ประวัติวัดร่องซ้อ

แก้

วัดร่องซ้อ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในปีใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่หลักฐานที่ค้นพบปรากฎในพระธรรมคัมภีร์โบราณของวัด โดยการปริวรรษของ พระมหาพิพัฒน์ อภิวฑฺฒโน (พ.ศ.๒๕๖๕) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พบว่า วัดร่องซ้อ น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ ปี จากพระธรรมคัมภีร์โบราณที่จารึกไว้ ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ซึ่งแต่ก่อน วัดร่องซ้อแห่งนี้แต่เดิมมีชื่อว่า วัดพระยืน หรือวัดบุญยืน สันนิธฐานว่าเป็นวัดที่เรียกตามสถาปัตยกรรม พระประธานในอุโบสถของวัด ซึ่งในเขตเทศบาลเมืองแพร่ จะมีพระประธานปางประทับยืนอยู่ ๒ แห่ง ได้แก่วัดศรีชุม และวัดร่องซ้อ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อวัดร่องซ้อ ตามสภาพที่ตั้งของหมู่บ้าน

อาณาเขตบริเวณวัดร่องซ้อ มีลักษณะเป็นป่าไผ่หนาทึบ ห่างจากบริเวณวัดทางทิศตะวันตก ๕๐ เมตร มีร่องน้ำ(ชาวบ้านเรียก ฮ่องน้ำ) ที่มีต้นซ้อขึ้นตามแนวเขตร่องน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปมีทางเดินเรียบแนวตลอดทาง  ผู้ที่ใช้เส้นทางนี้ส่วนมากเป็นพ่อค้าวัวต่างจากอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พ่อค้าวัวต่างจากจังหวัดพระเยาตลอดจนถึงชาวบ้านปงศรีสนุก (ชุมชนวัดหลวง, วัดพงษ์สุนันท์ ในปัจจุบัน) ที่อยู่ในตัวเมืองแพร่ที่ย้ายออกมาทำไร่ ทำสวน ได้ถางดงไผ่กับพ่อค้าวัวต่างโดยจัดบริเวณตรงกลางของดงไผ่โล่ง  และให้ส่วนหนึ่งเป็นรั้วล้อมบริเวณนี้ไว้สร้างเป็นที่พักและผูกวัวควายได้ ครั้งแรกเป็นแบบพักชั่วคราว ต่อมาได้ย้ายมาอยู่เป็นการถาวร  ใช้เป็นสถานที่ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน พ่อค้าวัวต่างเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณนี้ก็หยุดพักอาบน้ำ  หุงหาอาหาร และพักแรมเป็นประจำทำการให้การประกอบอาชีพไปมาค้าขายสะดวกสบาย จนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น  ทุกคนต่างมีความสำนึกในบุญคุณของบริเวณที่ได้พักพิงเพื่อไปค้าขายเป็นอย่างมาก  จึงคิดถึงเรื่องการสร้างบุญสร้างกุศลให้แก่ตัวเองและครอบครัว จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างศาลาหลังเล็กมุงด้วยหญ้าคาขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นที่พักของสงฆ์และเป็นสถานที่ให้พระสงฆ์มารับบิณฑบาต  รับจตุปัจจัยไทยทานเป็นครั้งคราว  

จากป่าไผ่ป่าไม้ซ้อ แปรเปลี่ยนสภาพเป็น หมู่บ้าน มีสถานที่ทำบุญเป็นสัดส่วน ชาวบ้านที่อยู่ในเมืองและต่างถิ่นก็มาจับจองเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น โดยผู้ที่เข้ามาอาศัยต่างก็ได้เชิญชวนผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาช่วยกันออกแนวคิดร่วมแรงร่วมใจและกำลังทรัพย์ขยายที่ทำบุญสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น โดยเชิญชวนชาวบ้านและพ่อค้าวัวต่างมาร่วมสนับสนุนด้านกำลังเงิน กำลังกายช่วยกันสร้างถาวรวัตถุที่มั่นคงถาวรเพิ่มเติม เช่น สร้างกุฏิ วิหาร ศาลา บ่อน้ำ และเรียกชื่อสถานที่ทำบุญว่า “วัดฮ่องซ้อ” ตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นร่องน้ำและมีต้นไม้ซ้อขึ้นโดยทั่วไปชื่อ “วัดฮ่องซ้อ” เรียกขานกันมาเท่าใดไม่ปรากฏและบ้านเรือนที่อยู่บริเวณโดยรอบก็เรียกขาน ตามชื่อวัดไปด้วยว่า “บ้านฮ่องซ้อ” ซึ่งมีความหมายว่าร่องน้ำที่มีต้นซ้ออยู่นั้นเอง แล้วกลายมาเป็นคำว่า “ร่องซ้อ” ในที่สุด

ที่ตั้งของวัดปัจจุบันวัดร่องซ้อตั้งอยูทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองแพร่ ทิศเหนือติดถนนร่องซ้อ ทิศตะวันออกติดกับหมู่บ้านร่องซ้อ ทิศตะวันตกติดกับถนนสานร่องซ้อทางไปวิทยาลัยเทคนิคแพร่ พื้นที่ของวัดมีทั้งหมด ๔ ไร่ ๑๔ ตารางวา ขึ้นทะเบียนประกาศเป็นวัดชื่อ “ร่องซ้อ” เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๑ ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

ลำดับเจ้าอาวาสวัดร่องซ้อ

        ๑. พระดี จิตตวํวโร                     พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๐
        ๒. พระปลิ้น                             พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๖
        ๓. พระอธิการฮ่อน  กิตฺติสาโร       พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๑๙
        ๔. พระอธิการเฉลิม ฉนฺทกโร        พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๕
        ๕. พระครูมุห์สุรินทร์ สุทธิโก         พ.ศ.. ๒๕๒๖ – ๒๕๒๙
        ๖. พระครูอมรพุทธิคุณ                พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๖๓
        ๗. พระมหาพิพัฒน์  อภิวฑฺฒโน    พ.ศ. ๒๕๖๓ - ปัจจุบัน