วิวัฒนาการการเกิดการแปรสัณฐานของประเทศไทย(Tectonic Evolution) แบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง -ขั้นแปรสัณฐานบรรพกาล (Archeotectonics) -ขั้นแปรสัณฐานโบราณกาล (Paleotectonics) -ขั้นแปรสัญฐานมัชฌิมกาล (Mesotectonics) -ขั้นแปรสัณฐานนวกาล (Neotectonics) โดยประเทศไทยประกอบจากแผ่นธรณีสัณฐานอยู่ 4 แผ่น ได้แก่ จุลทวีปฉาน -ไทย , ลำปางเชียงราย ,นครไท และอินโดจีน โดยทั้ง 4 แผ่นเรียงต่อกันตามลำดับ และบางทีทั้ง 4แผ่นอาจจะมาจากมหาทวีปกอนด์วานา ทั้งนี้ในอดีต แต่ละแผ่นไม่ได้อยู่ใกล้กับประเทศไทยในปัจจุบันเลย

1) ธรณีวิทยาแปรสัณฐานช่วง บรมยุคอาร์คีโอโซอิก (Archeotectonics)

ในอดีตหินฐานธรณีชาน-ไทยที่มีอายุช่วงพรีแคมเบรียนยังอยู่ติดกับขอบด้านตะวันตกของหินฐานทวีปออสเตรเลีย (Australian shield) และยังเชื่อมต่ออยู่กับแผ่นดินกอนด์วานาทางด้านตะวันตก มีการแปรสภาพของชั้นหินคาร์บอเนตสกปรก และตะกอนที่เกิดจากกระแสน้ำขุ่นวน (turbidity current) ทำให้ได้หินแปรเกรดแอมฟิโบไลต์ ซึ่งมีหินอัคนีต่างๆ เช่น หินแกรนิต แทรกดันตัวขึ้นมาด้วย หินฐานธรณีอินโดจีนมีความคล้ายคลึงกันทั้งทางลักษณะเนื้อหินและลำดับขั้นการแปรสภาพทำให้เห็นว่าหินฐานทั้งสองอยู่ในหินฐานทวีปเดียวกัน ในยุคแคมเบรียนตอนล่างและตอนกลาง หินฐานธรณีชาน-ไทยมีการเคลื่อนที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา มาอยู่ในละติจูดต่ำในซีกโลกใต้ตอนช่วงยุคแคมเบรียนตอนบนถึงออร์โดวิเชียนตอนล่างซึ่งเคลื่อนที่ในทิศทางเดียวกันกับหินฐานทวีปออสเตรเลีย ในขณะที่จุลทวีปอินโดจีน อาจอยู่ติดกับแผ่นจีนตอนใต้กลับแผ่นเจียตอนเหนือแผ่นคิตากามิและคุโรชิกาวาอาจมีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับทางด้านเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปออสเตเรีย ในช่วงต้นของตอนกลางมหายุคพาลีโอโซอิก เกิดการแตกของจุลทวีปฉาน-ไทยกับอินโดจีน ซึ่งทำให้เกิดการเปิดออกของมหาสมุทธทีทีสโบราณและเกิดเป็นแผ่นลำปาง-เชียงรายและนครไทขึ้นมาซึ่งเป็นผลของการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภูเขาไฟ

2)ธรณีวิทยาแปรสัณฐานช่วงมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleotectonics)

-ยุคไซลูเรียนจนถึงยุคไทรแอสซิก เกิดร่องทรุดที่ทำให้มีการแยกตัวออกของจุลทวีปทั้งสองและเกิดการเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือหินฐานธรณีชาน-ไทย -ในช่วงออร์โดวิเชียนตอนปลาย-ไซลูเรียนตอนต้น การเปลี่ยนแปลงทิศทางการหมุนตัวของหินฐานธรณีชาน-ไทย ทำให้เกิดการแยกตัวจนเริ่มเกิดเป็นจุลทวีปชาน-ไทย (Shan-Thai microcontinent) และจุลทวีปอินโดจีน (Indochina microcontinent)ขณะที่เกิดการมุดตัวของเปลือกโลกใต้พื้นสมุทรขึ้นพร้อมกัน โดยบริเวณฝั่งตะวันออกของขอบหินฐานธรณีชาน-ไทย จนก่อตัวเป็นหมู่เกาะรูปโค้ง (island arc) -ในช่วงยุคไซลูเรียนถึงยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้น มีการสะสมตัวของหินปูนและหินตะกอนเนื้อประสม ตามไหล่ทวีปในบริเวณที่เป็นแอ่ง และระหว่างหมู่เกาะรูปโค้งกับร่องลึกก้นสมุทรของหินฐานธรณีชาน-ไทยหินฐานธรณีอินโดจีน -ในช่วงยุคดีโวเนีย ขอบด้านตะวันตกของหินฐานธรณีอินโดจีนเกิดการแยกตัวออกจากหินฐานธรณีชาน-ไทย (ปัจจุบันคือจังหวัดเลย)อย่างชัดเจน -ในช่วงประมาณยุคดีโวเนียนตอนปลาย พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีขอบของร่องทรุดและต่อมาเป็น passive margin จนถึงยุคเพอร์เมียนตอนปลาย -ยุคไซลูเรียนจนถึงยุคไทรแอสซิก บริเวณขอบด้านตะวันตกของหินฐานธรณีอินโดจีน ตะกอนไหล่ทวีปมีการตกทับถมรวมกันเป็นชั้นหนา โดยไม่ปรากฏหินภูเขาไฟประทุขึ้นมา -ในช่วงยุคดีโวเนียนตอนปลายถึงคาร์บอนิเฟอรัส ตอนต้น มีการดันตัวขึ้นมาของหินหนืดบริเวณศูนย์กลางรอยแยก (spreading center) ระหว่างหินฐานธรณีชาน-ไทยกับหินฐานธรณีอินโดจีน ทำให้เกิดแนวหินภูเขาไฟบะซอลต์ เปลือกโลกใต้พื้นสมุทรมุดตัวไปทางตะวันตก ด้านขอบตะวันออกของหินฐานธรณีชาน-ไทย ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับการเกิดแนวโค้งหินภูเขาไฟเชียงราย (Chiang Rai Volcanic Arc) และการเกิดร่องทรุดในแอ่งส่วนโค้งด้านหลังเชียงใหม่ (Chiang Mai Back- Arc Basin Rift) ในช่วงอายุคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลาย -ในยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้น เกิดธรณีวิทยาแปรสัณฐานของธรณีแอ่นตัวเททีส (tethys plate tectonic)ในขณะที่หินฐานธรณีชาน-ไทยเกิดการแยกตัวออกจากหินฐานทวีปออสเตรเลีย ส่งผลให้เกิดมหาสมุทรใหม่ขึ้น เกิดเป็นธรณีแอ่นตัวเททีสของมหายุคมีโซโซอิก (Mesotethys) (ในขณะที่ธรณีแอ่นตัวเททีสของมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleotethys) และเริ่มปิดตัวตามแนวยาวขอบทวีปด้านเหนือ ซึ่งปิดอย่างสมบูรณ์ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย)มีผลทำให้หินฐานธรณีชาน-ไทยเคลื่อนที่เร็วขึ้นและเกิดการมุดตัวของเปลือกโลกใต้พื้นสมุทรทางขอบด้านตะวันออก (หรือ Mesotethys) จนเกิดการระเบิดของภูเขาไฟยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้นตามขอบหินฐานธรณีชาน-ไทย และบางส่วนเกิดการคดโค้งจนทำให้หินแกรนิตสมารถแทรกผ่านขึ้นมาได้ พร้อมกันนั้นเกิดการยุบตัวของแอ่งในหมู่เกาะรูปโค้งด้านหลัง และเกิดการชนกันระหว่างหมู่เกาะภูเขาไฟรูปโค้งกับหินฐานธรณีชาน-ไทย ทำให้หินโคลนปนกรวดยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลายเกิดขึ้นตามร่องทรุดระหว่างหินฐานธรณีชาน-ไทยกับหินฐานธรณีออสเตรเลีย -ในช่วงยุคเพอร์เมียนตอนต้น เกิดร่องทรุดระหว่างหินฐานธรณีชาน-ไทยกับหินฐานทวีปออสเตรเลีย ซึ่งหินฐานทั้งสองแยกตัวเด็ดขาดออกจากกัน -ในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนกลางถึงยุคเพอร์เมียนตอนกลาง หินฐานธรณีชาน-ไทยกับหินฐานทวีปออสเตรเลีย แยกตัวเด็ดขาดออกจากกัน หินฐานธรณีชาน-ไทยได้เคลื่อนตัวแยกออกมาและลอยตัวอยู่ระหว่างธรณีแอ่นตัวเททีสมหายุคพาลีโอโซอิกและมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งมีหลักฐานคือกลุ่มหินแก่งกระจานซึ่งมีอายุคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลายถึงเพอร์เมียนตอนต้นในหินฐานธรณีทั้งสอง -ในยุคเพอร์เมียนตอนปลาย หินฐานธรณีชาน-ไทยได้เคลื่อนที่ขึ้นไปทางเหนือและหมุนตัวตามเข็มนาฬิกาอย่างช้าๆ จนหินฐานธรณีชาน-ไทยและหินฐานธรณีอินโดจีนอยู่ใกล้กับขอบของทวีปจีนตอนใต้มีการสะสมตะกอนตามขอบทวีป จนเริ่มเกิดสันยาวใต้ท้องสมุทร (spreading ridge) ระหว่างหินฐานธรณีชาน-ไทยและอินโดจีนพร้อมกับการมุดตัวของเปลือกโลกใต้พื้นสมุทรทั้งสองข้างเป็นผลให้หินฐานธรณีชาน-ไทยและอินโดจีนเคลื่อนตัวเข้าหากันอย่างรวดเร็ว -ยุคเพอร์เมียนตอนปลาย หรือยุคไทรแอสซิกตอนต้น หินฐานธรณีชาน-ไทยจะเริ่มสัมผัสกับหินฐานธรณีอินโดจีนเป็นครั้งแรกบริเวณทางใต้ โดยพบหลักฐานจากการคดโค้งแบบ Isoclinal fold ในหินปูนเพอร์เมียน -ในยุคไทรแอสซิกตอนกลาง-ปลาย หินฐานธรณีชาน-ไทย เกิดการหมุนตัวตามเข็มนาฬิกาอย่างรวดเร็ว จนเข้าไปเชื่อมกับส่วนตะวันตกของหินฐานธรณีอินโดจีนอย่างสมบูรณ์ มีการสะสมตัวของตะกอนภาคพื้นมหาสมุทรอายุไทรแอสซิกทางภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มหินลำปางทางขอบตะวันออกของหินฐานธรณีชาน-ไทย และมีการแทรกตัวของหินแกรนิตยุคไทรแอสซิก-จูแรสซิกตอนต้นที่เป็นแหล่งแร่ดีบุกสมบูรณ์ตามแนวยาวตลอดจากประเทศพม่า ตะวันตกของไทย แหลมไทย-มลายู และส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินโดนีเซีย

3)ธรณีวิทยาแปรสัณฐานช่วงมหายุคมีโซโซอิก (Mesotectonics)

ธรณีวิทยาแปรสัณฐานนี้เกิดขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ตอนปลายของยุคไทรแอสสิกจนถึงยุคครีเทเชียสซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์การรวมตัวกันของหินฐานธรณีชาน-ไทยกับหินฐานธรณีอินโดจีนเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง หรือเดิมเรียกว่าการก่อเทือกเขาอินโดไซเนียน (Indosinian Orogeny) โดยประเทศไทยในตอนนั้นอยู่บริเวณ 20 องศาเหนือ ทำให้ตะกอนทะเล (marine deposition) หยุดทับถมตัวลงอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังพบหินที่เกิดในแอ่งน้ำทะเลเล็ก ๆ ในยุคจูแรสซิกทางฝั่งตะวันตกของประเทศที่เกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนบริเวณแม่เมย และแควน้อย-แควใหญ่ ยังมีการสะสมของกลุ่มหินแม่เมย(Mae Moei Group -ยุคจูแรสซิก ในแอ่งที่ราบสูงโคราชเกิดการทับถมของตะกอนในที่ราบน้ำท่วมถึง คือหินพวกโมลาล์ส (กลุ่มหินโคราช) ซึ่งสะสมตัวค่อนข้างหนาซึ่งประกอบไปด้วย หมวดหินน้ำพองสะสมตัวในยุคจูแรสซิก หมวดหินพระวิหารสะสมตัวยุคจูแรสซิกถึงครีเทเชียส หมวดหินเสาขลัว หมวดหินภูพาน หมวดหินโครกกรวด หมวดหินภูทอกและหมวดหินมหาสารคาม) โดยมีแอ่งน้ำทะเลซึ่งสะสมชั้นเกลือหมวดหินมหาสารคามในบริเวณที่ราบสูงโคราชช่วงยุคครีเทเชียส และแอ่งน่านในช่วงยุคไทรแอสซิกตอนปลายถึงยุคครีเทเชียส -ยุคครีเทเชียสตอนกลาง เกิดแอ่งตะกอนมหาสารคาม เป็นผลของการเอียงเทของแอ่งที่ราบสูงโคราชไปทางตะวันออกอย่างช้า ๆ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมตัวของแผ่นเปลือกโลกพม่าตะวันตก (Western Burma plate) กับหินฐานธรณีชาน-ไทย (เดิม) หรืออาจเป็นผลจากการดันตัวของหินแกรนิตอายุครีเทเชียส ตามแนวเปราะบางที่วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ บริเวณภาคกลาง อ่าวไทยและภาคตะวันตกของประเทศไทย แรงบีบอัดดังกล่าวทำให้เกิดการยกตัวของเทือกเขาเพชรบูรณ์ -ยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงเทอร์เชียรีตอนต้น คืออีกทฤษฎี ที่เชื่อว่ามีการมุดตัวของเปลือกโลกใต้พื้นสมุทรบริเวณตะวันออกของอ่าวเบงกอลในปัจจุบัน (ด้านตะวันตกของหินฐานธรณีชาน-ไทย) ซึ่งเริ่มเกิดในขณะที่คาบสมุทรอินเดียเริ่มเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปปิดธรณีแอ่นตัวเททิสมหายุคมีโซโซอิกทางเหนือและเกิดการชนกันของแผ่นเปลือกโลกพม่าตะวันตกกับหินฐานธรณีชาน-ไทย (เดิม) และทำให้เกิดหินแกรนิตยุคครีเทเชียสที่ให้แร่ดีบุกบริเวณชายแดนไทย-พม่า ธรณีวิทยาแปรสัณฐานยุคนี้ส่วนใหญ่มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มรอยเลื่อนแม่ปิงและเจดีย์สามองค์ที่พบแบบรอยเลื่อนตามแนวระดับที่มีการเคลื่อนตัวไปทางซ้ายโดยมีแนวเกือบขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River Fault Zone) ในเวียดนาม ที่แยกแผ่นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกจากแผ่นทวีปจีนตอนใต้ การเคลื่อนตัวตามแนวระดับนี้จะหยุดลงประมาณยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงต้นยุคเทอร์เชียรี เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียเคลื่อนตัวเข้าชนปะทะกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ทำให้เกิดแนวภูเขาหิมาลัย และมีผลทำให้พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการหมุนตัวไปตามเข็มนาฬิกา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคเทอร์เชียรีเป็นต้นมา และกลุ่มรอยเลื่อนแม่น้ำแดง (ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่) มีการเคลื่อนตัวไปทางขวา (dextral movement) เช่นเดียวกันกับกลุ่มรอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ในแนวเดียวกัน โดยตั้งแต่ยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงต้นยุคเทอร์เชียรีจุลทวีปทั้งสองนี้ได้เข้ามาเชื่อมกันทำให้เกิดแนงตะเข็ยธรณีตามแนวรอยต่อรอยเลื่อนสะเกียงซึ่งวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ และทำให้มหาสมุทรทีทีสมัชฌิมกาลหายไป

4)ธรณีวิทยาแปรสัณฐานยุคใหม่ (Neotectonics)

ธรณีวิทยาแปรสัณฐานนี้เกิดขึ้นในช่วงมหายุคซีโนโซอิก เป็นช่วงเหตุการณ์เกิดร่องทรุดของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเกิดอ่าวไทยและธรณีวิทยาแปรสัณฐานยุค ควอเทอร์นารี โดยจากการชนของสองจุลทวีปทำให้เกิดการเชื่อมติดกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปลายสมัยอีโอซีนโดยเมื่อทวีปอินเดียมุดตัวไปใต้ทวีปยูเรเชียทำให้มหาสมุทรทีทีสนวกาลหายไป -มหายุคมีโซโซอิกตอนปลายต่อกับเทอร์เชียรีตอนต้น ในประเทศไทยมีช่วงการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาแปรสัณฐานที่สำคัญ ส่งผลให้หินฐานธรณีอินโดจีน (เดิม) หมุนตัวตามเข็มนาฬิกาและรอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River Fault) และรอยเลื่อนแม่ปิง ได้หยุดการเคลื่อนที่ พร้อมทั้งทำให้เกิดการหยุดหมุนตัวตามเข็มนาฬิกาของทวีปจีนตอนใต้ เกิดการดันตัวสูงขึ้นของแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเกิดการยกตัวของเทือกเขาภูพานและเทือกเขาพนมดงรักตามบริเวณกลางแอ่งโคราช และหลังจากนั้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดการผ่อนคลายของแรง (relax) โดยทางด้านตะวันตกจะเกิดเป็นแอ่งที่ไม่ชัน พร้อมทั้งเกิดการทับถมของตะกอนเนื้อประสมเม็ดละเอียดแทรกอยู่กับชั้นของตะกอนอินทรีย์ที่พัดมาจากบริเวณใกล้เคียงเข้ามาสะสมตัวในแอ่งมหายุคซีโนโซอิก -ยุคเทอร์เชียรีจะเกิดรอยเลื่อนแบบปกติขึ้นแนวเกือบเหนือใต้ เนื่องจากเปลือกโลกในระยะนี้เกิดการขยายตัวเกือบขนานกับแอ่งลึกก้นสมุทรชวาในปัจจุบัน อันเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใต้สมุทรมุดเข้าไปใต้ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีรอยเลื่อนแบบปกติอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ เป็นจำนวนมาก ซึ่งคิดว่าน่าเกิดจากการขยายตัวของเปลือกโลกจากทางใต้ขึ้นมาทางเหนือ จนทำให้เกิดเป็นอ่าวไทยขึ้น การที่ชั้นหินบริเวณชายฝั่งทะเลทางเหนือ จังหวัดเพชรบุรีวางตัวอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือนั้น เนื่องมาจากอิทธิพลของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ส่วนรอยเลื่อนที่อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ แสดงถึงการขยายตัวออกของอ่าวไทย ในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก หลังจากนั้นกลุ่มรอยเลื่อนแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนตามแนวระดับเริ่มมีการเคลื่อนตัวไปทางซ้ายและรอยเลื่อนแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีการเคลื่อนตัวไปทางขวา ทำให้อ่าวไทยด้านล่างเปิดเป็นมุมกว้างและแคบลงเรื่อย ๆ ขึ้นไปทางเหนือจนถึงศูนย์องศาที่บริเวณกรุงเทพฯ ทำให้การขยายตัวของอ่าวไทยในแนวตะวันออก-ตะวันตกสิ้นสุดลง ในยุคเทอร์เชียรีจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรณีที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ถ่านหิน หินน้ำมัน และน้ำมัน มักพบในหินตะกอนมหายุคซีโนโซอิกที่สะสมตัวหนาอยู่ในแอ่งบนแผ่นดิน บริเวณฝั่งตะวันตกของที่ราบสูงโคราชทั้งในยุคครีเทเชียสตอนปลาย หรือต้นยุคเทอร์เชียรี ซึ่งแอ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากอิทธิพลของธรณีวิทยาโครงสร้างจากยุคนี้ทั้งสิ้น -สมัยอีโอซีนตอนต้นถึงไมโอซีนตอนปลาย กลุ่มรอยเลื่อนปกติที่เกิดจากแรงดึง (tensional regime) บริเวณด้านเหนือของอ่าวไทยพบว่าเกิดในสมัยเทอร์เชียรีตอนกลางและทำให้เกิดหินอัลคาไลน์บะซอลต์ (alkaline basalt) ที่แผ่กระจายอย่างกว้างขวางในประเทศไทยและอินโดจีนยุคเทอร์เชียรีตอนปลายและยุคควอเทอร์นารีซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเปลือกโลก อายุของหินภูเขาไฟบริเวณจังหวัดลพบุรี แสดงถึงเหตุการณ์ของธรณีแปรสัณฐานในยุคเทอร์เชียรีตอนต้นมีหลายครั้ง ทั้งนี้การเกิดแนวภูเขาไฟดังกล่าวเกิดจากเปลือกโลกได้ขยายตัวและเกิดร่องทรุดตามรอยเปราะบางของผิวโลกซึ่งเป็นแนวรอยต่อธรณีเดิมระหว่างหินฐานธรณีชาน-ไทยกับอินโดจีนเดิม แผ่ขยายไปทางเหนือเรียกว่าแนวร่องทรุดลพบุรี (Lop Buri Continental Rift Zone) ซึ่งเกิดจากการผ่อนคลายและขยายตัวหลังจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับยูเรเซีย และเชื่อว่าเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเคลื่อนตัวกลับทิศทางของรอยเลื่อน -สมัยไมโอซีนตอนกลางถึงตอนปลาย จากการศึกษาแอ่งเทอร์เชียรีที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางบริเวณภาคเหนือพบว่าตัวแอ่งนั้นเกิดจากรอยเลื่อน ส่วนแอ่งต่าง ๆ ทางภาคเหนือก็เข้าใจว่าเกิดแบบเดียวกับแอ่งแม่เมาะในระยะเวลาเดียวกัน โดยเกิดมาจากแรงดึง อันเป็นผลให้ทางภาคเหนือของประเทศไทยมีธรณีวิทยาโครงสร้างใหญ่คล้ายกับบริเวณอ่าวไทยตอนบน การเกิดกลุ่มรอยเลื่อนปกติ มักจะเกิดร่วมกับเหตุการณ์ยกตัวของเปลือกโลกจนกระทั่งเป็นเทือกเขาในปัจจุบันโดยมักพบลักษณะพื้นเกือบราบตามยอดเขาและมีธรณีสัณฐานซึ่งเกิดจากการยกตัวตามบริเวณไหล่เขา -ยุคควอเทอร์นารี ในบางพื้นที่ยังพบหินยุคนี้ถูกยกตัวขึ้นไปในที่สูง ชายฝั่งบางบริเวณพบตะกอนยุคควอเทอร์นารีพวกก้อนกรวด ทับถมอยู่บนตะพักชายฝั่ง (marine terrace) ซึ่งเกิดจากการยกตัวของชายฝั่งอ่าวไทยและตะพักลุ่มน้ำ (alluvial terrace) ในบริเวณขอบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย ตะพักต่างๆ เหล่านี้ แสดงว่าแผ่นดินส่วนนี้มีการยกตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลายุคควอเทอร์นารี จากการศึกษาแผ่นดินไหวในประเทศไทย และพื้นแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ รศ.ดร. ปัญญา จารุศิริ พบว่ารอยเลื่อนที่แม่จัน (จ.เชียงราย) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (จ. กาญจนบุรี) จัดแบ่งรอยเลื่อนทั้งสองดังกล่าวออกเป็น 5 สาขาทั้งสองรอยเลื่อน และทราบประวัติและวิวัฒนาการการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนทั้งสอง โดยเฉพาะจากการศึกษาธรณีวิทยาและธรณีกาลวิทยาอย่างละเอียด พบว่ารอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ได้เคยเกิดการเลื่อนตัวทั้งหมด 5 ครั้งในช่วง เวลาประมาณ 1 ล้านปีจนถึง 2 หมื่นปี และรอยเลื่อนสาขาแม่จัน (สาขาหนึ่งของรอยเลื่อนแม่จัน) พบว่าได้เคยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตจำนวน 5 ครั้ง นับตั้งแต่ประมาณ 940,000 ปี จนถึง 1,600 ปี ซึ่งการเลื่อนตัวดังกล่าวทั้งหมดก่อให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในอดีตเทียบได้มากกว่า 7 ริคเตอร์

Reference

Punya Charusiri, Suwith Kosuwan and Suwapak Imsamut. August 1997. Tectonic Evolution of Thailand : From Bunopas (1981)s to a new scenario. International Conference on Stratigrophy and Tectonic Evolution of Southeast Asia and South Pacific. 1997:414-419.

กรมทรัพยากรธรณี. ธรณีวิทยาประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่2. ซอยร่วมศิริมิตร ถนนวิภาวดีรังสิต. โรงพิมพ์ดอกเบี้ย.