ฟูมิเอะ (ญี่ปุ่น: 踏み絵โรมาจิfumi-e "เหยียบบนภาพ") คือการให้ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคริสตังลับเหยียบย่ำภาพเหมือนของพระเยซูหรือพระนางมารีย์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ บุคคลที่ไม่ยอมเหยียบภาพเหมือนดังกล่าว ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ พวกเขาจะถูกทรมานอย่างสาหัส หรือร้ายกว่านั้นคือถูกฆ่าทิ้ง[1]

ภาพการเหยียบฟูมิเอะ
ฟูมิเอะรูปพระเยซู

ประวัติ แก้

ฟูมิเอะ ถูกใช้ครั้งแรกหลังเกิดการข่มเหงผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ในนางาซากิเมื่อ ค.ศ. 1629 ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นสามัญชน ซามูไร หรือแม้แต่พระภิกษุ ก็ต้องร่วมกิจกรรมนี้[2] โดยวัตถุที่ถูกเหยียบจะเรียกว่า เอะอิตะ หรือ อิตะเอะ[3] ส่วนการเหยียบจะเรียกว่า เอะฟูมิ[3] โดยรัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีนี้เพื่อพิสูจน์ศรัทธา เพราะเป็นภาพของพระเยซูหรือภาพของแม่พระ ผู้ที่ต้องสงสัยว่านับถือศาสนาคริสต์จะต้องเหยียบย่ำภาพเหมือนดังกล่าว แต่หากว่าผู้ต้องสงสัยนั้นไม่ยอมเหยียบหรือไม่เต็มใจที่จะเหยียบ ก็จะถูกระบุว่าเป็นคริสต์ศาสนิกชนทันที และจะถูกส่งไปเมืองนางาซากิ รัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าประสงค์ให้พวกเขาเลิกศรัทธาในศาสนาคริสต์ หากชาวคริสต์คนใดปฏิเสธที่จะเปลี่ยนศาสนาก็จะถูกทรมาน หลายคนถูกประหาร โดยเฉพาะการประหารชีวิตด้วยการโยนลงบ่อน้ำพุร้อนบนเขาอุนเซ็งในนางาซากิ[4]

ฟูมิเอะถูกยกเลิกเมื่อคราวญี่ปุ่นเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1856 แต่ยังมีการบังคับใช้ในบางท้องที่ กระทั่งศาสนาคริสต์ได้รับการคุ้มครองในรัชสมัยเมจิ ฟูมิเอะจึงถูกยกเลิกอย่างถาวร ชาวคริสตังลับหลายคนต้องยอมทำพิธีฟูมิเอะ หลังการเปิดประเทศและการอนุญาตให้นับถือศาสนาคริสต์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีคริสตังลับอาศัยอยู่ราว 20,000 คนในนางาซากิ ซึ่งลดลงจากเดิมที่มีมากถึง 500,000 คน ศาสตราจารย์มาร์ก มุลลินส์ แห่งมหาวิทยาลัยออกแลนด์ระบุว่า "ในแง่นโยบาย [ฟูมิเอะ] มีประสิทธิภาพ"[5]

โดยทั่วไป ฟูมิเอะ ทำจากสัมฤทธิ์ มีบ้างที่ทำจากหินทาสี และบ้างก็เป็นภาพแกะจากไม้ ปัจจุบันมีฟูมิเอะหลงเหลืออยู่ค่อนข้างน้อย[6] เพราะส่วนใหญ่ถูกทิ้ง หรือนำไปหลอมเพื่อใช้ประโยชน์อื่น สถาบันสมิธโซเนียนได้จัดนิทรรศการรอบโลก : โปรตุเกสและโลกในศตวรรษที่ 16 และ 17 (Encompassing the Globe: Portugal and the World in the 16th and 17th Centuries) เมื่อ ค.ศ. 2007 โดยได้จัดแสดงแผ่นฟูมิเอะไว้ด้วย[7][8]

ทัศนะ แก้

นักศาสนศาสตร์ อธิบายว่า การทำฟูมิเอะนั้นสื่อถึงความรักและการให้อภัยของพระเยซูคริสต์[9]

ศาสตราจารย์ไซมอน ฮิลล์ แห่งมหาวิทยาลัยคาทอลิกจุนชิง นางาซากิ อธิบายว่าหากคริสต์ศาสนิกชนเลือกที่จะต่อต้านไม่เหยียบฟูมิเอะ ศาสนาคริสต์ก็คงหายไปจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยกล่าวไว้ว่า "...เพราะมีบางคนที่กล้าที่จะเหยียบฟูมิเอะ...ทำให้ศาสนาคริสต์ยังคงดำรงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น"[5]

อ้างอิง แก้

  1. Shunkichi Akimoto (1961). Exploring the Japanese Ways of Life. Tokyo News Service. p. 233. สืบค้นเมื่อ 21 November 2011. Attached to this word is an exotic, foreignized sort of interest though it was a native invention of the early Yedo Period and had remained a curious symbol of the anti-Christian policy of the Tokugawa feudalism.
  2. "The Japanese Christians forced to trample on Christ". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-11-24. สืบค้นเมื่อ 2022-04-29.
  3. 3.0 3.1 Kaufmann, Thomas DaCosta (2004). Toward a Geography of Art. University of Chicago Press. p. 308. ISBN 9780226133119.
  4. David E. Sanger (7 June 1991). "Volcano's Fury Turns a Shrine Into a Morgue". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 6 December 2015.
  5. 5.0 5.1 Tan, Yvette (24 November 2019). "The Japanese Christians forced to trample on Christ". BBC. สืบค้นเมื่อ 24 November 2019.
  6. Michael North (2010). Michael North (บ.ก.). Artistic and Cultural Exchanges Between Europe and Asia, 1400–1900: Rethinking Markets, Workshops and Collections. Ashgate Publishing. p. 141. ISBN 9780754669371. สืบค้นเมื่อ 21 November 2011.
  7. Jenkins, Mark (20 July 2007). "Portugal's Unending Sphere of Influence". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 21 November 2011.
  8. Michael Fragoso (11 July 2007). "Fair Trade with 17th-Century Portugal". The American. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2013. สืบค้นเมื่อ 21 November 2011.
  9. e.g. Masao Takenaka: When the Bamboo Bends, Christ and Culture in Japan, WCC 2002 pgs 50-51

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฟูมิเอะ