ไอศกรีมแท่ง หรือภาษาปากว่า ไอติมแท่ง เป็นน้ำหวาน ซึ่งมักเจือสีสังเคราะห์[1] และแช่ให้แข็งเป็นแท่งพร้อมด้ามสำหรับถือรับประทานได้ ด้ามเช่นว่านั้นอาจเป็นไม้หรือวัสดุอื่น เช่น พลาสติก และที่ปราศจากด้ามเลยก็มี เช่น เสียบในซองพลาสติก (plastic sleeve) แทน

ไอศกรีมสีเขียวแท่งหนึ่ง
ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังดูดไอศกรีมสีแดง

ศัพท์ แก้

ในภาษาอังกฤษ คำทั่วไปสำหรับเรียกไอศกรีมแท่ง คือ ice pop หรือ freezer pop

ในสหรัฐอเมริกาและบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น แคนาดา เรียกไอศกรีมแท่งว่า "popsicle" ตามไอศกรีมแท่งยี่ห้อ "พ็อปซีเคิล" (Popsicle) ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งไอศกรีมแท่งทั้งปวง และในสหราชอาณาจักรว่า ice lolly, lolly ice หรือ ice lollipop ส่วนในประเทศไอร์แลนด์ว่า "freeze pop" และในบางภูมิภาคของประเทศออสเตรเลียว่า "ice block"[2][3]

ในประเทศนิวซีแลนด์เรียกว่าไอศกรีมแท่งว่า "icy pole" ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ ได้รับอิทธิพลจากไอศกรีมแท่งยี่ห้อ "ไอซีโพล" (Icy Pole) [4]

สำหรับไอศกรีมแท่งแบบเสียบในซองพลาสติกนั้น ภาษาอังกฤษเรียก "ice pop", "freezer pop" หรือ "freezie"

สำหรับในประเทศไทยไอศกรีมแท่งแบบโบราณนั้นจะเรียกว่า "ไอติมหลอด"

ประวัติ แก้

มีบันทึกว่า ไอศกรีมแท่งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1905 เมื่อแฟร็งก์ เอ็ปเพอร์สัน (Frank Epperson) เด็กชายวัยสิบเอ็ดปีชาวนครซานฟราสซิสโกคนหนึ่ง ลืมแก้วบรรจุน้ำผสมผงโซดาเสียบแท่งไม้กวนอาหารทิ้งไว้ที่ชานหลังบ้าน พอตกดึก อุณหภูมิลดลง ครั้นรุ่งเช้า เอ็ปเพอร์สันนึกขึ้นได้ และกลับไปหลังบ้านเพื่อจะนำน้ำโซดานั้นมาดื่ม แต่พบว่า น้ำในแก้วแข็งตัวเสียแล้ว เขาจึงนำแก้วดังกล่าวผ่านน้ำร้อนชั่วประเดี๋ยวเพื่อให้น้ำแข็งเลื่อนหลุดจากแก้วได้เขาจึงได้โซดาแท่งมารับประทาน[5]

ต่อมาใน ค.ศ. 1922 นักผจญเพลิงในเมืองโอกแลนด์ (Oakland) จัดงานลีลาศกัน ครั้งนั้นได้เลี้ยงน้ำหวานแท่งทำนองเดียวกับโซดาแท่งของเด็กชายเอ็ปเพอร์สันด้วย ในปีถัดมา เอ็ปเพอร์สันจึงจดสิทธิบัตรของหวานดังกล่าว ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ไอศกรีมแช่แข็งเสียบไม้" (frozen ice on a stick) และตั้งยี่ห้อโดยเอาชื่อตนประสมเข้าไปว่า "ไอศกรีมแท่งเอ็ปซีเคิล" หรือ "เอ็ปซีเคิลไอซ์พ็อป" (Epsicle ice pop) ต่อมาเขาจึงกร่อนยี่ห้อลงเหลือ "พ็อปซีเคิล" (Popsicle) โดยกล่าวว่า บุตรเขามักเรียกมันสั้น ๆ เช่นนั้นไอศกรีมแท่งของเอ็ปเพอร์สันได้รับความนิยมเป็นอันมาก ถึงขนาดที่ต่อมา ยี่ห้อของเขาได้รับการบรรจุในพจนานุกรมว่า สามารถหมายถึงไอศกรีมแท่งทั่วไป ๆ ได้ไม่ว่ายี่ห้ออะไร สองสามปีให้หลัง เอ็ปเพอร์สันขายสิทธิในยี่ห้อ "พ็อปซีเคิล" ให้แก่บริษัทโจโล (Joe Lowe Company) จากนครนิวยอร์ก[6]

การบริโภค แก้

ในสหรัฐอเมริกา มีสถิติว่า ผู้คนรับประทานไอศกรีมแท่งมากกว่าหนึ่งพันล้านแท่งต่อหนึ่งปี ในประเทศดังกล่าว มีไอศกรีมแท่งให้เลือกมากกว่าสามสิบรส และผลสำรวจปรากฏว่า รสยอดนิยมเสมอมาคือ รสส้ม[7]

แต่บริษัทพ็อปซีเคิลว่า ตนขายผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าสองพันล้านแท่งต่อหนึ่งปี และที่ขายดีที่สุดคือ รสเชอร์รี[6]

อนึ่ง นอกจากหาซื้อรับประทานได้ตามร้านรวงทั่วไปแล้ว ยังสามารถประกอบไอศกรีมแท่งเองได้โดยประสมน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ใส่ภาชนะไม้เสียบแช่จนแข็ง ปัจจุบัน มีอุปกรณ์สำเร็จรูปสำหรับประกอบไอศกรีมแท่งเองขายอยู่มากมายในท้องตลาด[8]

สถิติโลก แก้

ใน ค.ศ. 1997 ชาวเนเธอร์แลนด์ผลิตไอศกรีมแท่งสูงหกร้อยสี่สิบเซนติเมตร และได้รับการบันทึกลงบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นไอศกรีมแท่งที่สูงที่สุดในโลก ต่อมาในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2005 บริษัทสแน็ปเปิล (Snapple) พยายามทำลายสถิติเช่นว่าโดยหมายจะผลิตไอศกรีมแท่งสูงเจ็ดร้อยหกสิบสองเซนติเมตรกลางนครนิวยอร์ก แต่น้ำหวานสิบเจ็ดตันกับห้าร้อยกิโลกรัมที่อุตส่าห์นำมาแต่เมืองเอดิสัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ และแช่แข็งเอาไว้นั้น ละลายรวดเร็วกว่าที่คาดหมาย บริษัทดังกล่าวจึงไม่อาจสร้างสถิติใหม่ของโลกได้[9]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Hawkeshealth.net". Hawkeshealth.net. สืบค้นเมื่อ 2011-10-06.
  2. "Ice block". Encarta Dictionary. MSN Encarta. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-01. สืบค้นเมื่อ 2008-12-30.
  3. "Skybomber 1.63 Litre 24 Pack Ice Blocks". Products. Dairy Bell Ice Cream. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-12-30.
  4. "Nestlé Peters Icy Pole". Ice Cream Products. Nestlé Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-20. สืบค้นเมื่อ 2010-10-08.
  5. "Hall of Fame". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-26.
  6. 6.0 6.1 "The Popsicle Story". Popsicle.
  7. "Kid Inventors in History". Kidzworld.
  8. "10 Delicious, All-Natural Homemade Ice Pop Recipes". Planet Green.
  9. "Disaster on a stick: Snapple's attempt at popsicle world record turns into gooey fiasco". MSNBC. 2005-06-22. สืบค้นเมื่อ 2007-06-29. {{cite news}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)