พระราชญาณโสภณ (จรัส เขมจารี)

พระราชญาณโสภณ วิ. ( จรัส เขมจารี ) หรือ หลวงปู่ห้วย เขมจารี มีนามเดิมว่า จรัส ศรีสุข เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2470 ที่บ้านเมืองจันทร์ ตำบลเมืองจันทร์ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อนายมา ศรีสุข มารดาชื่อนางผุย ศรีสุข ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 7 คน ได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านเมืองจันทร์ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จบชั้น ป.3 เพราะมีสอนเท่านั้นในขณะนั้น อายุได้ 17 ปี จึงได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2487 ณ วัดหลวงสุมังคลาราม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาได้อุปสมบทในปี พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดหลวงสุมังคลาราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพระครูสิริสารคุณ (ศรี ฐิตธมฺโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาธวัช วิมโล เป็นพระกรรมวาจารย์ พระมหาหน่วย ขันติโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ เขมจารี ” เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. 2498 ณ สำนักเรียนวัดหลวงสุมังคลาราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ และศึกษาแผนกบาลีสำนักเรียนวัดประชารังสรรค์ และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ในปีพ.ศ. 2515 สังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดประชารังสรรค์ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ[1]

พระราชญาณโสภณ วิ.

(จรัส เขมจารี)
ชื่ออื่นหลวงปู่ห้วย เขมจารี
ส่วนบุคคล
เกิด8 สิงหาคม พ.ศ. 2470
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาน.ธ.เอก, ป.ธ.3
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดประชารังสรรค์ อำเภอห้วยทับทัน ศรีสะเกษ
อุปสมบทพ.ศ. 2491
ตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุติกนิกาย)

หลวงปู่ห้วย เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ในปีพ.ศ. 2498 หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประชารังสรรค์ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ หลวงปู่ห้วย ได้อบรมสั่งสอนประชาชนและพระภิกษุสามเณรในปกครองด้วยความเมตตาเป็นที่ตั้ง ท่านจึงมีสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกมากมาย ประกอบกับท่านวางตนเรียบง่ายสมถะ ชอบความสันโดษตามแบบศากยบุตร จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของเหล่าประชาชนที่ได้พบเห็น[2]

อ้างอิง แก้

  1. "พระราชญาณโสภณ วิ. (จรัส เขมจารี ป.ธ.๓)".
  2. "พระราชญาณโสภณ (หลวงปู่ห้วย เขมจารี) พระผู้มีวาจาสิทธิ์'แห่งห้วยทับทัน".