อุทยานสามก๊ก เป็นอุทยานและพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะวัฒนธรรมจีนที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

อุทยานสามก๊ก
ภายในอุทยานสามก๊ก
แผนที่
ก่อตั้งพ.ศ. 2545
ที่ตั้งตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
พิกัดภูมิศาสตร์12°54′20″N 100°58′32″E / 12.9055291°N 100.9756063°E / 12.9055291; 100.9756063
ผู้ก่อตั้งเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง

ประวัติ แก้

อุทยานสามก๊กสร้างบนเนื้อที่ 36 ไร่ของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ริเริ่มการสร้างโดยเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างเป็นสถานที่ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศจีน[1] เกียรติเสียชีวิตไปก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง ชัยคีรี ศรีเฟื่องฟุ้งบุตรชายคนโตของเกียรติจึงสานต่อเจตนารมณ์ในการก่อสร้าง เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2538 ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2543 และเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2545[1]

ภายในอุทยานสามก๊ก แก้

ภายในอุทยานสามก๊กมีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและไทย มีการจัดวางรูปแบบตามหลักฮวงจุ้ยของจีน ออกแบบโดยธีรวัลย์ วรรธโนทัยและรณฤทธิ์ ธนโกเศศ สถาปนิกแห่งกรมศิลปากร[2]

ภายในอุทยานสามก๊กประกอบด้วยอาคารหลัก 3 อาคารที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมจีน[1][3]

  • อาคารประธาน: เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ชั้นแรกจัดแสดงรูปปั้น ประวัติ ผลงาน และจดหมายปิดผนึกของเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง และจัดแสดงตุ๊กตากระเบื้องของตัวละครหลักในนวนิยายสามก๊ก 12 คน ชั้นที่ 2 และ 3 จัดแสดงภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบเล่าเรื่องชีวประวัติของจูกัดเหลียง ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันต์ธาตุ พระพุทธรูปปางประทานพร พระสังกัจจายน์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์
  • อาคารอเนกประสงค์: ใช้สำหรับจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการต่าง ๆ มีการจัดแสดงตุ๊กตากระเบื้องของสิบแปดอรหันต์
  • อาคารพระโพธิสัตว์กวนอิม: เป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิมทำจากหินอ่อนขาวขนาดใหญ่

ภายในอุทยานสามก๊กยังมีระเบียงจิตรกรรมความยาว 223.8 เมตร วาดบนกระเบื้องเคลือบดินเผาจีน แสดงเหตุการณ์สำคัญจากนวนิยายสามก๊กจำนวน 56 ตอน[1][3]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "อุทยานสามก๊ก กลิ่นอายสวนเมืองจีน ที่ พัทยา". สืบค้นเมื่อ 2023-10-19.
  2. "อุทยานสามก๊ก สถาปัตยกรรมจีนในไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-21. สืบค้นเมื่อ 2008-08-19.
  3. 3.0 3.1 "อุทยานสามก๊ก". สืบค้นเมื่อ 2023-10-19.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้