หมายเลขแอร์ดิช
หมายเลขแอร์ดิช (ฮังการี: Erdős number) ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการี พอล แอร์ดิช (Paul Erdős) ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความทางคณิตศาสตร์ที่มีคุณประโยชน์มากมายที่สุดผู้หนึ่ง หมายเลขแอร์ดิช เป็นหนึ่งในวิธีการที่แสดง "ระยะทางระหว่างความร่วมมือกัน" (collaborative distance) ระหว่างผู้เขียนบทความทางคณิตศาสตร์คนใดคนหนึ่ง กับ พอล แอร์ดิช
นิยาม
แก้ผู้เขียนบทความคนใดคนหนึ่งจะได้รับหมายเลขแอร์ดิชก็ต่อเมื่อเขาได้เขียนบทความทางคณิตศาสตร์ร่วมกับผู้เขียนบทความที่ได้รับหมายเลขแอร์ดิชอยู่แล้ว พอล แอร์ดิช คือผู้ที่มีหมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 0 ถ้าหมายเลขแอร์ดิชที่น้อยที่สุดของผู้เขียนบทความร่วม คือ k ผู้เขียนบทความที่ยังไม่มีหมายเลขแอร์ดิช จะได้รับ หมายเลขแอร์ดิชหมายเลข k+1
ตลอดช่วงชีวิตของแอร์ดิช เขาเขียนบทความทางคณิตศาสตร์มากกว่า 1,500 บทความ เกือบทั้งหมดเป็นผลงานที่เขียนร่วมกับผู้อื่น มีผู้ที่ได้ร่วมงานกับพอล แอร์ดิชโดยตรง 511 คน[1] ซึ่งทั้งหมดนี้คือผู้ที่มี หมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 1 ผู้ที่มีผลงานร่วมกับคนเหล่านี้ (แต่ไม่ได้มีผลงานร่วมกับแอร์ดิชโดยตรง) จะมีหมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 2 (9,267 คน ในปี ค.ศ. 2010[2]) ผู้ที่ได้ร่วมงานกับผู้ที่มีหมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 2 (แต่ไม่ได้ร่วมงานกับแอร์ดิชหรือผู้ที่มีหมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 1) จะมีหมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 3 เป็นต้น ผู้ที่ไม่ได้เขียนบทความร่วมกับผู้ที่มีหมายเลขแอร์ดิชใดๆ จะถือว่ามีหมายเลขแอร์ดิชอนันต์ (infinite) หรืออนิยาม (undefined) เมื่อแอร์ดิชเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1996 หมายเลขแอร์ดิชที่น้อยที่สุดที่ผู้เขียนบทความจะได้รับจะเท่ากับ 2
แคสเปอร์ กอฟฟ์แมน (Casper Goffman) น่าจะเป็นคนแรกที่ให้คำนิยามของหมายเลขแอร์ดิช[3] กอฟฟ์แมนเป็นนักวิจัยทางคณิตศาสตร์ซึ่งมีหมายเลขแอร์ดิชหมายเลข 1 ในปีค.ศ. 1969 เขาตีพิมพ์ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลงานของแอร์ดิชที่ทำร่วมกับผู้อื่นจำนวนมากมาย ในบทความชื่อ "And what is your Erdős number?"[4] (แล้วหมายเลขแอร์ดิชของคุณคือหมายเลขอะไร?)
ผลกระทบ
แก้หมายเลขแอร์ดิชเป็นส่วนหนึ่งของตำนานของนักคณิตศาสตร์ทั่วโลกมาเป็นเวลานานหลายปี ในบรรดานักคณิตศาสตร์ที่ยังทำงานอยู่ในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ หมายเลขแอร์ดิชที่มากที่สุดคือ 15 หมายเลขแอร์ดิชเฉลี่ยเท่ากับ 4.65[5] และแทบทุกคนที่มีหมายเลขแอร์ดิช จะมีหมายเลขแอร์ดิชน้อยกว่า 8 และเนื่องจากในปัจจุบันมีการทำงานร่วมกันในวงการวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ จึงมีบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์แต่ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์ จำนวนมากที่มีหมายเลขแอร์ดิชด้วย
อ้างอิง
แก้- ↑ "Erdős Number Project". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-02. สืบค้นเมื่อ 2007-10-15.
- ↑ Erdos2, Version 2010, October 20, 2010.
- ↑ [1] ข่าวมรณกรรมของพอล แอร์ดิช ที่เขียนโดย ไมเคิล กอลอมบ์ (Michael Golomb)
- ↑ Goffman, Casper (1969). "And what is your Erdős number?". American Mathematical Monthly. 76.
- ↑ ตามที่ปรากฏใน Erdős Number Project
ดูเพิ่ม
แก้- หมายเลขเบคอน (Bacon number) เป็นการประยุกต์แนวความคิดเดียวกันนี้ไปยังอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยการเชื่อมโยงดารานักแสดงที่ทำงานร่วมกันในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ