รถแห่ดนตรีสด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า รถแห่ เป็นการแสดงรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยจะดัดแปลงรถบรรทุกให้มีลักษณะรถเครื่องเสียงเคลื่อนที่ ให้สามารถแสดงดนตรีและขับร้องสดจากนักร้องนักดนตรีประจำรถแห่ เล่นตามงานประเพณีต่าง ๆ รวมถึงงานที่ได้รับการว่าจ้าง ในแต่ละท้องที่อาจเล่นเพลงที่แตกต่างกันไป เช่นอีสานตอนใต้เน้นเพลงแนวกันตรึมที่รับแนวทางมาจากฝั่งกัมพูชา ส่วนอีสานตอนกลางก็จะเน้นเล่นแนวหมอลำ ในปัจจุบันอาจมีเล่นเพลงไทยป็อปตามความนิยม[1]

ประวัติ แก้

ภูมิหลัง แก้

ก่อนพุทธทศวรรษ 2520 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นยุคที่นำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานบรรเลงดนตรีทำนองพื้นบ้านเรียกว่า "ลาย" เช่น ลายเต้ย ลายลดพัดพร้าว สายสรภัญ เป็นต้น การแสดง ดนตรีลักษณะนี้มีเพียงการบรรเลงดนตรีเพียงอย่างเดียว

จนประมาณพุทธทศวรรษ 2520 เป็นยุคที่นำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาผสมกับเครื่องดนตรีสากลจนเป็นวงที่ใหญ่ขึ้น เช่น คีย์บอร์ด กีตาร์ เบส เป็นต้น แต่ยังคงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณหรือแคน เริ่มมีการต่อสายเครื่องดนตรีกับเครื่องขยายเสียงจากแบตเตอร์รีของรถยนต์ ใช้รถเข็นแห่รอบหมู่บ้าน ยังคงบรรเลงในลักษณะทำนองพื้นบ้าน ไม่มีคำร้อง

ประมาณกลางพุทธทศวรรษที่ 2530 มีการแห่ดนตรีที่ใช้รถในการบรรเลง หรือเรียกว่า "รถแห่ซาวด์" โดยใช้รถบรรทุกขนดสี่ล้อมาบรรทุกเครื่องเสียงไว้บริเวณท้ายกระบะเชื่อมต่อระบบเข้ากับเครื่องเสียงที่ติดอยู่กับตัวรถ แต่การแห่ในยุคนี้ไม่มีการแสดงสด เป็นการเปิดเพลงผ่านลำโพง เพลงมีทั้งเพลงบรรเลงและดนตรีที่มีเนื้อร้อง รวมถึงมีการแห่ดนตรีในกิจกรรมที่มีความหลายหลายมากกว่าแต่เดิมที่เป็นพิธีทางประเพณี เช่น การแห่เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น[2]

ยุครถแห่ดนตรีสด แก้

ปลายพุทธทศวรรษที่ทศวรรษที่ 2550 เป็นยุคที่นำรถแห่ดนตรีมาพัฒนาให้สามารถบรรเลงดนตรีและขับร้องสดได้บนรถ มีความแตกต่างจากเดิมคือนำรถบรรทุกขนาดใหญ่ (หกล้อ) มาเป็นบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่มีขนาดใหญ่เท่ากับตัวรถทำให้คล้ายกับเวทีหมอลำ บรรเลงเพลงทั้งทำนองพื้นบ้านและดนตรีที่มีคำร้อง แสดงสดในงานบุญประเพณีต่าง ๆ และงานที่เจ้าภาพจ้างไปแสดงเช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น คณะรถแห่ที่ชื่อ "รถแห่ดาราทอง มิวสิก" มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นคณะรถแห่ที่มีบทบาทสำคัญในวงการรถแห่[3]

จากข้อมูลระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 มีรถแห่ดนตรีสดมากกว่า 400 คัน[2]

ในช่วงฤดูฝนไม่มีงานในท้องถิ่นอีสาน รถแห่เหล่านี้จะออกนอกพื้นที่เพื่อรับงานตามเมืองใหญ่ ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เขตปริมณฑลกับในภาคตะวันออก[4]

รถแห่ แก้

รถแห่เป็นการนำรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกเครื่องขยายเสียงที่มีขนาดใหญ่ ทำรถให้คล้ายเวที มีเครื่องปั่นไฟบนรถ มีระบบแสง สี เสียง ข้างรถมีการติดลวดลายสติ๊กเกอร์ มีลายตั้งแต่ชื่อวง สัญลักษณ์ของวง ยี่ห้อเครื่องเสียงที่รถแห่เลือกใช้ ช่างหรือร้านแต่งเครื่องเสียงที่รถแห่ใช้บริการ

สมาชิกรถแห่หนึ่งคันอาจมีสมาชิกตั้งแต่ 8-12 คน ประกอบด้วย คนขับรถซึ่งโดยมากคือเจ้าของรถวงดนตรี มีนักร้องนำ มือกีตาร์ มือเบส มือกลองและมือคีย์บอร์ด และผู้ติดตาม เช่น ช่างภาพประจำวงบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอ[5] เพื่อเผยแพร่ทางยูทูบหรือเฟซบุ๊ก เพื่อเสริมรายได้ของวง[6]

อ้างอิง แก้

  1. Surasak Tulathiphakul. "เปิดประวัติ "รถแห่" ความบันเทิงสไตล์โลคัล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-07. สืบค้นเมื่อ 2023-12-06.
  2. 2.0 2.1 อิทธิพงษ์ ทองศรีเกตุ (มกราคม–มิถุนายน 2565). "รถแห่ดนตรีสด: ความนิยมในการจัดกิจกรรมของชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย". วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 10 (1).{{cite journal}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  3. อริสา อูชิบะ. "รู้จักรถแห่ พื้นที่ความบันเทิงม่วนคักของอีสาน". คิด.
  4. ฟ้ารุ่ง ศรีขาว. "'รถแห่อีสาน' ประวัติศาสตร์เคลื่อนย้ายแรงงานถึงการเมือง ไม่ใช่แค่มหรสพความบันเทิง". เดอะสแตนดาร์ด.
  5. "'รถแห่'จากวิถี'อีสานใหม่' สู่มหรสพขวัญใจมหาชนทั่วไทย". แนวหน้า.
  6. ฐิติยา มณีรัตน์. "เสวนา: รถแห่ วัฒนธรรมมวลชน สะท้อนตัวตนคนอีสาน". ประชาไท.