รอยัลสทิวเวิร์ต

ผ้าทาร์ทันที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์สทิวเวิร์ต

รอยัลสทิวเวิร์ต หรือ รอยัลสทิวเวิร์ตทาร์ทัน (อังกฤษ: Royal Stewart หรือ Royal Stuart tartan) เป็นผ้าทาร์ทัน หรือผ้าลายสกอต ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีมีประวัติย้อนหลังไปถึงราชวงศ์สทิวเวิร์ต และยังเป็นแบบผ้าทาร์ทันส่วนพระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2[1] ลายผ้า (sett) นี้มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1831 ในหนังสือ The Scottish Gael โดยเจมส์ โลแกน (James Logan) ผ้าลายสกอตนี้สวมใส่โดยนักเป่าปี่สกอตของกองพันทหารราบที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ หรือ Black Watch, กองทหารม้ารักษาพระองค์ Royal Scots Dragoon Guards และกองทหารราบรักษาพระองค์ Scots Guards รวมถึงกลุ่มพลเรือนบางกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือก กองลูกเสือโบลตันที่ 5 และกองลูกเสือพอตเตอร์สบาร์ที่ 5 สวมผ้าพันคอลายผ้านี้อย่างเป็นทางการโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชินี วงดุริยางค์ the Queen's Bands จากมหาวิทยาลัยควีนสวมผ้าลายรอยัลสทิวเวิร์ตเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับวงเครื่องเป่าปี่สกอตของกรมตำรวจวินนิเพก ผ้าลายนี้อาจได้รับการสวมใส่โดยสมาชิกที่เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมผู้นำสายตรวจ

รอยัลสทิวเวิร์ตทาร์ทัน
รอยัลสทิวเวิร์ตทาร์ทัน
ภาพหมวกกันน็อกของแจ็คกี สจวร์ต ที่ประดับด้วยลายผ้ารอยัลสทิวเวิร์ตทาร์ทัน

ตามหลักการผ้าลายรอยัลสทิวเวิร์ตนี้ไม่ควรสวมใส่โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามหน่วยงาน Scottish Register of Tartans ตั้งข้อสังเกตว่าในทางปฏิบัติ เนื่องจากความนิยม ผ้าลายนี้ได้กลายเป็นผ้าทาร์ทันสากล ที่ใครก็ตามที่ไม่มีผ้าทาร์ทันประจำตระกูลสามารถสวมใส่ได้ "ในลักษณะเดียวกับที่ชนเผ่าจะสวมผ้าทาร์ทันของหัวหน้าเผ่า เป็นการเหมาะสมสำหรับทุกคนที่เป็นพสกนิกรในพระราชินีที่จะสวมผ้าลายรอยัลสทิวเวิร์ต"[2] คอลิน ฮัตเชสัน (Colin W Hutcheson) กล่าวถึงความเป็นสากลนี้ว่า "เกิดจากการทำให้เป็นการค้าในช่วงไม่นานนี้" ตามธรรมเนียมแล้วผ้าลายแบล็กวอต์ช (Black Watch หรือที่รู้จักในชื่อ Old Campbell, Grant Hunting, Universal, Government) และผ้าลายฮันติงสทิวเวิร์ต (Hunting Stewart) ถูกใช้เป็นผ้าทาร์ทันสากลและไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาต[3]

ในคริสต์ทศวรรษ 1960 ผ้าลายรอยัลสทิวเวิร์ตได้กลายเป็นที่รู้จักกันดีในวงการแข่งรถ โดยแจ็คกี สจวร์ต (Jackie Stewart) แชมป์โลกฟอร์มูลาวัน 3 สมัย จากสกอตแลนด์ใช้ลายผ้าแบบรอยัลสทิวเวิร์ตติดรอบหมวกกันน๊อกของเขา[4] ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ผ้าลายนี้ได้รับความนิยมนำไปประยุกต์ในแฟชั่นพังก์[5]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Queen Elizabeth II & Her Tartan". Lochcarron of Scotland. 5 มกราคม 2018.
  2. "Tartan Details - Stewart/Stuart, Royal #2". The Scottish Register of Tartans. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011.
  3. Hutcheson, Colin W. "Royal tartans". Scottish Tartans Authority. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2017.
  4. "Top 20 Greatest F1 racers: Sir Jackie Stewart". sportskeeda. 14 ธันวาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2013.
  5. Jude Stewart (2 ธันวาคม 2015). "A history of tartan: from Falkirk to Mod". The Scotsman.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้