คำขวัญงานประเพณีแห่เทียนพรรษาปี 2553 “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ”

ไฟล์:Tienpansa.gif

สำหรับชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษาปี 2553 ข้อความ ใน 2 วรรคแรก ฮุ่งเฮืองเมืองธรรมเลิศล้ำเทียนพรรษา มีความหมายว่าดังนี้

1.ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม

ฮุ่งเฮือง เป็นภาษาอีสานตรงกับภาษากลางว่า รุ่งเรือง หมายถึง ความสว่างไสว, งามสุกใส, อุดมสมบรณ์, เจริญก้าวหน้า

เมืองธรรม หมายถึง เมืองอุบลราชธานี ที่มี “ธรรม” 3 ประการ กล่าวคือ

1.1 พุทธธรรม คำสอนในพระพุทธศาสนาที่บรรดาพุทธศาสนิกชนน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อความ อยู่ดีมีสุข

1.2 อารยธรรม อุบลราชธานีเป็นอู่อารยวัฒนธรรม อุดมอริยทรัพย์ อริยสงฆ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี ซึ่งเป็นเป็นคุณสมบัติของเมืองนักปราชญ์

1.3 ธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานนาม อุบลราชธานี ศรีวนาลัย คำว่า ศรีวนาลัย หมายถึง ดงอู่ผึ้ง เมื่อครั้งก่อตั้งสร้างเมืองซึ่งประกอบด้วยธรรมชาติโดยทั่วไป มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง และสามเหลี่ยมมรกตเขียวชอุ่มที่เลื่องชื่อ อุบลราชธานีจึงเป็น “ธานีแห่งราชะ ศรีสง่า แห่งไพรพฤกษ์” ธิดา สาระยา (2536)

2. งามล้ำเทียนพรรษา

ซึ่งเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีความเลิศล้ำ เลอค่ามาโดยลำดับนับ 100 ปี ด้วยเหตุผลสำคัญ 6 ประการ คือ

ประการแรก อุบลราชธานีเป็นเมืองพุทธศาสนาที่มีวัดมากที่สุดในประเทศไทย มีพระสงฆ์ชั้นสมเด็จถึง 4 องค์ คือ สมเด็จพรมมหาวีระวงศ์ (ติสโส อ้วน) สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (พิมพ์ ธม มธโร) สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) และสมด็จมหาวีระวงค์ (มานิต ถาวโร) สมเด็จมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เกิดพ.ศ. 2460 ที่บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ) มีพระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงทั้งในสายคันถธุระ อาทิ พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย)ท่านพนฺธุโล (ดี) ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) พระอริยกวี (อ่อน) พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ฯลฯ และสายวิปัสสนกรรมฐาน อาทิ พระอาจารย์สีทา ชยเสโน พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์ขาว อนาลโย พระโบธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ฯลฯ เป็นต้น

ประการที่ 2 ชาวอุบลฯ เป็นผู้มีใจเป็นกุศลใฝ่ธรรม มีความเชื่อว่า การถวายเทียนพรรษาเป็นผลให้บังเกิดปัญญาเฉียบแหลม มีความเฉลียวฉลาด สมกับเป็นพลเมือง เมืองนักปราชญ์

ประการที่ 3 อุบลราชธานี ตั้งเมืองที่ ดงอู่ผึ้ง ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการทำเทียนพรรษา รวงผึ้งอุดมสมบูรณ์มาจนปัจจุบันสำนักพระราชวังได้นำขี้ผึ้งที่จังหวัด อุบลราชธานีไปเพื่อทำเทียนพระราชทาน เพราะที่อุทยานแห่งชาติ “ภูจองนายอย” ซึ่งอยู่ติดพรมแดนประเทศไทยกับประเทศลาว และเขมร เป็น ดงอู่ผึ้งอีกแห่งหนึ่งของอุบลราชธานี

ประการที่ 4 ชาวอุบลราชธานีให้ความใส่ใจและพิถีพิถันในการถวายสิ่งใดๆ แด่พระรัตนตรัย จะต้องสวยสดงดงามเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส จะได้งดงามทั้งร่างกายและจิตใจ ดังผญาสุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า “แนวได๋ถวาย” (ถวย) เจ้าหัว ต้องให้งาม เฮานิได้งามนำเผิน” แปลความหมายได้ว่า สิ่งใด ๆ ที่นำถวายให้พระสงฆ์ต้องเป็นสิ่งที่งามที่สุด เราจะได้งามทั้งกายและใจ บรรพชนได้อบรมสั่งสอน เรื่องนี้มาแต่อดีตกาล ลูกหลานสืบสานจนเป็นธรรมเนียมต่อ ๆ มาจนปัจจุบัน

ประการที่ 5 อุบลราชธานีมีสกุลช่างทุกสาขา วิชาช่างศิลปะ จึงสามารถรังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างวิจิตรบรรจงตามจินตนาการ เพื่อสนองเจตนาและสอดคล้องกับความเชื่อของบรรพชน

ประการสุดท้าย งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี มีเจตนาส่งเสริมพระพุทธศาสนา บูชาพระรัตนตรัยตามเป้าหมายดั้งเดิม อีกประการหนึ่งเป็นการถวายสักการะพระมหากษัตริย์ ในวโรกาส พระราชพิธีสำคัญ แต่ละปีโดยลำดับตลอดมา ชาวอุบลราชธานีได้น้อมเกล้าฯถวายความจงรักภักดีโดยทั่วกัน 3.ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ

เนื่องจากประเพณีแห่เทียนพรรษาเกิดจาก “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” สืบสานเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ก่อให้เกิด “ภูมิพลังเมือง” สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาคมเป็นปึกแผ่นมั่นคง แก้ไขปัญหาสำคัญของชาติได้ในการร่วมเป็น “ภูมิพลังแผ่นดิน”

ดังนั้น ประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลราชธานีเป็นทุนทางสังคม ที่บรรพบุรุษสั่งสมนับ ร้อยปี มีจิตวิญญาณและเป็นเอกลักษณ์ของอุบลราชธานี การนำงานประเพณีแห่เทียนพรรษาสู่สากลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น จำเป็นต้องยึดมั่นแก่นแท้ของเทียนพรรษาเป็นสิ่งสำคัญ แล้วผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมให้กลมกลืนกันอย่างลงตัวไม่ขัดเขินในลักษณะ “อนุรักษ์ของเดิม ก่อนส่งเสริมของใหม่” จึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานชาวเมืองอุบลราชธานีที่ต้องอนุรักษ์สืบสานให้ ประเพณีแห่เทียนพรรษายืนยงอยู่คู่อุบลราชธานีตลอดไป

ข้อมูลจาก