สภาวะไม่พูดและเสียการเคลื่อนไหว

สภาวะไม่พูดและเสียการเคลื่อนไหว (อังกฤษ: Akinetic mutism) เป็นศัพท์ทางแพทย์ ที่ระบุผู้ป่วยที่มักจะไม่เคลื่อนไหวเพราะสภาวะเสียการเคลื่อนไหว (akinesia) และไม่พูดเพราะสภาวะพูดไม่ได้หรือสภาวะไม่ยอมพูด (mutism) เป็นสภาวะที่เกิดจากความเสียหายอย่างรุนแรงของสมองกลีบหน้า คนไข้มักจะมีอาการที่ไม่ตอบสนองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการเคลื่อนไหวและการพูดจาที่น้อยลงไป

ตัวอย่างของเหตุความผิดปกตินี้ก็คือเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (meningioma) ที่ร่องสมองของระบบการได้กลิ่น (olfactory groove) ความผิดปกตินี้เห็นได้ด้วยในอาการขั้นสุดท้ายของโรคครูซเฟล์ดต-เจคอบ (Creutzfeldt-Jakob Disease) ซึ่งเป็นโรคทางสมองที่มีอาการแย่ลงเรื่อยๆ และในกรณีของสมองอักเสบแบบไม่เคลื่อนไหว (encephalitis lethargica[1]) แบบฉับพลัน สภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นในโรคหลอดเลือดสมองที่มีความเสียหายของเส้นเลือดในเขตสมองใหญ่ด้านหน้า เหตุอีกอย่างหนึ่งก็คือพิษในประสาทที่เกิดจากยาเช่น Tacrolimus[2] และ Cyclosporine[2]

เหตุอีกอย่างหนึ่งของทั้งสภาวะเสียการเคลื่อนไหวและสภาวะพูดไม่ได้ก็คือการสูญเสียรอยนูนซิงกูเลต (cingulate gyrus) ในระบบลิมบิก การเข้าไปทำลายรอยนูนซิงกูเลตเป็นวิธีการรักษาโรคจิตวิธีหนึ่ง รอยโรคดังที่กล่าวมานี้ก่อให้เกิดสภาวะเสียการเคลื่อนไหว สภาวะพูดไม่ได้ สภาวะไร้อารมณ์ และสภาวะไม่ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด[3] มีการคาดว่า คอร์เทกซ์ซิงกูเลตด้านหน้า (Anterior cingulate cortex) เป็นผู้ส่งองค์กระตุ้นทั่วระบบ ที่เป็นตัวกระตุ้นระบบการตัดสินใจ[4] ดังนั้น เมื่อคอร์เทกซ์ซิงกูเลตด้านหน้ามีความเสียหาย จึงก่อให้เกิดสภาวะไม่พูดและเสียการเคลื่อนไหว

หมายเหตุและอ้างอิง แก้

  1. สมองอักเสบแบบไม่เคลื่อนไหว (encephalitis lethargica) หรือโรควอนอีโคโนโม (von Economo Disesase) เป็นโรคนอกแบบ (คือชนิดที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย) ของสมองอักเสบ ถูกพรรณนาเป็นครั้งแรกโดยนักประสาทวิทยา คอนสแตนติน วอน อีโคโนโม ในปี ค.ศ. 1917 โรคเข้าไปทำลายสมอง ทำผู้ป่วยให้เกิดอาการเหมือนรูปปั้น ไม่สามารถจะพูดหรือเคลื่อนไหวได้
  2. 2.0 2.1 Tacrolimus และ Cyclosporine เป็นยากดระบบภูมิคุ้มกัน โดยหลักใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เพื่อลดความเสี่ยงที่ร่างกายของคนไข้จะไม่รับอวัยวะใหม่
  3. Fix JD. Neuroanatomy. 4th ed.
  4. Struss DT et al.,2005, Multiple frontal systems controlling response speed, Neuropshichologia, 43: 396-417

[[หมวดหมู่::ความผิดปกติทางประสาท]]