สมาพันธ์หัวใจโลก

องค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation, WHF) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับสมาพันธ์ในฐานะองค์กรเอกชนพันธมิตรชั้นนำในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

สมาพันธ์หัวใจโลก
World Heart Federation (WHF)
ก่อตั้งค.ศ. 1978
ภารกิจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดสำหรับทุกคน
ประธานดานิเอล โฆเซ ปิญเญย์โร (Daniel José Piñeiro)
ที่ตั้ง
เว็บไซต์https://world-heart-federation.org/

ประวัติ

แก้

สมาพันธ์หัวใจโลกก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยการควบรวมของสมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Society of Cardiology, ISC) และสหพันธ์แพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Cardiology Federation, ICF) ภายใต้ชื่อสหพันธ์สมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Society and Federation of Cardiology, ISFC) ใน พ.ศ. 2541 องค์กรนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation)[1]

สมาพันธ์เป็นตัวแทนขององค์กรต่าง ๆ มากกว่า 200 องค์กรในกว่า 100 ประเทศ[1] โดยเป็นองค์กรชั้นนำในการส่งเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลก ซึ่งมีพันธกิจในการทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูล การดูแล และการรักษาที่ต้องการ เพื่อรักษาสุขภาวะของหัวใจให้แข็งแรง

สมาพันธ์หัวใจโลกเป็นองค์กรโรคหัวใจและหลอดเลือดเพียงแห่งเดียวที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การอนามัยโลก[1]

การประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ

แก้

สมาพันธ์หัวใจโลกเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกด้านหทัยวิทยา (World Congress of Cardiology) โดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่ปารีสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (ISC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นสี่ปีก่อนหน้า[2]

วันหัวใจโลก (World Heart Day) จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2543 เพื่อแจ้งให้ผู้คนทั่วโลกทราบว่าโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease, CVD) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก[3] และเป็นเวทีสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี[4]

ในปี 2559 สมาพันธ์หัวใจโลกเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสุขภาพระบบไหลเวียนโลหิต (Global Summit on Circulatory Health) เป็นครั้งแรกโดยจัดขึ้นที่เม็กซิโกซิตี ซึ่งการประชุมนำเสนอผู้นำทางความคิด เช่น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้นำในอุตสาหกรรม ให้ตระหนักถึงปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) เพื่อยกระดับให้มีลำดับความสำคัญสูงสุด ในปี 2564 การประชุมสุดยอดได้เปลี่ยนชื่อเป็นการประชุมสุดยอดหัวใจโลก (World Heart Summit)[5]

การสนับสนุนระดับโลก

แก้

สมาพันธ์หัวใจโลกตั้งอยู่ในเจนีวา และเป็นที่ตั้งขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งให้การสนับสนุนสมาพันธ์ในระดับสูงสุดเพื่อนำปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดมาอยู่แถวหน้าของวาระด้านสุขภาพทั่วโลก ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกช่วยให้สมาพันธ์สามารถแบ่งปันความรู้และเป้าหมายเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่สำคัญ เช่น ปัญหายาสูบและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนภาวะสุขภาพที่ถูกละเลย เช่น โรคหัวใจรูมาติก และโรคชากาส (Chagas disease)[1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "About WHF". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2023.
  2. Snellen, HA (กุมภาพันธ์ 1980). "Birth and growth of the European Society of Cardiology". European Heart Journal. 1 (1): 5–7. doi:10.1093/oxfordjournals.eurheartj.a061095. PMID 7026246.
  3. "Cardiovascular diseases". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2023.
  4. "What is World Heart Day?". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2020.
  5. "World Heart Summit". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้