ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ราชวงศ์พระร่วง"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ย้อนการแก้ไขของ Fahsaimekloi (พูดคุย) ไปยังรุ่นก่อนหน้าโดย พุทธามาตย์
ป้ายระบุ: ย้อนรวดเดียว
Fahsaimekloi (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
บรรทัด 23:
}}
'''ราชวงศ์พระร่วง''' เป็นราชวงศ์ที่ปกครอง[[อาณาจักรสุโขทัย]]ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเมย แม่น้ำป่าสัก และ แม่น้ำโขง
 
== ประวัติ ==
ราชวงศ์พระร่วง กลุ่มเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีอำนาจอยู่ในสมัยสุโขทัยเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 ศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์พระร่วงตั้งอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยอันเป็นนครหลวงคู่หรือราชธานีแฝดซึ่งศิลาจารึกสมัยสุโขทัยมักเรียกพร้อมกันเสมอว่าศรีสัชนาลัยสุโขทัย บางหลักเช่นศิลาจารึกหลักที่ 2 กล่าวอย่างชัดเจนลงไปว่านครสองอัน ซึ่งถือเป็นทั้งศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรสุโขทัยและเป็นราชสำนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์
 
ต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วงที่ชัดเจนเริ่มตั้งแต่รัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อันเป็นต้นปฐมวงศ์ แต่ก่อนหน้าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นไป ดินแดนสุโขทัยและศรีสัชนาลัยถูกปกครองอยู่โดยราชวงศ์เก่าที่เรียกว่าราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอันเป็นราชวงศ์ของพ่อขุนผาเมืองพระสหายกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
 
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงมีพระนามเดิมก่อนเสด็จขึ้นเสวยราชย์ในเมืองสุโขทัยว่าพ่อขุนบางกลางหาวทรงอยู่ที่ "เมืองบางยาง" และเป็นเจ้าเมืองบางยางซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแควน้อยในกลางหุบเขาแถบเมืองนครไทย เขตจังหวัดพิษณุโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นเมืองที่ติดต่อออกไปยังบ้านเมืองในกลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำเหือง และต้นแม่น้ำป่าสักได้
 
ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยตอนปลายกลางพุทธศตวรรษที่ 20 อันเรียกว่าจารึกปู่สบถหลานกระทำเมื่อกษัตริย์สุโขทัยกับกษัตริย์น่านทรงให้สัตย์สาบานต่อกันในการร่วมรบต่อสู้กับอาณาจักรอยุธยาที่กำลังแผ่ขยายอำนาจขึ้นมารุกรานอาณาจักรสุโขทัย พิธีสัตย์สาบานอันศักดิ์สิทธิ์กระทำภายในวิหารหลวงวัดใหญ่พระมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย มีการกล่าวอัญเชิญดวงพระวิญญาณพระราชบรรพบุรุษของกษัตริย์ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นทิพยพยานสักขี หลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่าพระราชบรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระนามว่า "ปู่ขุนจิดขุนจอด" เป็นต้นสายก่อนที่จะถึงพระองค์ ปู่ขุนจิดขุนจอดเป็นกลุ่มคนเชื้อสายไทซึ่งจารึกเรียกว่า "ไทเลืองหรือชาวเลือง" และเป็นกลุ่มชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำของชาวเลืองจารึกจึงกล่าวว่ากลุ่มไทผู้ดีผีชาวเลือง ไทเลืองหรือชาวเลืองเป็นกลุ่มคนที่พูดด้วยภาษาไทยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำอู เดียนเบียนฟู บริเวณตอนบนของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเป็นเขตเวียดนามเหนือ ลาว และ ไทยในปัจจุบัน
 
คำว่า "ราชวงศ์พระร่วง" หรือแม้แต่คำว่า "พระร่วง" ไม่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเลยแม้แต่หลักเดียว จารึกปู่สบถหลานอีกเช่นกันเรียกกลุ่มพระมหากษัตริย์ผู้ครองสุโขทัยว่า "วงศสุกโขไทหรือสุโขไท" คำว่าพระร่วงมักเป็นชื่อที่อาณาจักรข้างเคียงภายนอกเรียกกลุ่มเจ้าของสุโขทัยไม่ว่าจะเป็นทางล้านนา ล้านช้าง อยุธยา มอญ นครศรีธรรมราช ละโว้ และ เขมร โดยเรียกตามพระเกียรติคุณของกษัตริย์สุโขทัยที่ปรากฏทรงมีอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุด คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั่นเอง ฝ่ายล้านนาเรียกว่าพญาร่วง ฝ่ายอยุธยาเรียกว่าสมเด็จพระร่วงเจ้า ต่อมาชั้นหลังคำว่าพระร่วงได้กลายเป็นใช้เรียกกลุ่มเจ้าของสุโขทัยทั้งหมดในแบบครอบคลุมตามกาลเวลาที่ผู้คนได้เลือนความทรงจำไป โดยที่ความหมายในทางเฉพาะเจาะจงหมายถึงบุคคลพระองค์ใดก็ยังคงอยู่ไปพร้อมกันในหลักฐานต่างๆที่ถูกบันทึกไว้
 
ในความทรงจำของผู้คนตั้งแต่ประมาณสมัยอยุธยาตอนกลางลงมาคำว่าพระร่วงเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าปรัมปราบอกเล่ากล่าวขานของชนในพื้นถิ่นหลายแห่งโดยเฉพาะในท้องที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และ พิษณุโลก เพราะบรรดาราชวงศ์ที่เคยปกครองอันเป็นกลุ่มบุคคลได้สูญสลายตัวไปหมดอำนาจไปจากท้องที่อย่างสมบูรณ์แล้ว เหลือแต่เรื่องราวอันเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ความเลื่อมใสศรัทธา อิทธิฤทธิ์อภินิหาร ความน่ามหัศจรรย์ตามการเล่าของชาวบ้านกับความเชื่อความนับถือสืบทอดกันมาอยู่ในสถานที่ต่างๆเป็นจำนวนมากและเกาะกลุ่มอยู่แต่ในเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนเท่านั้น หากที่ใด สิ่งอันใด มีคำว่าพระร่วงเข้าไปผูกหรือเกี่ยวข้อง ที่นั้นสิ่งนั้นย่อมมีความพิเศษเหนือความธรรมดาทั้งสิ้น
 
ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อเริ่มสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นแล้ว รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้ราชบัณฑิตฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลรวบรวมเรื่องราวเก่าแก่ต่างๆแล้วประมวลไว้เรียกว่า "พระราชพงศาวดารเหนือ" อันเป็นเรื่องราวของกลุ่มเมืองเหนือที่หมายถึงราชอาณาจักรสุโขทัยเดิม เนื้อเรื่องที่รวบรวมได้ขณะนั้นเกี่ยวกับราชวงศ์พระร่วงเกินกว่าครึ่งเป็นแบบมุขปาฐะยกเว้นบางเนื้อเรื่องที่พอจะมีเค้าความจริงอยู่บ้าง แต่ทำให้มองเห็นได้ว่าคนครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์รับทราบเป็นอย่างดีว่าก่อนหน้ากรุงศรีอยุธยาขึ้นไปมีกลุ่มคนที่เรียกว่าพระร่วงปกครองอยู่ที่กรุงสุโขทัยมาก่อน สมัยรัชกาลที่ 3 จึงหยิบยืมมาเป็นฉากสำคัญที่เท้าหลังกลับไปไกลในวรรณกรรมตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือเรื่องนางนพมาศเป็นต้น ซึ่งตำรับนี้เป็นความรับรู้ตกทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาอีกชั้นก่อนจะเพิ่มเรื่องราวร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 ลงไปด้วย
 
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2376 เมื่อเจ้าฟ้าพระวชิรญาณหรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งยังทรงผนวช เสด็จธุดงค์ขึ้นไปยังเมืองเหนือถึงยังอดีตราชธานีเดิมที่สวรรคโลกเก่าและสุโขทัยเก่าซึ่งตัวเมืองหลวงมีสภาพกลายเป็นป่าปกคลุมกับมีหมู่บ้านชุมนุมชนอาศัยอยู่ด้วยไม่มากนัก เสด็จไปพบหลักฐานสำคัญที่ยังคงเป็นที่เคารพในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนในพื้นที่ คือ พระแท่นขดานหินที่เรียกว่ามนังศิลาบาตรและหลักศิลาจารึกตัวอักษรโบราณอยู่ใจกลางบริเวณดงตาล ซึ่งโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญลงไปไว้ยังพระนคร ณ วัดราชาธิวาส ศูนย์กลางสำนักธรรมยุตินิกายที่พระองค์ประทับอยู่ เนื่องจากเจ้าฟ้าพระวชิรญาณทรงได้รับวิธีคิดและการศึกษาเลียนอย่างชาวตะวันตกที่มักนิยมค้นคว้าในเรื่องต่างๆ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ศึกษาถ่ายทอดเรื่องราวจากตัวอักษรโบราณที่ทรงนำมาจากสุโขทัยออกมา จึงเริ่มทำให้ทราบว่ากลุ่มราชวงศ์พระร่วงที่เคยครองอยู่ที่สุโขทัยมีพระนามอย่างใดบ้าง จารึกหลักแรกนี้หรือต่อมาเรียกว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฏพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นางเสือง พ่อขุนบาลเมือง และที่สำคัญคือพ่อขุนรามคำแหง ผู้โปรดฯให้กระทำหลักศิลาจารึกดังกล่าวขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของสุโขทัยอย่างมากมาย ได้มีการค้นพบศิลาจารึกต่างๆอีกหลายหลักซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้การปรากฏรับทราบเกี่ยวกับราชวงศ์พระร่วงแบบในทางวิชาการค่อยๆแจ่มชัดขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อมีการผนวกนับรวมสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดรัฐไทยที่ชัดเจนเป็นแห่งแรก ราชวงศ์พระร่วงจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นราชวงศ์ไทยราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์ของชาติอีกด้วย ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปรากฏการสืบสายราชสันตติวงศ์อย่างเป็นลำดับชั้นต่อเนื่องในห้วงระยะเวลาถึง 200 ปี จาก พ.ศ. 1781 ไปจนถึง พ.ศ. 1981
 
== รายพระนามพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ==