ผลต่างระหว่างรุ่นของ "แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Huaikhunram (คุย | ส่วนร่วม)
Huaikhunram (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 28:
[[หมวดหมู่:แหล่งโบราณคดีในประเทศไทย]]
{{โครง}}
 
== อ้างอิง ==
{{รายการอ้างอิง}}บ้านโป่งมะนาวเป็นหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในราว พ.ศ. 2500 โดยมีประชากรจากบางอำเภอของจังหวัดสระบุรีและลพบุรี ราว 3 – 4 ครอบครัว อพยพเข้ามาจับจองพื้นที่แถบโป่งมะนาวซึ่งยังเป็นป่าทึบและมีสัตว์ป่านานาชนิดชุกชุม จากนั้นก็ได้ถากถางพื้นที่ป่าเพื่อสร้างบ้านเรือนและทำพื้นที่เพาะปลูก ชุมชนบ้านโป่งมะนาวจึงเริ่มเกิดขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา หมู่บ้านโป่งมะนาวก็มีผู้คนอพยพเข้ามาเพิ่ม หมู่บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนแปลงต่อมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นบ้านโป่งมะนาว ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของหมู่ที่ 7 ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบัน โดยตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอพัฒนานิคมไปทางทิศตะวันออกประมาณ 45 กิโลเมตร
ชุมชนบ้านโป่งมะนาว มีการตั้งถิ่นฐานกระจายขนานไปตามถนน บ้านเรือนของแต่ละครอบครัวปลูกอยู่ห่างกันไม่มากนัก มีพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนครัวหรือไม้ยืนต้นแยกพื้นที่ของแต่ละบ้านออกจากกัน ถัดจากพื้นที่ตั้งบ้านเรือนออกไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผืนใหญ่ รายได้ของชาวบ้านโป่งมะนาวปัจจุบันมาจากการเพาะปลูกอ้อยและข้าวโพดเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีหลายครอบครัวที่มีรายได้จากการเลี้ยงวัวนม
การทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด และการเลี้ยงวัวนม เป็นอาชีพสำคัญของชาวบ้านโป่งมะนาวปัจจุบัน
 
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณบ้านโป่งมะนาว
ตัวหมู่บ้านโป่งมะนาว ตั้งอยู่ในเขตที่สูงตอนกลางของประเทศไทย ส่วนที่เป็นบริเวณแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งภาคกลางกับภาคอีสานออกจากกัน
พื้นที่ส่วนนี้ มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 180 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจัดเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตลุ่มน้ำป่าสัก โดยแม่น้ำสายนี้อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร ภูเขาสูง 2 ลูกที่อยู่ใกล้บ้านโป่งมะนาวเป็นเขาหินปูน โดยทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือคือเขาโป่งสวอง และทางทิศใต้คือเขาลูกมน
 
ลักษณภูมิประเทศบริเวณบ้านโป่งมะนาวและแนวเขาลูกมนซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน
แผนที่แสดงตำแหน่งโดยประมาณของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งภาคกลางกับภาคอีสาน
เมื่อศึกษาสภาพภูมิประเทศจากภาพถ่ายจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่บริเวณนี้ พบว่ามีร่องรอยทางน้ำธรรมชาติมากมายซึ่งเกิดจากน้ำซับหรือน้ำพุตามธรรมชาติ ระบบทางน้ำเหล่านี้มีแบบแผนการแพร่กระจายแบบรูปกิ่งไม้ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่นี้มีการลาดเอียงไปในแนวเดียวกันคือ ลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก หรือลาดเทไปทางลำแม่น้ำป่าสัก
ภูมิประเทศโดยรวมของพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่น จึงดูคล้ายกับเป็นพื้นที่ที่มีเนินดินเล็กๆต่อเนื่องกันไป สำหรับพื้นที่บริเวณวัดโป่งมะนาวและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวนั้น มีลักษณะเป็นเนินดินที่เดิมมีลำห้วยล้อมโดยรอบ ลำห้วยนี้มีทิศทางการไหลจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก หรือไหลต่อไปทางบ้านสวนมะเดื่อ จนรวมเข้ากับห้วยสวนมะเดื่อ แล้วไหลต่อไปลงสู่แม่น้ำป่าสัก
 
ประวัติสังเขปของการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาว
เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2543 ได้มีราษฎรจากอำเภออื่นเข้ามาขุดหาโบราณวัตถุที่บริเวณวัดโป่งมะนาวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการและได้พบโบราณวัตถุมากมายหลายประเภทฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ
การขุดหาโบราณวัตถุโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านไปได้ 2 วัน ก็ยุติลง เนื่องจากนายสมส่วน บูรณพงษ์ ตำแหน่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีร่วมกับอาจารย์ภูทร ภูมะธน แจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ได้เข้าจับกุมผู้ขุดหาโบราณวัตถุ ทางวัดโป่งมะนาว รวมทั้งคณะกรรมการหมู่บ้านและผู้นำองค์กรต่างๆในท้องถิ่นตำบลห้วยขุนราม ได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวไว้ จึงขุดขยายหลุมขุดหาโบราณวัตถุเพื่อปรับปรุงให้เป็นหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ ในหลุมจัดแสดงโครงกระดูกนี้ ได้พบโครงกระดูกคนจำนวนมาก และมีโครงกระดูกที่พิเศษโครงหนึ่ง คือเป็นโครงกระดูกคนที่มีภาชนะสำริดลักษณะเหมือนขันขนาดเล็ก วางครอบอยู่ที่กระดูกขากรรไกรของโครงกระดูก นอกจากนี้ชาว บ้านโป่งมะนาวยังได้รวบรวมโบราณวัตถุนานาประเภทมาจัดแสดงไว้ที่วัดโป่งมะนาวโดยหวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดประจำหมู่บ้าน ต่อมานายสมส่วน บูรณพงษ์เป็นผู้ริเริ่มให้มีรวมตัวกันของชุมชนจัดตั้ง "ชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติตำบลห้วยขุนราม" รวมทั้งได้ประสานงานกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรขอความร่วมมือในการขุดค้นทางวิชาการโบราณคดีและการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดโป่งมะนาว
 
ในเดือนตุลาคม 2543 นักศึกษาของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงขอความสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและได้รับทุนสนับสนุนค่าอาหาร ให้มาดำเนินการขุดตกแต่งหลุมแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านโป่งมะนาวได้ปรับปรุงมาจากหลุมขุดหาโบราณวัตถุ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโป่งมะนาว
ต่อมาใน พ.ศ. 2544 ทางหมู่บ้านโป่งมะนาว องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนรามและชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติตำบลห้วยขุนราม ได้จัดทำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว โดยได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากรอนุมัติให้ทำโครงการขุดค้นและมีอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการขุดค้นร่วมกับนักโบราณคดีจากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชาวบ้านโป่งมะนาว โดยร่วมกันปฏิบัติงานเมื่อระหว่างวันที่ 8 – 31 ตุลาคม 2544
การขุดค้นทางโบราณคดีครั้งแรกนี้ ดำเนินการในพื้นที่หลุมขุดค้นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตสวนสะเดาทางครึ่งด้านทิศตะวันตกของเขตวัดโป่งมะนาว และอยู่ถัดไปทางเหนือของหลุมจัดแสดงโครงกระดูกที่ถูกจัดทำไว้เมื่อ พ.ศ.2543 โครงการขุดค้นได้ตั้งชื่อเรียกหลุมขุดค้นนี้ว่า หลุมขุดค้นหมายเลข 1 การขุดค้นครั้งนี้ ได้พบว่าตั้งแต่ระดับผิวดินลงไปถึงระดับลึกจากผิวดินประมาณ 40 เซนติเมตร มีเศษภาชนะดินเผาแทรกปนอยู่น้อยมาก ในขณะที่ตั้งแต่ระดับความลึกจากผิวดินตั้งแต่ 40 เซนติเมตรลงไป ได้พบโครงกระดูกคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ถูกฝังอยู่ซ้อนกันหลายระดับ ต่อเนื่องกันลงไปถึงระดับความลึกประมาณ 110 เซนติเมตรจากผิวดิน เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวคงใช้พื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นหมายเลข 1 เป็นพื้นที่สำหรับฝังศพเท่านั้น ไม่ได้ใช้พื้นที่ตำแหน่งนี้เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย
แม้ว่าการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาวครั้งแรก ดำเนินการไปได้เพียงระดับชั้นบนๆของแหล่งโบราณคดีซึ่งลึกจากผิวดินปัจจุบันโดยเฉลี่ยระหว่าง 40 – 110 เซนติเมตรเท่านั้น แต่เมื่อศึกษาจากข้อมูลที่ขุดค้นพบร่วมกับโบราณวัตถุที่ถูกขุดขึ้นมาก่อนหน้าการขุดค้น ช่วยให้สรุปเบื้องต้นได้ว่าบ้านโป่งมะนาวเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 สมัย โดยสมัยที่ 1 อาจเป็นสมัยสำริด ส่วนสมัยที่ 2 นั้นเป็นสมัยเหล็กและเป็นช่วงระยะเวลาที่ชุมชนที่บ้านโป่งมะนาวได้พัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่นมาก (ดู สุรพล นาถะพินธุ 2545, 2546 ก)
ต่อมา ในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 29 มีนาคม 2545 ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำนักศึกษาวิชาเอกโบราณคดีไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวต่อในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 พร้อมทั้งได้ทำการขุดค้นเพิ่มเติมในพื้นที่ซีกตะวันออกของแหล่งโบราณคดี โดยปฏิบัติงานเพิ่มเติมในหลุมขุดค้นขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร จำนวน 2 หลุม ซึ่งโครงการได้ตั้งชื่อเรียกว่า หลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ หมายเลข 3 พื้นที่ขุดค้นใหม่นี้อยู่ห่างจากหลุมขุดค้นหมายเลข 1 ไปทางตะวันออกประมาณ 100 เมตร
การปฏิบัติงานขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาวครั้งที่ 2 นี้ สามารถปฏิบัติงานในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 ที่ดำเนินการค้างไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2544 ได้จนแล้วเสร็จ ส่วนในหลุมขุดค้นใหม่ทั้ง 2 หลุมนั้น สามารถขุดค้นถึงเพียงระดับชั้นหลักฐานทางโบราณคดีตอนบนๆ ระดับลึกจากผิวดินประมาณ 40 เซนติเมตรเท่านั้น เนื่องจากได้พบชั้นทับถมของโบราณวัตถุและที่ฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์หนาแน่นเช่นเดียวกับที่พบในหลุมขุดค้นที่อยู่ทางพื้นที่ซีกตะวันตกของแหล่งโบราณคดี ที่ฝังศพและโครงกระดูกคนที่พบเป็นจำนวนมากในระดับชั้นทับถมทางโบราณคดีตื้นๆเช่นนี้ทำให้สรุปได้ว่า คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวใช้พื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ 3 ในลักษณะเดียวกับการใช้พื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นหมายเลข 1 โดยใช้เป็นพื้นที่ฝังศพเท่านั้น มิได้ใช้เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนที่พำนักอาศัย
ในช่วงระหว่างวันที่ 11 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อีกครั้ง และได้ขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ หมายเลข 3 ที่เริ่มไว้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 รวมทั้งได้เริ่มขุดค้นเพิ่มในพื้นที่ต่อเนื่องไปทางใต้ของหลุมขุดค้นหมายเลข 1 ด้วย โครงการได้ตั้งชื่อเรียกหลุมขุดค้นที่เพิ่มขึ้นใหม่นี้ว่า หลุมขุดค้นหมายเลข 4 การขุดค้นในครั้งนี้ ได้พบโครงกระดูกคนเพิ่มขึ้นหลายโครง จึงยังดำเนินการขุดค้นไม่เสร็จในทุกหลุมขุดค้น
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 4 ดังกล่าวข้างต้นนี้ ช่วยให้สรุปได้ว่า พื้นที่ตั้งแต่ตำแหน่งของหลุมขุดค้นหมายเลข 1 และ 4 ไปถึงพื้นที่บริเวณตำแหน่งของหลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ 3 ซึ่งห่างกัน 100 เมตรนั้น คงจะเป็นพื้นที่ที่คนยุคก่อนประวัติศาสตร์จัดไว้เป็นพื้นที่สุสานเท่านั้น และคงเป็นที่ฝังศพรวมหรือสุสานกลางของชุมชน
ระหว่างวันที่ 1 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2545 โครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวได้ดำเนินการขุดค้นเพิ่มเติม โดยได้ขอความร่วมมือ Dr. Roberto Ciarla และ Dr. Fiorella Rispoli จาก National Museum of Oriental Arts และ Istituto Italiano per L’Afrique ed Asie Orientale ประเทศอิตาลี ให้มาเป็นผู้ทำการขุดค้น
การขุดค้นของคณะนักโบราณคดีชาวอิตาลีนั้น ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศอิตาลี และเป็นการขุดค้นที่มีวัตถุประสงค์หลักคือการพยายามค้นหาร่องรอยของย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนทั่วไป ซึ่งมิใช่พื้นที่ฝังศพ การปฏิบัติงานครั้งนี้ ได้เลือกขุดค้นพื้นที่ 3 แห่ง ซึ่งโครงการฯได้ตั้งชื่อเรียกพื้นที่ที่ขุดค้นในช่วงเวลานี้ว่าหลุมขุดค้นหมายเลข 5 หลุมขุดค้นหมายเลข 6 และ หลุมขุดค้นหมายเลข 7
หลุมขุดค้นหมายเลข 5 อยู่ห่างจากหลุมขุดค้นหมายเลข 2 ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 100 เมตร การขุดค้นในหลุมขุดค้นนี้ได้พบชั้นทับถมทางโบราณคดีหนาระหว่าง 30 - 50 เซนติเมตร ไม่พบที่ฝังศพ โบราณวัตถุประเภทหลักที่พบในชั้นทับถมทางโบราณคดีนี้ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เศษกระดูกสัตว์และเปลือกหอย ซึ่งแสดงว่าพื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการอยู่อาศัยสามัญ หรือเป็นย่านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย และมิใช่พื้นที่ในเขตสุสานรวมของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์
การขุดค้นหลุมขุดค้นหมายเลข 6 ซึ่งอยู่ห่างจากหลุมขุดค้นหมายเลข 2 ไปทางตะวันออกประมาณ 95 เมตร ได้พบชั้นทับถมทางโบราณคดีหนาระหว่าง 30 - 50 เซนติเมตร โบราณวัตถุประเภทหลักที่พบในชั้นทับถมทางโบราณคดีนี้ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เศษกระดูกสัตว์และเปลือกหอย ซึ่งแสดงว่าพื้นที่หลุมขุดค้นนี้ คงเป็นย่านที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ในหลุมขุดค้นนี้ ได้พบภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ก้นกลม ตกแต่งผิวนอกด้วยลายเชือกทาบ มีโครงกระดูกทารกขนาดเล็กมากบรรจุอยู่ภายใน จำนวน 1 โครง
 
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อคิดเห็นว่าประเพณีการปลงศพของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวที่ใช้เฉพาะกับเด็กทารกอายุน้อยมากนั้น ทำโดยการนำศพบรรจุลงในภาชนะแล้วแยกฝังไว้ในเขตพื้นที่อยู่อาศัย มิใช่นำไปฝังในพื้นที่สุสานรวมของชุมชน
ส่วนในหลุมขุดค้นหมายเลข 7 ซึ่งอยู่นอกรั้ววัดโป่งมะนาวด้านทิศเหนือ และอยู่ห่างจากหลุมขุดค้นหมายเลข 2 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 110 เมตร ได้พบชั้นหลักฐานทางโบราณคดีบางมาก โดยเป็นชั้นที่ประกอบด้วยเศษภาชนะดินเผา เศษกระดูกสัตว์และเปลือกหอย จำนวนไม่มากนัก กระจายอยู่เป็นทับถมทางโบราณคดีที่มีความหนาไม่เกิน 10 เซนติเมตร อนึ่ง ที่บริเวณผนังด้านตะวันออกของหลุมขุดค้นนี้ ในระดับเดียวกับที่พบชั้นทับถมทางโบราณคดี ได้พบกระดูกส่วนปลายเท้าและข้อเท้าของคนที่วางเรียงกันเป็นระเบียบและยังอยู่ตามตำแหน่งที่ถูกต้องในร่างกายของคน กระดูกส่วนอื่นๆนั้นยังคงอยู่นอกพื้นที่หลุมขุดค้น หลักฐานเช่นนี้แสดงว่าพื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นหมายเลข 7 นี้ ถูกใช้เป็นพื้นที่ฝังศพ และคงไม่มีการสร้างที่พำนักอาศัย ณ ทำเลนี้ของแหล่งโบราณคดี
ต่อมาระหว่างวันที่ 13 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2546 ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำนักศึกษาวิชาเอกโบราณคดี มาทำการขุดค้นอีกครั้ง ทั้งเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมและเพื่อฝึกการปฏิบัติงานภาคสนามให้นักศึกษา การขุดค้นครั้งนี้ ดำเนินการทั้งในหลุมขุดค้นเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จและหลุมขุดค้นใหม่ โดยหลุมขุดค้นเดิมที่ดำเนินการ ได้แก่ หลุมขุดค้นหมายเลข 2 หลุมขุดค้นหมายเลข 3 และ หลุมขุดค้นหมายเลข 4 ซึ่งเป็นหลุมขุดค้นในเขตสุสานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนหลุมขุดค้นที่ดำเนินการเพิ่มใหม่นั้น โครงการฯได้ตั้งชื่อเรียกว่าหลุมขุดค้นหมายเลข 8 และหลุมขุดค้นหมายเลข 9 เมื่อการขุดค้นสิ้นสุดลงได้พบว่า พื้นที่หลุมขุดค้นหมายเลข 8 นั้น ไม่พบที่ฝังศพ พบเพียงชั้นทับถมของโบราณวัตถุไม่หนามากนัก โบราณวัตถุประเภทหลักที่พบได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เศษกระดูกสัตว์และเปลือกหอย ซึ่งแสดงว่าพื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นหมายเลข 8 นี้ น่าจะเป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นย่านที่อยู่อาศัย แต่คงมีผู้คนอยู่ไม่มากนัก ส่วนหลุมขุดค้นหมายเลข 9 นั้น แม้ว่าไม่พบโครงกระดูกคน แต่เนื่องจากการขุดค้นยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถสรุปถึงลักษณะการใช้พื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นนี้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้อย่างมั่นใจ
เนื่องจากการศึกษาทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาว ที่ผ่านมายังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะได้พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโครงกระดูกคนจำนวนมาก โครงการวิจัยเรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี จึงดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวต่อ ในระหว่างวันที่ 1 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 โดยดำเนินการขุดค้นต่อที่ผนังดินคั่นระหว่างหลุมขุดค้นหมายเลข 1 และหมายเลข 4 ซึ่งได้พบที่ฝังศพเพิ่มเติมอีก
ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 โครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวได้ทำการศึกษาที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวอีกครั้ง โดยดำเนินการขุดค้นต่อในหลุมขุดค้นหมายเลข 2 พร้อมกับเริ่มขุดค้นเพิ่มใหม่ในหลุมขุดค้นขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร ซึ่งโครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวตั้งชื่อเรียกว่า หลุมขุดค้นหมายเลข 10
หลุมขุดค้นหมายเลข 10 นี้ อยู่ที่บริเวณพื้นที่ใกล้ขอบด้านตะวันตกของแหล่งโบราณคดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้จุดที่ลำห้วยธรรมชาติ 2 สาย ที่ไหลผ่านขอบด้านเหนือและด้านใต้ของแหล่งโบราณคดีมาบรรจบกัน โครงการขุดค้นได้เลือกศึกษาพื้นที่นี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นทำเลที่อยู่ใกล้ลำน้ำ น่าจะเหมาะต่อการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย จึงเลือกขุดค้นพื้นที่ส่วนนี้ของแหล่งโบราณคดีโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว
การขุดค้นในพื้นที่หลุมขุดค้นหมายเลข 10 ซึ่งอยู่บริเวณขอบด้านตะวันตกของแหล่งโบราณคดีนั้น ได้พบชั้นทับถมทางโบราณคดีหนาไม่น้อยกว่า 1 เมตร หลักฐานทางโบราณคดี ที่พบมากในชั้นทับถม ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาที่แตกหักมาจากภาชนะหลากหลายรูปแบบและหลากหลายขนาด นอกจากนี้ยังได้พบเศษกระดูกสัตว์หลายชนิดและเปลือกหอยหลายประเภทเป็นจำนวนมากพอสมควร โบราณวัตถุเหล่านี้จัดเป็นสิ่งเหลือทิ้งจากกิจกรรมการอยู่อาศัยสามัญ(Domestic Activity) จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณที่ขุดค้นครั้งนี้ น่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลักนั่นเอง มิใช่พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหัตถกรรมพิเศษโดยเฉพาะ(Craft Specialized Activity) และมิใช่พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมตามศาสนาความเชื่อโดยเฉพาะ(Religious Activity)
ลักษณะของชั้นทับถมทางโบราณคดีที่พบในหลุมขุดค้นหมายเลข 10
อย่างไรก็ตาม การขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 10 นี้ ได้พบภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ก้นภาชนะกลม ผิวด้านนอกตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ มีศพทารกขนาดเล็กมากบรรจุอยู่ในภาชนะ และมีภาชนะดินเผาทรงพานวางปิดทับที่ปากภาชนะดินเผาใบใหญ่
ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่มีศพทารกบรรจุอยู่ภายในและมีภาชนะดินเผาทรงพานวางทับเป็นฝาปิดนั้น ได้พบรวม 2 ใบ ในหลุมขุดค้นหมายเลข 10 โดยพบที่ตำแหน่งและ ชั้นทับถมทางโบราณคดี ที่มีระดับความลึกจากผิวดินต่างกัน
ภาชนะบรรจุศพทารกใบที่ 1 และรายละเอียดของโครงกระดูกทารกในภาชนะดินเผา
พบในหลุมขุดค้นหมายเลข 10 ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
ครึ่งบนของภาชนะดินเผาลายเชือกทาบที่ใช้บรรจุศพทารก(ซ้าย) และภาชนะดินเผาทรงพาน(ขวา)
ที่ใช้วางทับเป็นฝาปิดภาชนะดินเผาลายเชือกทาบบรรจุศพทารก ของภาชนะบรรจุศพทารกใบที่ 1
การวัดขนาดของกระดูกแขนและขาของเด็กทารก ที่พบในภาชนะดินเผาทั้ง 2 ใบดังกล่าวข้างต้น แล้วเปรียบเทียบกับดัชนีขนาดกระดูกคนตามอายุต่างๆ ในตารางที่ Ubelaker (1987 : 48-49) จัดทำไว้ พบว่า กระดูกแขนและขาของเด็กทารกที่พบในภาชนะดินเผาทั้ง 2 ใบนี้ มีขนาดเล็กกว่ากระดูกแขนและขาของเด็กที่มีอายุอยู่ช่วงแรกเกิดถึง 5 เดือน จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า โครงกระดูกเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ พบบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผา 2 ใบนี้ เป็นโครงกระดูกของทารกที่เสียชีวิตเมื่อแรกคลอด และน่าจะเป็นทารกที่เสียชีวิตเพราะคลอดก่อนกำหนด
 
ภาชนะบรรจุศพทารกใบที่ 2 พบในหลุมขุดค้นหมายเลข 10 ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
 
ภาชนะดินเผามีศพทารกบรรจุอยู่นี้ เหมือนกับที่เคยพบมาก่อนหน้านี้ในการขุดค้นหลุมขุดค้นหมายเลข 6 ซึ่งอยู่ห่างจากหลุมขุดค้นหมายเลข 10 ไปทางตะวันออกประมาณ 200 เมตร และจัดเป็นหลักฐานแสดงถึงประเพณีการปลงศพที่แตกต่างไปจากประเพณีการปลงศพที่โครงการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเคยพบมาก่อนหน้านี้ในการขุดค้นหลุมขุดค้นต่างๆที่อยู่ในบริเวณตอนกลางของแหล่งซึ่งพบว่าเป็นเขตพื้นที่สุสานหลักของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้
สรุปความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมบางประการของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว
การศึกษาเรื่องโบราณคดีของบ้านโป่งมะนาวเท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ประกอบด้วยการออกปฏิบัติงานของโครงการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวรวม 6 ครั้ง และได้ดำเนินการขุดค้นแล้ว ในพื้นที่รวม 10 หลุมขุดค้น ซึ่งกระจายอยู่ ณ บริเวณต่างๆในพื้นที่แหล่งโบราณคดี ดังแสดงในผังบริเวณของแหล่งโบราณคดีต่อไปนี้
 
กล่าวโดยรวมได้ว่า หลักฐานทางโบราณคดีประเภทหลักที่พบมากที่สุดในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวถึงขณะนี้ ได้แก่ ที่ฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยเหล็ก และแม้ว่าการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีนี้ยังไม่เสร็จอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบในการขุดค้นก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์ แต่ก็สามารถสรุปถึงลักษณะวัฒนธรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวได้บางประการ ดังนี้
1. แบบแผนการใช้พื้นที่ภายในชุมชน
การพยายามวิเคราะห์แบบแผนการใช้พื้นที่ภายในชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว ใช้การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดี(Distribution Analysis) เป็นแนวทางของการศึกษา
โดยทั่วไปแล้ว การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดี เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ตำแหน่งที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเพื่อหาว่าหลักฐานประเภทใด หน่วยใด ชั้นใด กลุ่มใด ถูกทิ้งอยู่ ณ ทำเลใด/ ตำแหน่งใด หรือ แพร่กระจายอยู่ ณ ทำเลใด/ตำแหน่งใด
ทั้งนี้ การแพร่กระจายของหลักฐานทางโบราณคดี แบ่งได้เป็น
ก. - การแพร่กระจายในแนวดิ่ง (Vertical Distribution)
ข. - การแพร่กระจายในแนวราบ (Horizontal Distribution)
นักโบราณคดีมักวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดี โดยมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้น คือ
1. เพื่อหาว่าหลักฐานใด พบที่ตำแหน่งไหน
2. เพื่อพยายามตอบคำถามว่า เหตุใดหลักฐานทางโบราณคดีบางชิ้น บางชุด บางหน่วย บางประเภท ฯลฯ จึงพบอยู่ ณ บางทำเลของแหล่ง และเหตุใดหลักฐานทางโบราณคดีบางประเภทจึงไม่พบ ที่ทำเลนั้น แต่กลับได้พบ ณ ทำเลอื่น หรืออื่นๆ
3. เพื่อหาว่า โบราณศิลปวัตถุ(Artefacts) หรือ นิเวศวัตถุ(Ecofacts) หรือ ร่องรอยกิจกรรมมนุษย์(Features) ต่างๆที่พบ มีหน้าที่เชิงสังคมวิทยาแบบใด ทั้งนี้ หน้าที่เชิงสังคมวิทยาของหลักฐานทางโบราณคดี แบ่งออกเป็นประการต่างๆ ดังนี้
ก. หน้าที่สามัญในครัวเรือน(Family/Domestic Function)
หมายถึงหมายถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมและกิจกรรมการดำรงชีวิตสามัญประจำวันทั่วไป หลักฐานทางโบราณคดีที่จัดอยู่ในหน้าที่ประเภทนี้ ได้แก่ สิ่งของและเครื่องมือใช้สอยในครัวเรือน สำหรับการดำรงชีวิตสามัญประจำวัน เครื่องประดับ ของเล่น เป็นต้น
ข. หน้าที่ด้านเศรษฐกิจ(Economic Function)
หมายถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถบ่งบอกถึงลักษณะทางเศรษฐกิจด้านการผลิต การกระจายผลผลิต การบริโภคผลผลิตในระดับหัตถกรรมและอุตสาหกรรม
หลักฐานทางโบราณคดีที่จัดอยู่ในหน้าที่ประเภทนี้ ได้แก่ วัตถุดิบ วัตถุดิบที่เปลี่ยนรูปแล้วบางส่วน ผลผลิตที่ทำเสร็จแล้ว เศษวัสดุเหลือทิ้ง(ขยะ)จากการผลิตงานหัตถกรรม เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับขั้นตอนต่างๆ ในงานหัตถกรรม เป็นต้น
ในบางครั้ง เส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าแหล่งโบราณคดีบางแห่งมีหน้าที่หลักทางด้านเศรษฐกิจ หรือบางครั้ง กระดูกสัตว์ก็บ่งบอกเศรษฐกิจการผลิตอาหารได้
ค. หน้าที่เชิงการเมืองการปกครอง(Political Function)
หมายถึงหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพิเศษที่สัมพันธ์กับประชากรที่มีหน้าที่ด้านการควบคุมสังคม-วัฒนธรรม หรือเป็นหลักฐานที่เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานภาพพิเศษที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม/วัฒนธรรม ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่มีหน้าที่นี้ได้แก่ หลุมฝังศพกษัตริย์ สัตว์บูชายัญในหลุมฝังศพ วัตถุที่มีค่าสูงมาก สิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ฯลฯ
ง. หน้าที่ด้านลัทธิความเชื่อ (Religious Function)
หมายถึงวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ศาสนา และลัทธิความเชื่อ ตัวอย่างหลักฐานที่มีหน้าที่นี้ได้แก่ เทวรูป รูปเคารพ ศาสนสถาน ฯลฯ
4. เพื่อหาความสัมพันธ์ (Association) ของหลักฐานทางโบราณคดีชั้นต่างๆ ชุดต่างๆ กลุ่มต่างๆ ประเภทต่างๆ ที่ถูกทิ้งอยู่ ณ ทำเลเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแปลความหมายถึงพฤติกรรมและกิจกรรมของมนุษย์ที่ เกี่ยวข้องกับหลักฐานทางโบราณคดีชั้นต่างๆ ชุดต่างๆ กลุ่มต่างๆ ประเภทต่างๆ ที่กำลังวิเคราะห์อยู่นั้น
โดยทั่วไปแล้ว การวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีด้วยวิธีนี้ สามารถช่วยทำความกระจ่างในปัญหาทางวิชาการโบราณคดีหลายประการ
ในกรณีของการวิจัยเรื่องเฉพาะแหล่งโบราณคดีแห่งเดียว(Single Site Research) การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดี สามารถช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับแบบแผนการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ในครัวเรือน เช่น การแยกพื้นที่ในครัวเรือนสำหรับทำกิจกรรมตามเพศ ตามอายุ ฯลฯ และ แบบแผนการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ภายในชุมชน เช่น การแยกพื้นทำกิจกรรมในชุมชนตามอาชีพ ฐานะ สถานะ บทบาทหน้าที่ ฯลฯ
ส่วนในกรณีของการวิจัยเรื่องโบราณคดีระดับภูมิภาค(Regional Research) นั้น การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดี สามารถช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับแบบแผนการเลือกทำเลที่ตั้งชุมชน เช่น ช่วยให้ทราบว่ามีปัจจัยทางธรรมชาติ หรือปัจจัยทางวัฒนธรรม เป็นองค์ประกอบหลักของแบบแผน นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับหน้าที่ของชุมชน โดยช่วยให้ทราบว่าแหล่งใดเป็นชุมชนที่มีหน้าที่ใดในทั้งระบบชุมชนของภูมิภาค ซึ่งอาจประกอบไปด้วย ชุมชนที่อยู่อาศัยสามัญ แหล่งอุตสาหกรรม เมืองท่า ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนค้าขาย ศูนย์กลางทางศาสนา-ความเชื่อ ศูนย์กลางการปกครอง ฯลฯ
ผลของการขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข หมายเลข 1 หมายเลข 4 และหมายเลข 7 ซึ่งอยู่ทางครึ่งตะวันตกของแหล่งโบราณคดี รวมทั้งในหลุมขุดค้นหมายเลข 2 และ 3 ซึ่งอยู่ทางครึ่งตะวันออกของแหล่งโบราณคดีนั้น แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณหลุมขุดค้นเหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ใช้สำหรับฝังศพประชากรในชุมชนเท่านั้น ดังได้พบที่ฝังศพตั้งแต่ในชั้นทับถมทางโบราณคดีระดับบนๆ ซึ่งลึกจากผิวดินปัจจุบันโดยเฉลี่ยประมาณ 40 เซนติเมตร ลงไปจนถึงระดับดินธรรมชาติดั้งเดิมซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร
การขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 5 ถึงหมายเลข 9 ซึ่งอยู่ทางครึ่งตะวันออกของแหล่งโบราณคดี ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใกล้ลำห้วยที่ไหลผ่านทางใต้ของแหล่งโบราณคดีและพื้นที่ใกล้รั้วด้านตะวันออกของวัดโป่งมะนาวน่าจะเป็นบริเวณย่านที่อยู่อาศัยของประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว แต่ประชากรที่อยู่อาศัย ณ ทำเลนี้อาจไม่หนาแน่นมาก
ส่วนการขุดค้นในหลุมขุดค้นหมายเลข 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ขอบด้านตะวันตกของแหล่งโบราณคดี และเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้จุดที่ลำห้วยธรรมชาติ 2 สายบรรจบกันนั้น พบว่าบริเวณหลุมขุดค้นนี้ คงเป็น พื้นที่ทำกิจกรรมการอยู่อาศัยสามัญ(Domestic Activity Area) หรือใช้เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยนั่นเอง และเป็นไปได้มากว่า เป็นพื้นที่ที่มีคนใช้อยู่อาศัยหนาแน่นกว่าทางครึ่งตะวันออกของแหล่งโบราณคดี
สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งที่ได้จากการขุดค้นในพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีส่วนที่อยู่ห่างจากแนวลำห้วยก็คือ ได้พบว่าในระดับชั้นทับถมทางโบราณคดีตอนบนๆที่อยู่เหนือระดับชั้นที่ฝังศพของพื้นที่ส่วนนี้ ไม่พบร่องรอยแสดงการใช้พื้นที่เป็นเขตที่ตั้งบ้านเรือนพำนักอาศัยหรือเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยสามัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ได้พบเพียงเฉพาะร่องรอยของการใช้พื้นที่สำหรับฝังศพ และพบโครงกระดูกคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งที่สมบูรณ์ทั้งโครง และไม่สมบูรณ์แต่พบเพียงกระดูกบางชิ้น หลักฐานเช่นนี้แสดงว่า พื้นที่หลุมขุดค้นในพื้นที่นี้ทุกหลุม ล้วนอยู่ในเขตพื้นที่สุสานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าสุสานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวนั้น มีขนาดใหญ่ อาจครอบคลุมพื้นที่ขนาดยาวประมาณ 100 เมตรและอาจกว้าง ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เช่นกัน
การศึกษาแบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบจากการศึกษาในหลุมขุดค้นต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น โดยเฉพาะ การขุดค้นพบชั้นทับถมทางโบราณคดีที่แสดงถึงการใช้พื้นที่ใกล้จุดที่ลำห้วยธรรมชาติ 2 สายบรรจบกัน เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม การอยู่อาศัยสามัญ และการใช้พื้นที่ตอนกลางส่วนที่อยู่ห่างจากแนวลำห้วยเป็นที่ทำกิจกรรมด้านลัทธิความเชื่อ หรือใช้ในการฝังศพเท่านั้น ช่วยให้สามารถสรุปถึงแบบแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก ที่บ้านโป่งมะนาวได้ โดยสรุปได้ว่า คนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก ที่บ้านโป่งมะนาวคงเลือกสร้างบ้านเรือนเรียงรายในบริเวณพื้นที่ใกล้ลำห้วย หรือกระจายไปตามแนวริมฝั่งของลำห้วย ในขณะที่จงใจจัดบริเวณตอนกลางของพื้นที่ตั้งชุมชนไว้เป็นสุสานรวมที่ประชากรทั้งชุมชนใช้ร่วมกัน
อนึ่ง สุสานในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น จัดได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของความเชื่อในชุมชน การจัดพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้เป็นสุสานโดยเฉพาะเช่นนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า สังคมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว จะต้องเป็นสังคมที่มีโครงสร้างซับซ้อน โดยน่าจะต้องมีสมาชิกที่มีสิทธิและอำนาจแตกต่างกัน สมาชิกในสังคมบางคนจึงสามารถควบคุมบังคับให้จัดสรรพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้เป็นสุสานโดยเฉพาะ ซึ่งจัดเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน
2. ประเพณีการปลงศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว
โครงกระดูกคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เท่าที่ขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวจนถึงขณะนี้ จัดเป็นโครงกระดูกคนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก ซึ่งได้พบทั้งโครงกระดูกของเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศหญิงและชาย
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล(2546) ได้ทำการศึกษาหาร่องรอยผิดปรกติบนตัวอย่างโครงกระดูกคนส่วนหนึ่งที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เพื่อจัดทำสารนิพนธ์ประกอบการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี พ.ศ. 2546 โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและให้แนะนำร่วมด้วย
การศึกษาครั้งนี้ไม่พบร่องรอยของการตายด้วยสาเหตุรุนแรง ไม่พบร่องรอยของโรคภัยที่ร้ายแรง เช่น โรคเรื้อน มะเร็ง หรือวัณโรคที่กระดูก ร่องรอยโรคที่พบบนกระดูกคนในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงนัก เช่น โรคฟันผุ โรครำมะนาด หนองในโพรงฟัน ฟันคุด โรคข้อเสื่อม ปริมาณของตัวอย่างที่พบร่องรอยโรคภัยมีไม่มากเมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ไม่พบร่องรอยโรค จึงแสดงให้เห็นว่าประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวน่าจะมีสุขภาพดีพอสมควร
นอกจากนี้ ยังพบลักษณะความผิดปกติที่ไม่ได้แสดงถึงการเป็นโรคแต่แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ในอดีตหรือลักษณะทางกายภาพบางประการ เช่น
- ลักษณะความผิดปกติของกระดูกที่แสดงให้เห็นถึงการได้รับบาดเจ็บหรือการมีบาดแผลที่ค่อนข้างรุนแรงของเจ้าของโครงกระดูกแต่มิได้เป็นบาดแผลถึงกับทำให้เสียชีวิต
- ร่องรอยผิดปรกติบนกระดูกต้นแขน(Humerus) ที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของโครงกระดูกเมื่อยังมีชีวิตนั้นเป็นผู้ที่ต้องใช้กำลังแขนมากอยู่เสมอ
เมื่อนำข้อมูลเดิมที่พบในการขุดค้นหลุมขุดค้นหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 4 ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ฝังศพรวมของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านโป่งมะนาว มาศึกษาร่วมกับข้อมูลเรื่องการพบภาชนะดินเผาบรรจุศพทารกในหลุมขุดค้นหมายเลข 6 และข้อมูลใหม่เรื่องภาชนะบรรจุศพทารกที่พบในการขุดค้นครั้งล่าสุดในหลุมขุดค้นหมายเลข 10 ของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ซึ่งอยู่ห่างจากหลุมขุดค้นหมายเลข 6 ไปทางตะวันออกประมาณ 200 เมตร ทำให้สามารถสรุปความรู้เรื่องประเพณีการปลงศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเพิ่มขึ้นจากความรู้เดิมที่ได้ก่อนหน้า(ดู สุรพล นาถะพินธุ 2545, 2546 ก, 2546 ข) โดยสามารถสรุปเพิ่มในขณะนี้ได้ว่า ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวมีประเพณีการปลงศพ 2 แบบ
การปลงศพแบบที่ 1
เป็นประเพณีการฝังศพแบบปรกติ ที่พบว่าใช้กับทุกเพศและวัย และคงใช้สำหรับปลงศพคนที่เคยมีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งแล้วจึงได้เสียชีวิตลง กรณีเช่นนี้จะปลงศพด้วยการฝังศพในพื้นที่สุสานรวมของชุมชน และฝังศพไว้ในหลุมตื้นๆโดยจัดให้ศพอยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว ในการฝังหลายศพ มีการจงใจทุบภาชนะดินเผาหลายใบให้แตก จากนั้นนำเศษจากภาชนะดินเผาที่ถูกทุบแตกมาปูรองบริเวณที่จะฝังศพ ก่อนวางศพทับลงไป แล้วจึงนำดินมากลบทับศพให้มีลักษณะเป็นพูนดินเหนือศพ บางครั้งมีการใช้ก้อนหินทับบนพูนดินเหนือศพ หรือวางรอบพูนดินเหนือศพ
 
ร่องรอยพูนดินเหนือศพและก้อนหินทับบนพูนดินของฝังศพหมายเลข 1 ในหลุมขุดค้นหมายเลข 2
ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
 
ในการปลงศพวิธีนี้ มักมีการฝังสิ่งของเครื่องใช้เป็นเครื่องเซ่นอุทิศให้กับผู้ตายด้วย เครื่องใช้ประเภทหลักที่ถูกฝังไว้กับทุกศพได้แก่ภาชนะดินเผา ส่วนสิ่งของที่พบฝังอยู่กับเฉพาะบางศพได้แก่ เครื่องมือหรืออาวุธทำด้วยเหล็ก ซึ่งบางครั้งถูกจงใจทำให้งอหรือบิดเบี้ยวไป
การทุบภาชนะดินเผาที่สมบูรณ์ให้แตก และ การจงใจทำให้เครื่องมือเหล็กงอหรือบิดเบี้ยวนั้น สันนิษฐานได้ว่าคงเป็นเพราะคนยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความเชื่อว่าเป็นวิธีการที่ทำให้สิ่งของเหล่านั้นตายลง สำหรับฝังอุทิศลงไปให้กับผู้ตาย เมื่อผู้ตายไปเกิดใหม่ก็จะมีสิ่งของเครื่องใช้เหล่านั้นไปใช้ด้วย
ในบางศพยังพบเครื่องประดับทำจากวัสดุชนิดต่างๆ อาทิเช่น ลูกปัดทำจากแก้ว ต่างหูทำจากแก้ว ต่างหูทำจากหินอ่อนสีขาว แหวนทำจากสำริด กำไลและสร้อยข้อมือทำจากสำริด กำไลข้อมือทำจากงาช้าง กำไลข้อมือทำจากเปลือกหอยทะเล และเครื่องประดับลักษณะเป็นแผ่นกลมแบนทำจากกระดองส่วนหน้าอกของเต่า นอกจากนี้ มีโครงกระดูกหลายโครงที่มีกระดูกปลายขาของหมูวางอยู่เป็นเครื่องเซ่นด้วยเครื่องประดับทำจากกระดองส่วนหน้าอกของเต่า พบในการขุดค้นที่บ้านโป่งมะนาว
โครงกระดูกคนในที่ฝังศพหมายเลข 8 พบในการขุดค้นระหว่าง 8 – 31 ตุลาคม 2544 เป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ สวมต่างหูทำจากแก้วสีเขียวที่หูข้างขวา มีกระดูกปลายขาลูกหมูวางอยู่ข้างข้อศอกขวา มีภาชนะดินเผาอย่างน้อย 3 ใบวางอยู่ที่ไหล่ซ้าย
เมื่อนำภาชนะดินเผาที่เป็นเครื่องเซ่นออกแล้ว จึงพบว่าโครงกระดูกคนในที่ฝังศพหมายเลข 8
สวมต่างหูทำจากแก้วสีเขียวที่หูข้างขวาและสวมต่างหูทำจากหินอ่อนสีขาวที่หูข้างซ้าย
ข้างไหล่ซ้ายยังมีใบหอกเหล็กวางเป็นเครื่องเซ่นอีก 2 ชิ้น
 
ต่างหูทำจากแก้วสีเขียวและต่างหูทำจากหินอ่อนสีขาวที่พบข้างศีรษะของโครงกระดูกคน
ลูกปัดแก้วสีฟ้าและสีเขียวอ่อน พบเรียงรายเป็นแนวยาวบริเวณข้างแขนของโครงกระดูกโครงหนึ่ง
การปลงศพแบบที่ 2
เป็นการปลงศพแบบพิเศษที่ใช้สำหรับปฏิบัติกับศพทารกที่เสียชีวิตเมื่อคลอด โดยจะนำศพทารกบรรจุลงในภาชนะดินเผาใบใหญ่ อาจจัดวางศพให้อยู่ในท่านั่ง จากนั้นใช้ภาชนะดินเผาทรงพานวางทับเป็นฝาปิดที่ปากภาชนะดินเผาใบใหญ่ โดยให้ส่วนฐานของพานอยู่ในภาชนะใบใหญ่ แล้วนำภาชนะดินเผาบรรจุศพทารกนี้ฝังไว้ในเขตที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอาจฝังไว้ใต้บ้านที่อยู่อาศัย ไม่นำไปฝังในสุสานรวมของชุมชน ซึ่งในเขตสุสานรวมของชุมชนนั้น ได้พบว่ามีการปลงศพโดยฝังให้ศพอยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาวเท่านั้น
 
3. เทคโนโลยีด้านโลหกรรมที่บ้านโป่งมะนาว
3.1 เทคโนโลยีด้านโลหะสำริด
หลักฐานทางโบราณคดีลักษณะพิเศษที่พบในการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาวชิ้นหนึ่งได้แก่ใบหอกที่ทำจากโลหะ 2 ชนิด(Bimetallic Spearpoint) ที่พบในที่ฝังศพในหลุมขุดค้นหมายเลข 4 ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ครึ่งตะวันตกของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ที่ฝังศพที่พบใหม่นี้ได้จัดไว้เป็นที่ฝังศพหมายเลข 7 ของหลุมขุดค้นหมายเลข 4
ในที่ฝังศพหมายเลข 7 นี้ ได้พบโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย วัตถุที่พบถูกฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกนี้ประกอบด้วยภาชนะดินเผา 1 ใบ วางอยู่ใต้ต้นแขนขวา ลูกปัดทำจากหินคาร์นีเลียน 1 ลูกพบที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ กำไลสำริดสวมอยู่ที่แขนข้างขวา และใบหอกที่ทำจากโลหะ 2 ชนิด ซึ่งถูกจงใจทำให้เสียหาย โดยตีจนงอเป็นวงโค้งวางอยู่ข้างไหล่ซ้าย
การจงใจทำให้ใบหอกชิ้นนี้เสียโดยตีให้งอเป็นวงโค้ง สะท้อนถึงประเพณีการทำให้สิ่งของเครื่องใช้เสียหายหรืออาจเรียกได้ว่าเสียชีวิตก่อนที่จะฝังลงไปร่วมกับผู้ตาย นักโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อกันว่าแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับการไปเกิดใหม่ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย ประเพณีเช่นนี้เคยพบมาก่อนแล้วที่แหล่งโบราณคดีหลายแห่งทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นได้พบตั้งแต่ช่วงสมัยต้นของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งจัดเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยสำริด ดังได้พบใบหอกสำริดของวัฒนธรรมที่บ้านเชียงสมัยต้น 1 ชิ้น ที่ถูกจงใจทำให้ส่วนปลายงอโค้ง
 
ใบหอกที่ทำด้วยโลหะ 2 ชนิดที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวชิ้นนี้ จัดเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการทำโลหะของช่างโลหะยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางของประเทศไทย
ใบหอกชิ้นนี้ มีส่วนบ้องสำหรับเข้าด้ามทำด้วยสำริด ส่วนคมหอกทำด้วยเหล็ก บริเวณจุดต่อระหว่างส่วนบ้องและส่วนคมหอกเห็นได้ชัดเจนว่ามีเนื้อโลหะสำริดช่วงส่วนต้นของบ้องหุ้มทับบนเนื้อเหล็กช่วงล่างของคมหอก โลหะสำริดบริเวณนี้มีลวดลายละเอียดประณีตประดับ โดยประกอบไปด้วยลวดลายลักษณะคล้ายลายขัด ลายเส้นโค้งหลายเส้นซ้อนกัน ลายเส้นตรงพันรอบส่วนบ้อง และลายเม็ดกลม
ใบหอกทำด้วยโลหะ 2 ชนิด พบในที่ฝังศพหมายเลข 7 หลุมขุดค้นหมายเลข 4 แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
ส่วนคมหอกที่ทำด้วยเหล็กถูกจงใจทำให้เสีย โดยตีให้งอมีลักษณะเป็นวงโค้งก่อนฝังเป็นเครื่องเซ่นให้กับศพ
 
บริเวณจุดต่อระหว่างส่วนบ้องที่ทำด้วยสำริดสำริดและคมหอกที่ทำด้วยเหล็กของใบหอกทำด้วยโลหะ 2 ชนิด
มีส่วนบ้องทำด้วยโลหะสำริดที่ตกแต่งด้วยลวดลายละเอียดประณีตหุ้มทับเนื้อโลหะเหล็กของส่วนคมหอก
ลวดลายที่ปรากฏบริเวณรอยต่อระหว่างส่วนบ้องและส่วนคมหอกเช่นนี้ช่วยให้สามารถสรุปวิธีการทำใบหอกชิ้นนี้ได้ว่าเริ่มต้นโดยการตีโลหะเหล็กให้ได้ส่วนคมหอกแบบเรียวแหลมคล้ายใบข้าวก่อน หลังจากนั้นจึงหล่อส่วนบ้องสำริดทับลงบนตอนล่างของส่วนคมหอก ลวดลายที่ละเอียดประณีตบนส่วนบ้องสำริดนี้ ยังช่วยให้สามารถสรุปขั้นตอนการทำวัตถุชิ้นนี้ได้ว่า การหล่อบ้องสำริดทับคมหอกเหล็กนั้นใช้วิธีการหล่อแบบขับขี้ผึ้งหรือการหล่อแบบสูญขี้ผึ้ง ซึ่งต้องประกอบด้วยการนำดินผสมของเหลวจนพอปั้นได้มาทำแกนดินลักษณะแท่งทรงกรวยยาวต่อออกมาจากส่วนล่างที่ไม่ใช้ส่วนปลายแหลมของคมหอกเหล็กก่อน จากนั้นนำขี้ผึ้งมาหุ้มเป็นชั้นหนาตามต้องการให้ทับแกนดินทั้งหมด แล้วตกแต่งชั้นขี้ผึ้งให้เป็นทรงกรวยยาว มีความหนาสม่ำเสมอ ใช้ขี้ผึ้งที่ปั้นเป็นเส้นเล็กๆและเม็ดกลมเล็กๆมาติดทับให้เป็นลวดลายลักษณะเดียวกับที่ปรากฏอยู่บนส่วนบ้องของใบหอกชิ้นนี้ จากนั้นใช้ดินเนื้อละเอียดผสมของเหลวพอกทับชั้นขี้ผึ้งเพื่อทำเป็นแม่พิมพ์ชั้นนอก ด้านปลายของแม่พิมพ์ชั้นนอกคงทำเป็นช่องเปิดที่เรียกว่าปากจอก ซึ่งเป็นช่องทางให้ขี้ผึ้งไหลออกมาเมื่อได้รับความร้อนจนละลาย รวมทั้งเป็นช่องทางที่จะเทโลหะเหลวเข้าไปแทนที่ขี้ผึ้งด้วย จากนั้นทิ้งให้แม่พิมพ์ชั้นนอกแห้งสนิท แล้วจึงนำไปเผาไฟในลักษณะวางให้ช่องเปิดหรือปากจอกคว่ำลง เมื่อขี้ผึ้งได้รับความร้อนก็จะละลายและไหลออกทางปากจอก แล้วถูกเผาไหม้ไป ส่วนเนื้อดินของแม่พิมพ์ก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นดินเผา เมื่อเผากำจัดขี้ผึ้งออกได้หมดแล้วก็จะได้แม่พิมพ์ที่พร้อมจะเทสำริดเหลวลงไปเป็นส่วนบ้อง ขั้นตอนถัดไปจึงเป็นการหลอมทองแดงผสมกับดีบุก หรืออาจเป็นทองแดงผสมดีบุกและตะกั่วจนหลอมเหลวพร้อมที่จะเทลงในช่องว่างของแม่พิมพ์ ช่วงเวลานี้ต้องมีการนำแม่พิมพ์มาเผาเพื่อเป็นการอุ่นให้ร้อนก่อน จากนั้นจึงเทสำริดที่กำลังหลอมเหลวลงในแม่พิมพ์จรเต็มช่องว่าง จากนั้นทิ้งให้โลหะเหลวเย็นลงและเปลี่ยนเป็นโลหะแข็ง เมื่อโลหะสำริดเย็นลงแล้วก็ต้องทุบแม่พิมพ์ชั้นนอกออก ตามด้วยการแคะหรือสกัดเอาหุ่นแกนดินชั้นในสุดทิ้ง ถัดจากนั้นจึงทำการตกแต่งรายละเอียดของส่วนบ้องสำริดที่หล่อขึ้นมาซึ่งก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการทำใบหอกชิ้นนี้
ใบหอกที่ทำจากโลหะสองชนิดนั้นได้เคยมีการพบมาก่อนบ้างแล้วในประเทศไทย ชิ้นที่สำคัญได้แก่ใบหอกที่มีบ้องส่วนทำด้วยสำริดและส่วนคมทำด้วยเหล็กซึ่งพบในการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจัดเป็นเป็นเครื่องมือที่มีอายุอยู่ในช่วงที่เริ่มมีการใช้เหล็กครั้งแรกๆที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หรือจัดเป็นเครื่องมือของยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กช่วงต้นๆ
 
3.2 เทคโนโลยีด้านเหล็ก
ภาวิณี รัตนเสรีสุข(2546) และ สุรเดช ก้อนทอง(2546) ได้ทำการศึกษาตัวอย่างเครื่องมือเหล็กบางชิ้นที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเพื่อจัดทำสารนิพนธ์ประกอบการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี พ.ศ. 2546 งานศึกษาทั้ง 2 ชิ้นเลือกการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน(Scanning Electron Microscope)เป็นอุปกรณ์หลักสำหรับศึกษาโครงสร้างผลึกและองค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่างผลของการศึกษาที่นำเสนอแล้วนั้น สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีการทำเครื่องมือเหล็กยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคกลางของประเทศไทยได้ดี และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าช่างเหล็กผู้ที่ทำเครื่องมือเหล็กชิ้นที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวซึ่งถูกเลือกมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้มีความชำนาญในการผลิตเครื่องมือจากเหล็กอ่อน(wrought iron)และมีความสามารถอย่างดียิ่งในการปรับปรุงให้เหล็กอ่อนกลายเป็นเหล็กกล้า(steel)ในกระบวนการผลิตเครื่องมือเหล็ก
ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
ในภาพรวมเรื่องยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคกลางของประเทศไทย
การศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีในพื้นที่ของภาคกลางประเทศไทย ในช่วงตั้งแต่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้พบโบราณวัตถุและแหล่งโบราณคดีจำนวนมาก ซึ่งแสดงว่าพื้นที่ของภาคกลางปัจจุบันนั้น มีมนุษย์เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยมากตั้งแต่กว่า 4,000 ปีมาแล้ว และตั้งแต่นั้นมาก็มีประชากรเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งมีวัฒนธรรมและวิทยาการที่พัฒนายิ่งขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป
พื้นที่ริมห้วยสวนมะเดื่อบริเวณวัดโป่งมะนาว บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ก็เป็นแห่งหนึ่งที่มนุษย์สมัยโบราณเลือกเป็นที่ชุมชนแบบถาวรและอยู่อาศัยต่อกันมาเป็นเวลานาน
โบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบในขณะนี้ แม้ว่ามีเพียงส่วนน้อยที่เป็นตัวอย่างที่ได้มาโดยการขุดค้นตามหลักวิชาการ ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นวัตถุที่ถูกรบกวนขึ้นมาโดยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ แต่ก็ประกอบด้วยวัตถุประเภทเด่นที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีอื่นๆในเขตภาคกลางของประเทศไทยมาก่อน จึงสามารถกำหนดอายุได้ค่อนข้างสะดวก การศึกษาตัวอย่างโบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านโป่งมะนาวเคยเป็นทั้งชุมชนและสุสานยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 สมัยใหญ่
ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยแรกสุดของบ้านโป่งมะนาวอาจเป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่นัก อาจจะมีอายุเก่าแก่ถึงราวช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง 3,500 - 3,000 ปีมาแล้ว โบราณวัตถุที่เป็นของสมัยดังกล่าวที่พบที่บ้านโป่งมะนาว อย่างน้อยประกอบไปด้วยได้แก่ ขวานหินขัด ลูกปัดและกำไลข้อมือทำจากหินอ่อนสีขาว และลูกปัดและกำไลข้อมือทำจากเปลือกหอยทะเล
 
ส่วนชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยสุดท้ายของบ้านโป่งมะนาวนั้น คงมีอายุเริ่มต้นเมื่อช่วงใดช่วงหนึ่งในระหว่าง 2,800 – 2,500 ปีมาแล้ว และน่าจะมีช่วงสิ้นสุดลงเมื่อช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง 1,800 – 1,500 ปีมาแล้ว โบราณวัตถุและร่องรอยทางโบราณคดีที่เป็นของสมัยดังกล่าวที่พบที่บ้านโป่งมะนาว ได้แก่ โครงกระดูกคนจำนวนมากซึ่งล้วนมีสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับฝังร่วมอยู่ด้วย สิ่งของที่มักพบถูกฝังร่วมอยู่กับโครงกระดูก ได้แก่ ภาชนะดินเผา กำไลและแหวนสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี เช่นหินโมราและหินโมกุล ลูกปัดแก้ว ส่วนสิ่งของที่พบในปริมาณน้อยได้แก่ แม่พิมพ์ทำด้วยดินเผาใช้สำหรับหล่อหัวลูกศรโลหะ แวดินเผาสำหรับใช้ปั่นเส้นด้าย ลูกกระสุนดินเผา เป็นต้น
หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เมื่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้วนั้น บริเวณบ้านโป่งมะนาวได้พัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก ชุมชนนี้มีการจัดพื้นที่บางส่วนไว้เป็นสุสานโดยเฉพาะ ซึ่งแสดงว่าชุมชนนี้มีระบบในการจัดระเบียบสังคม มีประเพณีการทำศพที่ยึดถือร่วมกันในชุมชน โครงกระดูกคนกว่าร้อยโครงที่ถูกลักลอบขุดทำลายไปแล้วที่บริเวณวัดโป่งมะนาว และโครงกระดูกคนหลายสิบโครงที่พบในการขุดค้นตามหลักวิชาการโบราณคดีเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดเจนว่าชุมชนนี้มีประชากรหนาแน่นมาก
แม้ว่าสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับทำจากวัสดุต่างๆที่คนสมัยโบราณอุทิศให้ศพแต่ละศพจะถูกลักลอบขุดไปขายนักสะสมโบราณวัตถุ ทำให้เราขาดหลักฐานสำหรับการศึกษาหาความรู้ไปมหาศาล แต่ก็พอจะทราบได้ว่าเคยมีการพบโบราณวัตถุมากมายในศพเหล่านั้น วัตถุบางชิ้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นทั้งที่อยู่ใกล้และไกล
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบแล้วทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กที่บ้านโป่งมะนาวซึ่งคงเกิดขึ้นเมื่อช่วงราว 2,500 ปีมาแล้วนั้น ได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางประชากร ศูนย์กลางเศรษฐกิจและศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
ศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายดังเช่นแหล่งโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาวนี้ น่าจะเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมสำคัญที่ก่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในสมัยโบราณของภาคกลางประเทศไทย เมื่อช่วงสมัยหลังต่อมา คือในราว 1,500 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ภาคกลางของประเทศไทยได้เริ่มมีชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคูและคันดินล้อมรอบชุมชน ซึ่งมักถูกเรียกโดยรวมๆว่า “เมืองโบราณสมัยวัฒนธรรมทวารวดี” ขึ้นมา
ในปัจจุบันนี้ โบราณวัตถุและข้อมูลทางโบราณคดีที่ได้มาจากการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวได้จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดโป่งมะนาว บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
 
เอกสารอ้างอิง
1. ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒนวรกุล, 2546, “ลักษณะความผิดปรกติของกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี”, ใน ข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางประเทศไทย, เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ ในโครงการเสวนาทางวิชาการโบราณคดีและการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 4, ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ.
2. ภาวิณี รัตนเสรีสุข, 2546, “การศึกษาเปรียบเทียบองค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างภายใน ของดาบเหล็กรูปโค้ง กับขวานเหล็กรูปทรงคล้ายตัวนก จากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี”, ใน ข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางประเทศไทย, เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ ในโครงการเสวนาทางวิชาการโบราณคดีและการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 4, ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ.
3. สุรเดช ก้อนทอง, 2546, “การศึกษาเปรียบเทียบเครื่องมือเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี กับแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดลพบุรี”, ใน ข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางประเทศไทย, เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ ในโครงการเสวนาทางวิชาการโบราณคดีและการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 4, ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ.
4. สุรพล นาถะพินธุ, 2545, “ความรู้เบื้องต้นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี”, ใน วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 28 ฉบับที่ 2, หน้า 139 – 142.
5. สุรพล นาถะพินธุ, 2546 ก, “ชุมชนดึกดำบรรพ์ คน 3 พันปี แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี”, ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 24 ฉบับที่ 3, หน้า 142 – 149.
6. สุรพล นาถะพินธุ, 2546 ข, “ความคืบหน้าของการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว”, ใน วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 29 ฉบับที่ 4, หน้า 122 – 124.
7. Ubelaker, Douglas H., 1978, Human Skeleton Remains, Chicago: Aldine Publishing Company.