หัวตะเข้ เป็นชื่อชุมชนและตลาด เป็นจุดตัดของคลอง 3 คลอง ได้แก่ คลองหัวตะเข้ คลองลำปลาทิว และคลองประเวศบุรีรมย์ ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ที่มาของชื่อชุมชนมาจากการขุดคลองในบริเวณนี้แล้วพบกะโหลกจระเข้ตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง มีแค่ส่วนหัว แต่ไม่มีตัว กะโหลกนี้ยังคงอยู่ที่ศาลเจ้าปึงเถ่ากงจนถึงปัจจุบัน[1]

คลองหัวตะเข้
ถนนลาดกระบังบริเวณหัวตะเข้
บ้านริมคลองบริเวณชุมชนหัวตะเข้

ประวัติ แก้

พื้นที่เดิมมีสภาพเป็นทุ่งนากว้าง เริ่มตั้งเป็นชุมชนตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีชุมชนหลังจากขุดคลองประเวศบุรีรมย์ (พ.ศ. 2421–2423) จากพระโขนงถึงฉะเชิงเทรา ทำให้มีความเจริญเกิดขึ้นทั้งสองริมฝั่งคลอง มีตลาดสด ร้านรวง และชุมชนริมน้ำ โดยชุมชนหัวตะเข้เป็นจุดที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นจุดตัดของคลอง 3 คลอง คนเรียกติดปากว่า "สี่แยก" ปรากฏมีการตั้งชุมชนริมน้ำในแผนที่เก่าเมื่อ พ.ศ. 2456 ในแผนที่ปรากฏสถานีรถไฟหัวตะเข้และสี่แยกหัวตะเข้ กลุ่มคนที่เข้ามาคือ คนไทย คนมอญ คนจีน การสัญจรสามารถส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำ รวมถึงการใช้รถไฟที่มีสถานีอยู่ทางทิศเหนือของตลาดหัวตะเข้ อาคารหลังแรกที่สร้างขึ้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 ตั้งอยู่บริเวณตลาดหัวตะเข้ฝั่งเหนือคลองประเวศบุรีรมย์ สร้างด้วยไม้สัก จากข้อมูล พ.ศ. 2558 ยังคงปรากฏอาคารหลังนี้อยู่

การสร้างอาคารแถวเรือนไม้บริเวณสองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ มีรูปแบบอาคารในลักษณะเดียวทั้งสองฝั่ง โดยมีจำนวนอาคารเรือนแถวไม้ทั้งหมดประมาณ 137 หลัง แบ่งเป็นอาคารเรือนแถวไม้ฝั่งเหนือคลองประเวศบุรีรมย์ทั้งหมด 5–7 หลัง และอาคารเรือนแถวไม้ฝั่งใต้คลองบุรีรมย์ ทั้งหมด 80 หลัง อาคารทั้งหมดสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งฝาไม้กระดานตีเกร็ด มุงกระเบื้องสังกะสี ด้านหน้าเป็นทางเดินมีลักษณะเป็นดิน และคลุมด้วยหลังคาไม้ทอดยาวตลอดแนวความยาวด้านหน้า โดยแต่ละคูหากว้างประมาณ 3.5 เมตร ลึก 25 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร จากความลึกของที่ดิน ทำให้มีการแบ่งหลังคาจั่วเป็นสองตอน ส่วนด้านหน้าของอาคารเรือนแถวไม้ มีลักษณะเป็นชานไม่มีหลังคาคลุมเป็นทางเดิน ขนาดประมาณ 1 เมตร สร้างด้วยดินกว้างจรดริมคลองประเวศบุรีรมย์[2]

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการขยายตัวของชุมชนออกไปทางทิศตะวันตก และด้านหลังของกลุ่มอาคารเดิมที่เกาะติดอยู่ริมคลอง การสัญจรในช่วงเวลานี้ มีรูปแบบการเข้าถึงโดยใช้เส้นทางน้ำและรถไฟเป็นหลัก รวมถึงมีการใช้เรือเมล์ขาวหรือเรือนายเลิศ เข้ามาบริการภายในพื้นที่ ขณะที่บริเวณใกล้เคียงยังไม่พบตลาดคู่แข่งทางการค้า ในช่วง พ.ศ. 2500 เกิดไฟไหม้ตลาดฝั่งใต้คลองประเวศบุรีรมย์ ได้มีการสร้างอาคารใหม่ทั้งหมด

จนกระทั่งเริ่มมีการตัดถนน มีการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ คนเริ่มสัญจรทางรถยนต์แทนทางเรือทำให้ย่านนี้เริ่มซบเซา เมื่อ พ.ศ. 2537 เกิดไฟไหม้ตลาดฝั่งตรงข้าม มีบ้านเรือนเสียหาย 150 ห้อง มีคนย้ายออก ขณะที่ฝั่งตลาดหัวตะเข้เหลือ 58 ห้อง หลายร้านปิดตัวลง[3] จนเมื่อ พ.ศ. 2552 ชาวชุมชนหัวตะเข้ได้ร่วมกันฟื้นฟูชุมชนด้วยการใช้งานศิลปะมาเป็นสื่อกลางในการฟื้นฟูตลาด โดยร่วมมือกับสถานศึกษาแถบลาดกระบังหลายแห่ง ตลาดหัวตะเข้ได้เผชิญวิกฤติเพลิงไหม้อีก 2 ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ. 2556 และ 2557 จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้ชาวชุมชนเกิดการตื่นตัวในการรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนมากยิ่งขึ้น[4] ปัจจุบันมีการการจัดแสดงานศิลปะหมุนเวียน การสอนเวิร์กชอปสำหรับผู้ที่สนใจ ร้านเอเฟรม แหล่งขายอุปกรณ์ศิลปะ ศูนย์การเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้

อ้างอิง แก้

  1. "ย้อนวันวาน ชมตลาดโบราณ "ชุมชนเก่าหัวตะเข้" สัมผัสบรรยากาศสุดคลาสสิก ย่านลาดกระบัง". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. วีรดา สุขเจริญมิตร, กฤตพร ห้าวเจริญ. "ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารและกิจกรรมของตลาดหัวตะเข้ กรุงเทพมหานคร". มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  3. "ชุมชน "หัวตะเข้" ต้นแบบใช้ศิลปะ พลิกฟื้นย่านเก่า". ไทยโพสต์.
  4. "ตลาดหัวตะเข้". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.