ยุวเกษตรกร ในประเทศไทย หมายถึงเด็กและเยาวชน อายุ 10 - 25 ปีที่สนใจการเกษตร รวมตัวกันในระดับหมู่บ้านขอจัดตั้งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรต่อสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด เพื่อรับบริการความรู้วิชาการเกษตรและเคหกิจเกษตรจากโครงการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการอบรมความรู้ที่เหมาะสมกับอาชีพการเกษตรในท้องถิ่น

กลุ่มยุวเกษตรกรส่วนใหญ่มีสมาชิก 15 - 30 คน อายุใกล้เคียงกันหรือเรียนอยู่ชั้นเดียวกันมีทั้งประเภท กลุ่มในโรงเรียน กลุ่มนอกโรงเรียน และ กลุ่มผสม และมีเกษตรกรในท้องถิ่นอาสาสมัครเป็น “ที่ปรึกษายุวเกษตรกร” ประจำกลุ่ม ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำแนะนำกลุ่มในการดำเนินงานและกิจกรรม

กลุ่มยุวเกษตรกรส่วนใหญ่มีระยะเวลาเป็นกลุ่มประมาณ 2 - 4 ปี เพราะสมาชิกมีอายุมากขึ้น ไม่มีเวลามาร่วมกิจกรรม มีครอบครัวและอาชีพต้องรับผิดชอบ บางคนเปลี่ยนสถานภาพเป็นสมาชิกองค์กรหรือมีบทบาทหน้าที่อื่นในท้องถิ่น เช่น สมาชิกกลุ่มเกษตรกร และ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นต้น และมีกลุ่มยุวเกษตรกรหลายกลุ่มรับสมัครเด็กและเยาวชนเข้าเป็นสมาชิกรุ่นใหม่เพื่อดำเนินงานและกิจกรรมต่อไป โดยกลุ่มยุวเกษตรกรประเภทนอกโรงเรียนจะมีระยะเวลาเป็นกลุ่มมากกว่ากลุ่มยุวเกษตรกรประเภทในโรงเรียน

ประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร แก้

กลุ่มยุวเกษตรกรประเภทนอกโรงเรียน หมายถึง กลุ่มยุวเกษตรกรที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นในโรงเรียน แต่เป็นกลุ่มยุวเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นในชุมชนหรือหมู่บ้าน แม้ว่าสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มยุวเกษตรกรจะเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน

กลุ่มยุวเกษตรกรประเภทในโรงเรียน หมายถึง กลุ่มยุวเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นในโรงเรียน มีสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มเป็นนักเรียนหรือกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน ในปี 2556 มีกลุ่มยุวเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร ด้วย

กลุ่มยุวเกษตรกรประเภทกลุ่มผสม หมายถึง กลุ่มยุวเกษตรกรที่มีสมาชิกกลุ่มบางคนเป็นนักเรียนและบางคนไม่ได้เรียนหนังสือหรือออกจากโรงเรียนแล้ว

งานของยุวเกษตรกร แก้

งานของยุวเกษตรกร ได้แก่ การฝึกปฏิบัติงานปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และ เคหกิจเกษตร ดำเนินการได้ 3 ลักษณะ

  1. งานรวม งานที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มร่วมกันดำเนินการ
  2. งานกลุ่มย่อย งานที่สมาชิกบางคนในกลุ่มร่วมกันดำเนินการ
  3. งานส่วนบุคคล งานที่สมาชิกแต่ละคนแยกกันดำเนินการ บางคนอาจทำร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน

เครื่องหมายยุวเกษตรกร แก้

เครื่องหมายยุวเกษตรกร มีรูปร่างลักษณะมาจาก ใบโคลเวอร์สีเขียว 4 แฉก แต่ละแฉกบรรจุอักษร “ก” สีขาว อักษร ก ย่อมาจาก

  • เกศ หมายถึง การฝึกใช้สมอง
  • กมล หมายถึง การฝึกจิตใจ
  • กร หมายถึง การฝึกใช้มือ
  • กาย หมายถึง การฝึกพลานามัย

โคลเวอร์ เป็นใบพืชตระกูลถั่ว ปกติในธรรมชาติใบมี 3 แฉก เมื่อพบใบโคลอเวอร์ 4 แฉก เชื่อกันว่าประสบความโชคดี

อ้างอิง แก้

  • กรมส่งเสริมการเกษตร. การดำเนินงานยุวเกษตรกร. กรุงเทพมหานคร : กองพัฒนาการบริหารงานเกษตร, 2536.
  • กรมส่วเสริมการเกษตร. การสัมมนาหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร 77 จังหวัด. 2556.