วัดมฤคทายวัน (จังหวัดหนองคาย)

วัดในจังหวัดหนองคาย

วัดมฤคทายวัน ตั้งอยู่เลขที่ 35 บ้านน้ำสวย ถนนมิตรภาพหนองคาย - อุดรธานี หมู่ 9 ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 625 ไร่ 1 ตารางวา และยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระศรีอาริย์ พระพุทธรูปคู่อำเภอสระใครด้วย

วัดมฤคทายวัน
ไฟล์:วัดมฤคทายวัน.jpg
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมฤคทายวัน (ดงแขม)
ที่ตั้งตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อพระศรีอาริย์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดมฤคทายวัน สร้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2438 เดิมชื่อ "วัดดงแขม" ประชาชนนิยมเรียกว่า “ดงพระ” เป็นวัดเก่าแก่โบราณ ต่อมา พ.ศ. 2494 ทางคณะสงฆ์ นำโดยพระพิมลธรรม ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดมฤคทายวัน หลวงพ่อพระศรีอาริย์ หลวงพ่อพระศรีอาริย์ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สมัยลพบุรี แกะสลักด้วยหินทรายดำ มีหน้าตักขนาดประมาณ 14 นิ้ว มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร อาจสร้างขึ้นมีอายุใกล้เคียงกันกับการสร้างปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ในสมัยขอม เพราะเป็นหินทรายในลักษณะเดียวกันโดยไม่ผิดแม้แต่น้อย

เมื่อประมาณ 600 ปีที่ผ่านมา บริเวณวัดมฤคทายวัน (ดงแขม) เป็นป่าต้นแขมขึ้นหนาทึบ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น ทั้งสัตว์ป่านานาชนิดอยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกบริเวณป่านี้ว่า “ดงแขม” ในกาลสมัยนั้น ได้มีทหารและชาวบ้าน นำเอาพระพุทธรูปขึ้นบรรทุกเกวียนหลายเล่มเกวียน เดินทางมาจากลพบุรี มุ่งหน้าไปเมืองหนองคาย เพื่อนำลงเรือล่องตามลำแม่น้ำโขง ไปถวายวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ครั้นเดินทางมาถึงป่าดงแขม เกวียนที่บรรทุกองค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์มา เกิดหักเดินทางต่อไปไม่ได้ ทหารจึงเอาองค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์ประดิษฐาน ไว้ ณ บริเวณนั้น และมอบหมายให้ชาวบ้านน้ำสวยดูแลรักษาไว้นับแต่นั้นมา ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ดงพระ” ดงพระก็กลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีชาวบ้านที่เป็นนายพรานเข้ามาล่าสัตว์ยิงสัตว์ป่า ถ้าสัตว์ป่าเหล่านี้ หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในดงพระนี้แล้วเขาจะไม่ตามเข้าไป เพราะเข้ามาแล้วจะหาสัตว์เหล่านั้นไม่เห็น หรือถ้าจะเห็นก็ยิงไม่ถูก บางรายยิงเกิดปืนแตกใส่ตนเอง บางครั้งปืนกลับยิงไปถูกพวกกันเองถึงแก่ชีวิตก็มี บางรายจับไข้หัวโกร๋นหรือเป็นบ้าไปก็มี ต้องจัดดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาองค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์จึงจะหาย ชาวบ้านจึงถือกันว่าบรรดาสัตว์เหล่านั้นอยู่ในความเมตตาคุ้มครองรักษาขององค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์ ดังนั้น ในสมัยนั้นดงพระจึงมีป่าไม้หนาแน่น ไม่มีคนเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า

บริเวณที่ดินของวัดป่าดงแขมดงพระนี้มีประมาณ 500 ไร่ ด้านละ 1 กิโลเมตรทั้ง 4 ทิศ โดยเอาอุโบสถหลวงพ่อพระศรีอาริย์เป็นศูนย์กลาง ในสมัยนั้นถ้าผู้ใดกล้ำ (บุกรุก ล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณที่หวงห้ามเพื่อยึดครองโดยบังอาจ หรือโดยพลการ…ผู้โพสต์) เอาที่ดินของวัดป่าดงแขมแล้ว จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา บางคนถึงกับตาบอด จึงทำให้ที่ดินได้เหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ วัดดงแขมมีทางเข้าถึงวัด 3 ทางคือ ทางด้านบ้านโพนสวรรค์ ทางด้านบ้านหนองบัวเงิน และทางด้านถนนมิตรภาพ หลวงพ่อชาลี จิตตคุตโต วัดศรีบัวบาน บ้านบุกหวาน ตำบลค่ายบกหวาน ท่านได้นำพระสงฆ์สามเณรพร้อมด้วยชาวบ้าน มาทำความสะอาดรอบๆ บริเวณอุโบสถหลวงพ่อพระศรีอาริย์ พอเป็นทางแห่ดอกไม้ธูปเทียน เวียนรอบอุโบสถได้เท่านั้น และประกอบพิธีถวายเครื่องสักการะบูชากราบไหว้ ปิดทอง สรงน้ำหลวงพ่อพระศรีอาริย์ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกๆ ปี มาแล้วหลายชั่วอายุคน

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2490 ท่านพระอาจารย์หนูจันทร์ อาทิจโจ ท่านเกิดอยู่บ้านโพนสวรรค์ ท่านไปบวชเป็นพระอยู่จังหวัดนครราชสีมา ได้ประมาณ 10 พรรษา ถือธุดงค์เข้ามาอยู่จำพรรษาวัดป่าดงแขม จนกระทั่งมีโยมจากอุดรธานี หนองคาย มีความศรัทธาได้สร้างกุฏิถวายท่าน เป็นจำนวนหลายหลัง มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาถึง 20-30 รูป มีแม่ชีกว่า 10 รูป จึงถือได้ว่า ท่านพระอาจารย์หนูจันทร์ อาทิจโจ เป็นพระผู้บุกเบิกวัดป่าดงแขมเป็นรูปแรก

เมื่อปี พ.ศ. 2496 ท่านพระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองในสมัยนั้น ได้นำใบตราตั้งเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย มามอบให้พระมหานวม เขมจารี ป.ธ.6 มามอบให้เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ ประจำจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

อาณาเขต

แก้
  • ทิศเหนือ ประมาณ 25 เส้น จด ถนนมิตรภาพ
  • ทิศใต้ ประมาณ 25 เส้น จด ที่นา
  • ทิศตะวันออก ประมาณ 25 เส้น จด ที่นา

อาคาร และปูชนียวัตถุ

แก้
อาคาร
  • ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514
  • หอสวดมนต์ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว สร้างงเมื่อ พ.ศ. 2505
  • กุฏิสงฆ์ จำนวน 4 หลัง
  • ศาลาบำเพ็ญกุศลสร้างด้วยไม้

รายชื่อเจ้าอาวาส

แก้

เรียงลำดับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

  1. หลวงพ่อชาลี อตฺตคุตฺโต
  2. พระอธิการหนูจันทร์ อกิจฺโจ
  3. พระวินัย วิรธมฺโม
  4. พระดำ จันฺทวโร
  5. พระชาลี ธมฺโม
  6. พระมั่น สุจิตฺโต
  7. พระครูอภัยธรรมรักขิต (เชิดศักดิ์ โชติปาโล) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย

การศึกษา

แก้

มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอน พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  • จากคำบอกเล่าของนายไพรสันต์ กลั่นไพรี อายุ 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2478 ที่อยู่ 149 หมู่ 9 ตำบลสระใคร กิ่งอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย
  • เนียบวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550
  • ผู้รวบรวม(นายสราวุธ สีหไตร และนายสิทธิ์ กิ่งวิริยกุล) ขอขอบคุณ นายคมกฤช ผาผง และนางสาวเนติมา ฉัตรเวทิน ผู้จัดทำประวัติหลวงพ่อพระศรีอาริย์ เป็นรูปเล่มขึ้นมา (ผู้รวบรวมได้รับหนังสือประวัติหลวงพ่อพระศรีอาริย์ดังกล่าวจากความเมตตาของหลวงตาเชิดศักดิ์ โชติปาโล (พระครูอภัยธรรมรักขิต)ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ฝ่ายปกครองและเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดมฤคทายวัน(วัดดงแขม) บ้านน้ำสวย ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย