บ้านนาจารย์ย้ายออกมาจากบ้านโจด มาตั้งบ้านขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ จำนวน ๔ ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวพ่อใหญ่จารย์ครู (จันทา)  ครอบครัวพ่อใหญ่ชัยราช ครอบครัวพ่อใหญ่เกิ้ง และครอบครัวพ่อใหญ่โพธิสาร ในเวลาต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงมีครอบครัวพ่อใหญ่หลวงอิน ครอบครัวพ่อใหญ่หลวงแก้ว ครอบครัวพ่อใหญ่เมืองซอง ครอบครัวพ่อใหญ่จารย์สีดา ครอบครัวพ่อใหญ่จารย์ดี และครอบครัวพ่อใหญ่พันธ์ ศรีบุรัมย์ ติดตามกันมา รวมกันเป็น ๑๐ ครอบครัว เมื่อมารวมกันได้หลายครอบครัวจึงได้พร้อมใจกันตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านนาจารย์” เพราะเอานามมาจากคำว่าอาจารย์ จึงพร้อมกันวางแผนผังตั้งบ้านเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงได้มีประชากรเพิ่มมากขึ้นพอสมควร จึงได้ยื่นคำขอตั้งผู้ใหญ่บ้าน ทางอำเภอจึงได้ออกมาจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านให้ประชาชน ชาวบ้านทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่าพ่อใหญ่ครูจันทา เป็นคนมาก่อตั้งบ้านก่อนและเป็นผู้ที่กว้างขวางและมีคุณธรรมดี จึงพร้อมกันคัดเลือกเอาพ่อใหญ่จารย์ครูจันทาขึ้นปกครอง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พ่อใหญ่ครูจันทาลาออก ชาวบ้านจึงได้เลือกเอาพ่อใหญ่จารยี จงประเสริฐขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน พ่อใหญ่จารย์ดีปกครองได้ ๒ ปีจึงได้ลาออก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พ่อใหญ่จารย์ชาสอน น้อยนาจารย์และครอบครัวอื่นๆหลายครอบครัวย้ายตามมาภายหลัง ชาวบ้านทั้งหลายเห็นว่าพ่อใหญ่จารย์ชาสอน เป็นผู้ที่มีคุณธรรม โอบอ้อมอารีย์ชาวบ้านจึงเสนอท่านขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาทางราชการเห็นว่าท่านทำงานดีต่อบ้านเมือง จึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นหมื่นนิคม ท่านได้ปกครองมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พ่อใหญ่จารย์ชาสอนได้เกษียณอายุราชการ ชาวบ้านจึงมองเห็นว่าพ่อใหญ่ป้อม พันธุ์สำอาง เป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา จึงเสนอให้พ่อใหญ่ป้อมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ท่านได้ปกครองต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้ลาออกไป ชาวบ้านจึงได้ตั้งพ่ออ้วน พันธุ์เสถียร ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ผู้ใหญ่อ้วนมีเรื่องเป็นความกับชาวบ้านจึงถูกทางราชการปลดออก ชาวบ้านจึงเห็นว่านายหื่อ ผลเลิศ มีความรู้ความสามารถจึงได้เสนอให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวบ้านเห็นว่าบ้านนาจารย์มีขนาดใหญ่ปกครองไม่ทั่วถึง จึงยื่นคำร้องขอแบ่งหมู่บ้านเป็น ๒ หมู่บ้าน ทางราชการจึงออกมาตั้งนายฝั่น น้อยนาจารย์ ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๔ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ตำแหน่งกำนันตำบลไผ่ได้ว่างลง ชาวบ้านจึงตั้งนายหื่อ ผลเลิศ เป็นกำนันตำบลไผ่ แต่พอได้รับใบตราตั้ง นายหื่อ ผลเลิศก็ได้เสียชีวิตลงในวันนั้นเอง ชาวบ้านจึงได้เลือกนายสุข โคตรบุญครอง ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นายสุข โคตรบุญครองได้ลาออก ชาวบ้านจึงได้เลือกนายไพบูลย์  พันธุ์เสถียรขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกำนัน และในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ชาวบ้านได้เลือกนายคำใบ พันธุ์เสถียรขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนเป็นกำนันในส่วนของหมู่ที่ ๔ 
         เมื่อในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ต่อจากกำนันคำใบ พันธุ์เสถียร หมดวาระจึงได้เลือกใหม่ โดยมีนายคำเบา น้อยนาจารย์ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ และมีนายบุญชื่น คำยุธา และนายคำมูล คงสมของ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ เป็นลำดับถัดมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎหมายใหม่ได้ประกาศให้ผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งได้จนอายุ ๖๐ ปี ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ นายสมบัติ ไร่สงวน กำนันตำบลนาจารย์ได้หมดวาระ จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านแทนตำแหน่งที่ว่างลง และนายสมบัติ ไร่สงวนได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ บ้านคำโพน เมื่องันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ได้เลือกตั้งตำแน่งกำนันที่ว่าง และในการเลือกครั้งนั้นผู้ใหญ่บ้านภายในเขตตำบลนาจารย์ทุกหมู่บ้านเป็นคนเลือก ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านตำบลนาจารย์ทั้งหมด ๙ คน การเลือกตั้งกำนันผลปรากฏว่า นายคำมูล คงสมของ ได้คะแนนเสียง ๕ ต่อ ๔ จึงได้ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลนาจารย์ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๖๑)

         จากบ้านนาจารย์ เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาล จัดตั้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งสุขาภิบาลนาจารย์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบด้วยพื้นที่ ๑๒.๖๐ ตารางกิโลเมตร และได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลนาจารย์ ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับเทศบาล ประกาศลงเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลนาจารย์ ซึ่งมีพื้นที่ ๓๙.๓๘ ตารางกิโลเมตร รวมกับเทศบาลตำบลนาจารย์ จึงทำให้เทศบาลตำบลนาจารย์ มีพื้นที่รวม ๕๑.๙๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๒,๔๘๗.๕๐ ไร่ โดยมีผู้บริหารเทศบาลตำบลนาจารย์ตามลำดับ ดังนี้

๑. พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๔๑ เป็นสุขาภิบาล โดยมีนายเจื่อง ฆารสะอาด เป็นรองประธานบริหารสุขาภิบาลตำบลนาจารย์ (มีนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เป็นประธานโดยตำแหน่ง) ๒. พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๔๔ เปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาล โดยมีนายเจื่อง ฆารสะอาด เป็นนายกเทศมนตรี ๓. พ.ศ. ๒๕๔๔ – ๒๕๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๗ ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลรวมกับเทศบาล) มีนายคำใบ พันธุ์เสถียร เป็นนายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ ๔. พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๒ มีนายสมนึก คำรัศมี เป็นนายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ ๕. พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๖ มีนายสมจันทร์ เจริญจิตร เป็นนายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ ๖. พ.ศ. ๒๕๕๖ – ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๖๑) มีนายสมนึก คำรัศมี เป็นนายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์

         ที่ตั้ง เทศบาลตำบลนาจารย์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๓ ระยะทางห่างจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดเขตเทศบาลตำบลหนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ทิศใต้ ติดเขตเทศบาลตำบลกลางหมื่น เทศบาลตำบลไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ทิศตะวันออก ติดเขตเทศบาลตำบลกลางหมื่น เทศบาลตำบลไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ทิศตะวันตก ติดเขตเทศบาลตำบลภูปอ เทศบาลตำบลไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

เรียบเรียงข้อมูล : นายบุญเลิศ คงสมของ เผยแพร่ : โครงงานประวัติศาสตร์ สิมอีสานบ้านนาจารย์ วิถีสะท้อนชุมชน ปี ๒๕๖๑