ผู้ใช้:Moralproject/กระบะทราย

โครงงานคุณธรรม (Moral Project)

โครงงานคุณธรรมคืออะไร?

แก้

โครงงานคุณธรรม หรือโครงงานความดี เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการทำความดีมีคุณธรรมแบบเชิงรุก โดยให้ผู้เรียนที่เป็นเด็กและเยาวชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรมการเรียนรู้นี้เอง ผ่านเทคนิควิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Approach) โดยประเด็นที่เลือกทำโครงงานนั้นเกิดขึ้นมาจากความสนใจและความคิดริเริ่มของผู้เรียนเอง เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่มที่ลงมือปฏิบัติงานจริง ด้วยความพากเพียรพยายามอย่างจดจ่อต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร (ต้องทำงานจริงไม่น้อยกว่า ๒ เดือน) ในลักษณะวิจัยปฏิบัติการ (action research) นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านความเสื่อมทรามทางศีลธรรม และส่งเสริมการบ่มเพาะความดีมีคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ รวมทั้งการขยายความมีส่วนร่วมไปสู่บุคคลต่างๆ ในสถานศึกษาและชุมชนของตนเองหรือชุมชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยสรุป โครงงานคุณธรรม คือ กระบวนการเรียนรู้ด้านคุณธรรมที่ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มกันคิดลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มต้น ในการแก้ปัญหาและทำความดีต่างๆ ในชีวิตจริงของผู้เรียนเอง โดยเน้นที่กระบวนการกลุ่ม ที่ลงมือทำจริง ทำไปเรียนรู้ไป เมื่อทำเสร็จแล้วต้องมีการถอดบทเรียนสรุปผล และนำเสนอสู่สาธารณะ โครงงานคุณธรรมจึงเน้นความสำคัญของทักษะการเรียนรู้ต่างๆ ตั้งแต่ ทักษะการสังเกต การสำรวจ การสัมภาษณ์ กระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดประเมินค่า คิดสร้างสรรค์ คิดนำเสนอ กระบวนการติดตามประเมินผล การถอดบทเรียน ตลอดจนทักษะการสื่อสารและนำเสนออย่างมีพลัง และที่สำคัญสำหรับโครงงานที่ทำต่อเนื่องหลายปี คือ กระบวนการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

จึงสามารถสรุปเป็นแก่นการเรียนรู้ว่า "ร่วมกัน ทำดี อย่างมีปัญญา"

โครงงานคุณธรรม: การทำดีเชิงรุกด้วยกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

แก้

โครงงานคุณธรรมนั้น เน้นการนำปัญหาในชีวิตจริงมาเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน อันจะเป็นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตด้วยวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือ ด้วยกระบวนการทางปัญญา อันพอจะสรุปได้เป็นลำดับขั้นดังนี้

๑) การสังเกต เห็นปัญหาหรือประเด็นต่างๆ ในชีวิตจริง ที่แม้คนส่วนใหญ่รู้สึกชินชา มองข้าม หรือปล่อยผ่านไป แต่จะมีบางคนที่สังเกตเห็นและรู้สึกว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญ จนถึงระดับที่อยากจะเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทำให้ดีขึ้น ฯลฯ จึงนำมาปรึกษาหารือในกลุ่ม หรือปรึกษากับที่ปรึกษา ว่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเริ่มต้นทำโครงงาน การสังเกตอย่างมีนัยสำคัญที่นำไปสู่การคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขทำให้ดีขึ้นนี้(หรือเรียกเป็นสำนวนว่า "ต่อมเอ๊ะ") จึงเป็น จุดเริ่มต้นที่่สำคัญของทุกโครงงาน และเป็นภาวะที่ครูที่ปรึกษาโครงงานต้องกระตุ้นให้เกิดที่ตัวผู้เรียนเองตั้งแต่ต้นเริ่ม อันจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ในตัวผู้เรียนเองอย่างแท้จริง

๒) การระดมความคิดและตัดสินใจของกลุ่ม เมื่อผู้เรียนได้สังเกตเห็นปัญหาหรือประเด็นที่น่าสนใจ แล้วนำเสนอเข้าสู่กระบวนการกลุ่มเพื่อตัดสินใจเลือกเป็น "ประเด็นความดี" ที่จะนำมาทำเป็นโครงงาน เป็นขั้นตอนของการระดมความคิดที่หลากหลายของกลุ่ม แลกเลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนปรึกษาหารือเพื่อการตัดสินใจเลือก ซึ่งต้องอาศัยทักษะการตั้งสมมติฐาน การคาดการณ์ การใช้เหตุผลในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทักษะการฟัง การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ตลอดจนการยอมรับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ของกลุ่ม อันเป็นทักษะทีสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยด้วย

   ประเด็นความดี ที่นำมาใช้ริเริ่มทำเป็นโครงงานคุณธรรมนั้น มักแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ "ปัญหาที่อยากแก้" และ "ความดีที่อยากทำ" 

หากผู้เรียนเริ่มต้นสนใจและคิดริเริ่มจาก "ปัญหาที่อยากแก้" (Problem based / Situation based) โดยทั่วไปเมื่อระดมความคิดจนตกผลึกได้ชัดเจนในปัญหาแล้วจะสามารถเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ในขั้นตอนต่อไปได้อย่างดีและมีความสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกันตลอดสาย แต่ถ้าหากผู้เรียนเริ่มต้นเสนอ "ความดีที่อยากทำ" (Activity based) ขึ้นมาก่อน มักจะพบว่าผู้เรียนคิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไปทางความคิดที่ชัดเจน ครูที่ปรึกษาโครงงานจำต้องทำการโค้ชชิ่ง (ถาม-ตอบ กระตุ้นให้คิด ชี้ให้สังเกตุ สืบสาวสอบสวน สำรวจค้นคว้าเพิ่มเติม) เพื่อให้ผู้เรียนย้อนคิดกลับไปว่า ประเด็นความดีนั้นๆ ทำให้อะไรดีขึ้นหรือไม่? แก้ปัญหาอะไรหรือไม่? มีคุณค่าแท้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่เป้าหมายหรือไม่อย่างไร? เพื่อทำให้ "โจทย์งานวิจัย" หรือ "ปัญหาโครงงาน" ชัดเจนนั่นเอง มิฉะนั้นแล้ว หากไม่มีการกระตุ้นให้ย้อนคิดจนชัดเจนในประเด็น ก็มักจะกลายเป็นโครงงานที่ไม่ค่อยดี ทำนองว่าเป็น "ความดีที่โลกไม่ต้องการ"

๓) กระบวนการคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์อย่างเป็นระบบ นำประเด็นที่เลือกทำโครงงานมาพิจารณาเพื่อระบุ “ปัญหา" ให้ชัดเจน คิดวิเคราะห์หา "สาเหตุ” ทั้งที่เป็นปัจจัยภายใน-ปัจจัยภายนอก จากนั้นจึงคิดสังเคราะห์ "เป้าหมาย และ ทางแก้" ที่สามารถเชื่อมโยงกับ "ปัญหา-สาเหตุ" ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกัน จากนั้นจึงพิจารณาร่วมกันว่า คุณธรรมหรือความดีอันใด ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการทำโครงงานนี้ จักต้องอ้างอิง "หลักธรรมและคำสอน" ใดๆ ที่สามารถเอามาใช้สื่อสาร นำมาใช้เป็นหลักในการทำงาน โครงงานนั้นๆ อย่างสอดคล้องเหมาะสม โดยเครื่องมือที่ใช้เพื่อกระบวนการคิดในขั้นตอนนี้จะใช้ใบงาน คำถาม ๕ ข้อ (พัฒนามาจากทักษะกระบวนการคิด ตามทฤษฎีของหลักธรรม อริยสัจจ์ ๔) ซึ่งในชั้นต้นนี้ ถือเป็นเพียงการตั้งสมมติฐาน ๕ มิติ (ปัญหา-สาเหตุ-เป้าหมาย-ทางแก้-หลักธรรม) ที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้เรื่อยๆ เมื่อลงทำในขั้นตอนหลังจากนี้ไป

๔) การสำรวจ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่จะกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงงานในอนาคตได้ ซึ่งต้องใช้ทักษะการสังเกต สำรวจ สัมภาษณ์ การคิดประเมินค่า การบันทึกข้อมูล การค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อศึกษาปัญหาและสาเหตุ ที่เป็นความจริง ในสถานการณ์จริงๆ ไม่ใช่เพียงการตั้งสมมติฐานอย่างที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้มองเห็น "ปัญหา-สาเหตุ" ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และตรงกับความจริงมากที่สุด อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเป้าหมายและการวางแผนการทำงานให้สอดคล้อง รัดกุม และสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ได้ตรงประเด็นมากขึ้น

๕) ลงมือทำ ไปพร้อมกับเรียนรู้ นำแผนการทำงานที่วางไว้มาลงมือทำจริง ทำไปเรียนรู้ไป ลงมือปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ มีการติดตามและเก็บบันทึกข้อมูล การนำทักษะการทบทวนหรือถอดบทเรียนหลังการทำงาน (AAR - After Action Review) มาใช้ภายหลังการดำเนินการแต่ละกิจกรรม จึงเป็นกระบวนการกลุ่มที่สำคัญของขั้นตอนนี้ โดยการทำตามแผนงานนั้นควรเป็นไปอย่างยืดหยุ่น มุ่งมั่นทุ่มเทแต่ไม่ยึดติดมากเกินไป เรียนรู้อย่างตื่นตัวเท่าทันพร้อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขสูงสุดแม้มีข้อจำกัดมากมายก็ตาม เมื่อมีปัญหาอุปสรรคระหว่างการทำงานก็ให้มีท่าทีที่จะเรียนรู้มากกว่าการหาคนผิดหรือโทษกัน

   ในช่วงแรกๆ ของแต่ละโครงงานมักจะมีปัญหาอุปสรรคการทำงานโดยเฉพาะเรื่องการแบ่งงาน-บทบาทหน้าที่ของคนทำงานที่ไม่ลงตัว การไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิก ฯลฯ  ซึ่งเป็นช่วงของการเรียนรู้ที่สำคัญของขั้นตอนนี้ หากมีความผิดพลาดล้มเหลวไม่เป็นไปตามแผนงาน หากครูที่ปรึกษาเข้าใจ จักสามารถพลิกสถานการณ์ใช้เป็นโอกาสทองที่จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ช่วงของ "ความไม่สำเร็จ" ในการทำงานจริงของทุกโครงงาน แล้วฝ่าฟันแก้ไขสถานการณ์ไปด้วยกันทั้งกลุ่มได้อย่างไร  หากครูที่ปรึกษาามารถสร้างบรรยากาศ "ร่วมสุข ร่วมทุกข์" ฝ่าฟันไปด้วยกันได้ดี จักบ่มเพาะให้เกิดความสามัคคีความเป็น 'ดรีมทีม' ได้อย่างหยั่งรากลึกและแข็งแรง

การลงมือทำโครงงานในขั้นตอนที่ ๕ นี้ หากเป็นโครงงานเริ่มต้นทำใหม่ควรมีเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เดือน เพื่อแบ่งช่วงการลงมือทำเป็น ๒ ช่วง โดยมีการประชุมกลุ่มเพื่อทบทวนการทำงาน คั่นกลาง ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่สอดคล้องกับหลักการ PDCA กล่าวคือ

  • ขั้นตอนที่ ๑ - ๔ นี้ ถือว่าเป็นขั้นการริเริ่มวางแผนงนการทำโครงงาน (Plan)
  • การลงมือทำงานช่วง ๑ เดือนแรก (Do)
  • การประชุมกลุ่มเพื่อทบทวนการทำงานช่วง ๑ เดือนแรก (Check)
  • การลงมือทำงานช่วง เดือนที่ ๒ (Act)

๖) ประมวลผล-สรุปผล นอกจากการเก็บข้อมูลประเมินผลในระว่างการทำงาน เพื่อให้มีท่าที 'ทำงานไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย' แล้ว เมื่อทำงานสำเร็จตามแผนงานทั้งหมดแล้ว ก็จักต้องมีการประเมินผลสรุปผลการทำงานว่า สามารถบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่เพียงใด และที่สำคัญที่สุดและเป็นเอกลักษณ์ของโครงงานคุณธรรม คือ การประเมินตนเองของผู้รับผิดชอบโครงงาน และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในโครงงาน ว่ามีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงด้าน พฤติกรรม คุณธรรม และปัญญา อย่างไรบ้าง การย้อนพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง และการต่อยอดขยายผล ในระยะต่อไป

๗) นำเสนอ สื่อสาร การสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลเรื่องราวการทำโครงงาน - ผลของการทำโครงงานงาน ออกสู่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสื่อสารความดี บอกต่อองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาต่างๆ เผยแพร่วิธีการในการทำความดี อันจะเป็นการเสริมสร้างค่านิยมการทำความดี สร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้กับผู้อื่นต่อๆ ไป และเป็นการสืบต่อความดีต่อไปได้ไม่สิ้นสุด การนำเสนอสื่อสารขั้นต้นในระดับโรงเรียน ควรทำให้ง่ายสะดวกประหยัดต่อผู้เรียน โดยกำหนดให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผ่านสื่อและวิธีการที่หลากหลาย แต่ไม่ยุ่งยากสิ้นเปลือง (ในขั้นต้นระดับโรงเรียน ไม่ควรกำหนดให้ต้องทำรูปเล่มรายงาน ๕ บทโดยไม่จำเป็น หากได้รับเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปนำเสนอในระดับที่สูงขึ้น ค่อยพิจารณาทำรูปเล่ม ๕ บทในภายหลังก็ได้)

๘) การสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น โครงงานคุณธรรมที่มีคุณภาพ ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นแบบอย่างทีดี มักจะมีปัญหาว่า เมื่อรุ่นที่ทำโครงงานนั้นๆ จบการศึกษาไปแล้ว คุณภาพหรือความเอาจริงเอาใจในการทำโครงงานของรุ่นน้องจะตกลง ทั้งนี้เพราะขาดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และส่งต่อความรู้สึก "เป็นเจ้าของ" ไปหารุ่นน้อง ซึ่งครูที่ปรึกษาและรุ่นพี่โครงงาน ควรค่อยๆ ดึงให้รุ่นน้องหน้าใหม่ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในบรรยากาศของความรักความอบอุ่นความจริงใจ ร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน ภายหลังการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง ควรเปิดโอกาสให้รุ่นน้องได้แสดงความคิดเห็นผ่านกระบวนการทบทวนการทำงาน AAR (After Action Review) แล้วใช้เทคนิคกระบวนการคิดแบบวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง (SWOT) และการปรับปรุงแผนงานการทำกิจกรรมให้ครั้งต่อๆ ไป ซึ่งจะทำให้รุ่นน้องๆ ค่อยๆ ก่อร่าง "ความรู้สึกเป็นเจ้าของ" ได้อย่างหยั่งรากลึกและแข็งแรง จนสามารถสืบต่อและต่อยอดโครงงานเดิมให้มีพัฒนาการที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป จนสามารถก่อ "ประโยชน์สุขแห่งมหาชน" ได้อย่างกว้างขวางและเป็นที่ประจักษ์ชัด

โครงงานคุณธรรมที่มีขั้นตอนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์ คำท้าทายที่ว่าเด็กไทยไม่ใฝ่ดี ใฝ่ต่ำทำชั่วมั่วเพศเสพยา ละอายการทำดี ทำงานเป็นทีมไม่เป็น คิดวิเคราะห์ไม่ได้ งานหนักไม่เอางานเบาไม่สู้ โดยการสร้างเงื่อนไขให้เขาใช้ปัญหาจริงที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ไม่ว่าในโรงเรียนหรือในครอบครัวในชุมชน นำมาตรวจสอบ วิเคราะห์ วางแผน แสวงหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงเข้าใจปัญหานอกตัวเท่านั้น นี่ยังเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงสู่ตนเอง เพราะคุณสมบัติของโครงงานคุณธรรมนั้น พิเศษตรงที่เป็นเรื่องในชีวิตจริง เป็นประเด็นปัญหาจริงๆ ในชีวิต ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม เกี่ยวข้อง สัมพันธ์อยู่ด้วยกันนั่นเอง แต่อาจไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้น ด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ จึงพบทางออกของปัญหาด้วยปัญญา โครงงานคุณธรรมจึงเป็นกระบวนการที่นำพาให้เด็กไทยสามารถทำโครงงานในชีวิตจริง (โครงงานชีวิต) ด้วยวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั่นเอง