น้ำปุก เป็นหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอปง จังหวัดพะเยา

ประวัติความเป็นมา

แก้


เดิมทีก่อนที่จะมาเป็นบ้านน้ำปุกนั้น ชาวบ้านได้อพยพมาจากนครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาเหตุของการอพยพคือ หนีความแห้งแล้ง และหาที่ดินทำกินในการดำรงชีวิตประจำวันลำบาก ในตอนนั้นจะอยู่ ในสมัยของรัชกาล ที่ 5 ของไทย ซึ่งตระกูลที่อพยพมาเริ่มแรก มีอยู่ 3 ตระกูล คือ ตระกูลไชยมงคล ตระกูลลาบุตรดี และตระกูลอินธิยา ทั้ง 3 ตระกูล มาพบกันที่จังหวัดน่าน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2432 แล้วย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านที่บ้านน้ำปุก


ณ ปัจจุบัน เริ่มแรกของการก่อตั้งหมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 7 หลังคาเรือนขณะนั้นบ้านน้ำปุก ยังเป็นหมู่บ้านในเขตของจังหวัดน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 ได้ มีการจัดตั้งวัดขึ้นมา ชื่อวัดน้ำปุก ตำบลควร อำเภอปง จังหวัดน่าน ซึ่งตรงกับสมัยตอนต้นของรัชกาลที่ 7 พระภิกษุรูปแรกที่จำพรรษา คือ พระอินศวร ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการย้ายวัดจากที่เดิมมาตั้งบนภูเขาจนถึงปัจจุบัน


ส่วนวิหารวัดหลังเก่าชาวบ้านได้ทำนุบำรุงรักษาไว้เป็นอาคารเรียน ซึ่งในช่วงนั้นจะตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลของสงครามทำให้ชาวบ้านมีความตระหนักถึงความปลอดภัยจึงได้มีการขุดหลุมหลบภัยเพื่อใช้หลบภัยในยามที่มีสงคราม ในตอนนั้นบ้านน้ำปุกมีประชากรประมาณ 20 หลังคาเรือน ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ภัยสงครามก็สิ้นสุดลง บ้านน้ำปุกก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากนั้นบ้านน้ำปุกก็ได้ แยกออกจากจังหวัดน่าน มาอยู่ ในเขตการปกครองของอำเภอปง จังหวัดเชียงราย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2520 อำเภอพะเยาได้ ยกฐานะเป็นจังหวัดพะเยา บ้านน้ำปุก หมู่ที่ 9 ตำบลควร อำเภอปง ก็อยู่ ในเขตการปกครองของจังหวัดพะเยาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2534 ตำบลควรได้แบ่งออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลควรและตำบลขุนควร และบ้านน้ำปุกอยู่ ในเขตปกครองของตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา จนถึงปัจจุบัน

ที่มาของชื่อหมู่บ้านน้ำปุก

แก้


มาจากคำบอกเล่า 2 เรื่องคือ

เรื่องที่ 1. คือ มีนายพรานคนหนึ่ง มีอาชีพเป็นพรานป่า ภรรยาของนายพรานมีชื่อว่าปุก ภรรยาของเขาได้ ลงไปตักน้ำที่ลำธาร แล้วตกน้ำตาย จึงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าน้ำปุก และแม่น้ำสายนี้ได้ ไหลผ่านหมู่บ้าน จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านน้ำปุก

เรื่องที่ 2. คือ ได้มีชาวบ้านเล่าว่าป่าบริเวณใกล้ หมู่บ้านมีน้ำตกอยู่ แห่งหนึ่ง ลักษณะของน้ำตกจะไหลตกลงมาจากหน้าผาสูง ดูมีลักษณะคล้ายแม่น้ำหรือสายน้ำตกลงมามีลักษณะตั้งขึ้น ซึ่งคำว่าตั้งภาษาถิ่นภาคเหนือแปลว่า ปุก น้ำที่มีลักษณะตั้งขึ้นแปลเป็นภาษาถิ่นภาคเหนือว่า น้ำปุก แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีใครทราบว่าน้ำตก แห่งนี้อยู่ที่ไหน

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้


- ทิศเหนือ ติดกับตำบลงิม
- ทิศตะวันออก ติดกับตำบลผาช้างน้อย
- ทิศตะวันตก ติดกับบ้านสันติสุข หมู่ที่ 7 ตำบลขุนควร
- ทิศใต้ ติดกับบ้านสันกลาง หมู่ที่ 12 ตำบลขุนควร

ประชากร

แก้

ประชากรมีทั้งหมด 221 ครัวเรือน โดยแยกเป็นชาย 337 คน หญิง 308 คน รวมทั้งสิ้น 645 คน คิดเป็นร้อยละ 7.16 ของจำนวนประชากรในพื้นที่ตำบลขุนควร (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552)

ศาสนา

แก้

ในด้านทางศาสนาชาวบ้านจะนับถือศาสนาพุทธซึ่งมีวัดที่ใช้ประกอบศาสนกิจคือ วัดบ้านน้ำปุก เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมที่ดีงามตลอดมา

อาชีพ

แก้

ในด้านการประกอบอาชีพชาวบ้านจะประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

แหล่งท่องเที่ยว

แก้

ถ้ำนางแปลง มีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ประมาณ 18 กิโลเมตร ทางเดินเข้าไปในถ้ำจะมืดมาก ภายในถ้ำเวลาต้องแสงไฟจะส่งแสงระยิบระยับสวยงามมาก และบริเวณในถ้ำมีน้ำไหลผ่าน เชื่อกันว่าเป็นที่ซ่อนสมบัติของพระเจ้าเมืองม่าน

ถ้ำดอกบัว มีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ประมาณ 19 กิโลเมตร ในการเดินทางต้องเดินทางด้วยเท้าเส้นทางค่อนข้างลำบาก ภายในถ้ำจะเป็นห้องโถงกว้างมีหินงอกหินย้อยคล้ายกับดอกบัว

ถ้ำฆ้อง มีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลประมาณ 16 กิโลเมตร ถือได้ว่าถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำที่อยู่ใกล้ที่สุดและเป็นถ้ำที่ขนาดเล็กกว่าถ้ำทั้งสองที่ผ่านมา เป็นถ้ำที่มีหินทรายสะท้อนแสงระยิบระยับ ตั้งอยู่เนินสูงของภูเขา

การศึกษา

แก้

ในด้านการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนเข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำปุก ในระดับประถมศึกษาเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ได้ เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านน้ำปุก ในระดับมัธยมศึกษาเข้าเรียนที่โรงเรียนขุนควรวิทยาคมและสถานศึกษาที่ใกล้ เคียงเป็นบางส่วน สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ก็จะกระจายไปตามสถานศึกษาทั้งต่างจังหวัดและพื้นที่ใกล้ เคียงตามกำลังความสามารถของเด็กและผู้ปกครอง

ฝาย ๑๒๐ ปี วิถีคนน้ำปุกกลางป่าต้นน้ำยม

แก้

ท่ามกลางฤดูร้อน กับภาวะความแห้งแล้งอย่างหนักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ต้นฤดูร้อนแม่น้ำหลายสายในพื้นที่ภาคเหนือก็เริ่มแห้งขอดจนคนแก่คนเฒ่าหลายคนถึงกับเอ่ยว่า เป็น ความแห้งที่สุดในช่วงชีวิต น้ำเคยมีไว้สำหรับการแบ่งปันกำลังกลับกลายเป็นการยื้อแย่งยามเช้าที่บ้านน้ำปุกอากาศยังเย็นสบายเพราะหมู่บ้านรายล้อมไปด้วยภูเขาพื้นที่ป่าต้นน้ำยมออทิศตะวันออกของ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ชาวบ้านที่นี่มีเชื้อสายมาจากประเทศลาว จากแขวงจำปาสัก และนครหลวงเวียงจันทร์ พวกเขาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ ปุกในสำเนียงภาษาของคนลาวมีความหมายว่า ทำให้ตื่นตัว คนภาคเหนือของไทยให้ความหมายว่า พยุงให้ตรง เป็นที่มาของแม่น้ำปุก หมู่บ้านน้ำปุก และฝายน้ำปุก

ขบวนรถมอเตอร์ไซด์ รถอีต๊อก นำพาชาวบ้านทั้งชายและหญิงกว่าร้อยคนมุ่งหน้าสู่ฝาย น้ำปุกเหนือหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร วันนี้มีนัดซ่อมฝาย

กว่าร้อยปีฝายโบราณแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่ส่งน้ำเข้าสู่ไร่นา แม้กระแสของภายนอกกับคนนจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านพยายามที่จะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงจากฝายที่มีโครงสร้างจากไม้หลัก ไม้ระแนง กรวดหินในแม่น้ำ เป็นฝายคอนกรีต ชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ยังยืนยันว่า ฝายโบราณ น้ำใสสะอาด ไม่มีตะกอนทับถม ปลาขึ้นลงได้ คนในหมู่บ้านช่วยกันทำ ต่างจากฝายคอนกรีตที่เคยเห็นในหมู่บ้านอื่นมีปัญหาเรื่องตะกอนทับถม น้ำเซาะชายฝั่ง ปลาไม่สามารถขึ้นลงได้ แรงงานก็มาจากคนรับเหมาก่อสร้าง

“หื้อล้างบ้านเมืองกว้างขวางมากนัก แล้วก็หื้อล้างเขตวัตถุฬากมาติกาวรรณทั้งหลาย เป็นต้น สวน เรือก ไร่นา เหมืองฝาย หื้อวุฑฒิแก่บ้านเมืองแห่งตนฮั้นแล ”  

ให้ช่วยกันดูแลรักษาบ้านเมือง ดูแลรักษาไร่นา เหมืองฝาย ให้ความสงบสุขและความเจริญแก่บ้านเมือง

หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของล้านนาจะพบว่าเหมืองฝายเกิดขึ้นในสมัยปู่เจ้าลาวจกหรือพญาลวจังราชสู่ยุคสร้างบ้านแปงเมืองของพญามังราย มีความเป็นมายาวนานกว่า ๑,๓๐๐ ปี ในยุคโบราณนั้นความร่วมไม้ร่วมมือถือเป็นเรื่องสำคัญ การตีฝายขุดเหมือง เจ้าของนาจะละเลยไม่ได้เป็นอันขาด คนที่ไม่มาช่วยกันไม่มีสิทธิ์ใช้น้ำ หากมีการลักขโมยน้ำ โทษขั้นต่ำคือการปรับไหมหรือรุนแรงถึงฆ่าให้ตาย

“กฎหมายมังรายศาสตร์ มาตรา๑ ทำนาติดกันผู้หนึ่งชวนทดน้ำเข้านามันไม่ยอมไปช่วยแต่แอบขโมยน้ำ หรือแอบขุดหนอง เจ้านาเจ้าหนองได้ฆ่าก็เป็นอันสิ้นสุดไป อย่าว่าอะไรเจ้านา ”  

ฝายแบบโบราณที่สร้างจากวัสดุท้องถิ่น กับคนดูแลรับผิดชอบเรื่องการจัดสรรน้ำมาจากการคัดเลือกโดยชาวบ้าน เริ่มจาก แก่ฝายคือผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจสร้างความเป็นธรรมเพื่อจัดสรรน้ำ สิบฝายทำหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือในการดูแลรักษาและเป็นผู้ช่วยแก่ฝาย ล่ามฝายทำหน้าที่ส่งข่าวสารกิจกรรมฝาย เช่น การประชุม การเลี้ยงผี การซ่อมแซมฝาย

ฝายโบราณในหมู่บ้านอื่นถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส จากฝายไม้กลายเป็นฝายหินทิ้งใช้หินที่ระเบิดมาจากภูเขา ฝายคอนกรีต เขื่อนขนาดเล็กมีประตูปิดเปิด พร้อมกับการหายไปของ แก่เหมือง สิบฝาย ล่ามน้ำ ความเชื่อ ความรักความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ความเปลี่ยนแปลงก็กำลังคืบคลานเข้าใกล้ฝายน้ำปุกเช่นกัน คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นฝายคอนกรีตเพราะมีงบประมาณสนับสนุนจากกรมชลประทาน พวกเขาเชื่อว่ามันมีความคงทนถาวรไม่ต้องเสียเวลาซ่อมแซมทุกปี แต่คนเฒ่าคนแก่และผู้นำหมู่บ้านยังยืนยันที่จะรักษาฝายแบบโบราณเอาไว้

“ถ้าให้เลือกระหว่างฝายคอนกรีตกับฝายไม้พ่อคงเลือกเอาฝายไม้อย่างเดิม แม้จะเคยมีเรื่องไม่สบายใจกับป่าไม้ว่าฝายน้ำปุกใช้ไม้เยอะ แต่ไม้ที่ใช้มาจากไม้ล้มเท่านั้น พ่อไม่อยากมีเรื่อง"


พ่อมูน บุญหมั้น แก่ฝายคนปัจจุบัน เล่าเรื่องความขัดแย้งหลังมีการประกาศให้หมู่บ้านน้ำกลายเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง น้ำปุก ไหลมาจากภูลังกา ผ่านบ้านน้ำปุก บ้านสันกลาง บ้านน้ำแป้ง ไหลรวมกับแม้น้ำคาง บ้านนาอ้อม เป็นชื่อเป็นแม่น้ำควร ไหลผ่านบ้านสบขาม สบเกี๋ยง วังบน ห้วยขุ่น ป่าคา แสะควร ดอนมูลเก่า พื้นที่ตำบลขุนควร ตำบลควร แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำงิม ที่บ้านเหล่าบุญยืน ตำบลปง กลายเป็นแม่น้ำยม ต้นทางสายน้ำเจ้าพระยา

“เห็นการตีฝายวันนี้ ผมนึกถึงภาพเก่าๆสมัยเป็นเด็กเลี้ยงควาย การตีฝายเป็นความร่วมมือของคนทั้งหมู่บ้าน ฝายแบบนี้เหลือเพียงแห่งเดียวในอำเภอปง 
คนรุ่นมักง่ายอยากได้ฝายคอนกรีตแต่ผมคิดว่าฝายน้ำปุกมีคุณค่าแก่การรักษาเอาไว้อย่างเดิม เราได้น้ำ พืชผัก และปลา ”

นาค บุญเทพ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควรกล่าวทิ้งท้าย และเขาบอกกับชาวบ้านว่าจะร่วมสนับกิจกรรมเหมืองฝายให้เป็นข้อบัญญัติขององค์กรปกครองท้องถิ่น

ย่ำค่ำหลังเสร็จภารกิจซ่อมแซมฝาย ชาวบ้านช่วยกันทำอาหารกินร่วมกัน มีการนัดหมายการทำพิธีเลี้ยงผี เพื่อขอน้ำใช้ในเดือนพฤษภาคม และหลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงผีอีกครั้งหลังฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณเดือนมกราคม บูชาคุณผีฝาย ที่ให้ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับความเชื่อ ความศรัทธา ในวิถีคนต้นน้ำจะยังคงยืนอยู่อีกยาวนาน


"ฝายน้ำปุก" ต้นแบบการจัดการน้ำชุมชน

แก้

ตัวอย่างของการจัดการน้ำด้วยวิถีชุมชนด้วยการสร้างฝายโบราณบ้านน้ำปุก อ.ปง จ.พะเยา ที่สืบทอดมานานกว่า 120 ปี ซึ่งชุมชนแห่งนี้บอกว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งเลย

เด็กน้อยดักจับปลา เป็นภาพสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของฝายโบราณบ้านน้ำปุก อำเภอปง จังหวัดพะเยา ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมานานกว่า 120 ปี ฝายโบราณบ้านน้ำปุกแห่งนี้ไม่มีสภาพทรุดโทรมแต่อย่างใด ซึ่งยังคงให้ความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้พันธุ์ป่ามากขึ้น รวมทั้งยังมีฝายน้ำล้นอีกสามฝาย คือ ฝายสาระ ฝายสาระนอก และฝายหลงปู่ผิ่ว ซึ่งฝายทั้ง4 เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านน้ำปุก เพื่อใช้การบริโภคและการเกษตร

โดยปัจจุบัน บ้านน้ำปุกมีประชากร 200 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรประมาณ 150 ไร่ แบ่งเป็นไร่ข้าวโพด และนาข้าว โดยที่นี่สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง แต่ไม่พบปัญหาการแย่งชิงแหล่งน้ำ เพราะด้วยหลักการบริหารน้ำที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

แก่เหมือง ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของหมู่บ้าน เพราะเป็นผู้ดูแลการจัดสรรน้ำให้แต่ละครัวเรือน โดยแต่ละแปลงเกษตรจะต้องมีประตูระบายน้ำและมีไม้กระดานที่ใช้เปิดปิดเพื่อวัดระดับน้ำไหลเข้าแปลงตามการคำนวนของแก่เหมือง รวมทั้งชาวบ้านทุกครัวเรือนจะต้องร่วมดูแลฝายทั้ง4แห่ง ด้วยการตอกหลักปักฝายในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นกฎระเบียบของหมู่บ้านที่ต้องทำทุกปี

ฝายน้ำปุก เหมืองฝายไม้โบราณที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะด้วยหลักการบริหารจัดการแบบชุมชน ที่สามารถรักษาการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมไว้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบการจัดการน้ำระดับชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านน้ำปุกและเครือข่ายลุ่มน้ำยม เสนอความคิดเห็นว่า วิธีการจัดสรรน้ำที่ดีต้องเริ่มจากชุมชน และลักษณะฝายต้องสอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยา แตกต่างจากฝายคอนกรีตที่จะสร้างปัญหาในเรื่องตะกอนและการทำลายระบบนิเวศ

ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำและอนุรักษ์ป่าแทน ด้วยการผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำด้วยคนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแทนภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะได้ประสิทธิภาพมากกว่าการสร้างเขื่อน ทั้งนี้เสนอนโยบาย1 ชุมชน 1แหล่งเก็บน้ำ ,1 ตำบล1อ่างเก็บน้ำ,โดยโดยสร้างอ่างเก็บน้ำขนาด 50 ล้านลูกบาศก์เมตรครอบคลุมลุ่มน้ำยมทั้ง 77 สาขา จะสามารถเก็บน้ำถึง 3,500 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น 3 เท่า โดยใช้งบประมาณเพียง 200-300 ล้านบาท

แม้ว่าข้อเสนอเครือข่ายลุ่มน้ำยมในมุมมองของนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าจะเป็นเพียงการบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วม แต่ด้วยวิธีปลูกจิตสำนึกให้มีการสร้างฝาย สร้างแหล่งเก็บน้ำหรือแก้มลิงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปถึงปลายน้ำ จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมตลอดเส้นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นผลดีกว่าการสร้างเขื่อนแล้วทำให้คนไทยทะเลาะกัน

มูล บุญมั่น "นายฝาย" แห่งบ้านน้ำปุก "ตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว"

แก้

วันนี้ที่น้ำปุกมีเสียงตอกดังสนั่นป่าเมื่อตามเสียงไปจึงพบว่าเป็นการทำฝายไม้แบบดั้งเดิม ปัจจุบันพบน้อยมาก ปัญหาเรื่องการแย่งชิงน้ำในปัจจุบันจะพบเห็นในหลายพื้นที่ ด้วยสาเหตุสำคัญเพราะปริมาณน้ำที่มีน้อยลงทุกปีโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ศึกชิงน้ำจะเกิดประจำ เหตุที่น้ำเหลือน้อยลงในทุกแม่น้ำส่วนใหญ่มาจากป่าต้นน้ำหายไป และผู้ใช้น้ำบริหารน้ำไม่มีระบบ หรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา

ดังนั้น ทางภาคเหนือจึงมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ทรงภูมิด้านการจัดการน้ำหรือ การแบ่งสัดส่วนการใช้น้ำแก่ผู้ใช้น้ำในหมู่บ้านหรือพื้นที่ของตนเองได้อย่างลงตัวโดยไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ คือ “แก่ฝาย”หรือ “นายฝาย” แต่ละหมู่บ้านจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้น

มูล บุญมั่น “แก่ฝาย” หรือ ”นายฝาย” แห่งบ้านน้ำปุก อายุ 56 ปี กล่าวว่าแม่น้ำปุกคือแม่น้ำสายหลักของชาวน้ำปุกการรักษาแม่น้ำปุกเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสูงสุด คือหน้าที่สำคัญต้องร่วมแรงร่วมใจกันดูแล ดังนั้น ทุกปีคนน้ำปุกจะร่วมกันตีฝายน้ำปุก เพื่อให้เก็บกักน้ำ ดักตะกอน ชะลอน้ำ ให้ผืนป่าใกล้เคียงชุ่มชื้น โดยใช้ไม้ทำเป็นหลักหลายขนาดตอกลงไปในน้ำและยึดให้แน่นเป็นแผงขวางตลอดแนวลำน้ำประมาณ 50 เมตร (ขึ้นอยู่กับความกว้างของลำน้ำ) ยาวประมาณ 25 เมตร

"ประมาณเดือนมีนาคมทุกปี หรือช่วงก่อนที่น้ำจะมา จะมีล่ามฝายทำหน้าที่แจ้งทุกครัวเรือนส่งตัวแทนเข้าร่วมตีฝาย หากครัวเรือนใดที่ไม่ส่งตัวแทนมาจะเสียค่าปรับวันละ 200 บาท 
แต่ละครั้งการตีฝายจะทำเพื่อซ่อมแซมฝายส่วนที่เสียหายจากน้ำพัดในปีที่ผ่านมา จะเสียหายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงน้ำ หากปีไหนที่ฝายเสียหายมากจะต้องใช้เวลาตีฝายประมาณ 5-7 วัน
หากเสียหายน้อย 1-2 วัน ก็เสร็จ"

การตีฝายเกิดขึ้นเพราะทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตั้งแต่เด็ก ผู้นำ ประชาชน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของดอยผาช้างซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เป็นตัวแทนหมู่บ้าน ร่วมกันคนละไม้ละมือเมื่อถึงเวลาตีฝายเสร็จแล้วทุกคนจะได้ใช้น้ำร่วมกัน

ฝายที่ตีเสร็จเรียบร้อยจะทำให้พื้นที่หน้าฝายมีการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น จากนั้นน้ำจะถูกผันไปใช้ในท้องที่การเกษตร คือ นาข้าวที่มีมากถึง 500 ไร่ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจะใช้น้ำประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน(ปางเก้า) และทำนาเสร็จในเดือนธันวาคม(ปางสี่) พวกเราผู้ใช้น้ำจะมีการทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำขอใช้น้ำตอนปางเก้า และขอบคุณหลังใช้น้ำตอนปางสี่

มูลกล่าวอีกว่า การตีฝายเพื่อซ่อมแซมหรือเลี้ยงผีขุนน้ำแม่น้ำปุก คือสิ่งที่สื่อให้เห็นว่าคนน้ำปุกมีความรักษ์ป่า รักษ์น้ำ โดยยึดความสามัคคีเป็นหลัก

ฝายน้ำปุกแห่งนี้ เรียกกันตามภาษาพื้นบ้านว่า “ฝายน้ำดั้น” อายุฝายลูกนี้ ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเล่าให้ฟังสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันคาดว่าเกือบ 200 ปี ครั้งแรกทำฝายมีครัวเรือน 5-6 หลังเท่านั้นก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นหมู่บ้านแต่นั้นมาชาวบ้านได้ตีฝายซ่อมฝายทุกปีจนถึงปัจจุบัน