วัดศรีสุพรรณ วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่มีประวัติการก่อสร้างมาตั้งแต่ครั้งอดีตกว่า 500 ปี ในรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชธานี และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์ชื่อเจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ สร้างวัดชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ต่อมาเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ” ภายในวัดมีอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก ที่ชาวชุมชนร่วมแรงร่วมใจสืบสานเครื่องเงินชุมชนวัวลาย ซึ่งเป็นชุมชนทำหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องด้วยวัดศรีสุพรรณตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหัตถกรรมช่างหล่อ หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ของถนนวัวลาย ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะสืบสานมรดกงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยั่งยืนสืบไปด้วยการรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้านจัดตั้งเป็น กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ขึ้นภายในวัด ในปี พ.ศ. 2547 ทางวัดศรีสุพรรณมีแนวคิดสร้างอุโบสถเงินหลังแรกของโลก ให้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีปณิธานร่วมกันเพื่อ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชันย์ รัชกาล ที่ 9” เกิดเป็นพุทธศิลป์อันวิจิตรที่ดึงดูดให้ทั้งพุทธศาสนิกชนและบุนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมความงดงามของพระอุโบสถหลังนี้อยู่ทุกวัน


พระอุโบสถเงิน

    เป็นพระอุโบสถหลังใหม่ที่ปฏิสังขรณ์จากฐานและเขตพัทธสีมาของอุโบสถหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม  สร้างขึ้นเพื่อทดแทนหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก มีลักษณะเป็นพระอุโบสถเงินทรงล้านนา สร้างด้วยโลหะเงินและดีบุก โดยฝีมือและภูมิปัญญาช่างท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องเงิน ทั้งภายนอกและภายในพระอุโบสถ ประดับตกแต่งด้วยหัตถกรรมเครื่องเงินอย่างวิจิตรอลังการ และมีลวดลายอ่อนช้อย ภายในประดิษฐานองค์พระประธาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าเจ็ดตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์  มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ พระพุทธปาฏิหาริย์ฯ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) ตลอดเวลาที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอุโบสถวัดศรีสุพรรณมา กว่า ๕๐๐ ปี  ได้แสดงปาฏิหาริย์ลงสรงน้ำในสระข้างโบสถ์ ได้โปรดเมตตาให้ผู้มีจิตอันบริสุทธิ์ด้วยศีลธรรมที่มาขอพรให้สมปรารถนา โดยเฉพาะผู้หญิงและยังมีนักพลังจิตหรือผู้มีญาณพิเศษทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้สัมผัสถึงพลัง ๓ คู่ คือ พลังหยิน – หยาง พลังร้อน – เย็น พลังเงิน-ทอง ในองค์หลวงพ่อพระเจ้าเจ็ดตื้อ ยิ่งมีผู้มีจิตศรัทธา เคารพสักการะ มานมัสการขอพรมากยิ่งขึ้น

ภายในพระอุโบสถเงินที่ไม่อนุญาติให้สุภาพสตรีเข้า เนื่องจาก ใต้ฐานอุโบสถ ฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของมีค่า คาถาอาคมและเครื่องรางของขลังเก่าแก่กว่า ๕๐๐ ปี ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสื่อมแก่สถานที่หรือตัวสุภาพสตรีเองตามจารีตล้านนา สุภาพสตรีสามารถชมความงามได้รอบตัวอุโบสถเท่านั้น

พระวิหารทรงล้านนา 
    สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรส เมื่อประมาณ พ.ศ.2342  วิหารหลังนี้มีทำการปฏิสังขรณ์ผสมศิลปะร่วมสมัย โดยรักษาของที่มีอยู่เดิม ได้วาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพระธาตุ 12 ราศี ภาพพระธาตุเจดีย์ ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ในอดีตและภาพปริศนาธรรมโลกทั้ง 3 และได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลาย ภาพพระพุทธประวัติ  ภาพพระเจ้าสิบชาติ ภาพพระเวสสันดรชาดก ประดับตกแต่งฝาผนังวิหาร มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่เป็นพระประธานพระวิหารของวัดศรีสุพรรณ เปรียบดั่ง โรงเรียนพุทธศิลปะชั้นเลิศของเมืองล้านนา เพราะได้แสด ฝีมือช่างในล้านนาทั้งสิบหมู่ไว้ในที่เดียวกัน
พระบรมธาตุ วัดศรีสุพรรณ

เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม บนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหก พระบรมธาตุเจดีย์ได้มีการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว มีอายุประมาณเท่ากับพระวิหารหรือหลังจากนั้นไม่นาน เพราะในพุทธศาสนาทางล้านนานั้น นิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หลังพระวิหาร

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสล่าสิบหมู่
    เพื่อถ่ายทอดและสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนขึ้น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้าน มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์
ลักษณะเด่น

อุโบสถสร้างขึ้นจากแร่เงินทั้งหลัง, แหล่งรวบรวมงานตีเงินตามภูมิปัญญาล้านนา อุโบสถสร้างขึ้นจากแร่เงินทั้งหลัง, แหล่งรวบรวมงานตีเงินตามภูมิปัญญาล้านนา

ขนาดพื้นที่ (ไร่) 107,000 ตารางเมตร 107,000 ตารางเมตร