ผู้ใช้:TCI centre/กระบะทราย

ศูนย์ดัชนีการอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI)

แก้

ประวัติความเป็นมา

แก้

วารสารนับเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างนักวิชาการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ช่วยให้นักวิชาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้พูดคุยกันโดยที่ไม่ต้องรู้จักกัน ก่อนปี พ.ศ. 2544 และก่อนที่จะมีศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย วารสารไทยมีการจัดทำโดยหน่วยงานภาครัฐ ในระดับกระทรวง กรม กอง มหาวิทยาลัย/วิทยาลัย คณะ/สำนักในมหาวิทยาลัย องค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานอิสระต่างๆ วารสารต่างๆ เหล่านี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานของบุคลากรในสังกัด เพื่อนำไปใช้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการและขอรับรางวัลต่างๆ ซึ่งมีทั้งผลงานที่มีคุณภาพดีมากและที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน กำหนดออกฉบับตรงเวลาบ้างไม่ตรงบ้าง ขาดความต่อเนื่องในการตีพิมพ์เผยแพร่เนื่องจากการจัดทำวารสารเป็นงานฝากและขึ้นอยู่กับงบประมาณและนโยบายของผู้บริหารแต่ละชุด และมีระบบพิจารณากลั่นกรองบทความที่ไม่มีความเข้มข้นทางวิชาการเมื่อเทียบกับวารสารในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังไม่หลักฐานที่ชัดเจนว่าบทความวิชาการที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ได้รับการใช้ประโยชน์หรือถูกอ้างอิงมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย หรือ (Thai-Journal Citation Index Centre, TCI Centre) เรียกย่อๆ ว่า ศูนย์ TCI จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพวารสารไทย รวมทั้งรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวารสารไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะในแง่การสืบค้นบทความและบันทึกการอ้างอิงของบทความในวารสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผน และการกำหนดนโยบายระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพวารสารและการเผยแพร่ผลงานวิชาการ โดยก่อนปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยไม่เคยมีหน่วยงานในลักษณะนี้มาก่อน

ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย หรือ TCI เกิดจากโครงการวิจัยภายใต้ทุนวิจัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปี พ.ศ. 2544 เรื่อง “การศึกษาและจัดทำดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” ซึ่งมี ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ และคณะฯ ได้รวบรวมข้อมูลและคำนวณหาค่าดัชนีการอ้างอิงวารสาร (Journal Impact Factor, JIF) ของวารสารวิชาการไทยภายในประเทศจำนวน 68 รายการ และพบว่า ในบทความวิจัย 100 เรื่อง มีค่าการถูกอ้างอิงเฉลี่ยเพียง 6.9 ครั้ง หรือโอกาสที่บทความวิชาการเรื่องหนึ่งๆ ที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการไทยมีโอกาสถูกนำไปอ้างอิงเท่ากับ 6.9% เท่านั้น [1] จากข้อค้นพบดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ มจธ. ได้สนับสนุนการจัดตั้ง ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย ขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นข้อมูลการตีพิมพ์ และข้อมูลการอ้างอิงของวารสารวิชาการไทย รวมทั้งรายงานค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพวารสารวิชาการไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี พ.ศ. 2551 ศูนย์ TCI ได้ร่วมมือกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย คุณศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะฯ ในการรวบรวม บันทึกข้อมูลการตีพิมพ์และข้อมูลการอ้างอิงของบทความในวารสารสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของไทย โดยภารกิจหลักของศูนย์ TCI มี 5 ประการ คือ

  1. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นผลงานวิจัยและผลงานวิชาการตลอดจนข้อมูลการอ้างอิงของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไทย
  2. เพื่อคำนวณและรายงานค่า Journal Impact Factors ของวารสารวิชาการไทยที่มีอยู่ในฐานข้อมูล TCI (เรียกว่า TCI Journal Impact Factors)
  3. เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพผลงานวิจัยในระดับชาติและระดับนานาชาติ
  4. เพื่อวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การยกระดับผลงานวิจัยไทยในเวทีนานาชาติ
  5. เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาและยกระดับวารสารและผลงานวิจัยของไทย

TCI ช่วยปรับปรุงคุณภาพผลงานวิจัยได้อย่างไร?

แก้

ฐานข้อมูล TCI นับเป็นมิติใหม่ในวงการวารสารวิชาการของประเทศที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการรวบรวม จัดเก็บข้อมูลจากวารสารวิชาการที่จัดพิมพ์ในประเทศไทยที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของศูนย์ TCI ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วารสารในฐานข้อมูล TCI มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวารสารจำนวน 100 รายการในปี พ.ศ. 2545 เป็น 479 รายการในปี 2555 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555) ข้อมูลจากฐานข้อมูล TCI ประกอบด้วย ข้อมูลการตีพิมพ์บทความ ข้อมูลการอ้างอิง และข้อมูลการบริหารจัดการวารสาร โดยสามารถสืบค้นได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต [1] ซึ่งทำให้การค้นหาข้อมูลที่ต้องการเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ยังนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถสืบค้นข้อมูลการอ้างอิงบทความจากวารสารในประเทศได้ นอกจากนี้แล้ว ฐานข้อมูล TCI ยังเป็นที่ยอมรับของวารสารวิชาการในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยสามารถพิจารณาได้จากการที่บรรณาธิการของวารสารต่างๆ ได้ระบุการปรากฏของวารสารในฐานข้อมูล TCI และกล่าวถึงคุณภาพของการตีพิมพ์ที่เชื่อมโยงกับการที่วารสารได้ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล TCI รวมถึงระบุค่า TCI Impact Factors ในบทบรรณาธิการของวารสาร โดยการจัดทำฐานข้อมูล TCI จึงสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพผลงานวิจัยไทยได้ พอเป็นสังเขปดังนี้

เกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการไทย

แก้

ปัจจุบัน ได้มีหน่วยงานราชการและองค์กรมหาชนหลายแห่ง ได้นำข้อมูลจากฐานข้อมูล TCI ไปใช้ประกอบในการประเมินคุณภาพและกำหนดค่าน้ำหนักของบทความวิชาการในวารสารไทย อาทิเช่น

  1. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ได้พัฒนาตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. 2554-2558) สำหรับคุณภาพบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ โดยได้แบ่งระดับคุณภาพของบทความวิจัยที่ปรากฏในฐานข้อมูล TCI ให้มีค่าน้ำหนักเท่ากับ 0.25 และ 0.75 (เมื่อเทียบกับบทความวิจัยในวารสารระดับนานาชาติที่มีน้ำหนักเท่ากับ 1.0) และบทความที่อยู่ในวารสารที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ได้รับน้ำหนักน้อย [2]
  2. โครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทย โดยใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพสำหรับทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีค่า TCI Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (จากฐานข้อมูล TCI) ไม่ต่ำกว่า 0.025 มีค่าน้ำหนัก 0.50 วารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องมีค่า Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ระหว่าง 0.01-0.025 ให้ค่าน้ำหนัก 0.25 และวารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องมีค่า Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ต่ำกว่า 0.01 และไม่เท่ากับ 0 ให้ค่าน้ำหนัก 0.125 เป็นต้น [3]
  3. สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ นำข้อมูลจากฐานข้อมูล TCI ไปใช้ในการกำหนดนโยบายด้านการวิจัยต่างๆ อาทิเช่น การให้ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานวิจัย (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และการให้ค่าตอบแทนผลงานทางวิชาการของบุคลากร (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ) เป็นต้น


  1. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ, นงเยาว์ เปรมกมลเนตร, ปรียานุช รัชตะหิรัญ, วชิราภรณ์ สุรธนะสกุล และ ธีระศักดิ์ หมากผิน (2545) การศึกษาและจัดทำดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ, รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยทุนวิจัยพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  2. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (2554) คู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. 2554-2558) ระดับอุดมศึกษา, ฉบับสถานศึกษา
  3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2553) การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย 2552, รายงานฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย