กษัตริย์นักประดิษฐ์ พ.อ.ดิเรก พรมบาง

“ มีหลักอยู่ประการหนึ่งที่จำเป็นต้องเน้นหนัก นั่นคือ การช่วยเหลือของอเมริกันนั้น เป็นการช่วยให้ไทยได้บรรลุความมุ่งหมายด้วยความพากเพียรของตนเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า ผลการอันนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยอย่างจริงจัง ความจริงในพระพุทธโอชวาทของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าของเราก็มีอยู่แล้ว “ ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน ” เราขอขอบคุณในความช่วยเหลือของอเมริกา แต่เราตั้งใจไว้ว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราคงจะทำกันได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือนี้ ”

         											กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว

ในรัฐสภาสหรัฐฯ ๒๙ พ.ย. ๒๕๐๓

กล่าวนำ

ผู้เขียนได้อ่านเอกสารข่าวทหารบก (๑๑ พ.ย. ๒๕๕๑) กองทัพบกได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๑ พรรษา ใน ๕ ธ.ค. ๒๕๕๑ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยจัดกิจกรรม ทั้งจัดขึ้นเอง และร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น การจัดงาน ๕ ธันวามหาราช การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จัดให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค การอุปสมบทหมู่โดยกำลังพล ครอบครัว และประชาชนทั่วไป ในห้วง ธ.ค.๒๕๕๑ การปฏิบัติธรรมไถ่โคกระบือ การรับบริจาคโลหิต การน้อมนำพระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่ในสื่อในเครือของกองทัพบก เพื่อเน้นย้ำความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในการที่จะแบ่งเบาพระราชกรณียกิจฯ ในการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน จากการที่สังคมมีความคิดเห็นที่แตกแยก และเน้นย้ำให้กับกำลังพลในกองทัพบกทุกคนกระทำตนเป็นตัวอย่างเรื่องความสามัคคี เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ากองทัพบกยังคงเป็นสถาบันหลักของประเทศในการยึดมั่นในการทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและยังเป็นการตอบแทนพระมหารกรุณาธิคุณ ตามพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานเป็นพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อครั้นขึ้นครองสิริราชสมบัติ (อารยะ กลิ่นเฟื่อง : ๒๕๕๐, ๗) เป็นเวลากว่า ๖๐ ปีแล้ว ปวงชนชาวไทยทุกคนคงเห็นแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงปฏิบัติภารกิจโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ที่ผ่านมาแต่ละปี พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานทุกครั้ง พระองค์มีพระราชประสงค์ เพื่อไปรับทราบปัญหาในพื้นที่ โดยในแต่ละครั้งพระองค์ทรงทำการบ้านก่อนเสด็จพระราชดำเนิน ไม่ว่า จะเป็นการศึกษาข้อมูลบนแผนที่ ปริมาณน้ำฝน ผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น การเสด็จพระราชดำเนินในแต่ละครั้ง พระองค์ทรงเก็บข้อมูลตรงจากการพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน หมายความว่า

2

ข้อมูลที่พระองค์ได้รับตามสายงานของหน่วยราชการที่ถวายรายงานมานั้น ตรงกับที่ได้รับจากชาวบ้านหรือไม่เป็นการตรวจสอบเพื่อความถูกต้องหรือป้องกันความคลาดเคลื่อนของข้อมูล พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกร พระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพ และสายพระเนตรยาวไกล ในการที่ทรงนำกำลังของหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งฝ่ายทหารและ พลเรือนออกช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับประชาชน ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากกว่า ๓,๐๐๐ กว่าโครงการในด้านต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข ด้านการส่งเสริมอาชีพ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การคมนาคม การเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งหมดล้วนก่อให้เกิดคุณูปการแก่แผ่นดินและราษฎรอย่างใหญ่หลวง (สำนักงานคณะกรรมการเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: ๒๕๔๗) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นกษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ มีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรอันงดงาม มั่นคงในทศพิธราชธรรม มีพระราชหฤทัยเอื้ออาทรห่วงใยผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพสกนิกรไทยทั่วประเทศ ทรงช่วยเหลือเหล่าพสกนิกรให้พ้นจากสภาวะความฝืดเคืองไปสู่ความพออยู่พอกิน ดังนั้น เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ องค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชติ (UNDP) แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (www.sentangonline.com) เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรชาวไทย รางวัลนี้เป็นรางวัลเกียรติยศที่องค์การสหประชาชาติริเริ่มขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระองค์ท่านทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้เป็น พระองค์แรก และเป็นครั้งแรกที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเดินทางมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วยตนเอง กลางปี ๒๕๔๙ มีเหตุการณ์หนึ่งที่คนไทยไม่อาจลืมเลือนไปได้ คือการที่พสกนิกรชาวไทยรวมทั้งผู้เขียนและครอบครัว พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลืองไปพร้อมกัน ณ ลานพระราชวังดุสิต และเต็มถนนราชดำเนิน เพื่อถวายความจงรักภักดีพระองค์เสด็จออกพระบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โบกพระหัตถ์ เสียงแซ่ซ้องทรงพระเจริญดังกึกก้องไปทั่วทุกสารทิศ หลายคนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ คงไม่มีคนไทยคนใดที่จะลืมวันแห่งประวัติศาสตร์นั้น พระมหากรุณาธิคุณนานัปการที่ทรงมีต่อประชาชนของพระองค์ อาจกล่าวได้ว่า เราทุกคนโชคดีที่สุดแล้วที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งไม่มีความทุกข์ยากใดที่จะรอดพ้นสายพระเนตรของพระองค์ไปได้

3

พระราชกรณียกิจประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๑ พรรษาใน ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ ผู้เขียนและข้าราชการทุกคนในฐานะที่เป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระองค์ท่าน ปฏิบัติในหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก ทุก ๆ วันที่ทำงานในหน่วย จะมองเห็นกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัฐสภาสหรัฐฯ ตามที่ผู้เขียนได้อัญเชิญไว้ตอนต้นใส่กรอบรูป ประดิษฐ์ไว้หน้าสำนักงานของผู้บังคับบัญชาด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ข้าราชการทุกคน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รับใส่เกล้าฯ เป็นแนวทางปฏิบัติงานตามรอยพระยุคลบาทในกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้ ณ รัฐสภาสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๓ นั้น พระองค์ ทรงยึดและปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงการพึ่งตนเองของของประเทศไทย พระราช กรณียกิจนี้ มิได้ทรงยิ่งหย่อนไปกว่าพระราชกรณียกิจอื่นเลย แต่เป็นส่วนหนึ่งของพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะให้ประเทศไทยพัฒนาเจริญขึ้นอย่างยั่งยืน ทรงปฏิบัติพระองค์เกี่ยวกับการค้นคว้าวิจัย และพัฒนา เป็นตัวอย่างให้กับประชาชนชาวไทยได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ จากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จแปรพระราชฐานและประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคใดก็ตามในการเสด็จเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎร แต่ละครั้งนอกจากจะเพื่อทรงหาทางช่วยเหลือพสกนิกรทุกท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขสบายทัดเทียมกันแล้ว พระราชกรณียกิจด้านหนึ่งที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยนอกเหนือจากการพัฒนาแหล่งน้ำและงานพัฒนาด้านอื่นๆ หลากหลายสาขาแล้ว ยังคงสนพระราชหฤทัยในการประดิษฐ์เครื่องจักรกลที่ทรงเลือกใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้ภูมิปัญญาของเราเอง แบบไทยทำ ไทยใช้ ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก คือ เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อนำไปใช้ในภูมิภาคใดย่อมจะเกิดผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมกับพสกนิกรของพระองค์ในภูมิภาคนั้นๆ อีกทั้งวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการประดิษฐ์ก็ใช้วัสดุภายในประเทศ และหาซื้อได้ในทุกภูมิภาค และสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นมาจะเน้นความง่ายต่การใช้งานต่อการซ่อมบำรุงและราคาถูกอีกด้วย (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ๒๕๔๘) งานประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้น มีจำนวนมากมาย อาทิ ๑. ทรงออกแบบเรือใบมด ใช้ในการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ ด้วยพระองค์เอง ๒. เครื่องจักรกลที่พัฒนาขึ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริประกอบด้วย ๒.๑ เครื่องสีข้าวใช้กำลังคน ประดิษฐ์เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ๒.๒ เครื่องนวดข้าวใช้กำลังคน ประดิษฐ์เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐


4

๒.๓ โรงสีข้าวพลังน้ำบ้านแม่ลาใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๘ ๒.๔ โรงไฟฟ้าพลังน้ำดอยอ่างขาง สร้างขึ้นเมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐

๒.๕ ไฮดรอลิคแรมหรือตะบันน้ำ ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ๘ มกราคม ๒๕๒๒ ๒.๗ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ศูนย์พัฒนาปางตอง สร้างขึ้นเมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๓ ๒.๗ กังหันน้ำสูบน้ำทุ่นลอย ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ ๒.๘ เครื่องสูบน้ำกังหันน้ำ ประดิษฐ์เมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ๒.๙ เครื่องสูบน้ำพลังน้ำไหล ประดิษฐ์เมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๒ ๒.๑๐ เครื่องกลเติมอากาศ ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ ซึ่งที่รู้จักกันทั่วไปว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา ในแบบต่างๆ มีทั้งหมด ๙ แบบ เครื่องกลเติมอากาศ ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะ น้ำเสียส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพลานามัยของประชาชน หลักการ “ การใช้ธรรมชาติแก้ไขธรรมชาติ ” และการใช้ “อธรรม” ปราบ “อธรรม” นั้นได้ผลเพียงระดับหนึ่ง จำเป็นจะต้องหาวิธีการเติมอากาศลงไปในน้ำเสียโดยใช้เครื่องกลเติมอากาศ การเติมอากาศสามารถกระทำได้ ๒ วิธี วิธีที่หนึ่ง เป่าอากาศลงไปใต้ผิวน้ำแล้วกระจายฟองเล็กๆ อีกวิธีหนึ่ง ใช้กังหันน้ำวิดน้ำขึ้นไปที่สูงแล้วปล่อยให้ตกลงมาเป็นฝอย ด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในทุกๆ ด้าน เป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาและนักประดิษฐ์ ทรงได้รับการทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์เมื่อ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๗ กำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะทรงเป็น “ พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ” และทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดคุณค่าและคุณประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งแผ่นดิน นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงคิดค้นโครงการฝนหลวงหรือฝนเทียม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำและลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลในระดับนานาชาติ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นจากผลงาน กังหันน้ำชัยพัฒนา จากงาน Brussels Eureka พุทธศักราช ๒๕๔๓ และปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ โครงการทฤษฎีใหม่ โครงการฝนเทียมและโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ได้รับรางวัล “ Diploma “ D ” UnConcept Nouveau de Development de la Thailande ” 5

5

พระเกียรติคุณขจรขยายสู่ชุมชนในชนบท และองค์การโลกเทิดพระเกียรติ

เมื่อ ๔ เมษายน ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาเสด็จฯ ไปกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยมเพื่อทรงมอบกังหันน้ำชัยพัฒนาพระราชทาน ณ สวนสาธารณะโอลูเว แซงต์ – ปิแอร์ โดยมีสมเด็จพระราชินีฟาปิโอลา แห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม เสด็จเข้าร่วมพิธีนี้ท่ามกลางความปราบปลื้มปิติยินดีของชาวเบลเยี่ยมและชาวไทย กังหันน้ำชัยพัฒนาพระราชทาน นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรแล้ว ยังเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความร่วมมือร่วมใจในการดูแลรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระปรีชาสามารถนั้น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จึงทูลเกล้าถวายรางวัล “ โกลบอล ริเดอร์ อวอร์ด ” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (คมชัดลึก, ๑๘ พ.ย. ๕๑) ด้วยเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์ทั้งพระราชหฤทัยและกำลังพระวรกายที่ทรงใช้งานทรัพสินย์ทางปัญญาส่งเสริมและพัฒนาประเทศ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก เป็นที่รู้กันในหมู่พสกนิกรชาวไทยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริพระราชดำรัสมากมายนานัปการเพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆ แก่พสกนิกรของพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนานกว่า ๖0 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ หลายประเภทที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จดสิทธิบัตรไว้ ขอยกมาเป็นสังเขปคือ สิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย(กังหันน้ำชัยพัฒนา) สิทธิบัตรการใช้นำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล สิทธิบัตรการดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน(ฝนหลวง) และสิทธิบัตรกระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก(โครงการแกล้งดิน) เป็นต้น เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยหรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนา นั้น เริ่มตั้งแต่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นหาวิธีแก้ไขน้ำเน่าเสีย มาตั้งแต่ปี พ.ศ๒๕๒๗ และได้มีการพัฒนาเรื่อยมาตามสภาพความรุนแรงของปัญหาน้ำเน่าเสีย พร้อมกับระบบธรรมชาติ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๑ สภาพความเน่าเสียของน้ำบริเวณต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น การใช้วิธีธรรมชาติแต่เดิมไม่อาจบรรเทาความเน่าเสียของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงพระราชทาน พระราชดำริให้ประดิษฐ์ “ เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ โดยได้แนวทางจาก “ หลุก ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุด คิดค้นเบื้องต้น และได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมาและรู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบันว่า “ กังหันน้ำชัยพัฒนา ”

6

สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (International Federal of Inventor Association : IFIA) ซึ่งมีสมาชิก ๘๔ ประเทศ ทั้งโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญพระปรีชาสามารถ ได้มีมติใช้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์โลก (International Inventor Day) ตามที่ประเทศไทยกำหนด กังหันน้ำชัยพัฒนานี้ต่างประเทศเห็นคุณค่าเป็นอย่างมากจนพร้อมใจกันเทิดพระเกียรติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งคำกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติ ดังเช่น คำกล่าวของคณะกรรมการนานาชาติและกรรมการประจำชาติ เดอะ เบลเจียน แชมเบอร์ ออฟ อินเวนเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งประดิษฐ์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป

“ พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นนักพัฒนา  มีวิริยะอันสูงส่ง รวมทั้งพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่ดี  ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์  ทรงใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่าย  สิ่งประดิษฐ์ในพระองค์สามารถนำไปพัฒนาใช้งานได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ” 

ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตรต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มากมาย อาทิ สหพันธ์สมาคม นักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (IFIA) ประเททศฮังการีทูลเกล้าถวายรางวัลไอเอฟไอเอ คัพ ๒๐๐๗ สำหรับผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนาและเหรียญจีเนียสไพรซ์ สำหรับผลงานทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (Korea Invention Promotion Association : KIPA) ได้ทูลเกล้าถวายรางวัลสเปเชียล ไพรซ์ พร้อมประกาศนียบัตร ซึ่งถือเป็นรางวัลทรงเกียรติของนักประดิษฐ์ในระดับโลก และในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ฟรานซีส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก จะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล โกลบอล ลีดเดอร์ อวอร์ด (Global Leader award) ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมุฎราชกุมาร รับทูลเกล้าถวายแทน ดังนี้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับทูลเกล้าถวายรางวัลนี้

สรุป

สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ อันหลากหลาย ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จ พระเจ้ายู่หัวพระราชทานแก่หน่วยงานต่างๆ ย่อมเป็นประจักษ์แล้วถึงพระอัจริยภาพ พระวิสัยทัศน์ และพระวิริยะสูงส่ง เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณมีพระเมตตาที่เอื้ออาทรต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในผืนแผ่นดินไทยนี้ ให้ความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นับว่าเป็นการโชคดีที่ประเทศไทย มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงเป็นนักวิจัย นักพัฒนา และนักประดิษฐ์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก อันนำมาซึ่งสิ่งประดิษฐ์อันมี คุณประโยชน์ยิ่งแด่พสกนิกรของพระองค์ ตลอดเวลากว่า ๖0 ปี ที่ผ่านมานี้ ทรงเป็นแบบอย่าง


7

ให้พสกนิกรได้ปฏิบัติตาม อันหลากหลาย อาทิ เมื่อทรงเรือใบก็ได้ทรงทำเรือใบมดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่อย่างชัดเจน กระบวนการฝนเทียมเป็นสิ่งที่ทรงมีความมมุ่งมั่นว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างแน่นนอน และยังเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเป็นเรื่องเสมือนจริง เพราะฝนเทียมเป็นหยาดฝนจริงๆ ที่โปรยให้กับพสกนิกรของพระองค์ท่าน ยามเมื่อเขาเหล่านั้นต้องการ การมีพระราชดำริให้มีโครงการแกล้งดิน ล้วนเป็นสิ่งที่แม้แต่นักวิชาการด้วยกันเองยังต้องให้การสรรเสริญ เพราะไม่เคยมีผู้ใดคิดมาก่อนเลย ส่วนในเรื่องการริเริ่มให้ความสำคัญแก่พลังงานจากพืช คือ ก๊าซโซฮอลจากมันสำปะหลังและไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตทางเลือกของพลังงานทดแทนในอนาคต นอกจากนั้น ยังมีพระราชดำริ พระราชปรารภอื่นๆ อีกมากมาย ในเรื่องการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อพสกนิกรของพระองค์และยิ่งสร้างความปลาบปลื้มปิติต่อคนไทยเพิ่มพูนทวีขึ้นอีกเมื่อได้ทราบว่าองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ทูลเกล้าถวายรางวัล “ โกลบอล รีดเดอร์ อวอร์ด ” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยเพราะเป็นพระมหากษัตริย์ทีทรงอุทิศพระองค์ ทั้งกำลังพระราชหฤทัยและกำลังพระวรกายที่ทรงใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมพัฒนาประเทศ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก จึงควรแล้วที่ประชาชนคนไทยที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ท่าน ควรได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณไว้อย่างตลอดกาล พร้อมถวายเทิดพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่านที่ทรงเป็น “ กษัตริย์นักประดิษฐ์ ” แด่พสกนิกรชาวไทยทั้งปวง ด้วยในวโรกาสที่เป็นมงคลยิ่ง ผู้เขียนนำเพลง “ด้วยพระปรีชาชาญ” ประพันธ์โดย พรพิรุณ เมื่อ ๕ มกราคม ๒๕๔๕ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระผู้มีคุณอันประเสริฐยิ่ง

โอ้วันนี้โลกตื่นตะลึง ทึ่งในองค์พระบิดาของไทย พระภูมิพลมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ จ้าวหัวใจชาวไทยทุกคน ไม่มีแคว้นใดทั่วโลกา จักมีบุญเหมือนเทพมาบันดล พระเจ้าแผ่นดินทรงเหนื่อยยากโดยไม่บ่น เพื่อให้ปวงชนเป็นสุขร่มเย็น

มีไทยแห่งเดียวในโลกนี้ ที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกข์ยากลำเค็ญ ถิ่นกันดารป่าดง หากปวงชนพบทุกข์ขุกเข็ญ เสด็จไปเป็นผู้เช็ดน้ำตา สิ่งแวดล้อมเลวด้วยมลพิษ ทรงคิดค้นให้ปลอดภัยทุกครา คิด “ กังหันชัยพัฒนา ” ล้ำคุณค่า ทรงแก้ปัญหาด้วยปรีชาชาญ

ควรเราชาวไทยได้สำนึก พร้อมรำลึกจารจดไว้บอกแก่ลูกหลาน ว่าชาวไทยทั่วคน จะมีจนหัวใจเบิกบาน อยู่สุขสราญด้วยบารมี จะมีไหมใครใคร่ตอบแทน ให้เหมือนแม้นที่ท่านทรงปรานี ขอจงร่วมในรักห่วงใยชาตินี้ จงสร้างความดีเพื่อแทนพระคุณ

                                               ----------------------------------

เอกสารอ้างอิง

๑. ข่าวทหารบก , เอกสารข่าวของกองทัพบก ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๖ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ๒. อารยะ กลิ่นเฟื่อง  : เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิตยสาร รัฏฐาภิรักษ์

               ปีที่ ๔๙   ฉบับที่ ๔  ต.ค. – ธ.ค. ๒๕๕๐

๓. ดิเรก พรมบาง  : โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับความมั่นคงของประเทศ วารสาร

                  เสนาธิปัตน์   ปีที่ ๕๔  ฉบับที่  ๑ ม.ค. – เม.ย. ๒๕๔๗

๔. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  : พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ๒ กุมภาพันธ์

               วันนักประดิษฐ์  ๒๕๔๘  

๕. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

               อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรุงเทพ, รุ่งศิลป์ การพิมพ์ (๑๙๙๗), ๒๕๔๗

๖. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก, ฉบับประจำวันอังคารที่ ๑๘ พ.ย. ๒๕๕๑ ๗. โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ : เข้าถึงได้ www.sentangonline.com