วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารหลักในพื้นที่วิทยาเขตแห่งนี้ และมีภารกิจในการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรี,และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านเกษตร ที่มีคุณภาพ มีความรู้เป็นเลิศทางวิชาการ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ และเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ตลอดจนพัฒนา และส่งเสริมให้มีการวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และองค์ความรู้ใหม่ พร้อมถ่ายทอดสู่สังคม โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทำการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ซึ่งเป็นหลักสูตรดั้งเดิมที่เคยเปิดสอน ส่วนวิทยาลัยเกษตร อนุปริญญาต่อเนื่องได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์เกษตร) ขึ้นมาใหม่

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
Faculty of Agriculture
Princess of Naradhiwas University
ชื่อเดิมวิทยาลัยเกษตรกรรมนราธิวาส
สถาปนา1 เมษายน พ.ศ. 2516; 51 ปีก่อน (2516-04-01)
ผู้อำนวยการนายมงคล วชิรอำไพ (รักษาการ)
ที่อยู่
เลขที่ 102 หมู่ที่ 5 บ้านป่าไผ่ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
สถานปฏิบัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
เว็บไซต์agri.pnu.ac.th

ประวัติ แก้

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส เดิมมีชื่อว่า วิทยาลัยเกษตรกรรม ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ 5 บ้านป่าไผ่ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ห่างจากตัวจังหวัด 24 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,808 ไร่

พื้นที่วิทยาลัยเกษตรฯ เดิมเป็นของบริษัทชาวญี่ปุ่น ต่อมาอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ (ก.ท.ส.) มีเนื้อที่ประมาณ 997 ไร่ และในปี พ.ศ. 2515 กระทรวงศึกษาธิการได้รับอนุญาตจาก ก.ท.ส. ให้ใช้ที่ดินดังกล่าวจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม โดยมีคณะกรรมการประสานงานการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมนราธิวาส นำโดย นายธรรมนูญ บุญทอง เป็นหัวหน้าคณะ ร่วมด้วย นายยศ พุตตาล และนายบุญเยื้อน ทรัพย์คูณ ทำการรังวัดพื้นที่หาระดับและทำแผนที่ และได้ประกาศจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 ได้เปิดเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2517 โดยมีนายธรรมนูญ บุญทอง เป็นผู้อำนวยการคนแรก ต่อมาได้ยกสถานะจากโรงเรียน เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรม สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 และในปี พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) โปรดเกล้ามอบที่ดินให้วิทยาลัยเพิ่มเติมอีก 811 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 1,808 ไร่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2537 (วันที่ 26 กรกฎาคม 2537 ) กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายบทบาทของสถาบันการศึกษาในสังกัดกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา ให้ทำหน้าที่เป็นวิทยาลัยชุมชนและใช้ชื่อวิทยาลัยชุมชนทักษิณ ทั้งนี้โดยเปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรระยะสั้น และได้เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยเกษตรกรรมนราธิวาส เป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2539 ในสมัย พณสุขวิช รังสิตพลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม โดยการหลอมรวมสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้วในจังหวัด เพื่อจะได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการลงทุนน้อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อปรัชญาการศึกษา และภารกิจของสถาบันการศึกษาเดิม การบริหารจัดการ และการดำเนินการมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นอกจากกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังสามารถที่จะรองรับการศึกษา และการใช้บริการทางการอุดมศึกษาของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย และได้สถาปนามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 14 ก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 แล้ว โดยหลอมรวมกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ รายได้ หนี้สิน บุคลากรของสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพในการพัฒนาในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 4 สถาบัน คือ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส

ปัจจุบัน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ได้ดำเนินการจัดการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ ซึ่งในระบบเปิดสอนนักศึกษาระดับปวช. ปวส. โดยมี 2 ภาควิชา คือ ภาควิชาพืชศาสตร์ และภาควิชา สัตวศาสตร์ ส่วนการศึกษานอกระบบ วิทยาลัยฯ จะเปิดฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ทั้งด้านความรู้ทางการเกษตร ทักษะและเทคโนโลยี นอกจากนี้ วิทยาลัยยังมีหน้าที่ทำงานวิจัยและบริการวิชาการ โดยได้รับการสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการจาก มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส โดยคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ผู้บริหาร และบุคลากรของวิทยาลัย ต่างมีความเห็นพ้องที่จะเห็นวิทยาลัยเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางที่ดี นโยบายและกลยุทธ์ ต่างๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองให้บรรลุวิสัยทัศน์และภารกิจของวิทยาลัย }}

หน่วยงาน แก้

สำนักงานวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส

  • งานกิจการนักศึกษา
  • งานบริการการศึกษา
  • งานหลักสูตรและวิชาการ
  • งานบริการทั่วไป

สถานที่ตั้ง แก้

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ตั้งอยู่ เลขที่ 102 หมู่ 5 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีพื้นที่ของวิทยาเขตครอบคลุม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ 5 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส รหัสไปรษณีย์ 96130 อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 24 กิโลเมตร เดิมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 997 ไร่ และในปี พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ มอบที่ดินให้วิทยาลัยเพิ่มเติมอีก 811 ไร่ ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,808 ไร่ อาณาเขตติดต่อ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1. เนื้อที่เดิม 997 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ สถานีรถไฟบ้านป่าไผ่
  • ทิศตะวันนออก ติดต่อกับ บ้านออกและที่ดินแปลงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านลาลู
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านไอปาเซ

ส่วนที่ 2. เนื้อที่ใหม่ 811 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าไผ่
  • ทิศตะวันนออก ติดต่อกับ บ้านลูโบ๊ดีแย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ที่ดินแปลงเก่า
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านออก

อ้างอิง แก้