มอดูลระบุผู้เช่า[1] หรือ มอดูลระบุผู้ใช้บริการ [ม 1](อังกฤษ: Subscriber identity/identification module) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ซิมการ์ด (SIM Card) คือแผงวงจรรวมสำหรับบันทึกเลขประจำตัวสากลสำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (International Mobile Subscriber Identity; IMSI) รหัสใช้เฉพาะตัว (Personal Identification Number; PIN) รหัสปลดล็อกรหัสใช้เฉพาะตัว (Personal Unblocking Key; PUK) ข้อมูลเข้ารหัสตามความจำเป็นสำหรับอนุญาตให้ผู้ขอรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติทำงานอย่างเดียวกัน) รับบริการตามสิทธิ์ของตน โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบจีเอสเอ็มจำเป็นต้องมีซิมการ์ด แต่ถ้าใช้ระบบซีดีเอ็มเอ ก็จำเป็นต้องใช้เฉพาะรุ่นใหม่ ๆ เท่านั้น นอกจากนี้ซิมการ์ดยังสามารถใส่ไว้ในกล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นได้

ซิมการ์ดถูกกำหนดมาตรฐานครั้งแรกโดยสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมยุโรป มาตรฐานหมายเลข TS 11.11 และทำขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยกีเซคเกอุนด์เดฟรีเอนท์ (Giesecke & Devrient) เพื่อใช้ในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเรดิโอลินยา (Radiolinja)[2][3] เมื่อมีระบบยูเอ็มทีเอสขึ้น งานกำหนดมาตรฐานจึงย้ายไปยังทรีจีพีพี สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน[4][5]

รูปแบบ แก้

 
จากซ้ายไปขวา ซิมการ์ดขนาดเต็ม มินิ ไมโคร นาโน
 
หน่วยความจำจากซิมการ์ดขนาดไมโคร เทียบกับเหรียญสิบเซนต์สหรัฐ (เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 มิลลิเมตร)

ซิมการ์ดมีได้หลายขนาด โดยขนาดที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่าบัตรประจำตัวฝังด้วยแผงวงจรรวม ขนาดที่เล็กลงมา (กำหนดโดย มินิ ไมโคร และนาโน) ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ใหม่กว่าขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันซิมการ์ดนิยมทำไว้บนบัตรขนาดเท่าบัตรประจำตัวแต่มีรอยปรุให้สามารถแยกออกเป็นบัตรขนาดเล็กลงเพื่อสอดลงในตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่บางรุ่นยังมีซิมการ์ดบาง ๆ ฝังไว้กับแผงวงจรพิมพ์ ตารางต่อไปนี้เป็นขนาดของซิมการ์ดที่มีใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อักษรย่อ FF คือ form factor หรือตัวประกอบระบุการย่อส่วน ยิ่งมีค่ามาก ขนาดก็เล็กลง

ขนาดซิมการ์ด
ซิมการ์ด เริ่มใช้ มาตรฐานอ้างอิง ยาว (mm) กว้าง (mm) หนา (mm) ปริมาตร (mm3)
ขนาดเต็ม (1FF) พ.ศ. 2534 ISO/IEC 7810:2003, ID-1 85.60 53.98 0.76 3511.72
มินิซิม (2FF) พ.ศ. 2539 ISO/IEC 7810:2003, ID-000 25.00 15.00 0.76 285.00
ไมโครซิม (3FF) พ.ศ. 2546 ETSI TS 102 221 V9.0.0, Mini-UICC 15.00 12.00 0.76 136.80
นาโนซิม (4FF) พ.ศ. 2555 ETSI TS 102 221 V11.0.0 12.30 8.80 0.67 72.52
ซิมฝังตัว
(eSIM)
JEDEC Design Guide 4.8, SON-8
ETSI TS 103 383 V12.0.0
GSMA SGP.22 V1.0
6.00 5.00 <1.00 <30.00

ซิมการ์ดแรกสุดทีมีใช้นั้น มีขนาดเท่ากับบัตรเครดิต สำหรับใช้ติดตั้งกับโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นเก่าที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ ในเวลาต่อมาเมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่มีขนาดเล็กลง จึงมีการย่อส่วนซิมการ์ดลงเป็นซิมการ์ดขนาดมินิ

ซิมการ์ดขนาดไมโคร เป็นซิมการ์ดที่ออกแบบให้เล็กลงจากขนาดมินิ เพื่อใช้สอดลงในอุปกรณ์จำพวกสมาร์ตโฟนซึ่งมีพื้นที่สำหรับรองรับซิมการ์ดน้อยลง เริ่มใช้โดยสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2546[6][7][8]

ซิมการ์ดขนาดนาโน เริ่มใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 มีขนาด 12.3 × 8.8 × 0.67 mm โดยลดพื้นที่พลาสติกว่างจากซิมขนาดไมโคร นอกจากนี้ยังลดความหนาลงด้วย จึงทำให้ซิมขนาดมินิและไมโครในปัจจุบันมีขนาดบางกว่าในอดีต[9] เนื่องจากซิมการ์ดขนาดบางและหักง่าย บริษัทโทรศัพท์หลายแห่งยังคงแนะนำให้ใชิซิมการ์ดหนาเท่าเดิม[10]

หมายเหตุ แก้

  1. ตรงกับคำ subscriber คือผู้บอกรับหรือใช้บริการ อย่างไรก็ดี คำ ซิม นิยมใช้มากกว่าและรู้จักกันดีกว่า

อ้างอิง แก้

  1. "ศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ ใน ภาษาไทยภาษาสื่อ" (PDF). ราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  2. Asif, Saad Z. (2011). Next Generation Mobile Communications Ecosystem. John Wiley & Sons. p. 306. ISBN 1119995817.
  3. "G&D - History of Giesecke & Devrient". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 29 April 2016.
  4. "3GPP specification: 51.011". สืบค้นเมื่อ 29 April 2016.
  5. "3GPP specification: 31.102". สืบค้นเมื่อ 29 April 2016.
  6. "What is a microsim card?". SimOnlyPro.nl. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-22. สืบค้นเมื่อ 14 October 2012.
  7. Gaby Lenhart (1 April 2006). "The Smart Card Platform". ETSI Technical Committee Smart Card Platform (TB SCP). สืบค้นเมื่อ 30 January 2010. SCP is co-operating on both technical and service aspects with a number of other committees both within and outside the telecommunications sector.
  8. Segan, Sascha (27 January 2010). "Inside the iPad Lurks the 'Micro SIM'". PC Magazine. สืบค้นเมื่อ 30 January 2010.
  9. Dr. Klaus Vedder (18 January 2012). "The UICC – Recent Work of ETSI TC Smart Card Platform" (PDF). ETSI. p. 12. สืบค้นเมื่อ 22 July 2012.
  10. Virgin Mobile. "An important guide to inserting your SIM into your mobile" (PDF). สืบค้นเมื่อ 21 January 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้