ระบบฉีดเชื้อเพลิง

ระบบฉีดเชื้อเพลิง หรือ ระบบหัวฉีด (อังกฤษ: Fuel injection) คือ การนำเอาเชื้อเพลิงเข้าไปสู่เครื่องยนต์สันดาปภายในโดยใช้หัวฉีด (injector) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในเครื่องยนต์ของรถยนต์

โมเดลตัดของเครื่องยนต์เบนซินไดเรกต์อินเจ็กชั่น

เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยการอัด (เช่น เครื่องยนต์ดีเซล) และเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยประกายไฟหลายรุ่น (เช่น เครื่องยนต์เบนซินประเภทออตโต หรือวันเคล) ล้วนใช้ระบบฉีดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตจำนวนมากสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ OM 138) เริ่มวางจำหน่ายในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 ถึงต้นทศวรรษที่ 1940 ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบฉีดตัวแรกในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล[1] ในเครื่องยนต์เบนซินของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ระบบหัวฉีดถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้ามาแทนที่คาร์บูเรเตอร์ (carburetor) จนหมดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990[2] หลักการสำคัญที่ต่างกันระหว่างคาร์บูเรเตอร์กับหัวฉีดคือ หัวฉีดจะทำการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นละอองผ่านหัวฉีดขนาดเล็กด้วยแรงดันสูง ในขณะที่คาร์บูเรเตอร์จะอาศัยแรงดูดที่เกิดจากอากาศไหลเข้าที่เร่งผ่านท่อเวนจูรี เพื่อดึงน้ำมันเข้าสู่กระแสลม

คำว่า “ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง” นั้นเป็นคำกว้าง ๆ ที่ครอบคลุมระบบย่อยหลายแบบที่มีหลักการทำงานพื้นฐานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่ระบบฉีดทุกระบบมีเหมือนกันคือ ไม่มีระบบคาร์บูเรเตอร์ (carburetion)

หลักการพื้นฐานของระบบผสมไอดี (mixture) ในเครื่องยนต์สันดาปภายในแบ่งเป็น 2 แบบ คือ:

  • การผสมภายใน (internal) ระบบนี้จะทำการฉีดน้ำมันเข้าไปในห้องเผาไหม้โดยตรง แบ่งเป็นระบบย่อยได้หลายแบบ ทั้งแบบฉีดตรง (direct injection) และฉีดอ้อม (indirect injection) โดยระบบที่นิยมที่สุดคือ “คอมมอนเรล” (commonrail) ซึ่งเป็นระบบฉีดตรงประเภทหนึ่ง
  • การผสมภายนอก (external) ระบบนี้จะฉีดน้ำมันภายนอกห้องเผาไหม้ แล้วค่อยดูดไอดีที่ผสมกันแล้วเข้าไปในห้องเผาไหม้ ระบบหัวฉีดที่ใช้การผสมแบบนี้เรียกว่า “ระบบหัวฉีดท่อร่วม” (manifold injection) ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบย่อยคือ:
    • การฉีดหลายจุด (multi-point injection) ระบบนี้ใช้หัวฉีดหลายหัว ฉีดน้ำมันบริเวณท่อไอดีก่อนเข้าสู่แต่ละสูบ
    • การฉีดแบบจุดเดียว (single-point injection) ระบบนี้ใช้หัวฉีดเพียงจุดเดียว ฉีดน้ำมันบริเวณเรือนปีกผีเสื้อระบบการผสมไอดีภายใน

คำว่า “ระบบฉีดเชื้อเพลิงแบบอิเล็กทรอนิกส์” (electronic fuel injection) หมายถึงระบบฉีดเชื้อเพลิงใด ๆ ที่ควบคุมโดยชุดควบคุมเครื่องยนต์ (engine control unit; ecu)

การทำงาน

แก้

การทำงานพื้นฐานของระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงจะอธิบายไว้ในหัวข้อต่อไปนี้ โปรดทราบว่าในบางระบบ ชิ้นส่วนเดียวอาจทำหน้าที่หลายอย่างได้

เพิ่มแรงดันน้ำมัน

แก้

ระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ทำงานโดยการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกเพิ่มแรงดันเข้าสู่เครื่องยนต์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ปั๊มเชื้อเพลิง (fuel pump)

ควบคุมปริมาณน้ำมัน

แก้

ระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นต้องคำนวณปริมาณน้ำมันที่เหมาะสมที่จะจ่ายไปยังเครื่องยนต์ และควบคุมการไหลของน้ำมันเพื่อให้ได้ปริมาณที่ต้องการ

ระบบหัวฉีดเชิงกลรุ่นแรก ๆ ใช้ปั๊มหัวฉีด (injection pump) ที่ควบคุมด้วยเกลียว ซึ่งทำหน้าที่ทั้งการวัดปริมาณน้ำมันและสร้างแรงดันในการฉีด ตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นมา มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการวัดปริมาณน้ำมัน ระบบหัวฉีดรุ่นใหม่ใช้ชุดควบคุมเครื่องยนต์อิเล็กทรอนิกส์ (ecu) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำมัน การจุดระเบิด (timing) และควบคุมการทำงานอื่น ๆ ของเครื่องยนต์

ฉีดน้ำมัน

แก้

หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหัวฉีดสเปรย์ (spray nozzle) ที่ทำหน้าที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่เครื่องยนต์ ตำแหน่งของหัวฉีดจะอยู่ที่ห้องเผาไหม้ ท่อไอดี หรือบางระบบที่พบได้น้อยกว่าจะอยู่ที่ลิ้นปีกผีเสื้อ

หัวฉีดเชื้อเพลิงซึ่งควบคุมการวัดด้วยเรียกว่า “วาล์วฉีด” (injection valve) ในขณะที่หัวฉีดที่ทำหน้าที่ทั้งสามอย่างนี้เรียกว่า “หัวฉีดรวม” (unit injector)

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Kremser, H. (1942). Der Aufbau schnellaufender Verbrennungskraftmaschinen für Kraftfahrzeuge und Triebwagen (ภาษาเยอรมัน). Vol. 11. Vienna: Springer. p. 125. ISBN 978-3-7091-5016-0.
  2. Welshans, Terry (August 2013). "A Brief History of Aircraft Carburetors and Fuel Systems". enginehistory.org. US: Aircraft Engine Historical Society. สืบค้นเมื่อ 2016-06-28.