรีบาดี วีโบโน) ผู้บริหารโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศอินโดนีเซีย และบุคลากรเชี่ยวชาญองค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐ

เจ้าหญิงฮายู
เจ้าหญิงฮายูในพิธีเสกสมรสใน พ.ศ. 2556
ประสูติ24 ธันวาคม พ.ศ. 2526 (40 ปี)
ยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
พระภัสดาเจ้าชายโนโตเนอโกโร (พ.ศ. 2556–ปัจจุบัน)
พระบุตรราเดน มัซ มันเตโย กุนโจโร
ราชวงศ์ฮาเมิงกูบูโวโน
พระบิดาศรีสุลต่านฮาเมิงกูบูโวโนที่ 10
พระมารดาราตูเฮมัซ
ศาสนาฮินดู (เดิมอิสลาม)[1]

พระประวัติ แก้

เจ้าหญิงฮายู ประสูติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2526 ณ ยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นพระธิดาลำดับที่สี่จากทั้งหมดห้าพระองค์ของศรีสุลต่านฮาเมิงกูบูโวโนที่ 10 และราตูเฮมัซ เจ้าผู้ครองและพระราชินีแห่งยกยาการ์ตา มีพระเชษฐภคินี คือ เจ้าหญิงมังกูบูมี เจ้าหญิงจนโดรกีโรโน เจ้าหญิงมาดูเร็ตโน และพระขนิษฐาคือ เจ้าหญิงเบินดารา

เจ้าหญิงฮายูทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากประเทศออสเตรเลียเป็นะระยะเวลาหนึ่งปี ก่อนเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาซามัน 3 ปัดมานาบา ยกยาการ์ตา ที่เดียวกับเจ้าชายโนโตเนอโกโร หลังจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนานาชาติในประเทศสิงคโปร์ หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ทรงศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิชาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีสตีเวนส์ สหรัฐ ก่อนย้ายไปศึกษาต่อด้านการออกแบบและการจัดการไอที มหาวิทยาลัยเบิร์นเมาท์

เสกสมรส แก้

 
ขบวนเสด็จของเจ้าหญิงฮายูในพิธีเสกสมรส

เจ้าหญิงฮายูทรงหมั้นหมายกับอังเงอร์ ปรีบาดี วีโบโน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556 หลังทั้งสองคบหากัน 10 ปี ทั้งสองรู้จักกันครั้งแรกที่นิวยอร์ก ผ่านการติดต่อจากราตูเฮมัซ ซึ่งทรงฝากฝังให้วีโบโนช่วยดูแลเจ้าหญิงฮายูที่เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐ[2]

พิธีเสกสมรสถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ณ พระราชวังยกยาการ์ตา อังเงอร์ ปรีบาดี วีโบโน ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชายโนโตเนอโกโร พิธีดังกล่าวถูกจัดขึ้นยาวนานสามวันสามคืนติดต่อกัน มีอาคันตุกะเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก รวมถึงซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย[3] และเนื่องจากเจ้าหญิงฮายูเป็นพระธิดาพระองค์สุดท้ายที่ได้เข้าพิธีเสกสมรส สำนักพระราชวังจึงจัดให้พิธีเสกสมรสเป็นงานทางวัฒนธรรมของยกยาการ์ตา มีการจัดรถม้าสิบสองคันเพื่อรับส่งเชื้อพระวงศ์ยกยาการ์ตา จากเดิมที่มีเพียงห้าคันเท่านั้น[4] พิธีเสกสมรสตามโบราณราชประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ถูกจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเป็นหลัก[5] โดยมีประชาชนกว่าพันคนคอยรับเสด็จกระบวนราชรถของเจ้าหญิงฮายูและพระภัสดา[6]

เจ้าหญิงฮายูมีประสูติการพระโอรสพระองค์แรก พระนามว่า ราเดน มัซ มันเตโย กุนโจโร ซูรีโยเนอโกโร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562[7]

เปลี่ยนศาสนา แก้

เจ้าหญิงฮายูทรงเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาฮินดูแบบชวา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยให้เหตุผลว่า พระองค์รู้สึกสงบเมื่อทรงสวดมนต์ที่เทวาลัยหรือร่วมในกระบวนพิธีกรรมเกอจาเว็น-ฮินดู[8]

อ้างอิง แก้

  1. Wahyura, AA Gde Putu (20 July 2017). "Kanjeng Raden Ayu Mahindrani from the Solo Palace Reveals the Reason for Choosing the Dharma Path". Tribune Bali.
  2. J. Gordon Julien (2013-10-25). "Princess bride! Crowds celebrate colorful royal Indonesian wedding". TODAY.com. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
  3. "BBC News - Crowds flock to witness Indonesian royal wedding". Bbc.co.uk. 2013-10-23. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
  4. Pito Agustin Rudyana (2013-10-11). "12 Horse Carriages at Yogyakarta Princess Royal Wedding". Tempo.com. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
  5. "Hive of activity in Yogyakarta for royal wedding". The Jakarta Post. 2013-10-20. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
  6. "Thousands of Yogyakartans greet royal newlyweds | AsiaOne". News.asiaone.com. 2013-10-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 2, 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
  7. "Kelahiran Putera GKR Hayu & KPH Notonegoro". kratonjogja.id. 2019-08-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
  8. Wahyura, AA Gde Putu (20 July 2017). "Kanjeng Raden Ayu Mahindrani from the Solo Palace Reveals the Reason for Choosing the Dharma Path". Tribune Bali.