อุไทปุรี มหัล (เปอร์เซีย: اودی‌پوری محل; แปลว่า "เปี่ยมปีติ";[1] ตาย กรกฎาคม ค.ศ. 1707) เป็นนางบาทบริจาริกาทาสของจักรพรรดิออรังเซพ[2] กล่าวกันว่าอุไทปุรี มหัล เป็นนางอันเป็นที่รักของจักรพรรดิออรังเซพในปลายพระชนม์ชีพ[3]

ประวัติ แก้

อุไทปุรี มหัล มีนามเดิมหรือมีพื้นเพอย่างไรไม่ปรากฏ แต่ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิอัคบาร์ ทรงมีพระราชโองการมิให้ออกนามหญิงในฮาเร็มด้วยชื่อจริง แต่ให้ตั้งนามตามชื่อเมืองหรือประเทศที่มาของตนแทน[4] ว่ากันว่าอุไทปุรี มหัล คงมีพื้นเพมาจากกัศมีร์หรืออุทยปุระ บ้างก็ว่าเป็นหญิงชาวคริสต์เชื้อสายจอร์เจีย[5] อาร์มีเนีย[6] หรือแซร์แคเชอ ก็มี[7] ปรากฏข้อมูลเพียงว่า อุไทปุรี มหัล เคยเป็นนางรำมาก่อน[8] ต่อมาเข้าเป็นนางทาสีในฮาเร็มของเจ้าชายทารา ศิโกห์ (دارا شِکوہ)[9]

อุไทปุรี มหัลเป็นสตรีผมแดงที่สวยงาม และเป็นผู้ที่รักจักรพรรดิออรังเซพอย่างออกหน้า[5] ทำให้บาทบริจาริกานางอื่นในจักรพรรดิออรังเซพล้วนริษยานาง[10] อุไทปุรี มหัลสนองพระเดชพระคุณประสูติกาลพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าชายมุฮัมมัด กัม พัขศ์ (محمد کامبخش) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1667[11] นางเป็นคนติดสุรา[6] ค.ศ. 1678 อุไทปุรี มหัลตามเสด็จจักรพรรดิออรังเซพเพื่อทำสงครามกับราณาแห่งจิตเตารครห์และราชาแห่งมารวาร[12] ค.ศ. 1686 นางตามเสด็จจักรพรรดิออรังเซพไปในค่ายที่เมืองเอารังคาบาดหรืออะห์มัดนคร[13]

อุไทปุรี มหัลเป็นหญิงผู้ทรงอิทธิพลยิ่ง[14] และมีอิทธิพลต่อสามีมาเรื่อย ๆ จนสิ้นรัชกาล โดยเฉพาะการขอพระราชทานอภัยโทษเจ้าชายมุฮัมมัด กัม พัขศ์ ซึ่งผิดพลาดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง[15] นอกจากลูกหลานของนางที่เกิดมาจากจักรพรรดิออรังเซพ เธอมีความสัมพันธ์อันดีกับขิทมัตคาร์ ข่าน และบรรดาขันทีของจักรพรรดิพระองค์อื่น ๆ[16]

ในพระราชหัตถเลขาของจักรพรรดิออรังเซพที่มีต่อเจ้าชายมุฮัมมัด กัม พัขศ์ เมื่อ ค.ศ. 1707 ระบุไว้ว่า "อุไทปุรีแม่ของเธอ เป็นคนที่อยู่กันฉันในช่วงที่ป่วย นางปรารถนาที่จะไปอยู่กับฉัน [ในปรโลก]"[17] หลังจักรพรรดิออรังเซพสวรรคต อุไทปุรี มหัลเสียใจมาก และถึงแก่กรรมหลังการสวรรคตของจักรพรรดิออรังเซพเพียงสี่เดือน[5] ที่ควาลิยัร[8] ครั้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1707 จักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ที่ 1 จัดการพินัยกรรมของนาง และส่งศพของนางไปฝังในศาลเจ้ากูตับอัลอักตับในเดลี[8]

อ้างอิง แก้

  1. Manucci, Niccolò (1907). Storia Do Mogor: Or, Mogul India, 1653-1708 - Volume 2. J. Murray. p. 333.
  2. Mehta, Jl (1986). Advanced Study in the History of Medieval India. Sterling Publishers Pvt. Ltd. p. 480. ISBN 9788120710153.
  3. Muhammad Tariq Awan (1994). History of India and Pakistan: pt. 1. Great Mughals. Ferozsons. p. 461.
  4. Eraly, Abraham (January 1, 2007). The Mughal World: Life in India's Last Golden Age. Penguin Book India. p. 126. ISBN 978-0-143-10262-5.
  5. 5.0 5.1 5.2 Bilkees I. Latif (2010). Forgotten. Penguin Books India. p. 34. ISBN 978-0-14-306454-1.
  6. 6.0 6.1 Annie Krieger-Krynicki (2005). Captive Princess: Zebunissa, Daughter of Emperor Aurangzeb. Oxford University Press. pp. 103, 175. ISBN 978-0-19-579837-1.
  7. Sarkar, J. (1912). Anecdotes of Aurangzib: Translated Into English with Notes and Historical Essays. M.C. Sarkar & Sons. p. 26.
  8. 8.0 8.1 8.2 William Irvine (1971). Later Mughal. Atlantic Publishers & Distri. pp. 54, 58.
  9. Satish Chandra (2005). Medieval India: From Sultanat to the Mughals Part - II. Har-Anand Publications. p. 274. ISBN 9788124110669.
  10. Jahan, I. Socio-Cultural life in Medieval History. Lulu.com. p. 79. ISBN 978-0-359-22280-3.
  11. Sir Jadunath Sarkar (1912). Sir Jadunath Sarkar (บ.ก.). Anecdotes of Aurangzib: Translated Into English with Notes and Historical Essays. M.C. Sarkar & Sons. p. 79.
  12. Zinat Kausar (1992). Muslim Women in Medieval India. Janaki Prakashan. p. 201. ISBN 9788185078748.
  13. C. M. Agrawal, บ.ก. (2001). Indian Woman, Volume 1. Indian Publishers Distributors. p. 244. ISBN 9788173412127.
  14. Journal of Historical Research, Volume 39, Issue 1. Department of History, Ranchi University. 2001. p. 63.
  15. M. P. Srivastava (1978). Social Life Under the Great Mughals, 1526-1700 A.D. Chugh Publications. p. 101.
  16. Munis D. Faruqui (27 August 2012). The Princes of the Mughal Empire, 1504–1719. Cambridge University Press. p. 240. ISBN 978-1-139-53675-2.
  17. Sudha Sharma (March 21, 2016). The Status of Muslim Women in Medieval India. SAGE Publications India. p. 69. ISBN 9789351505679.