อุปกิเลส
อุปกิเลส (อ่านว่า อุปะกิเหลด, อุบปะกิเหลด) แปลว่า ธรรมชาติที่เข้าไปทำให้ใจเศร้าหมอง, เครื่องทำให้ใจเศร้าหมอง หมายถึง สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัวไม่แจ่มใส ทำให้ใจหม่นไหม้ ทำให้ใจเสื่อมทราม กล่าวโดยรวมก็คือสิ่งที่ทำให้ใจสกปรก ไม่สะอาดบริสุทธิ์นั่นเอง อุปกิเลส แสดงไว้ 16 ประการคือ
- อภิชฌาวิสมโลภะ ความเพ่งเล็งอยากได้ไม่เลือกที่ จ้องละโมบ มุ่งแต่จะเอาให้ได้
- พยาบาท ความพยาบาท คิดหมายปองร้ายทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์
- โกธะ ความโกรธ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจ
- อุปนาหะ ความผูกเจ็บใจ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย
- มักขะ ความลบหลู่บุญคุณ ไม่รู้จักบุญคุณ , ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู”
- ปลาสะ (อ่านว่า ปะลาสะ) ความตีเสมอ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่น
- อิสสา ความริษยา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
- มัจฉริยะ ความตระหนี่หวงแหน แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม
- มายา ความปกปิดสภาพธรรมความจริงในตน เช่นการกดความคิดความรู้สึกจริงๆไว้ไม่ให้รู้ชัด การพยายามไม่นึกถึง ไม่ตรงไปตรงมากับตนเอง และ ผู้อื่น
- สาเถยยะ ความโอ้อวด
- ถัมภะ ความหัวดื้อถือรั้น จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์
- สารัมภะ ความแข่งดี แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม
- มานะ ความสำคัญตัว ว่าเหนือกว่าเขา เสมอเขา หรือ ต่ำกว่าเขา
- อติมานะ ความดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก
- มทะ ความมัวเมา ความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี 4 ประการ ได้แก่ 1.เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง 2.เมาในวัย 3.เมาในความแข็งแรงไม่มีโรค และ 4. เมาในทรัพย์
- ปมาทะ ความประมาทเลินเล่อ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก
อุปกิเลส ทั้ง 16 ประการนี้ แม้ประการใดประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วก็จะทำให้ใจสกปรกไม่ผ่องใสทันที และจะส่งผลให้เจ้าของใจหมดความสุขกายสบายใจ เกิดความเร่าร้อน หรือเกิดความฮึกเหิมทะนงตัว เต้นไปตามจังหวะที่อุปกิเลสนั้นๆ บงการให้เป็นไป
อ้างอิง
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- วัตถูปมสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒