เจดีย์จุลประโทน

เจดีย์จุลประโทน ตั้งอยู่ที่ตำบลพระประโทน ซอยวัดสามกระบือเผือก อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หรือทางด้านทิศตะวันออกของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดพระประโทนเจดีย์วรวิหาร[1] ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 500เมตร และอยู่ด้านข้าง วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ติดกับถนนเพชรเกษม เส้นทางระหว่างกรุงเทพ - นครปฐม

ประวัติ

แก้

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเจดีย์จุลประโทนเป็นโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 หน้า 2527 วันที่ 22 ต.ค. พ.ศ. 2483 [2] แต่เดิม ณ บริเวณสถานที่แห่งนั้นเป็นเพียงเนินอิฐที่มีต้นไม้ขึ้นรกปกคลุมธรรมดาไม่มีอะไรน่าสนใจ และไม่ปรากฏว่ามีชื่อเรียกสถานที่แห่งนั้นอย่างเป็นทางการ มีเพียงแต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากสั้นๆว่า “เนินหิน” เพราะในอดีตบริเวณดังกล่าวเป็นเนินมีอิฐ หิน กระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาได้มีการขุดค้นเนินหินแห่งนั้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2482 - 2483 โดย ปิแอร์ ดูปองต์ แห่งสำนักปลายบูรพาทิศฝรั่งเศส ทำการขุดค้นร่วมกับกรมศิลปากร ภายใต้การนำของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ร่วมกันทำการขุดค้น ณ ที่บริเวณเนินอิฐแห่งนั้น

การค้นพบครั้งแรก

แก้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ค้นพบเป็นครั้งแรกภายหลังการขุดค้นโดยกรมศิลปากรร่วมกับ ปิแอร์ ดูปองต์ แห่งสำนักปลายบูรพาทิศฝรั่งเศส ในระยะแรกของเจดีย์จุลประโทนพบเพียงฐานเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีการย่อมุมของฐานเจดีย์เพียงเล็กน้อย แต่ละด้านประดับด้วยพระพุทธรูปยืนปูนปั้น 5 องค์ภายในซุ้มส่วนกลางนี้ตั้งอยู่บนฐานซึ่งมีมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นเดียวกันแต่กว้างกว่าเล็กน้อย ด้านหน้าฐานประดับด้วยลวดบัวและบนมุมที่ยื่นออกไปประดับด้วยมกรเป็นภาพนูน

ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่เหนือลานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าลานประทักษิณประกอบด้วยแผ่นภาพ เป็นรูปครุฑและรูปช้างกำลังเดิน ทั้งหมดมีลานล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง บันได 4 ทิศ มีบันไดชั้นล่างเป็นรูปครึ่งวงกลมได้นำขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ บันไดนี้มีสิงห์สลักอยู่ที่ด้านข้าง และมีราวบันไดออกมาจากปากของรูปสัตว์

การค้นพบครั้งที่สอง

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2511 จากการที่รถแทรกเตอร์ของกรมทางหลวง ที่กำลังก่อสร้างทางหลวงสาย เพชรเกษม เส้นทางระหว่าง กรุงเทพฯ - นครปฐม เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน เพื่อใช้สำหรับเป็นที่เก็บเครื่องจักรของกรมทางหลวง ระหว่างที่เครื่องจักรกำลังดำเนินการอยู่นั้นก็บังเอิญได้ขุดเอารูปแผ่นภาพปูนปั้นและดินเผาที่อยู่ใต้พื้นดินขึ้นมาอย่างมิได้ตั้งใจ[3] และท่านเจ้าอาวาสวัดพระประโทนเจดีย์ในขณะนั้นเมื่อทราบเรื่องจึงได้พยายามที่จะนำไปเก็บรักษาไว้โดยที่นำไปติดไว้ที่เจดีย์ในวัดพระประโทน ทางกรมศิลปากรเมื่อทราบเรื่องจึงได้เริ่มทำการขุดค้นขึ้นเป็นครั้งที่สอง และนำโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ไปจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานเป็นกรณีศึกษาในขั้นต่อไป (ในขณะนั้น) เพื่อป้องกันการชำรุด และถูกทำลาย โดยนำโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ไปจัดเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และต่อมาจึงนำโบราณวัตถุดังกล่าวกลับมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยที่ยังคงหลงเหลือโบราณวัตถุบางส่วนที่นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การขุดแต่ง

แก้

การขุดแต่งที่เจดีย์จุลประโทนมีการขุดแต่งทั้งหมด 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2482 - 2483 ดำเนินการขุดแต่งโดยกรมศิลปากร ภายใต้การนำของ หลวงบริบาล บุรีภัณฑ์ ร่วมกับ ปิแอร์ ดูปองต์ แห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ จึงได้พบว่าเป็นซากของฐานเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีแผนผังเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในครั้งแรกที่พบ ปิแอร์ ดูปองต์ ได้เรียกชื่อเจดีย์นี้ว่า “เจดีย์พระประโทน” เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดพระประโทน ต่อมาในภายหลังทางกรมศิลปากรจึงทำการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เจดีย์จุลประโทน” เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดการสับสนระหว่าง “วัดพระประโทนเจดีย์วรวิหาร” ซึ่งมีอยู่อีกหนึ่งวัดแล้วในบริเวณนั้น[4]

ครั้งที่ 2

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2511 ดำเนินการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรซึ่งมอบหมายให้ นายสมศักดิ์ รัตนกุล เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร เข้าทำการลงพื้นที่ภาคสนามร่วมกับ ชอง บัวเซอลีเย่ แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่ปรึกษาในการขุดแต่งในส่วนต่างๆ ดังนี้

  1. ขุดแต่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์จุลประโทนทั้งหมด
  2. ขุดแต่งบางส่วนของทิศตะวันตกเฉียงใต้
  3. บูรณะด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

แก้

สมัยที่ 1

แก้

เป็นการก่อสร้างองค์เจดีย์ ซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และที่บริเวณมุมทั้งสี่ด้านหันไปสู่ทิศทั้งสี่ ย่อมุมเพียงเล็กน้อยซ้อนกันหลายชั้น ส่วนฐานตกแต่งด้วยลวดบัวหน้ากระดานท้องไม้ฐานชั้นบนย่อมุม ยาวด้านละ 17 เมตร แต่ละด้านประดับด้วยซุ้มพระพุทธรูปยืนปูนปั้น ด้านละ 5 ซุ้ม ถัดลงมาเป็นฐานสี่เหลี่ยม ยาวด้านละ 19 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวประมาณ 24 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร กึ่งกลางของแต่ละด้านมีแนวบันไดเป็นรูปครึ่งวงกลมมีราวบันไดยื่นออกมาจากปากสัตว์ สองข้างบันไดเป็นรูปสิงห์ประดับผนังของลานประทักษิณ มีภาพปูนปั้น และดินเผาประดับ

ความเห็นของ ชอง บัวเซอลีเย่

ระยะแรกของการสร้างเจดีย์จุลประโทนน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากพุทธศาสนาลัทธิหีนยาน นิกายเถรวาท ภาพดินเผาเหล่านี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยที่ 1 เพราะตกอยู่ในสภาพที่ชำรุดมาก ภาพดินเผาซึ่งมีขนาดเล็กและฝีมือละเอียดนั้นคงมีอายุเวลาที่เก่ากว่าภาพปูนปั้น น่าจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12

ความเห็นของ พิริยะ ไกรฤกษ์

ระยะแรกเป็นการสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิหีนยาน เพราะมีรูปปูนปั้นและดินเผาประดับเป็นเรื่องราวของ “อวทาน” ซึ่งปรากฏในนิกายมูลสรรวาสติวาท ที่ใช้ภาษาสันสกฤต ที่ว่าด้วยการกระทำอันรุ่งโรจน์และกล้าหาญของพระพุทธองค์และเหล่าพระสาวกบางองค์ ที่เคยปฏิบัติในอดีตชาติ อายุเวลาน่าจะอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 19เมตร โดยที่มุมทั้งสี่ด้านหันไปสู่ทิศทั้งสี่ ระหว่างตรงกลางของทั้งสี่ด้าน มีบันไดขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ บนฐานประทักษิณแบ่งออกเป็นช่องและตกแต่งด้วยภาพดินเผา เล่าเรื่องอวทาน ซึ่งต่อมาเมื่อภาพดินเผาชำรุดก็ปั้นปูนซ่อมขึ้นใหม่ และยังมีการซ่อมแซมภาพ อวทานเหล่านี้ในช่วงระยะเวลาต่อมา โดยให้เห็นจากรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ราวบันไดเป็นรูปลิ้นที่แลบออกมาจากปากสิงห์ ส่วนบันไดขั้นแรกเป็นรูปอัฒจันทร์ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับบันไดในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมหาชนก ในถ้ำหมายเลข 1 ที่ถ้ำอชัญฏา ประเทศอินเดีย ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 11

ส่วนแผนผังของฐานสถูปนั้นมีรูปแบบใกล้เคียงกับภาพสลักบนแผ่นหิน พบที่ฆัณฎศาลา ลุ่มแม่น้ำกฤษณา ประเทศอินเดีย ฐานตกแต่งด้วยลวดบัวหน้ากระดานท้องไม้ประดับด้วยลายสี่เหลี่ยมสลับกันและรองรับด้วยลวดบัวรูปแท่งสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถวเลียนแบบคานที่ตั้งอยู่บนบัวลูกแก้วอีกชั้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าลักษณะของลวดบัวที่เจดีย์จุลประโทนนั้นมีรูปแบบเดียวกันกับลายลวดบัวของชิ้นส่วนของสถูปจำลองซึ่งพบที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งมีรูปแบบมาจากสถูปแบบคันธาระที่ประเทศอินเดีย แต่ที่เจดีย์จุลประโทนนั้นมีความซับซ้อนกว่า สถูปในแต่ละด้านอาจจะตกแต่งด้วยเสาอิง และซุ้มจำนวน 5 ซุ้ม ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ตอนบนของสถูปที่พังทลายลงไปนั้นแต่เดิมอาจจะมีลักษณะซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น เพราะปรากฏว่าพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่มีขนาดต่างกันเป็นจำนวนมาก สถูปซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น และแต่ละด้านตกแต่งด้วยพระพุทธรูปนี้มีตัวอย่างจากจีนร่วมสมัย ดังเช่นที่สลักอยู่ภายในถ้ำหมายเลข 39 ที่ยุนกังมณฑลชานสี ประเทศจีน ซึ่งสลักขึ้นในช่วงแรกพุทธศตวรรษที่ 12

สมัยที่ 2

แก้

มีการก่อสร้างฐานอิฐขึ้นมาใหม่ทับของเดิมพร้อมกับสร้างบันไดสู่ลานประทักษิณใหม่ทั้งสี่ด้านเป็นการสร้างเสริมจากชั้นที่ 1 มีการเปลี่ยนแปลงฐานลานทักษิณได้ถูกยกขึ้นไปสูงกว่าระดับบันได ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกันกับที่ขุดพบบริเวณฐานชั้นแรก

ความเห็นของ ชอง บัวเซอลีเย่

เจดีย์จุลประโทนได้รับการแผ่ขยายอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากนิกายมหายานมาจากอาณาจักรศรีวิชัยทางภาคใต้ ภาพปูนปั้นที่เจดีย์จุลประโทนเป็นภาพเกี่ยวกับชาดก “พร้อมกับภาพเหล่านั้นยังมีภาพพระโพธิสัตว์ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมีมาก่อน ณ ศาสนสถานซึ่งสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ภาพพระโพธิสัตว์เหล่านี้ทั้งทางด้านแบบศิลปะและรายละเอียดของเครื่องอาภรณ์ทำให้นึกไปว่าคงจะได้รับอิทธิพลมาโดยตรงจากประเพณีแบบอินโดนีเซียของศิลปะศรีวิชัย” จากสมมุติฐานและจากผลของการขุดแต่งที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้ ชอง บัวเซอลีเย่ กล่าวว่าภาพปูนปั้นเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยที่ 2 ของเจดีย์จุลประโทนและมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เพราะมีรูปปูนปั้นประดับเป็นเรื่องราวในชาดก ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ความเห็นของ พิริยะ ไกรฤกษ์

ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 นั้น ได้มีการก่อฐานประทักษิณขึ้นมาใหม่ทับของเดิมพร้อมกับสร้างบันไดใหม่ทั้ง 4 ด้าน ฐานประทักษิณใหม่นี้แบ่งเป็นช่องอย่างเดิม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการประดับด้วยภาพปูนปั้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสร้างฐานใหม่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสครอบฐานเดิม แต่ยังคงรักษาลวดบัวรูปแท่งสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถวละบัวลูกแก้วไว้ ส่วนท้องไม้นั้นแบ่งเป็นช่องคล้ายกับที่ฐานประทักษิณ พร้อมกับเปลี่ยนพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทสลับกับพระพุทธรูปนาคปรก และมีการตกแต่งเครื่องบนของสถูปด้วยรูปพระโพธิสัตว์ปูนปั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเจดีย์จุลประโทนครั้งนี้คงเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของลัทธิมหายานและนับว่าเป็นครั้งสำคัญเพราะปรากฏว่าที่บริเวณพื้นดินตรงมุมทั้ง 4 ด้าน ของฐานประทักษิณเดิมนั้นได้มีการวางฤกษ์สำหรับฐานประทักษิณใหม่โดยใช้แผ่นอิฐสลัก และเขียนสีทำเป็นลายเรขาคณิตรูปทรงต่างๆ บางแผ่นเป็นรูปจักรที่มีก้านผักกูดแผ่ออกมาตามยาวทั้งสองด้าน และยังได้พบอิฐอีกแผ่นหนึ่งซึ่งขูดขีดเป็นรูปใบหน้าบุคคลทางด้านข้างซึ่งมีลักษณะที่ไม่ใช่ใบหน้าของชาวพื้นเมือง เพราะมีจมูกโด่ง สวมหมวก และไว้หนวดเครา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาจากตะวันออกกลาง

สมัยที่ 3

แก้

เป็นการสร้างลานประทักษิณใหม่ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ครอบลานประทักษิณ และบันไดทางขึ้นเดิมไว้ ลานประทักษิณที่สร้างใหม่มี 2 ชั้น บนมุมทั้งสี่ของลานประทักษิณ ประดับด้วยเจดีย์ทรงกลมมุมละองค์ ไม่มีบันไดขึ้นลานประทักษิณ และเปลี่ยนแปลงพระพุทธรูปใหม่ซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้ง 5 องค์ เป็นพระนั่งห้อยขา 3 องค์ และพระพุทธรูปปางนาคปรกอีก 2 องค์

ความเห็นของ ชอง บัวเซอลีเย่

หลังจากสิ้นอิทธิพลทางพุทธศาสนาลัทธิมหายานในสมัยที่ 2 ต่อมาจึงมีการนับถือลัทธิเถรวาทในสมัยที่ 3 การบูรณะครั้งที่ 2 หรือในสมัยที่ 3 นี้อาจสร้างขึ้นในราวต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ 15

ความเห็นของ พิริยะ ไกรฤกษ์

มีการปรับปรุงที่ฐานเจดีย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยสร้างฐานใหม่ 2 ชั้นทับลานประทักษิณและบันไดทั้ง 4 ด้านที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นในระยะที่ 2 ฐานชั้นล่างเป็นฐานเขียงสูงรองรับฐานปัทม์ ซึ่งท้องไม้เป็นช่วงด้วยเสาอิงรูปลูกมะหวด ฐานชั้นบนที่สร้างขึ้นใหม่ประดับด้วยฐานปัทม์และบัวลูกแก้ว พร้อมกับมีแท่นเหลี่ยมสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่กึ่งกลาง และมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อเก็จตามรูปของตัวอาคาร ตรงมุมทั้ง 4 ของฐานชั้นบนมีสถูปทรงกลมและสร้างพระพุทธรูปนาคปรกขึ้นแทนที่พระพุทธรูปยืนทั้ง 2 องค์ที่หลงเหลืออยู่จากการสร้างในสมัยแรกทั้ง 4 ด้านยังคงรูปแบบเดิมที่เหมือนกับสมัยที่ 2 เพียงแต่ เพิ่มสถูปประจำมุมขึ้นมาทั้ง 4 มุม ขาดว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง หรือได้รับอิทธิพลจากภายนอกนิกายในพุทธศาสนา ระยะที่สาม เจดีย์จุลประโทนได้กลับมารับอิทธิพลทางพุทธศาสนานิกายเถรวาทอีกครั้งเมื่อภาพปูนปั้นและภาพดินเผาได้ถูกปิดทับ โดยการสร้างลานประทักษิณขึ้นมาใหม่ ผู้บูรณะ ปิแอร์ ดูปอง

ประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาประดับเจดีย์จุลประโทน

แก้

เป็นรูปภาพประดับที่บนฐานประทักษิณแบ่งออกเป็นช่องและตกแต่งด้วยภาพดินเผา และปูนปั้น ซึ่งความเห็นของนักวิชาการหลายๆท่านที่มีการนำเสนอแนวความคิด และหลักฐานจากการอ้างอิงที่ต่างกันทำให้จำแนกสรุปได้ดังนี้

นันทนา ชุติวงศ์ มีความเห็นที่สอดคล้องกับ ชอง บัวเซอลีเย่ ที่ว่าภาพดินเผา และปูนปั้นประดับที่เจดีย์จุลประโทนนั้นมีอายุเวลาที่ต่างกัน ไม่น่าจะอยู่ช่วงเดียวกัน

ความเห็น นันทนา ชุติวงศ์ เป็นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องของลัทธิ หรือนิกายทางศาสนา ที่เห็นว่าทุกลัทธิหรือนิกายทางพุทธศาสนานั้นสามารถหยิบยืมเรื่องราวที่มีการเขียนขึ้นในพุทธศาสนากันได้ อาจจะเป็นเรื่องที่มีความนิยม หรือมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ณ ที่นั้นๆ มาใช้สั่งสอนแก่ประชาชนร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการจำกัดที่มาถึงมูลเหตุว่างานประพันธ์ในพุทธศาสนานั้นมีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการที่จะสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดี โดยไม่ให้ความสำคัญกับลัทธิหรือนิกายใดนิกายหนึ่ง[5]

ส่วน พิริยะ ไกรฤกษ์ ให้ความเห็นว่าแต่เดิมตอนแรกเริ่มสร้างในสมัยแรกนั้นน่าจะใช้ดินเผาก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนวัสดุเป็นมาเป็นปูนปั้นแทนและน่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะจากการจัดองค์ประกอบของตัวภาพแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวัสดุ อาจเป็นผลเนื่องมาจากวัสดุเช่นดินเผานั้น มีราคาสูง รวมทั้งมีขั้นตอนตกแต่ง และในการผลิตที่ยุ่งยากกว่าการใช้เทคนิคปูนปั้น

ภาพชาดกที่เจดีย์จุลปะโทน

แก้

"ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 1 รูปภาพที่ 15 )"

พิริยะ ไกรฤกษ์ ให้ความเห็นว่าเป็นอวทานเรื่องไมตระกันยกะว่า ไมตระกันยกะเป็นพ่อค้าน้ำหอมที่เมืองพาราณสี วันหนึ่งต้องออกเดินทางไปค้าขายที่เมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งจำเป็นต้องออกเดินเรือทางทะเล มารดาของตนได้ทำการห้ามเอาไว้เนื่องจากบิดาของไมตระกันยกะได้เสียชีวิตลงกลางทะเล จึงไม่อยากให้ไมตระกันยกะต้องเสียชีวิตเหมือนบิดาของตน แต่ไมตระกันยกะไม่ฟัง สุดท้ายนางจึงต้องล้มตัวลงที่เท้าของเขา ไมตระกันยกะโกรธเคืองที่นางไม่ยอมให้ออกเดินทาง จึงเตะนางเข้าที่ศีรษะแล้วเดินจากไป เรือที่ไมตระกันยกะออกเดินทางได้ 7 วันก็เกิดอัปปางลง เขาได้ลงแพไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งได้พบกับนางอัปสร 4 นาง ซึ่งได้เอาใจใส่ไมตระกันยกะเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้น ไมตระกันยกะก็ได้ออกเดินทางต่อ จนไปพบอีกเกาะที่ได้พบกับนางอัปสรอีก 8 นาง ไมตระกันยกะได้ออกเดินทางต่ออีก ไปเจออีกเกาะ ซึ่งมีนางอัปสรอยู่ 16 นาง ไมตระกันยกะก็ยังไม่พอใจ จึงออกเดินทางต่อ ครั้งนี้ไปพบกับนางอัปสรถึง 32 นางซึ่งอยู่อีกเกาะหนึ่ง ไมตระกันยกะยังไม่พอใจ จึงเดินทางไปต่อ แต่ครานี้ได้พบกับเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเปรตโดนจักรหมุนเจาะกะโหลก ร้องด้วยความทุกข์ทรมาน ไมตระกันยกะจึงถามไปด้วยความสงสัยว่า เหตุใดจึงต้องเจอกับความทุกข์ทรมานเช่นนี้ เปรตตนนั้นได้ตอบว่า เขาได้ทำร้ายมารดาของตน ทันใดนั้น จักรที่หมุนอยู่ก็ได้มาหมุนบนเหนือศีรษะของไมตระกันยกะ ไมตระกันยกะได้ถามว่าเขาต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนานเท่าใด เปรตตนนั้นได้ตอบว่า จนกว่าจะมีคนทำบาปเยี่ยงตนอีก จึงจะมีคนมารับช่วงต่อแทน ไมตระกันยกะได้ยินดังนั้นจึงให้คำปฏิญาณว่า จะขอทูนกงจักรนี้ไปตลอดกาล เพื่อมิให้มีผู้ใดต้องทำบาปต่อมารดาและต้องรับกรรมเช่นตนอีกต่อไป ทันใดนั้น กงจักรก็ได้หยุดหมุนและลอยขึ้นไปในอากาศ หลังจากไมตระกันยกะสิ้นชีพแล้ว ก็ได้ไปอุบัติบนสวรรค์ชั้นดุสิต[6]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 23 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นว่าเป็นอวทาน เรื่องสุปารคะ

สุปารคะเป็นนายเรือผู้มีชื่อเสียงที่มีอายุแก่ชราและตาเกือบบอด แต่ถึงอย่างไรก็เป็นที่นับหน้าถือตาแก่ผู้ที่รู้จักกัน วันหนึ่งมีพ่อค้ามาขอความช่วยเหลือโดยการให้ร่วมโดยสารไปกับเรือ เพราะเชื่อว่าสุปารคะจะทำให้การเดินทางปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ในระหว่างการเดินทางเกิดพายุ เรือได้ออกนอกเส้นทางและเกิดหลงทางขึ้นมา เหล่าพ่อค้าทั้งหลายต่างสิ้นหวังที่จะรอดกลับไป จึงขอร้องให้สุปารคะช่วยเหลือ สุปารคะจึงอธิษฐานต่อพระพุทธองค์ให้ขอความช่วยเหลือ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยเบียดเบียนกับสิ่งมีชีวิตใดในชาตินี้ ขอให้บุญบารมีของข้าพเจ้าได้บันดาลให้เดินทางด้วยความปลอดภัยเถิด” จนในที่สุดเรือและพ่อค้าทั้งหมดก็ได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย[7]

แต่นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องเรื่องสมุททวาณิชชาดก มีบันทึกอยู่ในประชุมชาดกภาษาบาลี เรื่องนี้พระมหาสัตว์เสวยพระชาติเป็นหัวหน้าช่างไม้ผู้พาเรือบรรทุกบริวารจำนวน 500 คน แล่นหนีอันตรายไปได้โดยสวัสดิ์ภาพ

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 24 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทาน เรื่อง กัจฉปะ

พระพุทธองค์ได้เสวยชาติเป็นเต่าและได้ช่วยเหลือเหล่าพ่อค้า 500 คนที่ออกเดินทางโดยเรือและเกิดอัปปาง โดยให้โดยสารขึ้นหลังไปส่งที่พื้นดินอย่างปลอดภัย แต่เมื่อช่วยได้ทั้งหมดแล้ว พ่อค้าทั้ง 500 คนพยายามที่จะฆ่าและกินเนื้อพระองค์ ด้วยความเมตตา พระองค์จึงทราบว่าพ่อค้าทั้งหลายนั้นคงจะหิวมาก จึงบริจาคเนื้อให้เพื่อเป็นทาน[8]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 25 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทาน เรื่อง มหากปิ

ชายผู้หนึ่งได้หลงเข้าไปในป่าและด้วยความหิว ตนจึงปีนต้นไม้ขึ้นไปเพื่อเด็ดผลไม้ซึ่งทอดกิ่งไปยังเหว แต่ตนพลาดพลั้งเกิดพลัดตกลงไปในเหว พระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็นพระยาวานรบังเอิญไปพบเข้า ได้เห็นชายผู้นั้นอยู่ก้นเหว ชายผู้นั้นได้ขอความช่วยเหลือแก่พระยาวานร พระยาวานรจึงช่วยแบกชายผู้นั้นขึ้นมาถึงปากเหว เมื่อช่วยได้แล้ว พระยาวานรเหน็ดเหนื่อยจากการแบกและปีนป่าย จึงได้ล้มตัวลงนอนหลับไป ชายผู้นั้นจึงคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะกินเนื้อพญาวานร จึงได้ยกก้อนหินหมายจะสังหารพญาวานร แต่เกิดพลาด ศิลาจึงไม่โดนจุดสำคัญ พญาวานรจึงได้รับบาดเจ็บ และได้ตำหนิติเตียนเขาและนำออกไปจากป่า ด้วยผลกรรมนี้ ชายผู้นั้นจึงกลายเป็นโรคเรื้อนด้วยผลแห่งการทรยศผู้มีพระคุณ[9]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 26 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทาน เรื่อง ษัฑทันตะ

พระโพธิสัตว์ซึ่งได้เสวยพระชาติเป็นช้าง 6 งา วันหนึ่งมีพระราชินีซึ่งโกรธเคืองกับพระยาช้างมาเมื่อชาติปางก่อน จึงสั่งให้นายพรานไปนำงามาให้แก่ตน พรานจึงปลอมตัวเป็นนักบวชและได้ยิงพระช้างด้วยลูกดอกอาบยาพิษ พระโพธิสัตว์ด้วยความเคารพแก่นักบวช จึงมิได้ทำอันตรายต่อนายพรานและอนุญาตให้นำงาของตนไปได้ พรานได้บอกว่า ตนเป็นนายพรานและไม่อยากให้งาต้องถูกมือที่ไม่บริสุทธิ์ พระยาช้างจึงเอางวงถอดงาของตนมอบให้แก่นายพรานซึ่งกำลังคอยอยู่[10]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 28 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทานอวทาน เรื่อง ศยามกะ

ศยามกะเป็นบุตรชายผู้ซื่อสัตย์ต่อบิดามารดาที่ตาบอด และได้อาศัยอยู่ในป่า โดยใช้ชีวิตเป็นนักบวชทั้งหมด วันหนึ่งขณะที่ไปตักน้ำให้บิดามารดา พระราชาได้เข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ เห็นศยามกะนึกว่าเป็นกวางจึงยิงลูกดอกอาบยาพิษเข้าใส่ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นนักบวช พระราชาก็ตกพระทัยและทรงวิงวอนขอโทษแก่ศยามกะ ศยามกะได้บอกว่าตนเป็นบุตรเพียงคนเดียวและขอให้ดูแลบิดามารดาแทนตนด้วย พระราชาก็ตรัสว่า จะยอมสละราชสมบัติเพื่อมาดูแลบิดามารดาให้แทน เมื่อนั้นพระราชาก็ได้ตรงไปยังอาศรมแล้วตรัสบอกบิดามารดาของศยามกะว่า ตนได้สังหารบุตรชายเสียแล้ว และได้ขอปรนนิบัติทำหน้าที่แทนศยามกะ บิดามารดาของศยามกะก็ขอร้องให้พระราชาพาไปยังที่ศยามกะนอนตายอยู่ พระราชาก็เสด็จนำไป เมื่อไปถึงแล้ว บิดามารดาจึงอธิษฐานให้พิษที่อยู่ในศยามกะได้สลายไป ถ้าหากเป็นความจริงที่ว่าศยามกะได้มีเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวงและได้ปฏิบัติต่อบุพการีอย่างดีมาตลอด ทันใดนั้นศยามกะจึงฟื้นจากความตายมาเหมือนกับว่าเพิ่งตื่นนอน[11]

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องเวสสันดรชาดก

บุคคลทั้ง 3 ในภาพหมายเลข 30 ไม่สวมเครื่องประดับเพราะถือเพศเป็นนักบวชบุคคลกลางคือพระเวสสันดรกำลังถือพระหัตถ์ชายาในพิธีประทานพระนางให้กับท้าวสักกะเทวราชผู้จำแลงเป็นพราหมณ์มาขอ แผ่นภาพดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับที่ซุ้มประตูพระสถูปที่สาญจี ประเทศอินเดีย และบนหินจำหลักรูปบนใบเสมาในภาคอีสานของไทย

ลานประทักษิณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 3 รูปภาพที่ 31, 32 และ 33)

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวนทาน เรื่อง หัสติง

พระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็นพระยาช้างป่าและอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งใกล้กับทะเลทราย วันหนึ่งได้เจอกับผู้เดินทางซึ่งข้ามทะเลทรายเข้ามายังในป่า และได้ถามว่าเหตุใดจึงมาอยู่ในทะเลทรายแห่งนี้ได้ เหล่าผู้เดินทางทั้งหลายจึงบอกว่า ถูกขับไล่ออกมาจากบ้านเมืองของเขา จากจำนวนคน 1,000 คน เหลืออยู่ 700 คนเท่านั้น เนื่องจากความหิวโหยและกระหายน้ำ พระยาช้างจึงบอกว่า เดินทางตรงไปจะเจอกับเหว ใต้เหวนั้นจะมีซากช้างตายที่เพิ่งตกจากภูเขาลงไปตาย ให้นำเนื้อของช้างนั้นมารับประทานและนำกระเพาะอาหารของช้างนั้นไปทำเป็นที่บรรจุนำเสีย หลังจากนั้นพระยาช้างจึงไปที่ยอดเขาและกระโจนตกลงมาที่ก้นเหวเพื่อสละตนเองแก่คนเหล่านั้น เมื่อคนเหล่านั้นมาพบซากช้าง ก็จำได้ว่าเป็นช้างเชือกเดียวกันกับที่ได้ช่วยเหลือเขาไว้ และได้ตัดสินใจกินเนื้อช้างนั้นเสียเพื่อให้กระทำตามที่พระยาช้างประสงค์[12]

ชิ้นส่วนรูปคนบนหลังม้า

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องพระยาม้า

พระยาม้าเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อค้านายวานิชให้หนีพ้นจากเกาะนางยักษ์ เรื่องของพระยาม้า ดังกล่าวนี้มิได้มีจำกัดเฉพาะอยู่แต่เพียงในวรรณคดีภาษาสันสกฤตเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏอยู่ในประชุมชาดกภาษาบาลีด้วย เป็นนิทานที่นิยมกันมากในหมู่ชาวพุทธทั้ง 2 ฝ่าย [13]

ภาพราชสำนัก

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องพระเจ้าสุรูปะ

กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานบารมีองค์นี้ ประทานพระโอรส พระมเหสี และสุดท้ายตัวพระองค์เองให้แก่ยักษ์กระหายเลือด ที่แท้ก็คือท้าวสักกะเทวราชจำแลงกายลงมา หลังจากที่กษัตริย์สุรูปะได้แสดงพระอัธยาศัยในทานบารมีให้เป็นที่ปรากฏแล้ว ท้าวสักกะก็ประทานทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนให้พระองค์ ในภาพพระเจ้าสุรูปะกำลังอุ้มเจ้าชายผู้เป็นพระราชโอรสประทานให้แก่พระยายักษ์ผู้ซึ่งยืนอยู่ทางขวาสุดของภาพ พระมเหสีประทับยืนอยู่ตรงกลางภาพ พระพักตร์เศร้า แต่สงบ ยอมรับการตัดสินพระทัยของพระสวามีโดยดุษณี ทางด้านซ้ายของภาพ เหล่าบรรดาข้าราชสำนักนำภาชนะใส่อาหารมาเลี้ยงดูแขกหฤโหดผู้ปฏิเสธไม่ยอมรับบริโภคอาหารอันใด นอกเหนือจากเลือดเนื้อของพระโอรส [14]

แผ่นภาพหมายเลข 70

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องศรภะชาดก

ศรภะชาดก หรือ สรภะมิคะชาดก พระมหาสัตว์เสวยพระชาติเป็นตัวศรภะ สัตว์ประหลาดซึ่งเชื่อกันว่ามีพละกำลังมากเท่ากับราชสีห์ และพระยาช้างสาร พระเจ้ากรุงพาราณศรีไล่ล่าตัวศรภะจนพระองค์เองตกลงไปในเหวลึก พระมหาสัตว์ศรภะเห็นภัยเกิดแก่พระราชา จึงไต่ลงไปในเหวแล้วให้พระราชาขึ้นบนหลัง และพาพระองค์ขึ้นไปจากเหวได้โดยปลอดภัย [15]

ความเห็นของนักวิชาการในการกำหนดอายุเวลาของเจดีย์จุลประโทน

แก้
ความเห็นของ พิริยะ ไกรฤกษ์

ภาพเล่าเรื่องทั้งหมดที่เจดีย์จุลประโทนนี้สร้างขึ้นพร้อมกัน ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10 ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ 13 หรือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 ภาพเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “อวทาน” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการกระทำอันรุ่งโรจน์และกล้าหาญ ของพระพุทธองค์และพระสาวกบางองค์ ที่เคยปฏิบัติในอดีตชาติ ในนิกายสรรวาสติวาท ซึ่งเป็นลัทธิหินยานที่ใช้ภาษาสันสกฤต

ความเห็นของ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล

หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล มีความเห็นด้วยหลายประการกับ พิริยะ ไกรฤกษ์ ในส่วนของการตีความหมายของรูปภาพ แต่มีบางประการที่ไม่เห็นด้วย คือ ให้ความเห็นว่าในช่วงการสร้างผลงานทางศิลปกรรมในขณะนั้น ที่เจดีย์จุลประโทนประชาชนส่วนใหญ่อาจจะนับถือพุทธศาสนาลัทธิหีนยาน นิกายเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลี แต่ก็มีการใช้ภาษาสันสกฤตสำหรับทางราชการและในศาสนาพราหมณ์ โดยที่อาจจะมีการหยิบยืมเรื่องราวในการสร้างภาพมาจากคัมภีร์อวทานของนิกายมูลสรรวาสติวาท รวมทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าไม่จำเป็นต้องมีพุทธศาสนาลัทธิหินยาน นิกายมูลสรรวาสติวาทที่ใช้ภาษาสันสกฤตอยู่ที่นครปฐม เหมือนกับที่ประเทศอินโดนีเซียก็เป็นได้ เพราะจารึกที่พบส่วนใหญ่ในจังหวัดนครปฐมนั้นก็เป็นภาษาบาลีมากกว่าภาษาสันสกฤต

ความเห็นของ นันทนา ชุติวงศ์

พระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ในอินเดีย ได้ร่วมกันใช้นิทานเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของลัทธิของตนมาแต่โบราณ ส่วนพุทธศาสนนิทานที่พบที่จุลประโทนนั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะเรียกว่า “ชาดก” โดยที่ทุกเรื่องเป็นเรื่องพระอดีตชาติขององค์พระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี มิใช่เรื่องราวของผู้อื่นนอกเหนือไปจากของพระองค์ ถึงแม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะมีแพร่หลายอยู่ในวรรณคดีที่เรียกตัวเองว่า “อวทาน”

ความเห็นอื่นๆ

ความเห็นของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่แสดงหลักฐานอ้างอิงในการอธิบายภาพที่เป็นลายละเอียดเล็กๆ ที่ผู้ที่ให้ความสนใจท่านอื่นได้มองข้ามไป คือตรงจุดที่มีการกล่าวถึงการใช้สีตัดเส้นในการสร้างภาพของนิกายมูลสรรวาสติวาทที่เป็นลักษณะเด่นเฉพาะโดยที่ใช้สีตัดเส้นเป็นสีแดงที่บริเวณสถูป ซึ่งปรากฏ ที่ถ้ำอชัญฏา ประเทศอินเดีย

การตีความของภาพโดยใช้หลักการของประติมานิรมานวิทยา และวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆของตัวงานเพื่อเป็นการแยกแยะส่วนประกอบต่างๆเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบที่น่าพึงพอใจ แม้ว่าอาจจะมีความขัดแย้งในทางทฤษฎีกับนักวิชาการบางท่านที่เคยแสดงความคิดเห็นไว้ก่อนหน้านี้ในบทความต่างๆก็ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญเพื่อที่จะเป็นการชี้แนะแนวทางที่มีประโยชน์ในการหาข้อมูลมาอ้างอิง รวมทั้งการใช้ข้อเสนอคิดเห็นส่วนตัวที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้คตินิยมของทิศคชะ รองรับสถูปที่มุมทั้งสี่ที่ ได้รับความนิยม ในแคว้นคันธาระ ประเทศอินเดีย

การกำหนดอายุเวลาการสร้างในระยะแรกของเจดีย์จุลประโทนนั้นได้กำหนดจากกการเปรียบเทียบลักษณะทางสถาปัตยกรรมระหว่างที่เจดีย์จุลประโทนกับปราสาทสมโบร์ไพรกุกที่ประเทศเขมร โดยอาศัยการเปรียบเทียบจากลักษณะเฉพาะของบริเวณฐานหน้าท้องไม้เหนือฐานปัทม์บัวลูกแก้วของทั้ง 2 แห่ง และปรากฏว่าลักษณะของบริเวณฐานปัทม์หน้าท้องไม้ของทั้ง 2 สถานที่นั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน จึงพอจะสรุปได้ว่า เจดีย์จุลประโทน ที่จังหวัดนครปฐม และที่ปราสาทสมโบร์ไพรกุก ที่ประเทศเขมร นั้นมีรูปแบบทางศิลปกรรมในการก่อสร้างที่น่าจะอยู่ในยุคสมัยเดียวกันคือในช่วง พุทธศตวรรษที่ 10 – 11

อีกส่วนหนึ่งในการเปรียบเทียบลักษณะทางศิลปกรรมสมัยที่ 1 เจดีย์จุลประโทนจากการศึกษาในครั้งนี้ ได้ข้อสังเกตจากบริเวณฐานที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับตัวมกรของที่สมโบร์ไพรกุกรุ่นถาลาบริวัตสมัยแรกน่าจะสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 เพราะเปรียบเทียบจาก ตัวมกรที่ประดับมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เทียบได้กับ ทับหลังถาราบริวัต สมัยสมโบร์ไพรกุก

ต่อมาในช่วงสมัยที่ 2 ก็ไม่น่าเป็นลัทธิมหายานในช่วงที่ 2 ปลายพุทธศตวรรษ 12 เพราะเทียบได้กับ ลวดลายก้านต่อดอก ที่ปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว สมัยสมโบร์ไพรกุกตอนปลาย หรือ ตอนต้นศิลปะแบบไพรกะเม็ง ประมาณ กลางพุทธศตวรรษที่ 12 ต้นพุทธศตวรรษ 13 อายุเวลาของทั้ง 2 สมัย ระหว่าง 1,2 นั้นไม่น่าจะกินเวลา เกิน 25 ปี

เจดีย์จุลประโทนจึงน่าจะมีพื้นฐานการสร้างหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากพุทธศาสนานิกาย มูลสรรวาสติวาท อันดับแรกในการเห็นด้วยกับแนวคิดของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่ให้อธิบายไว้ในหนังสือพุทธศาสนนิทานเจดีย์จุลประโทน ว่าเทคนิคที่ใช้ในการตกแต่ง ของนิกายมูลสรรวาสติวาทนี้จะนิยมใช้สีแดงในการตัดเส้นที่สถูป ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับภาพจิตรกรรมในฝาผนังถ้ำ อชัญฎา ประเทศอินเดีย ก็ปรากฏว่าเทคนิคที่ใช้ในลักษณะนี้ก็มีการนำมาใช้ที่เจดีย์จุลประโทนซึ่งจากหลักฐานชั้นต้นดังกล่าวที่ได้กล่าวมานี้ จึงสามารถที่จะพอสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวนี้ โดยที่ไม่มีลักษณะเทคนิคในการก่อสร้างที่คล้ายคลึงกัน[16]

อ้างอิง

แก้
  1. ศิลปากร, กรม, โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์, นนทบุรี : สำนักพิมพ์พิจิตรการพิมพ์, 2548.
  2. [1]
  3. ศิลปากร, กรม, โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์, นนทบุรี : สำนักพิมพ์พิจิตรการพิมพ์, 2548.
  4. ศิลปากร, กรม, โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์, นนทบุรี : สำนักพิมพ์พิจิตรการพิมพ์, 2548.
  5. นันทนา ชุติวงศ์, ภาพชาดกที่เจดีย์จุลปะโทน โบราณคดีวิจารณ์ ปีที่ 21 เล่ม 4, กรุงเทพฯ : โบราณคดี, 2520 หน้า 28-53.
  6. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  7. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  8. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  9. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  10. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  11. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  12. พิริยะ ไกรฤกษ์, พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517.
  13. นันทนา ชุติวงศ์, ภาพชาดกที่เจดีย์จุลปะโทน โบราณคดีวิจารณ์ ปีที่ 21 เล่ม 4, กรุงเทพฯ : โบราณคดี, 2520 หน้า 34.
  14. นันทนา ชุติวงศ์, ภาพชาดกที่เจดีย์จุลปะโทน โบราณคดีวิจารณ์ ปีที่ 21 เล่ม 4, กรุงเทพฯ : โบราณคดี, 2520 หน้า 34.
  15. นันทนา ชุติวงศ์, ภาพชาดกที่เจดีย์จุลปะโทน โบราณคดีวิจารณ์ ปีที่ 21 เล่ม 4, กรุงเทพฯ : โบราณคดี, 2520 หน้า 35.
  16. จาริก เวชานนท์ และ ดุษฎี เทพสิริ, "เจดีย์จุลประโทน," รายงานการศึกษาค้นคว้าประกอบการศึกษากระบวนวิชา 116400 ศิลปะในประเทศไทยสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 สาขาศิลปไทย ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2551