วัดอินทราราม เดิมชื่อว่าวัดขี้เหล็กหลวง แต่ตามตำนานเรียกวัดขี้เหล็กร่มหลวง เป็นวัดในชุมชนไทเขินที่อพยพมาจากเชียงตุง วัดนี้เดิมตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงตะวันตก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบัน มีระยะห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันประมาณ 500 เมตร ซึ่งวัดเดิมถูกน้ำเซาะตลิ่งพังจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ ณ ที่นี้ วัดนี้แต่เดิมสร้างโดยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ. 2399-2413) ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าอินทรวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ทรงสร้างวิหารที่มีเครื่องประกอบอาคารโดยใช้ไม้สัก เสาไม้สักขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร สูง 10 เมตร ลงรักปิดทองด้วยลวดลายไทยล้านนาวิจิตรงดงาม สร้างเสร็จแล้วได้ขนานนามว่า “วัดขี้เหล็กหลวง พอในปี พ.ศ. 2443 วัดได้ถูกน้ำเซาะพังทลายลงเกินความสามารถที่จะรักษาไว้ได้ คณะศรัทธาชาวบ้านจึงได้รื้อเก็บเครื่องประกอบวิหารไว้ได้ทั้งหมด และขนย้ายมาก่อสร้างในที่วัดปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2444 การก่อสร้างใช้อุปกรณ์เดิมแทบทั้งหมด ฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และใช้ชื่อของวัดเดิมคือ วัดขี้เหล็กหลวง พร้อมกันนี้ชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากฐานชุกชีของวัดเดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร มาประดิษฐานไว้ในวิหารหลังใหม่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จนิวัติกลับเชียงใหม่ ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์บูรณปฏิสังขรณ์วัดขี้เหล็กหลวงและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 400 รูปี สร้างกุฎิสงฆ์ขึ้นมาหนึ่งหลัง ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร เป็นอาคารปูนครึ่งไม้ เครื่องประกอบเป็นไม้สัก หลังคากระเบื้องดินเผา โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โปรดให้ตั้งพลับพลาที่ประทับหน้าวัดด้านทิศตะวันออก ทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ และและโปรดให้จัดงานปอยหลวงฉลองสมโภชมอบถวายเสนาสนะแด่พระรัตนตรัยโดยพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานร่วมตลอดงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 กุฏิสงฆ์หลังดังกล่าวได้ชำรุดทรุดโทรมลง คณะศรัทธาชาวบ้านจึงได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยที่โครงสร้างของกุฏิสงฆ์ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนเป็นไม้ซึ่งยังคงใช้วัสดุอุปกรณ์เดิมส่วนหลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ในปี พ.ศ. 2486 ทางกรมการศาสนาได้เปลี่ยนแปลงชื่อวัดเพื่อความเหมาะสม โดยที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาชาวบ้านได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ และพระราชชายาเจ้าดารารัศมีพระราชธิดาที่ทรงอุปถัมภ์วัดเสมอมา จึงใช้พระนามของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นชื่อของวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณให้สืบต่อไปชั่วกาลนาน จากวัดขี้เหล็กหลวง จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดอินทราราม จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2542 จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดสร้างป้ายวัดในประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ ณ วัดอินทราราม เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษาในปี พ.ศ. 2547 วัดอินทรารามได้รับพระเมตตาจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัลยาสิริวัฒนาพรรณวดี ทรงประทานพระพุทธไตรรัตนโลกนาถ “หลวงพ่อองค์ใหญ่” พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ในพระองค์ มาประดิษฐาน ณ วิหารวัดอินทราราม ในปี พ.ศ. 2548 วัดอินทรารามได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารขึ้นใหม่เกือบทั้งหลัง โดยยังคงใช้เสาและโครงสร้างเดิม เพียงแต่ได้ทำการรื้อหลังคาวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกา และได้สร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างฉัตรไว้ตรงกลาง ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม พร้อมกับกะเทาะฐานล่างของวิหาร� พร้อมกันนี้ก็ได้สร้างราวบันไดทางขึ้น โดยเป็นศิลปะแบบหางวาฬ ตามสมัยนิยม และได้สร้างซุ้มประตูขึ้นใหม่ให้มีความวิจิตรงดงาม พร้อมกับทาสีใหม่ทั้งหลัง โดยได้มีการเฉลิมฉลอง (ปอยหลวง ) เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อวันที่ 17-19เดือนมีนาคมพ.ศ.2549

              ตำนานไม้ขี้เหล็กหลวง	ความปรากฏในตำนานพระนอนขอนม่วงของวัดพระนอนอำเภอแม่ริม	ได้กล่าวตำนานของขี้เหล็กหลวงไว้ว่า�	“ ในสมัยเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จพร้อมพระอานนท์พุทธอุปฐากจากถ้ำเชียงดาว	ทรงหันพระพักตร์กลับแล้วมีพระดำรัสกับพระอานนท์เถระว่า  “ดูกรอานนท์	  ดอยชันสูงยิ่งนักนี้	เป็นดังจักเพียงดาว   ภายหน้านับหมื่นจักได้ชื่อว่า   เมืองเพียงดาวชะแล   เมื่อภายลูนแถมเล่า	คนทั้งหลายจักเรียกเมืองเชียงดาว  ว่าอั้นชะแล	   หลวงว่าอั้นชะแล ”
                            ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปสู่ดอยสี่เหลี่ยมถึงแม่น้ำน้อยอันหนึ่ง ชื่อว่าแม่น้ำชะเหยือง หรือแม่น้ำชะเลืองในปัจจุบัน แล้วก็เสด็จประทับนอนอยู่เหนือขอนไม้ม่วงต้นหนึ่ง   ซึ่งล้มลงมานานแล้ว ตอนนี้จะได้ทรงประดิษฐานพระบรมธาตุ  เพื่อเป็นต้นเค้าการก่อสร้างพระพุทธรูปนอน(ปางสีหไสยาสน์)ที่วัดพระนอน(ขอนม่วง)  ดังนี้”(ผู้ประสงค์จะทราบความโดยละเอียดเรื่องการสร้างพระนอน ขอให้ดูตำนานพระนอน )แล้วพระพุทธเจ้าก็หันพระพักตร์ไปทางหนใต้ทรงดำเนินล่องมาตามริมขอบฝั่งน้ำแม่ระมิงค์ (น้ำแม่ปิง)	  ยังมีไม้ขี้เหล็กต้นหนึ่งมีร่มอันกว้างขวางควรละเมาเอาใจยิ่งนัก  (ควรเป็นสถานรื่นรมย์ใจ)	พระพุทธเจ้าก็เลยเสด็จเข้าไปพักอยู่ในใต้ร่มไม้นั้นสักครู่หนึ่งพอทรงหายเหนื่อยแล้ว  มีพระดำรัสกับพระอานนท์ว่า	“ ดูกรอานนท์กาลภายหน้าฐานะนี้จักได้ชื่อว่าขี้เหล็กร่ม ตามบันทึกของพระเทพสิทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าอาวาสวัดสำเภา ในขณะที่ท่านยังคงดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุดมวุฑฒิคุณ ท่านได้บันทึกตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ไว้ว่า�               “ จากตำนานพระนอนวัดพระนอนขอนม่วงนั้น  ที่เกิดไม้ขี้เหล็กหลวงในอดีตนั้น ปัจจุบันคือ บ้านขี้เหล็กหลวง หมู่ที่ ๖ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  นั้นเอง เพราะมีประวัติความเป็นมาใกล้ชิดติดต่อกันกับการสืบถาม และความทรงจำของผู้บอกเล่าสืบต่อการเป็นลำดับ ” ตามที่บุรพชนได้เล่าสืบต่อกันมาว่า มีไม้ขี้เหล็กที่มีต้นขนาดใหญ่เป็นพิเศษเกิดขึ้นที่บ้านขี้เหล็กหลวง มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปเป็นมณฑลกว้างขวางใหญ่โตมากแต่จะใหญ่โตขนาดไหนไม่ได้บอกขนาดไว้ชัดเจนเป็นแต่บอกเพียงความหมายไว้เป็นชื่อของบ้านนั้น ก็คงจะถือเอาไม้ขี้เหล็กหลวงต้นนั้นเป็นบุพพนิมิต บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านขี้เหล็กหลวง” ตั้งแต่นั้นมาและว่ากันว่า เมื่อเวลาตะวันบ่ายไป เงาไม้ต้นนั้นได้เอื้อมร่มไปถึงบ้านร่มหลวง อำเภอสันทราย     ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง ห่างจากบ้านขี้เหล็กหลวงไปประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ บ้านนั้นจึงได้นามว่า  “บ้านร่มกลวง” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาและเงาไม้นั้นเอื้อมลงมาไม่ถึงบ้านขี้เหล็กน้อยอยู่หน่อยหนึ่ง จึงได้ขนานนามบ้านนั้นว่าบ้านขี้เหล็กน้อยแต่เดิมมาจนทุกวันนี้” “เหตุที่ต้องตัดล้มไม้ขี้เหล็กหลวงต้นนั้น ได้เล่าต่อๆ กันมาว่า เนื่องจากเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่โตมาก ชาวบ้านกลัวว่า นกหัสดีลิงค์ (นกอินทรีย์ยักษ์) จะมาจับเอาชาวบ้านกินเป็นอาหาร จะเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน เพราะเชื่อกันว่านกนั้นกินคนเป็นอาหารส่วนการล้มต้นไม้นั้นได้จ้างฮ่อ (จีนฮ่อ)จำนวนหนึ่งร้อยคนมาเป็นผู้ทำการตัดล้ม และเมื่อตัดไม้ขี้เหล็กหลวงลงแล้ว ชาวบ้านเทียบดูความใหญ่ของไม้ไว้โดยจัดเอาขันโตกแดงชนิดเล็กพื้นเมือง(ขันโตกดินเนอร์) จำนวน ๑๐๐ ใบ ไปวางบนตอไม้นั้นก็เต็มพอดี ดังนั้นก็เป็นอันส่อให้รู้ว่าต้นไม้นั้นใหญ่โตเป็นพิเศษสมกับที่กล่าวไว้ในตำนานพระนอนและคำเล่าลือกันมาแต่ก่อน   อนึ่งเกี่ยวกับบริเวณสถานที่เกิดของไม้ขี้เหล็กหลวงต้นนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า ลำน้ำปิงตรงกับบ้านขี้เหล็กหลวงปัจจุบันนี้ สมัยก่อนเป็นที่ราบสูงธรรมดา ซึ่งแม่น้ำปิงไม่ได่ไหลผ่านมาทางนั้น เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านและวัดขี้เหล็กหลวงเดิม ซึ่งพระกาวิโลรสสุริยวงค์ กษัตริย์นครเชียงใหม่สมัยหนึ่งได้เสด็จไปทรงสร้างวัดขี้เหล็กขึ้น ณ ที่นั้นนับแต่ปีที่สร้างวัดมาประมาณ ๒๐๐ ปี ครั้งต่อมาแม่น้ำปิงได้เซาะฝั่งมาเป็นลำดับ  จนเนื้อที่บ้าน และวัดได้พังทลายลงกลายเป็นแม่น้ำปิงเวลานี้ พระพุทธรูปทองคำของวัด ได้ถูกน้ำพัดจมหายลงในน้ำเป็นจำนวนหลายสิบองค์ คงเหลือแต่วิหาร  ชาวบ้านในคราวนั้นจึงได้ช่วยกันรื้อ และขนย้าย  เครื่องตัวไม้วิหารมาตั้งวัดใหม่อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งก็คือที่ตั้งขอวัดอินทรารามปัจจุบันนี้นั้นเอง  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้เปลี่ยน ชื่อจากวัดขี้เหล็กหลวงมาเป็น “วัดอินทราราม” ตามรัฐนิยมในสมัยนั้น เสาวิหาร ที่พระเจ้าอินทวิชชยานนท์ ทรงสร้างไว้เป็นลายรดน้ำโบราณที่วิจิตรงดงามยังได้รักษานำมาตัดตีนที่ผุ เสริมสร้างเป็นเสาวิหารหลังปัจจุบันทุกเล่ม   ส่วนบริเวณแม่น้ำปิงเก่า ซึ่งแม่น้ำปิงได้เปลี่ยน กระแสมาเดินทางใหม่ดังกล่าวแล้ว ที่เดิมนั้นก็กลายเป็นหาดทรายเขินตื้นขึ้นเป็นเกาะ มีเนื้อที่กว้างใหญ่ติดกับฝั่งแม่น้ำปิงตะวันออกบ้านขี้เหล็กหลวงอยู่ในขณะนี้ เป็นที่ทำไร่ทำส่วนของชาวบ้าน จนกลายเป็นที่บ้านของราษฎรไป ซึ่งเวลานี้เรียกกันว่า บ้านเกาะขี้เหล็ก หรือบ้านเกาะร่มหลวง โดยสันนิษฐานกันว่าบริเวณที่นั้นเป็นที่เกิดขึ้นของต้นไม้ขี้เหล็กหลวงโดยประการฉะนี้แลฯ ( ข้อสัณนิษฐานประกอบ )   “ จากการฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่และการหาเหตุผลมารองรับ สาเหตุที่ต้นไม้ขี้เหล็กหลวงต้องถูกโค่นลงนั้น  น่าจะมีสาเหตุมาจากที่  ต้นไม้ขนาดใหญ่นี้มีความสูง จึงเป็นดังป้อมดูลาดเลากองทัพสมัยนั้น   เนื่องจากมีความสูง  จึงสามารถมองเห็นเหตุการณ์การเดินทัพในระยะไกลได้  เป็นเหตุให้นครเชียงใหม่สามารถล่วงรู้ความเคลื่อนไหวของกองทัพของข้าศึกได้ดี   จึงทำให้กองทัพข้าศึก (พม่าหรือม่าน) ได้ออกอุบายให้คนมาปล่อยข่าว)ให้ชาวบ้านเกิดความกลัวเรื่องนกหัสดีลิงค์ (ซึ่งในสมัยนั้นเข้าใจว่า  คงจะมีนกนานาพันธ์ที่มีขนาดใหญ่  เช่นนกเค้าแมว นกเค้าช้าง  นกแร้ง  เป็นต้น มาอาศัยอยู่มาก หรืออาจจะมีนกที่มีขนาดใหญ่กว่านกที่กล่าวมา  มาอาศัยอยู่  กอปรกับความเชื่อดั้งเดิมเรื่องนกหัสดีลิงค์ตามตำนานคัมภีร์ธรรมโบราณ มีอยู่แล้ว  ทำให้ชาวบ้านเกิดความกลัวยิ่งขึ้น  จึงเป็นสาเหตุของการโค่นต้นไม้ขี้เหล็กหลวงลง ดังกล่าว” และก็ไม่อาจจะระบุตำแหน่งของต้นไม้ขี้เหล็กหลวงได้ว่ารากต้น เดิมอยู่ตรงจุดใดของหมู่บ้าน  (พระอธิการศรายุทธ  วชิรปญโญ  พ.ศ 2549