ตัวนำยวดยิ่งแบบคิวเพร์ท
      
ตัวนำยวดยิ่งแบบคิวเพร์ทเป็นตัวนำยวดยิ่งที่มีโครงสร้างหลักประกอบด้วยระนาบของคอปเปอร์ออกไซต์ (CuO2) วางตัวมีลักษณะเป็นชั้นๆ ในระหว่างชั้นมีอะตอมของโลหะชนิดอื่นคั่นอยู่โดยอะตอมนี้จะทำหน้าที่เป็นฉนวน การนำไฟฟ้าเกิดขึ้นในระนาบของคอปเปอร์ออกไซต์โดยมีอิเล็กตรอนของอะตอมคอปเปอร์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพนำยวดยิ่ง การลดอุณหภูมิจะทำให้โครงสร้างของผลึกเปลี่ยนไป ระนาบคอปเปอร์ออกไซต์ที่มีในโมเลกุลจึงมีความสำคัญโดยตรงกับสภาพนำยวดยิ่ง กล่าวได้ว่าการนำไฟฟ้าของอิเล็กตรอนในตัวนำยวดยิ่งเป็นแบบสองมิติ ซึ่งกลุ่มคิวเพร์ทตัวแรกคือ Ba-La-Cu-O ถูกพบโดยเบทเนอร์ซและมูลเลอร์ และสารต่อมาก็คือ La-Sr-Cu-O โดยโทกิและสารประกอบ Y-Ba-Cu-O โดยชูและคณะ ในปัจจุบันพบว่าภายใต้ความดัน ตัวนำยวดยิ่งในสารประกอบปรอท-แบเรียม-แคลเซียม-คิวเพร์ท (Hg-Ba-Ca-Cu-O) สามารถมีอุณหภูมิวิกฤติได้สูงถึง 164 เคลวิน แต่อย่างไรก็ตามตัวนำยวดยิ่ง Y-Ba-Cu-O ยังคงเป็นตัวนำยวดยิ่งที่โดดเด่นและรู้จักอย่างกว้างขวางในสารกลุ่มนี้ เนื่องจากเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้งานได้กว้างขวางมากกว่า


[1]

  1. พงษ์แก้ว อุดมสมุทรหิรัญ. 2559. ตัวนำยวดยิ่งพื้นฐาน. หน้า 21-23. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย