มารียา กุตซารีดา-เกรอตูเนสกู

มารียา กุตซารีดา-เกรอตูเนสกู (โรมาเนีย: Maria Cuțarida-Crătunescu; 10 กุมภาพันธ์ 1857 – 16 พฤศจิกายน 1919) เป็นสตรีคนแรกที่ได้เป็นแพทย์ในประเทศโรมาเนีย[1] และเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมารดาในปี 1897 และในปี 1899 ได้ตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศ[2]

มารียา กุตซารีดา บนดวงตราไปรษณียากรของโรมาเนียปี 2007

กุตซารีดาเกิดที่เมืองเกอเลอรัช จบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนกลางในบูคาเรสต์ ก่อนจะเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซือริชในปี 1877 ต่อมาเธอได้โอนย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมงเปอลีเยแทนเนื่องด้วยข้อจำกัดทางภาษา[1][3] เธอเข้าฝึกงานเป็นแพทย์ที่ปารีส[1] และได้วุฒิบัตรการเป็นแพทย์ในปี 1884 โดยเธอจบการศึกษา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง โดยมีวิทยานิพนธ์จบการศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งมดลูกในชื่อ Hydrorrhee to valeur et dans le cancer du corps semiologique del uters[4][1] ต่อมาเธอได้ส่งคำร้องขอมายังโรงพยาบาลบรึงกอเวอานู (Spitalul Brâncovenesc) เพื่อขอทำงานหลังจบการศึกษาในแผนก "โรคสตรี" เธอถูกปฏิเสธโดยไม่ให้เหตุผล และถูกมอบหมายไปประจำเป็นอาจารย์ด้านสุขอนามัย (igienă) แทน[1] ในปี 1886 เธอได้เป็นหัวหน้าแผนกสุขอนามัยประจำศูนย์พักพิง "นางเอเลนา" (Azilul „Elena Doamna”) และในปี 1891 ได้เป็นหัวหน้าแผนกนรีเวชวิทยาของโรงพยาบาลฟีลันตรอปียา (Spitalul Filantropia) ในนครบูคาเรสต์[1]

เธอได้ก่อตั้งสมาคมมารดา (Sociatatea maternă) ในปี 1897 เพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้ และยังได้รับเชิญไปยังงานประชุมในบรัสเซลส์ (1907) และโคเปนเฮเกน (1910) ที่ซึ้งเธอได้นำเสนอการทำงานทางการแพทย์ในโรมาเนียที่ริเริ่มขึ้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตแรกเกิดและเพื่อการศึกษาระบบการดูแลทารกในโรมาเนีย[1] เธอเป็นนักสตรีนิยมคนหนึ่ง และยังมีโอกาสได้นำเสนอ ผลงานสตรีโรมาเนีย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลงานวิชาการของสตรีโรมาเนียที่งานประชุมในปารีสเมื่อปี 1990[1][5] ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เธอเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลทหารชั่วคราวหมายเลข 134 (Spitalul Militar temporar nr. 134)[1] หลังสิ้นสุดสงครามเธอเกษียณอายุก่อนวัย เป็นไปได้ว่าเพราะเหตุผลด้านสุขภาพ เธอเสียชีวิตในปี 1919[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Stănilă, Ionela (November 8, 2013). "Cariera excepțională i-a adus celebritatea. Maria Cuțarida-Crătunescu, prima femeie medic din România, școlită la Paris". Adevărul (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ May 25, 2021.
  2. Avram Arina Femei celebre din România. Mică enciclopedie 2
  3. Damian-Constantine E, The first female medical doctor in Romania and their contribution to the development of medical specialists in B6. The Contribution of Women to the Development of History of Science and Technology, International Congress of the History of Science. 16th. Proceedings. B. Symposia. Suppl. (1981)
  4. "Românce de excepție (documentar)". www.romaniaculturala.ro. Agerpres. March 8, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ May 25, 2021.
  5. Mark, George, Dictionary of feminine personalities of Romania, Ed Maronia, Bucharest, 2009, ISBN 978-973-7839-55-8, pp. 89-90