พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม)

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือ หลวงพ่อแช่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง และเป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างมากของชาวจังหวัดภูเก็ต

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี

(แช่ม )
พระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี (แช่ม)
ชื่ออื่นหลวงพ่อแช่ม
ส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2370 (81 ปี)
มรณภาพ18 เมษายน พ.ศ. 2451
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดฉลอง ภูเก็ต
อุปสมบทพ.ศ. 2390
พรรษา61
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดฉลอง สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่เมืองภูเก็ต

ประวัติ แก้

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม) เกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. 2370 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับนามของโยมบิดามารดาของท่าน เมื่อเจริญวัยขึ้นโยมบิดามารดาได้ให้ท่านมาอยู่ที่วัดฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอทุ่งคา (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองภูเก็ต) จังหวัดภูเก็ต โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพ่อท่านเฒ่า เจ้าอาวาสวัดฉลองในเวลานั้น หลวงพ่อแช่มได้บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ศึกษาเล่าเรียนด้านวิปัสสนาธุระอยู่ที่วัดฉลองมาตลอดจนมีความเชี่ยวชาญ

หลวงพ่อแช่มเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านโดยทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2393 พ่อท่านเฒ่ามรณภาพ หลวงพ่อแช่มได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองสืบต่อมา

ในปี พ.ศ. 2419 เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองภูเก็ตจากฝีมือของกลุ่มอั้งยี่กรรมกรขุดแร่ดีบุกชาวจีน ชาวบ้านฉลองที่เคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อแช่มได้ชักชวนให้หลวงพ่อแช่มหนีภัยพวกอั้งยี่ไปซ่อนตัวอยู่ที่อื่น แต่หลวงพ่อแช่มไม่ยอมทิ้งวัดหนีไป ลูกศิษย์ของหลวงพ่อแช่มจึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันสู้เพื่อปกป้องหลวงพ่อแช่มและขอผ้าประเจียดจากท่านเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งท่านได้อนุโลมตามที่บรรดาลูกศิษย์ขอร้อง ลูกศิษย์ชาวบ้านฉลองกลุ่มนี้ต่อมารบพวกอั้งยี่ชนะ ทำให้คนที่หนีภัยอั้งยี่กลับเข้ามารวมกลุ่มกันสู้พวกจีนอั้งยี่มากขึ้นและอาศัยผ้าประเจียดที่หลวงพ่อแช่มทำขึ้นเป็นเครื่องปลุกใจสำคัญ จนกระทั่งสามารถไล่พวกจีนอั้งยี่ไม่ให้เข้ามาปล้นหมู่บ้านฉลองได้อีก ในปีต่อมา (พ.ศ. 2420) เมื่อทางการปราบปรามจีนอั้งยี่ภูเก็ตจนราบคาบแล้ว คณะกรมการเมืองภูเก็ตได้ยกความดีความชอบส่วนหนึ่งในการปราบกบฏอั้งยี่ครั้งนี้ให้แก่หลวงพ่อแช่ม และเวลานั้นตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตยังว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งให้หลวงพ่อแช่มเป็นพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต สมณศักดิ์ที่ "พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี" และได้พระราชทานนามวัดฉลองใหม่ว่า "วัดไชยธาราราม" อนึ่งจากเหตุจลาจลอั้งยี่ดังกล่าว ทำให้ชาวเมืองภูเก็ตเชื่อว่า ที่ชาวบ้านฉลองรบชนะพวกจีน เพราะท่านพระครูวัดฉลองมีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคม จึงนับถือกันว่าท่านเป็นเกจิอาจารย์สำคัญคนหนึ่งมานับแต่นั้น

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม) ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอาพาธเป็นอุจจาระธาตุพิการ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2451[1] ได้มีการส่งหีบเพลิงไปพระราชทานเพลิงศพที่ภูเก็ต พร้อมเงิน 100 เฟื้อง ผ้าขาว 2 พับ เพื่อใช้ในการพระราชทานเพลิงศพตามธรรมเนียมเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2452[2]

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม 25, ตอน 7, 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2451, หน้า 167
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งหีบเพลิงไปพระราชทาน, เล่ม 26, ตอน 0ง, 11 เมษายน พ.ศ. 2452, หน้า 79

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

แม่แบบ:พระสังฆาธิการเจ้าอาวาส