มหาสมัยสูตร เป็นพระสูตรขนาดยาวจัดอยู่ในมหาวรรค หมวดมีฆนิกาย ในพระสุตันตปิฎก เนื้อหาว่าด้วยการชุมนุมใหญ่ของเทพยดาทั้งปวง โดยครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป ครั้งนั้น เทพชั้นสุทธาวาส 4 ตน คิดว่า เทวดาจาก 10 โลกธาตุประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ น่าที่พวกตนจะไปเฝ้า และกล่าวคาถากันคนละบท โดยใจความพรรณนาความประสงค์ที่มา ความประพฤติชอบของพระสงฆ์ และพรรณนาว่า ผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะย่อมไม่ไปสู่อบาย ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ตรัสเล่าว่า เทวดามาประชุมครั้งใหญ่ แล้วตรัสประกาศชื่อของเทวดาเหล่านั้นโดยละเอียด [1]

มหาสมัยสูตร นี้นิยมนำมาสวดในงานมงคลสำคัญ โดยจัดอยู่ในภาณวาร หรือบทสวดมนต์หลวง นอกจากนี้ ยังสวดกันเป็นประจำที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยเริ่มสวดกันมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ระหว่างการสวดจะมีการทำพิธีปลุกเสกน้ำมนต์มหาสมัยสูตร คาดว่าการปลุกเสกน้ำมนต์มหาสมัยสูตรนี้เริ่มมาแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มา แก้

พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดง "ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์" [2] มูลเหตุที่ทรงไปประทับใกล้กับนครกบิลพัสดุ์นั้น คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ได้อธิบายไว้ว่า เนื่องจากชาวศากยะและโกลิยะทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีจนถึงขั้นเตรียมยกทัพเข้าประจันบานกัน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทรงทราบด้วยญานว่า จะเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นกับพระญาติวงศ์ จึงทรงเสด็จไปห้ามเหตุแห่งความขัดแย้งนั้น แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาจนกระทั่งทั้ง 2 ฝ่ายละความบาดหมาง ทั้งยังบังเกิดศรัทธาถวายพระราชกุมารฝ่าย 250 องค์ รวม 500 องค์ ออกผนวช ณ ป่าใหญ่ คือป่ามหาวัน แล้วทรงสั่งสอนอบรมจนกระทั่ง พระภิกษุราชกุมารทั้ง 500 รูปนั้นสำเร็จอรหันต์ผลทั้งหมด ระหว่างที่พระผู้มีพระภาค และอรหันต์ทั้ง 500 รูป สถิตอยู่ ณ ป่ามหาวัน บรรดาเทพยดาในป่านั้นได้ประกาศแก่เทพยดาทั้ง 10 โลกธาตุมาประชมกันครั้งใหญ่เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงเรียกพระสูตรนี้ว่า "มหาสมัย แปลว่า การประชุมใหญ่" [3]

เนื้อหา แก้

เนื้อหาของมหาสมัยสูตรอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกกล่าวถึงการปรากฏของเทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ป่ามหาวัน จนกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ของเทพทั้งหลาย ส่วนที่ 2 พระผู้มีพระภาคทรงบอกนามของพวกเทวดาให้ภิกษุทั้งหลายได้ทราบ ซึ่งส่วนนี้ทรงแสดงเป็นร้อยกรอง คือ คาถา มีความยาวพอสมควร โดยทรงไล่นามของเทวดาชั้นต่าง ๆ ลำดับต่าง ๆ ลักษณะรูปร่างต่าง ๆ ต่อมาคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ได้อธิบายลักษณะ และรายละเอียดของเทวดาเหล่านี้เพิ่มเติม โดยในส่วนของคาถา ซึ่งพรรณนานามของเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลายที่มาเข้าเฝ้า มีดังนี้

... "ยักษ์เจ็ดพันเป็นภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในพระนคร กบิลพัสดุ์ มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายัง ป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์หกพันอยู่ที่เขาเหมวตา มี รัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์สามพันอยู่ที่เขา สาตาคีรี มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์เหล่านั้นรวม เป็นหนึ่งหมื่นหกพัน มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์ ห้าร้อยอยู่ที่เขาเวสสามิตตะ มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มี อานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุม ของภิกษุ ยักษ์ชื่อกุมภีระอยู่ในพระนครราชคฤห์ เขาเวปุลละ เป็นที่อยู่ของยักษ์นั้น ยักษ์แสนเศษแวดล้อมยักษ์ชื่อกุมภีระ นั้น ยักษ์ชื่อกุมภีระอยู่ในพระนครราชคฤห์แม้นั้น ก็ได้มายัง ป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุฯ" [4]

... "ท้าวธตรัฏฐ อยู่ด้านทิศบูรพา ปกครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของ พวกคนธรรพ์ เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็ มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าววิรุฬหก อยู่ด้านทิศทักษิณ ปกครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายัง ป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าววิรูปักษ์ อยู่ด้านทิศปัจจิม ปก ครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกนาค เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มี อานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าวกุเวรอยู่ด้านทิศอุดร ปกครองทิศนั้น เป็นอธิบดีของพวก ยักษ์ เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าวธตรัฏฐเป็นใหญ่ทิศ บูรพา ท้าววิรุฬหก เป็นใหญ่ทิศทักษิณ ท้าววิรูปักษ์เป็นใหญ่ ทิศปัจจิม ท้าวกุเวรเป็นใหญ่ทิศอุดร ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ยังทิศทั้ง ๔ โดยรอบให้รุ่งเรือง ได้ยืนอยู่แล้วในป่าเขตพระ นครกบิลพัสดุ์ฯ" [5]

... "พวกบ่าวของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น มีมายา ล่อลวง โอ้อวด เจ้าเล่ห์ มาด้วยกัน มีชื่อคือกุเฏณฑุ ๑ เวเฏณฑุ ๑ วิฏ ๑ วิฏฏะ ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑ กินนุฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ และท้าวเทวราชทั้งหลายผู้มีนามว่าปนาทะ ๑ โอป- มัญญะ ๑ เทพสารถีมีนามว่า มาตลิ ๑ จิตตเสนะ ผู้คนธรรพ์ ๑ นโฬราชะ ๑ ชโนสภะ ๑ ปัญจสิขะ ๑ ติมพรู ๑ สุริยวัจฉสา เทพธิดา ๑ มาทั้งนั้น ราชาและคนธรรพ์พวกนั้น และพวกอื่น กับเทวราชทั้งหลายยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ อนึ่งเหล่านาคที่อยู่ในสระชื่อนภสะบ้าง อยู่ในเมืองเวสาลีบ้าง พร้อมด้วยนาคบริษัทเหล่าตัจฉกะก็มา กัมพลนาค และอัสสตร- นาคก็มา นาคผู้อยู่ในท่า ชื่อปายาคะ กับญาติ ก็มา นาคผู้อยู่ใน แม่น้ำยมุนา เกิดในสกุลธตรัฏฐ ผู้มียศ ก็มา เอราวัณเทพ บุตรผู้เป็นช้างใหญ่ แม้นั้นก็มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุฯ" [6]

... "ปักษีทวิชาติผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์ นำนาคราชไปได้ โดยพลันนั้น มาโดยทางอากาศถึงท่ามกลางป่า ชื่อของปักษี นั้นว่า จิตรสุบรรณ ในเวลานั้น นาคราชทั้งหลาย ไม่ได้มีความ กลัว พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ นาคกับ ครุฑเจรจากัน ด้วยวาจาอันไพเราะ กระทำพระพุทธเจ้าให้ เป็นสรณะ พวกอสูรอาศัยสมุทรอยู่ อันท้าววชิรหัตถ์รบชนะ แล้ว เป็นพี่น้องของท้าววาสพ มีฤทธิ์ มียศ เหล่านี้คือพวก กาลกัญชอสูร มีกายใหญ่น่ากลัวก็มา พวกทานเวฆสอสูรก็มา เวปจิตติอสูร สุจิตติอสูร ปหาราทอสูร และนมุจีพระยามาร ก็มาด้วยกัน บุตรของพลิอสูรหนึ่งร้อย มีชื่อว่าไพโรจน์ทั้งหมด ผูกสอดเครื่องเสนาอันมีกำลังเข้าไปใกล้อสุรินทราหู แล้วกล่าว ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ บัดนี้ เป็นสมัยที่จะประชุมกัน ดังนี้แล้ว เข้าไปยังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุฯ" [7]

... "ในเวลานั้น เทวดาทั้งหลาย ชื่ออาโป ชื่อปฐวี ชื่อเตโช ชื่อวาโย ได้พากันมาแล้ว เทวดา ชื่อวรุณะ ชื่อวารุณะ ชื่อโสมะ ชื่อยสสะ ก็มาด้วยกัน เทวดาผู้บังเกิดในหมู่เทวดาด้วยเมตตาและกรุณา ฌาน เป็นผู้มียศ ก็มา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้เป็น ๑๐ พวก ทั้ง หมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ เทวดา ชื่อเวณฑู ชื่อสหลี ชื่ออสมา ชื่อยมะ ทั้งสองพวก ก็มา เทวดาผู้อาศัยพระจันทร์ กระทำพระจันทร์ไว้ในเบื้องหน้าก็มา เทวดาผู้อาศัยพระอาทิตย์ กระทำพระอาทิตย์ไว้ในเบื้องหน้าก็มา เทวดากระทำนักษัตรไว้ใน เบื้องหน้าก็มา มันทพลาหกเทวดาก็มา แม้ท้าวสักกปุรินท ทวาสวะ ซึ่งประเสริฐกว่าสุเทวดาทั้งหลายก็เสด็จมา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ อนึ่งเทวดาชื่อสหภู ผู้รุ่งเรืองดุจเปลวไฟก็มา เทวดาชื่ออริฏฐกะ ชื่อโรชะ มีรัศมีดังสีดอกผักตบก็มา เทวดาชื่อวรุณะ ชื่อสหธรรม ชื่ออัจจุตะ ชื่ออเนชกะ ชื่อสุเลยยะ ชื่อรุจิระก็มา เทวดา ชื่อวาสวเนสีก็มา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมด ล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่ง มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ เทวดาชื่อสมานะ ชื่อ มหาสมานะ ชื่อมานุสะ ชื่อมานุสุตตมะ ชื่อขิฑฑาปทูสิกะ ก็มา เทวดาชื่อมโนปทูสิกะก็มา อนึ่ง เทวดาชื่อหริ เทวดาชื่อโลหิต วาสี ชื่อปารคะ ชื่อมหาปารคะ ผู้มียศ ก็มา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ เทวดา ชื่อสุกกะ ชื่อกรุมหะ ชื่ออรุณะ ชื่อเวฆนสะก็มาด้วยกัน เทวดาชื่อโอทาตคัยหะ ผู้เป็นหัวหน้า เทวดาชื่อวิจักขณะ ก็มา เทวดาชื่อสทามัตตะ ชื่อหารคชะ และชื่อมิสสกะ ผู้มียศ ก็มา ปชุนนเทวบุตร ซึ่งคำรามให้ฝนตกทั่วทิศก็มา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุม ของภิกษุ เทวดาชื่อเขมิยะ เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้นยามะ และเทวดาชื่อกัฏฐกะ มียศ เทวดาชื่อลัมพิตกะ ชื่อลามเสฏฐะ ชื่อโชตินามะ ชื่ออาสา และเทวดาชั้นนิมมานรดีก็มา อนึ่ง เทวดาชั้นปรนิมมิตะก็มา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ หมู่เทวดา ๖๐ เหล่านี้ ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มาแล้วโดยกำหนดชื่อ และ เทวดาเหล่าอื่นผู้เช่นกัน มาพร้อมกันด้วยคิดว่า เราทั้งหลายจัก เห็นพระนาค ผู้ปราศจากชาติ ไม่มีกิเลสดุจตะปู มีโอฆะอัน ข้ามแล้ว ไม่มีอาสวะ ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ล่วงความยึดถือได้แล้ว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น. ฯ" [8]

... "สุพรหมและปรมัตตพรหม ซึ่งเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้มี ฤทธิ์ ก็มาด้วย สนังกุมารพรหม และติสสพรหมแม้นั้น ก็มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าวมหาพรหมย่อมปกครอง พรหมโลกพันหนึ่ง ท้าวมหาพรหมนั้นบังเกิดแล้วในพรหมโลก มีอานุภาพ มีกายใหญ่โต มียศ ก็มา พรหม ๑๐ พวก ผู้เป็น อิสระในพวกพรหมพันหนึ่ง มีอำนาจเป็นไปเฉพาะองค์ละอย่าง ก็มา มหาพรหมชื่อหาริตะ อันบริวารแวดล้อมแล้ว มาในท่าม กลางพรหมเหล่านั้น มารเสนา ได้เห็นพวกเทวดา พร้อมทั้ง พระอินทร์พระพรหมทั้งหมดนั้น ผู้มุ่งมา ก็มาด้วย แล้วกล่าวว่า ท่านจงดูความเขลาของมาร พระยามารกล่าวว่า พวกท่านจงมาจับ เทวดาเหล่านี้ผูกไว้ ความผูกด้วยราคะ จงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงล้อมไว้โดยรอบ อย่าปล่อยใคร ๆ ไป พระยามารบัง คับเสนามารในที่ประชุมนั้นดังนี้แล้ว เอาฝ่ามือตบแผ่นดิน กระ ทำเสียงน่ากลัว เหมือนเมฆยังฝนให้ตก คำรามอยู่ พร้อมทั้ง ฟ้าแลบ ฉะนั้น เวลานั้น พระยามารนั้นไม่อาจยังใครให้เป็นไป ในอำนาจได้ โกรธจัด กลับไปแล้ว พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงพิจารณาทราบเหตุนั้นทั้งหมด แต่นั้น จึงตรัสเรียกสาวกผู้ ยินดีในพระศาสนาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารเสนามาแล้ว พวกเธอจงรู้จักเขา ภิกษุเหล่านั้นสดับพระดำรัสสอนของพระ พุทธเจ้าแล้ว ได้กระทำความเพียร มารและเสนามารหลีกไป จากภิกษุผู้ปราศจากราคะ ไม่ยังแม้ขนของท่านให้ไหว (พระยามารกล่าวสรรเสริญว่า) พวกสาวกของพระองค์ทั้งหมดชนะ สงครามแล้ว ล่วงความกลัวได้แล้ว มียศปรากฏในหมู่ชน บัน เทิงอยู่กับด้วยพระอริยเจ้า ผู้เกิดแล้วในพระศาสนา ดังนี้แล. ฯ" [9]

เกร็ดข้อมูล แก้

มีธรรมเนียมว่า มหาสมัยสูตรนี้ มักนิยมสวดกันในงานมงคล "ก็เพราะมหาสมัยสูตรนี้เป็นที่รักที่ชอบใจของพวกเทวดา ฉะนั้น ในสถานที่ใหม่เอี่ยม เมื่อจะกล่าวมงคล ก็พึงกล่าวแต่พระสูตรนี้นั่นเทียว" (สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย) [10] อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่าขานกันว่า ไม่ควรสวดพระสูตรนี้ในบ้านเรือน เนื่องจากเทวดาทั้งหลายจะมาประชุมกันมาก บ้านเรือนมนุษย์นั้นไม่สะอาด และคับแคบ จึงไม่เหมาะกับการรับรองพระสูตรนี้ ดังมีความในสุมังคลวิลาสินี กล่าวว่า "สูตรนี้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลายอย่างนี้ เทวดาทั้งหลายย่อมถือว่าพระสูตรนั้นเป็นของเรา ด้วยประการฉะนี้." [11]

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงเล่าไว้ในธรรมเทศนา "แสงส่องใจ ที่ระลึกวิสาขบูชา 2547" เกี่ยวกับการสวดมหาสมัยสูตรไว้โดยเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ดังนี้ว่า

"วันหนึ่งได้ไปกราบหลวงปู่เพิ่มที่วัดกลางบางแก้ว โดยมีศิษยานุศิษย์ญาติโยมติดตามไปด้วยหลายคน หลวงปู่เพิ่มท่านชรามากแล้ว ลักษณะท่าทางแบบเดียวกับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ญาติโยมพูดตรงกันว่าท่านน่ารักเหมือนกัน วันนั้นหลวงปู่เพิ่มท่านเล่าให้ฟัง ว่าหลวงปู่บุญอาจารย์ของท่านที่มรณภาพไปนานปีแล้ว เคยเล่าให้ท่านฟัง ว่าท่านเป็นเพื่อนกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านทรงสั่งหลวงปู่บุญ ว่าอย่าสวด "พระมหาสมัยสูตร" ในบ้าน ให้สวดได้แต่ในวัดหรือในวังเท่านั้น เพราะการสวด "พระมหาสมัยสูตร" ที่ใด ที่นั้นพรหมเทพจะไปร่วมฟังมาก เพราะดังมีแสดงไว้ในพระสูตรนั้นว่าเป็นที่รักที่พึงใจ นำมาซึ่งปีติปราโมทย์แห่งจิตของเทพดา หลวงปู่เพิ่มท่านพูดเรื่องนี้ในวันนั้นหลายครั้ง จำได้ว่าไม่ต่ำกว่า 3 - 4 ครั้งทีเดียว เมื่อกลับจากหลวงปู่เพิ่มแล้ว ญาติโยมผู้หนึ่งจึงเล่า ว่าเป็นผู้สวด "พระมหาสมัยสูตร" ในบ้านทุกวัน เมื่อหลวงปู่เพิ่มท่านเล่าถึงคำสั่งของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนกำลังสวดอยู่ที่บ้านตามที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านทรงห้าม หลวงปู่เพิ่มท่านเล่าครั้งแรก ก็รับรู้ธรรมดาว่า "พระมหาสมัยสูตร" นั้น ท่านห้ามสวดในบ้าน ไม่ได้นึกเลยว่าตนเองก็สวด "พระมหาสมัยสูตร" อยู่ในบ้านทุกวัน ได้ยินหลวงปู่ท่านพูดซ้ำ 4 - 5 ครั้ง จึงได้สติ นึกได้ว่าตนเองก็สวดอยู่ในบ้าน พอมีสติรู้ตัว หลวงปู่ท่านก็มิได้พูดซ้ำอีก จึงได้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ว่านี่คือผลของอำนาจจิตที่เกิดจากการปฏิบัติพระพุทธศาสนา ที่เกิดแล้วแก่หลวงปู่เพิ่มท่าน ท่านไม่เคยได้รับคำบอกเล่าจากญาติโยมผู้สวด "พระมหาสมัยสูตร" ในบ้าน แต่ท่านก็พูดเหมือนรู้ เพียงแต่ไม่ได้แสดงว่าท่านรู้เท่านั้น ท่านพูดไปตามธรรมดาๆเล่าคำสั่งของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปตามธรรมดาเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการสวด พระมหาสมัยสูตร พรหมเทพพึงใจ ปีติปราโมทย์เพราะเป็นพระสูตรที่รักของพรหมเทพ การสวดในบ้านเรือน สถานที่ย่อมคับแคบเกินไปสำหรับพรหมเทพที่จะไปรวมกันฟังพระสูตรที่รักที่พึงใจ [12]

อ้างอิง แก้

  1. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. หน้า 159
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 73
  3. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 96
  4. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 75 - 86
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 75 - 86
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 75 - 86
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 75 - 86
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 75 - 86
  9. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 75 - 86
  10. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 117
  11. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร. หน้าที่ 120
  12. แสงส่องใจ ที่ระลึกวิสาขบูชา 2547

บรรณานุกรม แก้

  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. กรมการศาสนา. กรงเทพฯ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 2. มหาสมัยสูตร.
  • สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน). (2533). แสงส่องใจ ที่ระลึกวิสาขบูชา 2547. ธรรมเทศนา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร. กรุงเทพ