พิธี “ลื่อทีบอโค๊[1]ะ"  หรือการเลี้ยงผีฝาย เป็นประเพณีชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดต่อกันทุกปี เริ่มในช่วงต้นฤดูฝน ฤดูเพาะปลูกพืชผล-ผลผลิตทางการเกษตร ก่อนที่ชาวนาจะทำนาปลูกข้าวจะต้องเลี้ยงผีฝายก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวผีฝาย ให้ช่วยดูแลข้าว ดูแลน้ำท่าให้ดี ผลผลิตออกมาดีมีคุณภาพ ตลอดจนคุ้มครองชาวนาที่ทำนา ให้มีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย โดยชาวนาทุกคน ทุกครอบครัวที่ทำนาจะต้องนำเหล้า 1 ขวด และไก่ 1 ตัว มาที่ลานเลี้ยงผีฝาย พร้อมประกอบอาหารรับประทานจนหมด ซึ่งการนำไก่มาฆ่าเพื่อประกอบอาหารนั้นก็เหมือนการเซ่นไหว้บนบานศาลกล่าวนั้นเอง โดยพิธีได้กำหนดให้ใช้ไก่ ติดต่อกัน 3 ปี เมื่อถึงปีที่ 4 จะใช้หมู และปีถัดไปก็จะใช้ไก่ สลับกันอย่างนี้ตลอดไป พร้อมมีข้อห้ามว่า เมื่อมารับประทานแล้วห้ามอาเจียน โดยหากมีใครอาเจียนจะต้องหาวันดีและเริ่มทำพิธีใหม่ทั้งหมด ซึ่งประเพณีนี้ รุ่นลูก รุ่นหลาน จะสืบทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นตราบนานเท่านาน

ปัจจุบันพบว่ายังมีการสืบทอดการทำพิธี “ลื่อทีบอโค๊ะ" หรือการเลี้ยงผีฝายในชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่ง เช่นในจังหวัดตาก พบที่บ้านป่าไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ บ้านปิยอทะ อำเภอแม่ระมาด บ้านยะพอ ตำบลวาเลย์ อำเภอพบพระ และชุมชนบ้านวะโดโกร ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง ในจังหวัดเชียงใหม่พบที่ชุมชนกะเหรี่ยงในบ้านปิพอ ตำบลแม่ตื่น บ้านแม่หลองน้อย ตำบลสบโขง บ้านแม่แฮหลวง ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อยและบ้านแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม เป็นต้น

ทีบอโคะ หมายถึง ระบบเหมืองฝายผันน้ำเข้านาของชาวกะเหรี่ยง “ทีบอ” แปลว่า ร่องน้ำ  และ “โคะ” แปลว่า หัว หมายถึง จุดเริ่มต้นหรือหัวฝายที่มีการทำเหมืองส่งน้ำไปสู่นาข้าว “ทีบอโคะ” ในสำเนียงกะเหรี่ยงออกเสียงคล้ายคำว่า “ทีบอโกร” ซึ่งคำว่า “โกร” หมายถึง สายน้ำ ลำธาร หรือทางน้ำขนาดเล็ก

การสร้างฝายทดน้ำของชาวกะเหรี่ยงทำจากท่อนซุงต้นไม้ที่หักล้ม และไม้ไผ่ขัดกันเป็นชั้นเพื่อยกระดับน้ำในห้วยให้สูงขึ้นและไหลเข้าร่องน้ำที่ขุดไว้เป็นทางลัดเลาะตามแนวเขา  ทำท่อน้ำจากท่อนซุงที่ขุดเป็นร่อง (ลี) เพื่อลำเรียงน้ำไปในจุดที่ไม่สามารถขุดเหมืองน้ำได้

  1. "การจัดเก็บข้อมูลและร่วม"พิธี ลื่อทีบอโค๊ะ" หรือประเพณีการเลี้ยงผีฝาย ของชาวปาเกอะญอ". www.m-culture.go.th.