ป่านศรนารายณ์

แก้


	ชื่อวิทยาศาสตร์ Agave sisalana

ตระกูล Agavecae ประวัติ - แหล่งกำเนิดป่านศรนารายณ์ ประเทศเม็กซิโก - แหล่งปลูกป่านศรนารายณ์ ในประเทศไทย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทยนำมาปลูก เมื่อปี 2505 ที่สถานีทดลองพืชไร่โนนสูง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ความเป็นมาของป่านศรนารายณ์ที่หมู่บ้านหุบกะพง - หมู่บ้านหุบกะพง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโครงการพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์ปัจจุบัน - ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เป็นหน่วยงานราชการ สังกัดสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ ให้คำแนะนำ และส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัด งานสาธิตและทดลองการเกษตร งานจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม งานชลประทาน งานส่งเสริมการเกษตร และงานด้านประชาสัมพันธ ์ - เมื่อปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนสมาชิกในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ทรงแนะนำให้แม่บ้านนำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ในด้านการจักสาน เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้ว เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวเกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยมีสมาคมสตรีธุรกิจ และวิชาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ความรู้ และฝึกทักษะให้แก่แม่บ้านสหกรณ์ด้วย วิธีการใช้เส้นใยป่านศรนารายณ์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ในหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง - ปี 2524 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับงานจักสานป่านศรนารายณ์ของแม่บ้าน สหกรณ์หุบกะพง เข้าไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ จนทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ


ลักษณะทั่วไปและประโยชน์ของป่านศรนารายณ์ ป่านศรนารายณ์เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบมีเส้นใย นำไปใช้ประโยชน์ได้ เส้นใยมีลักษณะแข็ง เหมาะสมสำหรับใช้ในการทำอุตสาหกรรม การทำเชือก โดยเฉพาะเชือกที่ใช้ในทะเล

1. ลักษณะต้น เป็นกอ มีใบแตกออกไปโดยรอบเวียนเป็นวง ตั้งแต่โคนต้นถึงยอด สูงประมาณ 1 - 3 เมตร ใบหนาฉ่ำ ใยเรียบ ไม่มีก้านใบ สีเขียวสดจนถึงเขียวเข้ม ยาวประมาณ 100 - 200 เซนติเมตร ปลายใบหยาบ ลักษณะสีดำ ขอบใบเรียบ 2. ระบบราก รากฝอยแผ่กว้างออกไปในแนวลาดนอน ไม่มีรากแก้ว 3. อายุและการออกดอก ก้านดอก จะเกิดบริเวณตอนกลางของตา ตอนส่วนยอดของต้น และเกิดเมื่อป่านมีอายุ 7 – 20 ปี หลังจากต้นป่านออกดอกแล้วจะตาย ก้านดอกจะเจริญเติบโตเป็นแนวยาวขึ้นตรงไปในอากาศ ประมาณ 4.5 – 7.5 เมตร ประโยชน์และความสำคัญ 1. โรงงานอุตสาหกรรม ใช้ทำเชือก ถุง กระสอบ กระเป๋า ผ้าปูพรม เยื่อกระดาษชนิดต่าง ๆ เครื่องโลหะที่ชุบโครเมียม เช่น ช้อนส้อม กันชนรถยนต์ โลหะสแตนเลส 2. อุตสาหกรรมในครัวเรือน กลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ใช้ประดิษฐ์จักสานชนิดต่าง ๆ เช่น หมวก กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ฯลฯ 3. เกษตรกรรม เนื้อเยื่อจากป่านศรนารายณ์ ประโยชน์ทำปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ 4. ยาปฏิชีวนะ สารจากการสกัดและนำไปหมักใช้เป็นยาปฏิชีวนะ และรักษาโรคได้หลายชนิด

พันธุ์และลักษณะประจำพันธุ์ ป่าน (Agae Sp.) ชนิดที่สำคัญในการผลิตเอาเส้นใยมี 3 ชนิด คือ 1. ป่านไซซอล หรือป่านศรนารายณ์ (Agave Sisalana) ลักษณะใยสีเขียวเข้ม ริมใบมีหนามมาก เส้นใยละเอียด เหนียว และแข็งแรง ปลายใบมีหนาม 2. ป่านสับปะรด (Henegequen Agave Fourcroydes) ลักษณะใบสีนวล ใบหนาและอวบกว่าป่านศรนารายณ์ ทนแสงและทนแมลง เส้นใยหยาบ 3. ป่านมาเดียว (Magvey) Agave Contala ลักษณะใบเขียวอ่อน ใบค่อนข้างบาง ริมใบมีหนามเป็นระยะ ๆ แข็งแรงน้อยกว่า และให้ผลผลิตต่ำ การปลูกป่านศรนารายณ์ การปลูก ปลูกเป็นแถวระยะห่างต้น 1 เมตร และระหว่างแถว 1 เมตร เพื่อสะดวกแก่การตัดใบ ซึ่งจะกางเหยียดเมื่อต้นโต และประมาณ 45 องศา ในหนึ่งไร่ปลูกได้ 1,600 ต้น ใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง จึงจะเริ่มตัดได้ ผลผลิตในเส้นใย - หลังจากปลูกประมาณ 2 ปี ป่านต้นหนึ่งจะผลิใบได้ประมาณ 30 ใบ หรือไร่ละ 48,000 ใบต่อปี - ใบป่านยาว 1 เมตร มีน้ำหนักเฉลี่ย 0.4 กิโลกรัม จากการทดสอบรีดเส้นใย - ใบป่านที่ยาว 1 เมตร จำนวน 100 ใบ จะได้เส้นใยตากแห้งสุทธิเฉลี่ยประมาณ 2.2 กิโลกรัม ในเนื้อที่ 1 ไร่ (48,000 ใบ) จะได้เส้นใยสุทธิคำนวณเป็นน้ำหนักประมาณ 1,056 กิโลกรัม - ใบป่าน 150/1 กก. - เส้นใยป่าน 1 กก. สามารถถักเปียได้ 250-300 เมตร - เปีย 100 เมตร สามารถทำหมวกใบใหญ่ได้ 2 ใบ,หมวกใบเล็กได้ 3 ใบ,กระเป๋าจิ๋วได้ 20 ใบ การเก็บเกี่ยว - ป่านจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป และต้นป่านมีความสูง 1.5 เมตร ขึ้นไป ตัดครั้งแรกจะได้ใบป่านประมาณ 15.80 ใบต่อต้นต่อปี ในการตัดใบครั้งแรกควรเหลือใบป่านเพียง 25 ใบต่อต้น และในการตัดครั้งต่อไปคงเหลือไว้ประมาณ 20 ใบต่อต้น การตัดแต่ละครั้งควรเว้นช่วงห่าง 1 ปีต่อครั้ง ให้ตัดใบป่านจรดลำต้นแล้วตัดหนามที่ปลายใบออก แล้วมัดรวมกัน 30 ใบต่อมัด การจำหน่าย - เส้นใยป่านศรนารายณ์ที่จำหน่ายในปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท ใน 1 ไร่ จะมีรายได้จากการปลูกป่าน 10,000-12,000 บาท นับเป็นพืชที่ทำรายได้ดีพอควร สำหรับพืชที่ปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง และไม่เหมาะสมแก่การปลูกพืชชนิดอื่น ๆ

การแปรรูป - ปานศรนารายณ์ เส้นใยทำการแปรรูปได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะได้เส้นใยที่มีคุณภาพแตกต่างกัน เส้นใยที่ได้จากการแปรรูป ในโรงงานอุตสาหกรรม จะนำไปจำหน่ายในโรงงาน ส่วนการ แปรรูปด้วยมือ จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านงานหัตถกรรม ในรูปของผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ - เส้นใยป่านศรนารายณ์ควรเก็บรักษาไว้ไม่ให้ถูกความชื้น หากถูกความชื้นจะขึ้นรา ทำให้เป็นจุดสีดำ - การย้อมสีป่านศรนารายณ์ เป็นการทำให้ป่านเกิดสีสันชนิดต่าง ๆ มากมายตามความต้องการเพื่อนำไปใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ตามความต้องการ ในการย้อมสีป่านศรนารายณ์ที่ถูกต้อง จะทำให้ได้ป่านสีสวยและสีติดทนนาน แหล่งวัตถุดิบ ปัจจุบันเส้นใยป่านศรนารายณ์ที่สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด รับซื้อจากโรงงาน อุตสาหกรรมและแปรรูปด้วยมือ ประมาณ 2,000 กิโลกรัม ต่อปี ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการเอกชน ราคาป่านดิบที่สหกรณ์รับซื้อ แบ่งเป็น 2 ราคา คือ 1. ป่านดิบที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรม ราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท 2. ป่านดิบที่ได้จากการแปรรูปด้วยมือ ราคากิโลกรัมละ 100 บาท จากการสอบถามผู้ที่ทำผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์มาเป็นเวลานาน ๆ สมาชิกให้ความเห็นว่า เส้นใยป่านที่ได้จากการแปรรูปด้วยมือจะใช้กับงานหัตถกรรมได้ดีกว่าที่ได้จากเครื่องจักรกล มีความนิ่มมากกว่า และกากป่านติดมาน้อยกว่า

             ในความเป็นจริง สหกรณ์รับซื้อเส้นใยดิบจากโรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนใหญ่ และอีกส่วนหนึ่งรับซื้อจากการแปรรูปของสมาชิกเอง เมื่อตลาดรับซื้อเส้นใยดิบป่านศรนารายณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด สมาชิกสหกรณ์บางส่วน สมควรที่จะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเส้นใยป่านศรนารายณ์ส่งขายให้สหกรณ์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการผลิตเครื่องจักสานจากป่านศรนารายณ์มีการผลิตแบบครบวงจร	 

ข้อมูลป่านศรนารายณ์ 1. พื้นที่ 1 ไร่ ใช้หน่อ 4,000 หน่อ/ไร่ 2. ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว เมื่อปลูกเสร็จแล้ว สามารถ เก็บผลผลิตได้ ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี 3. ใบป่าน 150 ใบ/1 กก. 4. เส้นใยป่าน 1 กก. สามารถถักเปียได้ 250-300 เมตร 5. เปีย 100 เมตร สามารถทำหมวกใบใหญ่ได้ 2 ใบ, ทำหมวกใบเล็กได้ 3 ใบ,ทำกระเป๋าจิ๋วได้ 20 ใบ

อ้างอิง

แก้

[1]

  1. http://webhost.cpd.go.th/hubkapong/pan.html