ฉบับร่าง:การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย พ.ศ. 2567

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย พ.ศ. 2567 เป็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยเป็นการเลือกกันเองของประชาชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในกลุ่มต่าง ๆ จำนวน 20 กลุ่ม ใน 3 ระดับ คือระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

กลุ่มบุคคล แก้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จำแนกกลุ่มบุคคลในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไว้ จำนวน 20 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  3. กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  5. กลุ่มอาชีพเกษตรกรทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  7. กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์การสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  20. กลุ่มอื่น ๆ

ลักษณะอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน ในที่นี้ จะเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะออกมาในภายหลัง

ขั้นตอนการเลือก แก้

หลังจากวาระของวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 สิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. ในเวลา 15 วัน หลังจากนั้นจะมีการรับสมัครเป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วันจะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นอีก 7 วันจัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วันถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 เมื่อทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรอเพื่อตรวจสอบภายใน 5 วัน แล้วจึงประกาศผล

เมื่อทำการเลือกในระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่ม เป็น 60 คน โดยอำเภอทั่วประเทศ คือ 928 อำเภอ เมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด เพื่อเลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นการเลือกระดับประเทศจะเหลือ 200 คน จำนวน 20 กลุ่มๆ ละ 10 คน[1]

ก่อนการเลือกตั้ง แก้

  • คณะก้าวหน้าได้มีการประชุมร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw - ไอลอว์) เพื่อส่งผู้สมัคร สว. เข้าประกอบในทุกพื้นที่ โดยจะมีการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งประมาณ 100 คนทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยการผลักดันผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว.ในครั้งนี้ มีวาระเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และลดอำนาจองค์กรอิสระ[2]
  • มีการเปิดตัวผู้ที่สนใจในการลงสมัคร อาทิ[3]
    • พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2539
    • ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ นักร้องและโปรดิวเซอร์ชื่อดัง
    • ชลณัฏฐ์ โกยกุล พิธีกร
    • หทัยรัตน์ พลทัพ บรรณาธิการสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด
    • นคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษา
    • คอรีเยาะ มานุแช ทนายความสิทธิมนุษยชน
    • ถนัด ธรรมแก้ว (ภู กระดาษ) นักเขียน
    • สรศักดิ์ สมรไกรสรกิจ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
    • นายแพทย์จักรพงษ์ นะมาตร์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
    • พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • อดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง
    • อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ องค์กรผู้พิการเอกชน
    • นงเยาว์ เนาวรัตน์ อดีตอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดด้วยศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหว
    • แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย อดีตรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน

อ้างอิง แก้

  1. "กกต.เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง ส.ว. เดือน ก.ค.2567 ได้ตัวจริง 200 คน". thansettakij. 2024-03-04.
  2. ""ก้าวหน้า-ไอลอว์" เตรียมเปิดตัวผู้สมัคร สว. 27 มี.ค.นี้ เปิดหน้าสู้ขั้วอำนาจเดิม". www.thairath.co.th. 2024-03-23.
  3. "'พนัส' พร้อมกลุ่มเพื่อน 29 คนเปิดตัวชิง สว. ลุยแก้ รธน.-รื้อองค์กรอิสระ". bangkokbiznews. 2024-03-27.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้