พระจันทร์ครึ่งซีก
พระจันทร์ครึ่งซีก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Campanulales |
วงศ์: | Campanulaceae |
สกุล: | Lobelia |
สปีชีส์: | Lobelia chinensis |
ชื่อทวินาม | |
Lobelia chinensis Lour.[1] | |
ชื่อพ้อง | |
|
พระจันทร์ครึ่งซีก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lobelia chinensis Lour.) เป็นวัชพืชในวงศ์พระจันทร์ครึ่งซีก (Campanulaceae) มีถิ่นกำเนิดในจีน เป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นฐาน 50 ชนิดในการแพทย์แผนจีนโดยมีชื่อเรียกว่า ป้านเปียนเหลียน (จีนตัวย่อ: 半边莲; จีนตัวเต็ม: 半邊蓮; พินอิน: bàn biān lián)[2] แพร่กระจายในธรรมชาติในประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดจีน คาบสมุทรมลายู และในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ที่ระดับความสูงประมาณ 100–300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกและติดผลช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม[3]
ลักษณะ
แก้พืชล้มลุกขนาดเล็ก[4] ลำต้นทอดเลื้อยยาว 15–35 ซม. มีรากตามข้อ ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 0.8–2.5 ซม. โคนใบกลมมน ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันไม่ชัดเจนช่วงปลายใบ ไม่มีก้านหรือก้านสั้นมาก ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1.2–3.5 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงรูปกรวย ยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ ดอกสีขาวอมชมพู ขอบมีสีเข้ม โคนสีเขียว ยาว 1–1.5 ซม. แยกจรดโคนด้านหลัง ด้านในมีขนยาว ด้านนอกมีขนละเอียด ปลายกลีบแผ่ออกคล้ายพัด กลีบดอกรูปใบหอก ยาว 0.6–1 ซม. กลีบคู่ข้างยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันช่วงบน ช่วงแยกกันมีขนยาว รังไข่มีขนยาวอยู่ใต้วงกลีบ มี 2 ห้อง เมื่อดอกบานกลีบดอกจะแยกไปทางเดียวดูคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก โดยจะบานในช่วงฤดูร้อน ผลรูปกรวย ยาว 6–7 มม. ผลเมื่อแห้งจะแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแบน[3]
ประโยชน์
แก้เป็นพืชสมุนไพร ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาลดไข้,[5] ลำต้นและรากตากแห้ง[2] มีสรรพคุณแก้อักเสบ โรคท้องมาน ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ รักษาแผลติดเชื้อ งูกัด และเป็นยาขับปัสสาวะ, ต้นสด เป็นยาบำรุงปอด แก้หืด และแก้ปอดพิการ, ทั้งต้นใช้ผสมทำเป็นยานัตถุ์,[3] ในยุโรปและสหรัฐใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน
การใช้และข้อห้าม
แก้ให้เก็บทั้งต้นในช่วงฤดูร้อนขณะดอกกำลังบาน[6] ยาแห้งใช้ครั้งละ 35–70 กรัม ต้มกับน้ำรับประทาน, ยาสดใช้ครั้งละ 35–70 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนใช้ภายนอกปริมาณตามความเหมาะสม[5] และไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเพราะจะเสื่อมคุณภาพได้ง่าย หรืออาจจะเตรียมเป็นยาเม็ดหรือขี้ผึ้งไว้ใช้ แต่ผลการรักษาจะด้อยกว่ายาต้ม
ผู้ที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และถ่ายเหลว หรือแพทย์แผนจีนเรียกว่า "ม้ามพร่อง" ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[6]
สารเภสัชเคมี
แก้สารออกฤทธิ์ที่พบในพระจันทร์ครึ่งซีก ประกอบด้วย 6,7-dimethoxycoumarin, fraxinol, 5-hydroxy-7-methoxycoumarin, tomentin, 3'-hydroxygenkwanin, apigenin, quercetin, luteolin, linarin, luteolin 3',4'-dimethylether-7-O-beta-D-glucoside, กรด isoferulic, และ ethyl rosmarinate[7]
ความเป็นพิษและผลข้างเคียง
แก้พระจันทร์ครึ่งซีก ถือว่าเป็นพิษเล็กน้อย[1] โดยมีผลข้างเคียง ได้แก่ อาเจียน, แสบร้อนกลางอก, วิตกกังวล, อาการสั่น, การชักเพราะครรภ์, อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และปวดท้องอย่างรุนแรง[8]
ชื่ออื่น ๆ
แก้บัวครึ่งซีก (ชัยนาท), ผักขี้ส้ม (สกลนคร), ปั้วใบไน้ (จีน), ปัวปีไน้, ปั้วปีไน้ (จีนแต้จิ๋ว), Asian lobelia,[9] Chinese Lobelia, Creeping lobelia, Herba Lobellae Chinensis (อังกฤษ)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Lobelia chinensis". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2008-02-11.
- ↑ 2.0 2.1 "Lobelia Herb (Ban Bian Lian)". Chinese Herbs Healing. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-19.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 นิจศิริ เรืองรังษี; ธวัชชัย มังคละคุปต์ (2004). "พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)". สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บี เฮลท์ตี้. p. 190. ISBN 9749241525.
- ↑ "Lobelia chinensis Lour. - Chinese lobelia". United States Department of Agriculture. สืบค้นเมื่อ 22 February 2014.
- ↑ 5.0 5.1 วิทยา บุญวรพัฒน์ (2011). "พระจันทร์ครึ่งซีก". สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย. p. 366. ISBN 9789744966155.
- ↑ 6.0 6.1 วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม (1999). "พระจันทร์ครึ่งซีก". พจนานุกรมสมุนไพรไทย (5 ed.). กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. pp. 533–535. ISBN 9742463735.
- ↑ Chen JX, Huang SH, Wang Y, Shao M, Ye WC (2010). "Studies on the chemical constituents from Lobelia chinensis". Zhong Yao Cai. 33 (11): 1721–4. PMID 21434431.
- ↑ Han J, Zhang F, Li Z, Du G, Qin H (2009). "[Chemical constituents of Lobelia chinensis]". Zhongguo Zhong Yao Za Zhi (ภาษาจีน). 34 (17): 2200–2. PMID 19943485.
- ↑ English Names for Korean Native Plants (PDF). Pocheon: Korea National Arboretum. 2015. p. 524. ISBN 978-89-97450-98-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 May 2017. สืบค้นเมื่อ 25 January 2016 – โดยทาง Korea Forest Service.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "Lobelia chinensis". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. 2010-9-20.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - 半邊蓮 Banbianlian 藥用植物圖像數據庫 (香港浸會大學中醫藥學院)
- 半邊蓮 Banbianlian 中藥材圖像數據庫 (香港浸會大學中醫藥學院)
- ミゾカクシ(アゼムシロ)(植物雑学事典)