สยามรัฐออนไลน์  2 มกราคม 2560"...ถ้าประเทศทั้งปวงจะยกย่องนับถือกันโดยบริสุทธิ์ใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันโดยพร้อมพรักแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะเกิดความเข้าใจในกันและกันอย่างแท้จริง พร้อมทั้งความร่วมกันฉันมิตรอย่างแน่นแฟ้นขึ้นได้ แล้วความสงบสุข อิสรภาพ เสถียรภาพอันเสมอหน้าและถาวร ก็จะเกิดมีขึ้นทุกแห่งหนในโลก ดังที่ทุกคนปรารถนา..."

ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสตอบคณะทูตในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2521

ประวัติศาสตร์ทางการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนับย้อนไปตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ล้วนแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองรัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อค้าขาย การเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ หรือแม้แจ่การยกทัพจับศึกสงคราม

ตั้งแต่กรุงสุโขทัย เรื่อยมาถึงกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ไทยได้เจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ดำเนินสืบเนื่องมาในลักษณะเดียวกัน แม้จะมีการขยายความสัมพันธ์กับชาติที่ห่างไกลออกไปในภูมิภาครอบๆ จนถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังทวีปยุโรป ราชสำนักยังคงกำหนดนโยบาย และควบคุมการปฏิบัติโดยมีปัจจัยประการหนึ่งอยู่ที่ การผดุงอำนาจทางการเมือง อาทิ การแต่งสำเภานะพระราชสาส์สและเครื่องราชบรรณาการไปยังจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจใหญ่ในเอเชีย การค้าขายกับอินเดีย เปอร์เซีย และดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ การเจริญไทตรีกับโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งมีผลด้านากรทหาร และความรู้ ศาสตร์ และศิลปะที่แตกต่าง เทคโนโลยีการก่อสร้างเพื่อพัฒนาบ้านเมือง และอีกประการก็เพื่อผดุงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งพยายามแก้ปัญหาความไม่เหมาะสม ความไม่เสมอภาคของสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เคยเป็นมาในอดีต

พ.ศ. 2147 ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฮอลัมดาได้เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ได้มีการตั้งสาขาของบริษัทดัช อีสต์ อินเดีย เพื่อทำการค้า ต่อมาในสมัยพระเอกาทศรถ พ.ศ. 2150 ได้ส่งราชทูตไปเฝ้าฯ พระเจ้ามอริส กษัตริย์ฮอลันดา ที่กรุงเฮก เป็นคณะแรกที่เดินทางไปยุโรป


มาใน พ.ศ. 2229 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งราชทูตไปฝรั่งเศส เพื่อถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ครั้งนั้นออกพระวิสุทธิ์สุนทร (ปาน) ได้กระทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้า ซึ่งสร้างชื่อเสียงเลื่องลือในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออก แต่งคณะราชทูตไปราชสำนักฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติ มีการเขียนรูปราชทูตไทยเฝ้า และโปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึกด้วย

ในพ.ศ. 2368 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเฮนรี เบอร์นี ทูตอังกฤษเดินทางเข้ามาเพื่อเจรจาทางการเมือง และการค้า การเจรจาเป็นผลสำเร็จ โดยได้มีการลงนามในสนธิสัญญากันเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2369 ถือเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี และการพาณิชย์ฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์ทำกับชาติตะวันตก


ต่อมาในปีพ.ศ. 2375 นี่เอง ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน ได้ส่งนายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ เป็นทูตมาขอทำสัญญาการค้ากับไทย โดยได้นำดาบที่มีนกอินทรีย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐฯ และช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไทยประดับบนปลายด้ามดาบจากประธานาธิบดีแจ็กสันมาทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่ง 2 ประเทศได้ลงนามหนังสือสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์เมื่อ 20 มี.ค. 2375

ด้วยสภาพการณ์ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากลัทธิจักรวรรดินิยมในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้สยามจำต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ ชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยามคือโปรตุเกส อังกฤษ และสหรัฐฯ โดยพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของบางกอก ตั้งโรงสินค้าโปรตุเกส และเป็นที่พักทูต เมื่อเพื่อนบ้านโดยรอบทั้งใกล้และไกลทยอยถูกยึดครองโดยมหาอำนาจตะวันตก ทั้งชาติที่เคยเป็นมหาอำนาจทางการเมือง และคู่ค้าสำคัญอย่างจีนก็ดี อินเดียก็ดี ชาติที่เคยขับเคี่ยวการศึกสงครามกับสยามอย่างพม่า เขมร เวียดนาม หรือลาวก็ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชปรารภถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับมหาอำนาจตะวันตกในปลายรัชกาล โดยทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ และสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว พระมหากษัตริย์ต่อมาทั้ง 2 พระองค์ก็ได้ทรงรับมาดำเนินพระวิเทโศบายอย่างลึกซึ้ง รอบคอบ โดยตระหนักถึงประโยชน์ของชาติเป็นประการสำคัญ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม และวิทยาการแบบตะวันตก โดยทรงเลือกทำสัญญาทางพระราชไมตรี (สนธิสัญญาบาวริง) กับอังกฤษ เมื่อพ.ศ. 2398 เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง และขยายกรอบการค้าขายระหว่างประเทศมิได้ผูกขาดโดยราชสำนักอีกต่อไป ทรงสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ อาทิ ทรงมีพระราชสาส์นภาษาอังกฤษไปยังสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ และหลังจากทำสนธิสัญญาบาวริงแล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้งดส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักจีน ที่ปฏิบัติสืบมายาวนาน เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของสยาม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชกรณียกิจด้านการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศอย่างเด่นชัดยิ่ง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของสยามที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศด้วยพระองค์เอง แทนการส่งพระราชสาส์น และคณะทูตไปแทนพระองค์ โดยทรงเยือนสิงคโปร์ ชวา และอินเดีย เพื่อเรียนรู้ดูงาน นำมาซึ่งการปรับปรุงบ้านเมืองสยามตามแบบอย่างตะวันตกหลายประการ เช่น การคมนาคมทางบก ทางรถไฟ หรือการมีไฟฟ้าใช้ นอกจากนี้ยังได้เสด็จฯ เยือนยุโรปถึง 2 ครั้ง เจริญสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักสยามกับราชสำนักทั้งหลายในตะวันตก ซึ่งส่งผลดียิ่งต่อการเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียดในช่วงเวลานั้น

เมื่อ พ.ศ. 2437 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฏราชกุมารเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สถาปนาพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินี ขณะทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฏราชกุมารและโปรดให้เชิญพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ ไปพระราชทานณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2437

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จประพาสชวา โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้โดยเสด็จด้วย ทรงทอดพระเนตรสระเก็บกักน้ำจากแม่น้ำจิปาดัก และระบบระบายน้ำที่ใช้หมุนเครื่องจักรผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เมืองแดนชอล์ก

เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง เมื่อพ.ศ. 2488 กองทัพสัมพันธมิตรเข้ามาปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะเหมือนประเทศแพ้สงคราม แต่เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของกองทัพสัมพันธมิตร พร้อมพลเรือตรี ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเตน ผย.สส.สัมพันธมิตรภาคตะวันออกไกล แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์

จนมากระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็ยังทรงแสดงให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการต่างประเทศอย่างชัดเจน ทรงรับรองประมุขนานาประเทศ ที่เสด็จ หรือเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีในระดับประมุข และระดับพระราชวงศ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งดำเนินมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระราชอาคันตุกะที่เสด็จฯ เยือน หรือเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่พ.ศ. 2502 จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 101 ประเทศ ซึ่งบางพระองค์โปรดที่จะเสด็จฯ เยือนมากกว่า 1 ครั้งก็มี

เพราะมิตรไมตรีที่เกิดขึ้นในระดับพระราชวงศ์ และระดับชาติอันมาจากการที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศไม่ว่าจะเป็นชาติเล็กใหญ่นั้น ประกอบด้วยการให้ และรับระหว่างกัน ได้ก่อเกิดผลอันเป็นคุณมากมายต่อประเทศไทย

"...การไปเมืองต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นราชการแผ่นดิน เป็นการทำหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกันทั้งต้องผูกพันน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วย..." พระราชดำรัสลาประชาชาน เมื่อ 13 มิ.ย. 2503

จากพระราชดำรัสดังกล่าวนี้บ่งบอกหลายอย่าง โดยสิ่งที่ทรงคิดว่าเป็น "การทำหน้าที่" ของพระองค์ในฐานะประมุขของประเทศไทยนั้นคือ พระราชภารกิจมหาศาล ที่ยิ่งไปกว่า ทำหน้าที่คือการเสด็จพระราชดำเนิน ไม่ได้เพียงเพื่อพบปะเยี่ยมเยียนตามธรรมเนียมในฐานะประมุขของรัฐเท่านั้น หากแต่ทรงงานอย่างจริงจังตลอดการเดินทาง อีกทั้งยังต้องเตรียมพระองค์มากมายเพื่อความสง่างาม ความเหมาะสมกับพระราชกรณียกิจในแต่ละประเทศที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย ไปดูไปรู้ไปเห็นไปเข้าใจ สรรพวิทยาการความรู้เทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นทูตพิเศษที่นำความเป็นไทยไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักเข้าใจในหมู่ชนต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมด้วย

และแม้ในยามที่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง ก็ยังโปรดเกล้าให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้แทนพระองค์ในการเสด็จฯ ต่างประเทศ และรับรองอาคันตุกะ นอกจากนี้ยังทรงมีพระเมตตาในยามที่มิตรประเทศประสบภัยพิบัติ หรือมีความสูญเสีย ที่จะมีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย ตลอดจนแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ ล้วนแต่เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์กับนานาประเทศเสมอมา

เรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ ได้รับการรวบรวมจัดแสดงภายใต้นิทรรศการ "สืบสาน สมานมิตร Furthering the Bonds of Friendship" เพื่อเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชด้านการเจริญพระราชสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ โดยจัดแสดงอยู่ที่ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง ผู้สนใจยังสามารถเข้าชมได้จนถึงวันที่ 6 ม.ค. นี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


ภายในนิทรรศกาลยังมีข้อมูลเรื่องราว ภาพทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย ตลอดจนยังจัดแสดงของที่ระลึกจากประเทศต่างๆ รวมทั้งมีส่วนขององค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หลายๆ ประเทศได้นำไปประยุกต์ใช้ด้วย

"พระราชกรณียกิจด้านการทูตของรัชกาลที่ 9 นั้นได้ทรงเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ทั้งสิ้น 27 ประเทศ ระหว่างปี 2502 - 2510 ได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทย ให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในสังคมโลก นอกจากนี้ในยังจัดแสดงถึงบทบาทอีกด้านของพระองค์ในเรื่องการพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย เมื่อเดือน ต.ค. 2558 ในโอกาสครบรอบ 70 ปีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้มีความเห็นชอบต่อแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป็นแผนงาน 15 ปี (2015 -2030)"

"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ในปี 2559 ไทยได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่ม จี 77 ประกอบด้วย 134 ประเทศที่มีฐานะเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา วาระที่สำคัญของกลุ่มนี้คือ จะทำอย่างไรที่จะเดินหน้าบรรลุตามเป้าหมายของแผนงานของยูเอ็นว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะประธานจี 77 ไทยได้เสนอให้มีการศึกษาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถใช้ประโยชน์เป็นแนวทางหนึ่งที